สตูดิโอ Creative Crews กับโปรเจกต์เพื่อสังคม - Urban Creature

สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา “Bank of Thailand Learning Center” คือผลงานชิ้นเอกของสตูดิโอออกแบบ “Creative Crews” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เดียวกันอย่าง “คุณแบงค์ – เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ” และ “คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์” ที่ร่วมกันก่อตั้งมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว

“ทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรรมช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น
สิ่งที่เราออกแบบมันเป็นส่วนหนึ่งของเมือง
ถ้าเราทำได้ดี อย่างน้อยจุดหนึ่งของเมืองก็ดีขึ้น”

จากจำนวนสมาชิกหลักหน่วย จนปัจจุบันมีสมาชิกในทีมเกือบ 30 คน ขยับขยายออฟฟิศมาปักหลักในย่านตลาดน้อย เราจึงถือโอกาสบุกรังลับที่พลางตัวกลมกลืนไปกับย่าน พร้อมพูดคุยกับคุณแบงค์ที่มากางโปรเจกต์ เผยแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบที่น่าสืบเสาะค้นหา

CC OFFICE | ออฟฟิศดิบเท่ ซ่อนตัวในตลาดน้อย

Photo Credit : Takdanai Raktawat

เราเดินเท้าเข้ามาในย่านตลาดน้อย ย่านเก่าแก่ที่มีชุมชนชาวจีนมาตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลาดน้อยขยายตัวมาจากสำเพ็งที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสำเพ็งถือเป็นตลาดใหญ่ในยุคนั้น ชาวจีนจึงเรียกตลาดใหม่นี้ว่า “ตะลัคเกียะ” หรือแปลเป็นไทยว่า “ตลาดน้อย”

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ เราจะพบศาลเจ้าขนาดเล็กซ่อนตัวอยู่มากมาย สลับกับแหล่งเซียงกงที่กองอะไหล่รถยนต์เป็นภูเขาอยู่หน้าบ้าน บ้างรับซื้อมาจากยุโรป บ้างมาจากอเมริกา เอามาขัดล้างเสียใหม่ขายได้ราคาดี และยังมีเรื่องขำๆ จากคุณแบงค์ว่า เมื่อก่อนนี้ตลาดน้อยเป็นเหมือนตลาดทั่วไป แต่พอเจ้าของที่ไล่คนในตลาดออกเพื่อเปลี่ยนมาทำอพาร์ทเมนท์ คนในตลาดที่อยู่มาแต่เดิมก็มาเช่าอพาร์ทเมนท์ แล้วก็เปิดร้านขายของ กลายเป็นที่มาของ “ตลาดอพาร์ทเมนท์” เป็นวิถีชีวิตของคนในย่านที่คุณแบงค์มองว่าเป็นเสน่ห์ดึงดูดของย่านนี้

เสน่ห์ของย่านเมืองเก่าในมุมมองของคุณแบงค์ที่อาศัยในย่านโบ๊เบ๊ไม่ไกลจากตลาดน้อย คือการที่คนสมัยก่อนจะเลี้ยงชีพจากสิ่งที่ตัวเองมีแพซชั่น ใครทำอาหารอร่อยก็เปิดร้านอาหาร ร้านเก่าแก่ดั้งเดิมจึงมักมีรสชาติอร่อย ส่วนร้านโปรดของคุณแบงค์ในย่านตลาดน้อยมีชื่อว่า “ฮั่นโภชนา” อยู่ในอพาร์ทเมนท์ชั้น 2 เวลาไปกินต้องกดกริ่งแล้วจะมีคนลงมารับ ให้อารมณ์เหมือนไปกินข้าวบ้านเขา ถ้าที่นั่งในบ้านเต็มก็ต้องออกไปนั่งระเบียง เรียกได้ว่าทั้งแปลกและอร่อย

“ถ้ามันเป็นเหมือนทุกเมืองมันก็ไม่มีเสน่ห์ 
อะไรรกๆ เราไม่ได้บอกว่าดีนะ แต่มันเป็นเสน่ห์ที่หาซื้อไม่ได้”

ลัดเลาะซอยเล็กๆ มาเจอกับตึกแถวขนาด 7 ชั้น 2 คูหา ที่ถูกรีโนเวทเป็นออฟฟิศ คุณแบงค์หลงใหลในความเฉพาะตัวของตึกแถว เนื่องจากเป็นรูปแบบอาคารที่มีอยู่เยอะในประเทศไทย และฟังก์ชันการใช้งานมีความยืดหยุ่นสูง เหมือนกับอาคารมิกซ์ยูสขนาดครอบครัว เช่น ข้างล่างสามารถเปิดร้านค้าร้านอาหาร ส่วนข้างบนเป็นพื้นที่ออฟฟิศและที่พักอาศัย

การออกแบบที่ผสมผสานของเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว อย่างผนังอาคารที่ไม่ได้ทาสี เผยให้เห็นเส้นดินสอสีของเด็กน้อยลูกคนงานที่มาวาดรูป หรืออีกจุดสำคัญคือบันไดปูนที่ทุบทำใหม่ แล้วแทนด้วยบันได้เหล็กก็ยังคงทิ้งร่องรอยของเดิมเอาไว้ วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็หาได้ในรัศมีหนึ่งกิโลเมตร เช่น เหล็กดัดติดหน้าต่าง ประตูเหล็กที่มีอยู่แทบทุกชั้น กัลวาไนซ์หรือเหล็กชุบสังกะสีที่เห็นได้ตามโรงน้ำแข็งที่นำมาบุผนัง และโต๊ะพับได้ที่มีต้นแบบมาจากร้านก๋วยเตี๋ยวข้างๆ

Photo Credit : Takdanai Raktawat

จุดเด่นของที่นี่คือ พื้นที่ชั้น 3 ซึ่งทุบผนังออกเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ ใช้เป็นพื้นที่นั่งคุยนั่งเล่นกึ่งเอ้าท์ดอร์ ปลูกต้นลำดวนไว้กลางออฟฟิศ คุณแบงค์บอกว่าแทบทุกบ้านในย่านตลาดน้อยจะปลูกต้นไม้ไว้หน้าบ้าน แสดงให้เห็นว่าทุกคนรักต้นไม้แม้จะมีพื้นที่น้อยนิด เลยอยากให้ออฟฟิศมีพื้นที่สีเขียวบ้าง

BOT LEARNING CENTER | ศูนย์การเรียนรู้คนเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

Photo Credit : Creative Crews

ศูนย์การเรียนธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT LEARNING CENTER) เป็นผลงานชิ้นเอกของ Creative Crews ที่ชนะการประกวดการออกแบบและบูรณะฟื้นฟูธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการเปลี่ยนโฉมโรงพิมพ์ธนบัตรเก่าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม และโคเวิร์กกิ้งสเปซ รวมถึงพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ

โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทยนี้ มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอดีตและวิวัฒนาการของเงินตรา หัวใจของการออกแบบคือการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตัวอาคาร โดยยังคงเก็บโครงสร้างหลังคาคอนกรีตรูปไข่ที่สร้างขึ้นเพื่อซับเสียงของเครื่องจักร แล้วเปลี่ยนผนังด้านหน้าอาคารทั้งหมดเป็นกระจกเปิดรับแสงและวิวแม่น้ำแบบเต็มอิ่ม

Photo Credit : Creative Crews

ส่วนที่เป็นนิทรรศการหมุนเวียนเคยเป็น loading bay หรือจุดรับ-ส่งของในอดีต เวลาคนเข็นรถขนของก็อาจมีการกระแทกกับเสา จึงมีกระเบื้องที่หลุดร่อนไปบ้าง การหากระเบื้องใหม่ให้เหมือนของโบราณเป็นเรื่องที่ยากมาก และถึงแม้จะหาได้เหมือนสีก็จะดูใหม่กว่าอยู่ดี ทีมออกแบบเลยเลือกปล่อยร่องรอยเก่าไว้เป็นกิมมิค

“เมืองไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เสมอ ของเก่าบางอย่างก็ควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ ทุกอย่างมันมีประวัติศาสตร์ หากจะทำใหม่ให้เหมือนเก่าก็คงเทียบมูลค่ากันไม่ได้”

Photo Credit : Creative Crews

คุณแบงค์เผยความลับให้ฟังว่า ห้องประชุมขนาดใหญ่ 500 ที่นั่งด้านบน ถูกต่อเติมขึ้นมาเหนือห้องเก็บสมบัติเก่าใต้ดินที่อยู่ลึกลงไป 3 ชั้น และมีผนังส่วนที่หนาที่สุดถึง 1 เมตรเพื่อป้องกันระเบิด เพราะเดิมทีอาคารหลังนี้สร้างขึ้นในช่วงที่กังวลว่าจะเกิดสงคราม สมัยก่อนห้องนี้มีไว้เก็บรักษาธนบัตร ทองคำแท่ง ในโรงพิมพ์ยังมีเครื่องพิมพ์ธนบัตรขนาดใหญ่ถึง 22 เครื่อง ทั้งพิมพ์นูน พิมพ์สี พิมพ์ขาวดำ เมื่อของเก่าเหล่านี้ถูกขนย้ายออกไป โครงสร้างอาคารจึงมี dead load* เหลือเยอะ จึงสามารถต่อเติมส่วนของห้องประชุมเข้าไปได้นั่นเอง

*dead load คือการคำนวนน้ำหนักที่มีอยู่ถาวร เช่น การคำนวนน้ำหนักอาคาร เสา หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งนับรวมเครื่องพิมพ์ที่มีน้ำหนักมากไว้ด้วย

CLASSROOM MAKEOVER FOR THE BLIND | ห้องเรียนเด็กตาบอด สัมผัสด้วยมือและหัวใจ

Photo Credit : Pichan Sujaritsatit

เชื่อว่าทุกคนคงอยากไปสัมผัสห้องเรียนเล็กๆ แสนอบอุ่นที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ เพราะนี่คือห้องเรียนสำหรับเด็กตาบอดที่ถูกเติมเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ในโปรเจกต์เปลี่ยนห้องสมุดเก่าของโรงเรียนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ให้เป็นห้องเรียนแบบ 360 องศาที่ต้องใช้มือและหัวใจสัมผัส ห้องเรียนแห่งนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีระดับความบกพร่องทางสายตาที่แตกต่างกัน โดยออกแบบให้สอดคล้องกับหลักสูตร Pre-Braille เพื่อให้เด็กตาบอดสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และมีทักษะในการใช้ชีวิต

เด็กทั่วไปจะมีพัฒนาการเริ่มจากหัดเดินหรือตั้งไข่ แต่สำหรับเด็กตาบอด พวกเขาจะไม่กล้าขยับตัวด้วยความที่มองไม่เห็นและกลัวว่าจะล้มหรือเจ็บ เมื่อไม่ค่อยได้ขยับตัวร่างกายก็จะไม่สร้างกล้ามเนื้อ ดังนั้นหัวใจของการออกแบบที่นี่คือ ทำอย่างไรให้เด็กอยากที่จะเคลื่อนไหวและได้ฝึกประสาทสัมผัสที่เป็นสิ่งสำคัญของเขาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตแล้ว ยังเป็นการสร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ อีกด้วย

Photo Credit : Pichan Sujaritsatit

โจทย์แรกของทีมคือการสอนคนตาบอดเต้น ปกติเราอาจสอนเต้นโดยการเต้นให้ดูแล้วให้เด็กทำตาม แต่พอเป็นเด็กตาบอดเราต้องบอกให้เขาชูมือไปข้างหน้า วาดมือเป็นวงกลมหรือรูปหัวใจ จึงเกิดเป็นไอเดียให้เด็กเล่นกับผนัง โดยเปลี่ยนผนังทุกด้านให้เป็นเหมือนกระดานดำ มีรูสำหรับใส่หมุดหรือตัวแม่เหล็กลักษณะต่างๆ มีขนาดไม่ซ้ำกันและมีผิวสัมผัสต่างกันไป เมื่อหยิบขึ้นมาแต่ละอันจะเกิดเสียงที่ไม่เหมือนกันเพื่อกระตุ้นการแยกประสาทหู ซึ่งก็มีตั้งแต่หมุดรูปทรงเรขาคณิต ไปจนถึงหมุดรูปสัตว์นานาชนิดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

ที่สำคัญคนตาบอดไม่ได้เหมือนกันทุกคน หลักๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ตาบอดสนิท และตาบอดเลือนลาง ซึ่งเขาจะยังเห็นความแตกต่างของสีได้ประมาณ 70% ดังนั้นผนังด้านหนึ่งจึงถูกออกแบบเป็นกระจกติดฟิล์มสี ข้างในเป็นผนังเจาะรู เวลาส่องดูจะมีแสงจากข้างนอกทะลุผ่านเข้ามา เพื่อกระตุ้นให้คนตาบอดเลือนลางฝึกการใช้ตาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บนพื้นก็มีตัวอักษรเบรลล์เป็นภาษาไทย-อังกฤษและตัวเลข ให้เด็กๆ ได้ลองเดินคล้ายกับเบรลล์บล็อกสำหรับคนตาบอด

สองโปรเจ็กต์นี้เป็นเพียงตัวอย่างผลงานของ Creative Crews ซึ่งเราหยิบยกมาแบ่งปันกัน เพราะมีความน่าสนใจและยังเป็นต้นแบบที่หลายคนสามารถนำแนวคิดดีๆ ไปต่อยอด โดยเฉพาะการออกแบบเพื่อสังคมที่ไม่ได้มองแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบที่มุ่งมั่นพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงการใช้งานของทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า

Content Writer : Angkhana N.
Photographer : Napat P.
Graphic Designer : Vachara P.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.