สนทนากับสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ เรื่องคุณภาพชีวิต - Urban Creature

หากคุณคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ ข้อความที่คุณกำลังบรรจงอ่านอยู่ คือบทสัมภาษณ์ที่ฉันใช้เวลาขัดเกลาและร้อยเรียงมันออกมาอย่างตั้งใจ ภาพถ่ายประกอบบทความที่คุณมองเห็นล้วนเป็นฝีมือช่างภาพของเรา ที่ใช้ประสบการณ์ของเขาจัดวางองค์ประกอบ และถ่ายทอดออกมาในเวอร์ชันที่ดีที่สุด นี่คงตอบได้ว่างานสร้างสรรค์อยู่ใกล้ตัวคุณ และแฝงอยู่ทั่วทุกมุมของสังคม อะไรที่คุณอ่าน อะไรที่คุณเห็น อะไรที่คุณฟัง อะไรที่คุณชื่นชม ล้วนมาจากการ ‘สร้างสรรค์’

ทว่าความสร้างสรรค์ของเหล่านักสร้างสรรค์หลายคน ต้องชะงักลงเพราะความไม่ยุติธรรมที่พวกเขาเจอในสายอาชีพ ทำไมนักเขียนบางคนถูกกดเงินค่างานเขียนไว้ที่ราคาเดียวมาเป็นสิบปี ทำไมนักวาดบางคนได้รับค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ทำไมคนทำหนังชอบทำให้การทำงานหนักๆ โดยไม่สนคุณภาพชีวิตคนกองเป็นเรื่องปกติ ทำไมบางหน้าที่ในกองถ่ายไม่ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกันทุกคน

ทำไม ทำไม และทำไม

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

“พวกเรามีตัวตน เหนื่อยเป็น และงานสร้างสรรค์นั้นสำคัญ” นี่คือสารที่เราอยากส่งออกไปให้ถึงทุกคนในบทความนี้ เช่นเดียวกับ ‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand) หรือ CUT ที่มุ่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานสร้างสรรค์ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นศูนย์ สวัสดิการติดลบ การไม่ถูกให้คุณค่าในงาน หรือแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้รับ พร้อมเปิดวงวิพากษ์ความเผด็จการทั้งระดับเจ้านายในองค์กรและรัฐบาล 

อ่านจบแล้ว ถ้อยคำของพวกเขาอาจจะตรงกับชีวิตของแรงงานสร้างสรรค์ที่บางคนเผชิญอยู่ไม่ทางใดทางหนึ่งก็ได้

และไม่แน่ อาจมีใครบางคนคิดว่า ฉันก็อยากออกมาพูดถึงเรื่องราวการถูกกดทับของตัวเองเหมือนกัน

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

ทำไมถึงเลือกเป็นปากเป็นเสียงให้คนทำงานสร้างสรรค์

ไนล์ : CUT ก่อตั้งขึ้นประมาณต้นปี 2565 เพราะมีกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างเยอะ เช่น เคสนักดนตรีกลางคืนที่ต้องสูญเสียอาชีพไป เรารู้สึกว่าแรงงานสร้างสรรค์เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในด้านความมั่นคงทางอาชีพ จึงต้องการให้คนกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ได้มีพลังมากขึ้น ทั้งในแง่การต่อรอง สวัสดิการการทำงาน และคุณภาพชีวิต ซึ่งช่วงแรกเราเริ่มทำกันเอง มีประมาณสี่คน ได้แก่ เราที่เป็นนักเขียนการ์ตูน คุณอิงที่เข้ามาทำเรื่องนโยบาย และอีกสองคนเป็นนักเขียนนิยาย ก่อนจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อิง : หัวใจหลักของการรวมเป็นสหภาพแรงงาน คือการรวมตัวของแรงงานที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เราพยายามทำให้เสียงของแรงงานสร้างสรรค์หนึ่งคนที่ไม่เคยดัง มีเสียงที่ดังขึ้นด้วยการรวมคนในสายอาชีพเดียวกันเข้ามา จากช่างภาพหนึ่งคนกลายเป็นหนึ่งร้อยคน จากคนงานในกองถ่ายหนึ่งคนรวมเป็นหนึ่งร้อยคน เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยสื่อสารบางอย่างกับรัฐและนายทุนมากขึ้น

ความสำเร็จแรกของเราคือการทำให้รัฐและนายทุนมานั่งคุยกับเราได้ เพราะที่ผ่านมามันแยกกันอยู่ พวกเขาไม่ได้อยากมาคุยกับแรงงานตัวเล็กๆ สักเท่าไหร่ ดังนั้น สิ่งที่ CUT กำลังพามันไปให้ถึงคือ ทำให้เสียงของแรงงานอย่างเราๆ มันดังกว่าเสียงของชนชั้นนำ

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

สิ่งที่พวกคุณขับเคลื่อนมาตลอด 7 เดือนนับตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพฯ คืออะไร

ไนล์ : เรื่องแรกๆ ที่พวกเราขับเคลื่อนคือ การแก้ไขธุรกรรมการเงินของ PayPal ที่เขาเปลี่ยนนโยบายทางการเงินมาบังคับให้ฟรีแลนซ์ที่ใช้ PayPal ต้องไปจดนิติบุคคล ซึ่งลักษณะการทำงานของฟรีแลนซ์เป็นการทำคนเดียว มันจดนิติบุคคลไม่ได้ เราเลยยื่นเรื่องนี้ไปกับ กมธ.แรงงาน และมันก็เกิดการประชุมร่วมกัน นำไปสู่การปรับและแก้ไขนโยบาย

ตอนนี้เรื่องที่พวกเรากำลังดำเนินการอยู่ คือความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งแก้ไขคุณภาพชีวิตของคนทำงานในกองถ่าย ผ่าน 4 ข้อเสนอหลัก ได้แก่ มาตรฐานนักแสดงเด็กในกองถ่าย ลดชั่วโมงการทำงาน มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน และสัญญาจ้างที่เป็นธรรม

ในฐานะที่พวกคุณก็เป็นแรงงานสร้างสรรค์ เคยเจอความไม่ยุติธรรมอะไรกับตัวบ้าง

ไนล์ : เราเป็นนักเขียนการ์ตูน เรารู้เลยว่าประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมรองรับนักเขียนการ์ตูนอย่างจริงจัง จะเห็นว่าหนังสือการ์ตูนทำมือที่ออกมาขายเป็นเล่มๆ หลายเจ้าเริ่มปิดตัวลงเพราะพิษโควิด-19 ตอนนี้มันจึงกลายเป็นยุคของการ์ตูนเว็บตูน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ค่าตอบแทนของนักวาดกลับน้อยนิด อยู่ที่ประมาณเดือนละหนึ่งหมื่นหกพันบาท ไม่รวมค่าจ้างผู้ช่วยลงสีหรือช่วยตัดเส้นที่เราต้องไปแบ่งกับเขาอีก

เพื่อนนักเขียนนิยายของเราก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เขาไปขอวีซ่าต่างประเทศ แต่ไม่สามารถยื่นว่ามีอาชีพเป็นนักเขียนนิยายได้ เพราะอาชีพนี้ ไม่ถูกรองรับเป็นอาชีพด้วยซ้ำ รัฐไทยมองว่าพวกเราเต้นกินรำกิน

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตในฐานะนักเขียนการ์ตูนหรือนักเขียนนิยายในประเทศไทยค่อนข้างเป็นไปไม่ได้เลย หรือถ้าอยากเป็นจริงๆ เราก็ต้องอาศัยคำว่า แพสชันหรือทำตามความฝัน ที่บางคนชอบบอกว่าไม่ต้องคิดเรื่องเงินก็ได้ มีฝัน มีแพสชันก็พอ ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ถูกต้อง

อิง : ผมขอพูดในแวดวงคนทำหนัง ส่วนใหญ่เขาจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานกัน เวลาถ่ายหนังทีมันจะมีการก่อสร้าง สร้างฉาก สร้างนั่งร้าน มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ แต่หลายครั้ง กองถ่ายไม่ได้มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะกองถ่ายไทยที่ชอบอ้างว่าเงินน้อย งบน้อย ทำๆ ไปเถอะ ซึ่งมันเสี่ยงอันตรายมาก

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

ฟังดูเหมือนคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เคยชินกับคำว่าทำตามแพสชันไปซะแล้ว

ไนล์ : เราชอบสับสนกันระหว่างคำว่าศิลปะกับงาน ทั้งๆ ที่เบื้องหลังงานศิลปะก็คืองานอย่างหนึ่ง คนทำงานศิลปะก็คือแรงงานที่เหนื่อยเป็น เพราะฉะนั้นคนทำงานมันต้องได้ค่าตอบแทนมากพอที่จะหาเลี้ยงชีพได้

ขนาดแพสชันกินไม่ได้ ทำไมแรงงานสร้างสรรค์บางคนถึงพยายามทำให้การทำงานหนักๆ เป็นเรื่องปกติ

อิง : สั้นๆ ครับ สังคมมันห่วย (หัวเราะ) หนึ่งคือ ค่าแรงในไทยต่ำ มันบีบให้แรงงานทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น เพราะคนไม่มีทางเลือก เราเลยต้องทำงานหนัก 

สองคือ เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตแรงงานเท่าไหร่นัก การทำงานหนักส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติในมุมมองของพวกระดับหัวหน้าที่เป็นชนชั้นที่มีเสียงดังในสังคมมากกว่า เขาอาจจะทำงานหนักสิบหกชั่วโมงก็ได้ เพราะเขามีทางเลือกในชีวิต เลยมองว่านี่คือความปกติที่ฉันยังทำได้เลย ซึ่งนั่นแปลว่าเขาไม่ได้สนใจคนรอบข้าง ลืมไปว่าตัวเขาเองไม่สามารถทำงานหนักคนเดียวได้ในองค์กร ตัวเขาเองไม่สามารถทำทุกกระบวนการผลิตได้แค่คนเดียว ที่สำคัญลืมว่าคุณภาพชีวิตของคุณกับลูกน้องไม่เท่ากัน ทุกๆ คนต้องลุกขึ้นมาทำงานเกินเวลากันหมดโดยที่ไม่ได้มีทางเลือกเหมือนคุณ ดังนั้นถ้าชนชั้นผู้นำเลือกจะทำงานหนัก ลูกน้องที่ไม่มีทางเลือกก็ต้องทำตาม 

ทัศนคติทำนองนี้ทำให้เกิดวิธีคิดที่มองว่าการทำงานหนักเป็นเรื่องปกติ ชนชั้นนำผู้มีทางเลือกเลือกที่จะทำงานหนักได้ แต่ตาสีตาสาชนชั้นแรงงานที่ไม่มีทางเลือก ยังไงก็ต้องทำตามเขา แม้จะเสียสุขภาพหรือกระทบต่อชีวิตยังไงก็ต้องทำ

ไนล์ : เขาเลือกจะกดคนทำงาน ด้วยการพยายามบอกให้แรงงานทำงานเต็มประสิทธิภาพ ทำงานเพื่อองค์กร แต่ไม่เคยคิดจะเพิ่มเงินให้ด้วยซ้ำ 

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง แล้วไหงชอบพูดว่า “เราอยู่กันแบบครอบครัว” จัง

ไนล์ : ถ้าเป็นครอบครัว ก็คงเป็นครอบครัวที่ท็อกซิกมากเลย 

อิง : งั้นเราคงเป็นคนรับใช้ในครอบครัวล่ะมั้ง ที่นายจ้างถือเงิน ถือทุกอย่าง ถือทรัพยากร แล้วใช้งานเราเป็นทาส

ความพังของการ Work ไร้ Balance ส่งผลต่อคุณภาพงานไหม

อิง : ผมเชื่อว่าถ้าชีวิตแรงงานสร้างสรรค์ดี งานที่ออกมาก็จะดี แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ นอกจากการทำงานหนักจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างที่เรารู้อยู่แล้ว จริงๆ มันมีมิติเรื่องปัญหาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยเมื่อพ่อแม่ไม่ได้เจอลูกหรือลูกไม่ได้เจอพ่อแม่ 

ที่สำคัญมันส่งผลต่องานสร้างสรรค์ที่คุณทำอยู่แน่นอน ยกตัวอย่างคนที่ทำงานจนเบลอมันจะเอาอะไรไปครีเอทีฟได้ ยิ่งตอนนี้ระบบการผลิตสื่อหรืองานสร้างสรรค์เน้นการผลิตให้มากเข้าไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคืองานมีสิทธิ์ห่วยสูง

สมมติช่างภาพทำงานไปแล้วสิบหกชั่วโมง ต่อให้คุณถ่ายรูปเก่งเวอร์ มันก็ต้องมีบ้างแหละที่จะวูบ แล้วก็คิดว่าถ่ายๆ ให้จบเถอะ หรือแม้แต่งานเขียนเองก็ตาม เราแทบไม่เคยเห็นงานแบบหนึ่งบทความแล้วนายจ้างให้เวลาเขียนสามเดือนในไทยเท่าไหร่นัก ซึ่งนี่ก็ส่งผลต่อคุณภาพงานโดยรวม 

บทละครบทหนังที่คนแสดงความคิดเห็นกันว่ากาก ว่าห่วย ไอ้ความเชื่อที่ว่างานต้องมากชิ้นเข้าไว้ ยอดเอนเกจเมนต์ต้องเยอะถึงแปลว่างานดี หนังต้องมีหลายเรื่องเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน มันคือความเชื่อของนายทุนว่าถ้ายิ่งมีมาก ความเสี่ยงยิ่งน้อย ความลำบากก็มาตกที่แรงงาน ทำให้ต้องทำงานหนัก พอทำงานหนัก คุณภาพงานก็ดรอปลง ความคิดสร้างสรรค์มันหายไปตั้งแต่ทำงานหนักเกินเวลาแล้ว

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

ไม่เว้นแม้แต่นักแสดง ‘เด็ก’ ที่ทำงานหนักเกินไป ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่พวกคุณขับเคลื่อน

อิง : สังคมไทยพยายามปลูกฝังให้คนทำงานหนักแต่เด็ก สมาชิก CUT ที่เป็นฝั่งแวดวงภาพยนตร์เล่าว่ามาตรฐานการถ่ายทำของนักแสดงเด็กในไทยคือไม่มีมาตรฐาน ไม่มีไกด์ไลน์ว่าเวลาทำงานกับเด็กต้องทำตัวยังไง เด็กอายุเท่านี้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ พักนานแค่ไหน มันเลยเกิดปัญหาเด็กทำงานไม่รู้เวล่ำเวลา ผู้กำกับคิดว่าไม่โอเคก็ถ่ายใหม่จนกว่าจะพึงพอใจ ไม่มีการกำหนดกรอบชัดเจน ซึ่งเด็กก็ไม่เหมือนผู้ใหญ่ตรงที่มีเรื่องพัฒนาการและจิตวิทยาของช่วงวัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าเขาได้รับอะไรที่รุนแรง หนักไป มากไป มันจะส่งผลกระทบถึงเขาตอนโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น ถ้าเขาโดนดุ ด่า ตะคอก บังคับว่าฉากนี้ต้องร้องไห้ เด็กก็ต้องแอ็กติงจนร้องไห้ให้ได้ ซึ่งบางกองก็มีวิธีการทำให้เด็กร้องไห้ที่ต่างกันไป ซึ่งมันไม่โอเคมากๆ กับการทำให้เด็กคนหนึ่งต้องร้องไห้ด้วยเรื่องที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจเขา ในต่างประเทศก็มีเคสนักแสดงที่โดนแบบนี้ตอนเด็ก จนไม่กลับมาเล่นหนังอีกเลย ไกด์ไลน์การทำงานกับนักแสดงเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะมีอย่างยิ่ง

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

ทุกวันนี้เราเห็นค่าแรง และสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศเกิดขึ้นในกองถ่าย พวกคุณคิดเห็นต่อเรื่องนี้ยังไง

ไนล์ : สิ่งที่เราพยายามผลักดันคือวันลาคลอด ซึ่งปัจจุบันระบุที่ 98 วัน เราคิดว่ามันไม่เพียงพอ เอาแค่ช่วงเวลาให้หายเจ็บแผลอย่างเดียวนะ ไม่ได้มองไปถึงเรื่องพัฒนาการของลูก ก็ตอบได้แล้วว่าไม่พอจริงๆ แม้เราเริ่มเห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนเป็น 180 วันแล้วก็ตาม ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว 180 วันก็ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ

เราเคยมีโอกาสไปอยู่ในวงคุยที่เขานำเสนอเรื่องลาคลอด 180 วัน เราได้เห็นว่าคนพิจารณาเรื่องนี้เป็น ‘ผู้ชาย’ ที่อ้างว่า ถ้าลาคลอด 180 วัน แล้วนายทุนจะทำยังไง นี่แปลว่าเรายังติดกรอบความคิดแบบนี้กันอยู่ ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ มันต้องเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เพราะในกลุ่มคนมีอำนาจไม่มีความเข้าใจทั้งเรื่องแรงงาน และความเท่าเทียมทางเพศ

อิง : มันไม่ใช่แค่ในกองถ่ายด้วย แต่มันเป็นทั้งสังคม แรงงานผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย ด้วยปัจจัยต่างๆ ทางสังคม ตำแหน่งบางตำแหน่งสงวนไว้ให้แต่ผู้ชาย ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นไปถึงได้ อันนี้ก็ทำให้ไม่เท่าเทียมแล้ว หรือแม้แต่วันลา ผู้หญิงลาคลอด ลาป่วย ลาปวดประจำเดือน แต่รวมไว้ในการลาป่วยบริษัทที่ให้ 10 วัน ผู้หญิงเสียเปรียบแล้ว ต่อให้ 10 วันเท่ากันก็ไม่เท่าเทียมแล้ว

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

แล้วประเด็นคนทำงานแต่ละหน้าที่ในกองถ่ายที่ถูกทรีตไม่เท่ากันล่ะ

ไนล์ : มันไม่ใช่แค่นักแสดงกับเอ็กซ์ตรา (นักแสดงประกอบ) ที่ได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียม แต่คนในกองถ่ายก็มีการจัดลำดับอำนาจ ให้ผู้กำกับอยู่บนสุด เอ็กซ์ตราอยู่ล่างสุด คนเสิร์ฟน้ำโดนกำหนดมาแล้วว่าต้องไปเสิร์ฟให้ใครบ้าง ตำแหน่งไหนจะได้น้ำ ตำแหน่งไหนจะไม่ได้น้ำ ข้าวกล่องถูกแยกกัน คนนี้ข้าวกล่องระดับดี อีกคนข้าวกล่องระดับแย่ แม้จะอยู่ในกองเดียวกันก็ตาม

เรื่องค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลำดับชั้นตรงนี้มันชัดเจนมาก คนที่ยืนข้างกัน อาจค่าแรงต่างกันร้อยเท่า ช่างภาพตัวเล็กๆ ค่าแรงเรตหนึ่ง พอเป็นคนที่มีชื่อเสียง ค่าแรงสูงทะลุกำแพงจนน่ากลัว ทั้งๆ ที่เขาทำงานเนื้องานเดียวกัน

อิง : มันเหมือนเป็นสูตรการลงทุนในกองถ่าย ที่แบ่งเป็น Above the Line และ Below the Line สองเส้นที่มีชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง เหมือนโรงงานที่มีคนใส่เสื้อปกสีน้ำเงินกับปกสีขาว พนักงานที่อยู่ในห้องแอร์กับพนักงานสายผลิตที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้างกๆ ในอากาศร้อนๆ

หลักการคือ พอนายทุนแยกสองเส้นชัดเจน เวลาคนที่ได้ค่าแรงมากกว่าตีกับอีกคนที่ค่าแรงน้อยกว่า จะมีคนปกป้องนายทุนเสมอ ซึ่งคนนั้นก็คือพนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองพอใจในสิ่งที่ได้รับแล้ว แล้วเราก็ถูกปลูกฝังกันมาอีกว่าค่าแรงขึ้นอยู่กับความสามารถ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ สมมติเอาคนที่เก่งด้านจัดไฟมาสองคน คนหนึ่งจบนานแล้ว อีกคนจบใหม่ แต่ทำได้เท่ากัน เก่งเท่ากัน ค่าแรงก็ต้องเท่ากันใช่ไหม แต่พอมีคำว่าจบใหม่ กลายเป็นค่าแรงต่ำกว่าตั้งหลายเท่า

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

พวกคุณเห็นด้วยไหมว่าแม้แต่การศึกษาไทยเอง ก็ไม่ซัปพอร์ตเด็กที่อยากเป็นแรงงานสร้างสรรค์เท่าที่ควร

ไนล์ : ตอนที่เราเรียนนิเทศศาสตร์ เราเห็นเพื่อนที่เรียนภาคฟิล์ม ก่อนเรียนจบอยากทำหนังของตัวเองสักเรื่อง เขาต้องรับงานฟรีแลนซ์ตั้งแต่อยู่ปีสอง เพื่อเก็บเงินหลักแสน โดยที่มหา’ลัยแทบจะไม่มีอุปกรณ์หรือทุนให้เลย หรือถ้ามีก็น้อยมากๆ แค่หลักพันเท่านั้น ทั้งๆ ที่เวลาผลงานออกมา มหา’ลัยก็ได้หน้า อย่างภาควิชาของเรา เราก็หมดเงินทำธีสิสไปประมาณสองหมื่นบาท ได้ตังค์จากมหา’ลัยมาแค่สองพันบาท โดยที่เขาก็เอางานของเราไปโฆษณาให้รุ่นน้องเข้ามาเรียนต่อ 

นับรวมไปถึงนักศึกษาด้านศิลปะ ทั้งสถาปัตยกรรมหรือจิตรกรรม ที่เขาต้องมีต้นทุนในการทำงานส่งอาจารย์ เช่น ไม้ทำโมฯ อุปกรณ์กระดาษต้นทุนสูง ฯลฯ แต่พอมหา’ลัยไม่ซัปพอร์ตแบบนี้ ก็ทำให้การศึกษามันยากขึ้น

ถ้าคุณจะเรียนสถาปัตย์ คุณต้องมีต้นทุนสูงมาก ตั้งแต่ไปเรียนติวเข้ามหา’ลัยและจ่ายค่าเทอมที่สูง แถมยังต้องมีเงินซื้ออุปกรณ์ โต๊ะดราฟต์ โต๊ะไฟ ไม่ใช่ง่ายๆ เลยที่คนจะมาเป็นแรงงานสร้างสรรค์ได้ถ้าอยู่ในระบบการศึกษาแบบนี้

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

ในมุมมองของคุณ มาตรฐานการทำงานของคนทำงานสร้างสรรค์ที่ดีเป็นยังไง

อิง : ผมคิดว่ามนุษย์ต้องอยู่ในสังคมที่มีทางเลือก เลือกที่จะทำก็ได้ เลือกที่จะไม่ทำก็ได้ เลือกที่จะหยุดหรือเลือกที่จะทำแค่เท่าที่ตัวเองไหว การที่มนุษย์มีทางเลือก จะทำให้เกิดความสร้างสรรค์ เกิดสิ่งใหม่ๆ ตามมา แต่แน่นอนว่าถ้าเราต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมง สิบหกชั่วโมง หรือบางคนต้องทำยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่างเลี่ยงไม่ได้ แบบนี้คือไม่มีทางเลือก และมันคิดอะไรไม่ออกหรอก

ยิ่งเป็นฟรีแลนซ์ที่อาจมีแค่สัญญาจ้างชั่วคราว บางคนเหมาค่าแรง เหมาบริการ ซึ่งไม่ได้อยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะให้ทำกี่ชั่วโมงก็ได้ เพราะกำหนดเดดไลน์ไว้แล้วว่าจะเอาวันนี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนเป็นฟรีแลนซ์ถึงทำงานกันหนัก เพราะฉะนั้นกฎหมายแรงงานควรครอบคลุมเหล่าฟรีแลนซ์ด้วย

อีกอย่างคือการได้รับผลประโยชน์จากการว่างงาน ต้องเป็นมาตรฐานที่ไทยควรไปให้ถึงแบบในยุโรป หมายถึงว่าคนมีโอกาสเลือกที่จะตกงานได้ เพราะการเลือกตกงานควรเป็นสิทธิ คุณเลือกตกงานเพื่อที่จะเปลี่ยนงาน และเปิดโอกาสในการเลือกชีวิตการทำงานมากขึ้น 

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

สวัสดิการแรงงานสร้างสรรค์ไทย มีอะไรที่รัฐและนายจ้างต้องทำการบ้านบ้าง

ไนล์ : ทุกวันนี้สวัสดิการแรงงานไทยค่อนข้างอยู่ในขั้นทุเรศ คนทำงานสร้างสรรค์ฟรีแลนซ์หลายคนได้รับสวัสดิการต่ำกว่าพนักงานบริษัท นั่นคือแทบไม่ได้รับการคุ้มครองเลย เราไม่มีประกันสังคม ไม่มีกฎหมายที่กำหนดเวลาทำงานของเราให้เป็นแปดชั่วโมงจริงๆ แรงงานสร้างสรรค์ไม่ได้รับสิ่งที่จะซัปพอร์ตความมั่นคงขั้นพื้นฐานทั่วไป

อีกอย่างมันไม่ควรเกิดการแบ่งว่าเราเป็นแรงงานที่มีนายจ้าง กับอีกคนเป็นฟรีแลนซ์ เลยต้องได้สวัสดิการต่างกัน พื้นฐานของสิทธิมนุษยชนไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ นี่คือพื้นฐานสำคัญที่ต้องให้คนได้รับสวัสดิการเท่าเทียม และจำเป็นมากที่ต้องยกระดับสวัสดิการไทยให้สูงขึ้นกว่านี้ ทั้งด้านค่าแรง การคุ้มครอง ประกันสังคม

ค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ ต้องปรับขึ้นทุกปี แต่ไทยเราอยู่ที่สามร้อยบาทมาประมาณสิบปีได้แล้ว ในขณะที่ค่าข้าวกะเพราปรับขึ้นทุกปี

อิง : ผมคิดว่าเราควรพูดเรื่องค่าแรงที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตได้แล้ว คนไทยถูกฝังหัวว่าให้กลัวของแพง ซึ่งจริงๆ ของแพงไม่ได้ผิด ต่อให้ข้าวจานละหนึ่งร้อย กินสามมื้อเราก็จะเหลือเจ็ดร้อย ถ้าเราได้ค่าแรงหนึ่งพันบาท แต่วันนี้ค่าแรงสามร้อย เราเหลือวันละหนึ่งร้อยห้าสิบบาท มันถึงต่างกันเยอะ

ถ้าค่าแรงเราเพิ่ม แรงงานจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เราจะได้ทุนกลุ่มใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาสังคม หรือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปในแนวทางใหม่ๆ ถ้าคนมีทางเลือกนวัตกรรมมันจะเกิด ผมอยากเห็นแรงงานสร้างสรรค์ทุกคนมีรัฐสวัสดิการ เรียนฟรี มีบำนาญ มีประกันสังคมถ้วนหน้า หมายความว่าคุณไม่ต้องอยู่ในโรงงาน แค่คุณเป็นมนุษย์ในสังคมนี้ก็เข้าสู่ระบบประกันสังคม ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล สวัสดิการเกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัย และค่าแรงที่แฟร์ ต่อรองได้

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

ก้าวต่อไปของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ คืออะไร และคุณคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

ไนล์ : เรายังคงพยายามคุยกับทุกกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์เพิ่มเติมให้ครบทุกสาขาอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตอนนี้ที่คุยไปแล้วมีกลุ่มภาพยนตร์ นักดนตรี นักวาด และนักเขียน เป้าหมายของเราคือพูดคุยกับกลุ่มห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ แอนิเมชัน และอาชีพอื่นๆ ที่อยู่ในกรอบศิลปวัฒนธรรมการสร้างสรรค์

พวกเราไม่ได้รู้เรื่องทุกอย่างในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่เราอยากทำคือการเป็นส่วนกลางที่เอาข้อเสนอของคนทุกกลุ่ม มารวบรวมเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวทางกฎหมาย เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่อยากเรียกร้องบางอย่าง แต่ไม่รู้ต้องทำยังไง เราเลยต้องลงไปคุย

อีกเรื่องที่เราจะมุ่งเน้นต่อไปคือ เรื่องสัญญาจ้างที่เป็นธรรม ตอนนี้แรงงานสร้างสรรค์มีปัญหาเรื่องสัญญาจ้างเยอะมาก เช่น บางคนไม่มีสัญญาจ้าง บางคนมีแต่ต่อรองรับอะไรไม่ได้ สัญญาจ้างมาจากบริษัทฝ่ายเดียว ซึ่งมันไม่แฟร์ เราต้องการทำให้สัญญาจ้างเกิดจากการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝั่ง และตั้งใจวางแผนที่จะทำต้นแบบของสัญญาจ้างของแต่ละสาขาอาชีพ มันควรมีสัญญาจ้างที่มาจากฝั่งแรงงานได้แล้ว ไม่ใช่รับมาจากนายจ้างอย่างเดียว

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

อยากบอกอะไรให้สังคมรู้ว่างานสร้างสรรค์ในไทยนั้นมีประโยชน์ และใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ไนล์ : เหตุผลที่สังคมไทยมองว่าศิลปะอยู่ห่างไกลตัว เพราะคนไม่เหลือเงินไปซัปพอร์ตศิลปะแล้ว คนจะเริ่มเห็นความสำคัญต่อเมื่อปัจจัยพื้นฐานในชีวิตได้รับครบ มีบ้านนอน มีข้าวกิน เขาถึงสนใจไปอ่านการ์ตูน ดูหนัง

ถ้ามองดีๆ ศิลปะงานสร้างสรรค์มันอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ โต๊ะ ดีไซน์ ห้องนอน ฉลากผลิตภัณฑ์ เพลงที่คุณได้ยิน เมืองที่คุณเดิน ล้วนมีศิลปะอยู่ในนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์สร้างรายได้ให้ประเทศไทยมากแต่แรงงานกองถ่ายถูกกดขี่ เราเลยอยากให้ทุกคนคิดว่ามันจะดีขึ้นกว่านี้ได้ ที่เราพูดกันว่าอยากให้ไทยมีซอฟต์พาวเวอร์อย่างนั้นอย่างนี้ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่ซัปพอร์ตแรงงาน ประเทศไทยอาจจะมีคนแบบมิลลิ (milli) อีกเป็นหมื่นคนที่ได้แสดงความสามารถให้ทั่วโลกเห็น ถ้าแรงงานสร้างสรรค์ได้รับการซัปพอร์ต

อิง : ไม่มีใครอยากจะเปิดดูหนังเถื่อน แล้วกดข้ามโฆษณาบ่อยๆ หรอก บางคนเขาก็อยากอุดหนุน แต่ค่าตั๋วหนังมันแพงไป ค่าแรงไทยมันถูกไป เพราะฉะนั้นเราถึงอยากบอกว่าเราทุกคนคือแรงงาน ถ้าปัจจุบันคุณยังคุยกับนายจ้างไม่ได้ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีพลังมากพอ งั้นเราลองมารวมตัวเพื่อเปลี่ยนอนาคตไปพร้อมๆ กันไหม

‘ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์’ และ ‘อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร’ สองสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand)

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.