นอกจากข่าวสารอัปเดตเรื่องโควิด-19 นาทีนี้ต้องยกให้กระแสการลงทุนในคริปโตหรือสกุลเงินดิจิทัลที่มาแรงแซงขวา ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ได้ยินศัพท์แปลกๆ ทั้ง “ตกรถ” “ติดดอย” “Moon” หรือ “HODL” เต็มไปหมด
คริปโต (Cryptocurrency) คือสกุลเงินสมมติที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบดิจิทัล ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ หรือซื้อมาเพื่อเก็งกำไรคล้ายๆ ซื้อหุ้น โดยสกุลเงินนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานสากลใดๆ แต่มันจะทำงานอยู่บนระบบที่สามารถควบคุมตัวมันเองได้ เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) แต่วันนี้ Urban Creature ไม่ได้จะมาสอนการเทรดคริปโตแต่อย่างใด แต่จะพาทุกคนมาดูกันว่า การใช้คริปโตในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งใช้ ‘พลังงานไฟฟ้า’ มากมายขนาดไหน ถ้าเทียบกับการทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ที่เคยมีมา
| หรือคริปโตจะเป็นผู้ร้ายคนใหม่
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการพิมพ์ธนบัตรนั้นกระทบสิ่งแวดล้อมมากกว่าการขุดคริปโตที่เป็นสกุลเงินออนไลน์ เนื่องจากธนบัตรส่วนใหญ่ทำจากกระดาษ ฝ้าย และใยผ้า รวมถึงกระบวนการผลิตธนบัตรที่มีหลายขั้นตอน ซึ่งต้องสูญเสียทั้งทรัพยากรและพลังงาน แต่ที่จริงแล้วการผลิตคริปโต หรือในภาษานักลงทุนเรียกว่า “การขุดคริปโต” นั้นใช้ไฟฟ้ามหาศาล
เนื่องจากต้องใช้การ์ดจอในการถอดรหัสอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ของเหรียญคริปโต รวมถึงเมื่อต้องเปิดคอมพิวเตอร์ในการขุดเหรียญเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้คอมฯ ร้อนและเสื่อมสภาพเร็ว จึงจำเป็นจะต้องติดตั้งระบบระบายความร้อน ก็ยิ่งต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
ดัชนีการใช้ไฟฟ้าของบิตคอยน์ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (The Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index : CBECI) เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ไฟฟ้าในการขุดบิตคอยน์อยู่ที่ 113.27 เทอราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ) ซึ่งมากกว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งปี จากข้อมูลจะเห็นว่าการทำธุรกรรมผ่านคริปโตนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาล ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
ถึงขั้นอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ออกมาประกาศว่าเทสลา (Tesla) จะไม่รับชำระเงินด้วยบิตคอยน์อีกต่อไป เนื่องจากเขามองว่าการขุดบิตคอยน์ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการขุดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ในตอนนั้นร่วงลงอย่างหนัก
โดยเว็บไซต์ของเหรียญคริปโต XRP ได้เทียบการใช้พลังงานของเหรียญคริปโต 3 ประเภท กับการทำธุรกรรมการเงิน 3 แบบออกมาให้ดูกัน ซึ่งผลปรากฏว่า
‘Bitcoin’ คือเหรียญคริปโตที่ใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงมากที่สุด อยู่ที่ 951.58 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) รองลงมาเป็น ‘Ethereum’ 42.8 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) ต่อด้วย ‘ธนบัตร’ 0.044 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) เหรียญ ‘XRP’ 0.0079 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) ‘Visa’ 0.0008 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh)
เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมอื่นๆ แล้ว เห็นได้ชัดว่า ‘Mastercard’ คือธุรกรรมที่ใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงน้อยที่สุด อยู่ที่ 0.0006 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh)
ส่วนอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 มากที่สุด คือเหรียญคริปโต ‘Ethereum’ อยู่ที่ 324.11 ล้านตัน รองลงมาคือ ‘ธนบัตร’ 95.4 ล้านตัน (Mt) ‘Bitcoin’ 20.95 ล้านตัน (Mt) ‘XRP’ 0.014 ล้านตัน (Mt) ‘Visa’ 0.0024 ล้านตัน (Mt) และก็ยังเป็น ‘Mastercard’ ที่ปล่อยก๊าซ CO2 น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.0006 ล้านตัน (Mt)
| รู้ไว้ใช่ว่า….
– การทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์ 1 ครั้ง เทียบเท่ากับการที่เราใช้ไฟฟ้าในการดูยูทูบนานถึง 99,351 ชม.
– การทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์ 1 ครั้ง เทียบเท่ากับการทำธุรกรรมผ่าน VISA 1,353,060 ครั้ง
– ไฟฟ้าที่ใช้ขุดบิตคอยน์ (116.56 TWh) มากกว่าเนเธอร์แลนด์ใช้ไฟฟ้าตลอดปี
Sources :
CBEC I https://cbeci.org/cbeci/comparisons
XRP | https://bit.ly/3fiEVyT