ครบรอบ 120 วัน ไทยพร้อมเปิดประเทศแล้วหรือยัง? - Urban Creature

ถึงเส้นตายของ ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หลังจากแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ถึงทิศทางและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลจะลงมือทำ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อม (?) เปิดประเทศภายใน 120 วัน! เรียกว่ายังไม่ทันได้วางไมค์ก็เกิดประเด็นคำถามมากมาย ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทุกคน หรือการควบคุมยอดผู้ติดเชื้อ เพราะช่วงเวลานั้นไทยยังมีจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอสำหรับทุกคน และไม่มีวัคซีน mRNA เพื่อรับมือไวรัสสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้งยอดผู้ติดเชื้อก็พุ่งสูงกว่า 4,000 รายต่อวัน

นี่จึงเป็นความท้าทายสุดหินของรัฐบาลไทย เพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้! (ไทยแลนด์สู้ๆ) และในวันนี้ก็เป็นวันครบรอบ 120 วัน เรามารีเช็กซ้ำกันอีกครั้งว่าอะไรบ้างที่ ‘ทำได้’ และ ‘ทำไม่ได้’

| ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือน

ประเทศไทยเจอปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอต้อง ‘รอจัดสรร’ นับตั้งแต่ช่วง มิ.ย.-ก.ค. จนทำให้หลายโรงพยาบาลเลื่อนการรับวัคซีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ยอดฉีดวัคซีนตลอดเดือน ก.ค. อยู่ที่ 7,758,276 โดสเท่านั้น เมื่อเข้าสู่เดือน ส.ค. สถานการณ์วัคซีนในไทยดีขึ้น เพราะได้รับวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac Astrazeneca Sinopharm และ Pfizer ราว 14 ล้านโดส ทำให้ตลอดเดือน ส.ค. ฉีดวัคซีนได้ 14,321,874 โดส 

ถึงแม้จะได้ฉีดวัคซีนเยอะขึ้นเป็น 20,357,349 โดสในเดือน ก.ย. ก็ตาม แต่วัคซีนหลักที่ใช้ยังคงเป็น Sinovac Sinopharm และ Astrazeneca โดยมีประสิทธิภาพป้องกันอยู่ที่ 49.6 – 82.4% ซึ่งไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ หรือแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องโฟกัสมากกว่าตัวเลขการฉีดวัคซีนต่อเดือน นั่นคือประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงลดอัตราการป่วยหนักและตายได้หรือไม่

| ต้นเดือนตุลาคมประชาชนฉีดวัคซีนเข็มแรก 50 ล้านคน

คิดอยากจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการให้ประชาชนได้รับ ‘วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ’ ครบสองเข็มมากกว่า 70 – 80% ขึ้นไป แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลมุ่งให้ประชาชนฉีดวัคซีน ‘เข็มแรก’ ถึง 50 ล้านคนมากกว่า ซึ่งข้อมูลจำนวนการได้รับวัคซีนสะสมระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 12 ต.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า ประชากรในประเทศไทยที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกมีทั้งหมด 35,895,984 คน (คิดเป็น 51% ของประชากรในไทย) ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนครบสองเข็มอยู่ที่ 24,282,686 คน หรือคิดเป็น 34.79% เท่านั้น

| เปิดประเทศกลางเดือน ต.ค. 64

นายกฯ มีเรื่องสำคัญจะประกาศออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำเอาคนตื่นตกใจ หรือนี่จะเป็นเรื่องดีในปีนี้ของประเทศ แต่ขอโทษที่ต้องทำให้ผิดหวัง เพราะดันเป็นประกาศ ‘เลื่อน’ วันเปิดประเทศอีกครั้ง แม้จะให้คำมั่นสัญญาไว้อย่างดิบดีว่าพร้อมเปิดภายใน 120 วันแน่นอน ซึ่งหลายคนกลับไม่ได้รู้สึกแปลกใจ เพราะกลยุทธ์ซื้อเวลาของรัฐบาลประยุทธ์ถูกใช้มานักต่อนัก

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลา (เพิ่ม) อีกไม่นาน โดยประเทศไทยพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้า ซึ่งประเทศที่อยู่ในความเสี่ยงต่ำไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ 1 พ.ย. นี้ เพื่อหวังรายได้จากการท่องเที่ยวมาเยียวยาช่วยเศรษฐกิจไทยที่กำลังร่อแร่อยู่ให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้เปิดให้ท่องเที่ยวแบบ Sandbox เป็นบางเมือง โดยนำร่องจังหวัดภูเก็ตที่แรกตั้งแต่ 1 ก.ค. คาดว่ารายได้อยู่ที่ 8,900 ล้านบาท หลังจากเปิดโครงการมาได้ 3 เดือน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 38,699 คน เฉลี่ยวันละ 100 – 400 คนเท่านั้น ประกอบกับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด เพราะมีผู้ติดเชื้อเกิน 200 คนในจังหวัดที่สร้างความมั่นใจแก่นักเดินทาง ซึ่งกระทบไปยังภาคการท่องเที่ยวอื่นๆ จึงทำให้ภูเก็ต Sandbox ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

| จัดหาวัคซีนให้ครบ 105.5 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 

อีกหนึ่งมิชชันที่นายกฯ ได้แถลงการณ์เอาไว้ คือจัดหาวัคซีนให้ครบ 105.5 ล้านโดสภายในปีนี้ เบื้องต้นมีการติดต่อจัดซื้อวัคซีนจาก 6 บริษัท ซึ่งถ้าได้รับตามกำหนดโดยรวมสิ้นปีไทยจะได้รับวัคซีนมากกว่า 170 ล้านโดส

ระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ย. 64 ไทยได้รับวัคซีนประมาณ 55 ล้านโดส และรอนำเข้าวัคซีนเพิ่มระหว่าง ต.ค.-ธ.ค. 64 มากกว่า 70 ล้านโดส (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 27 ก.ย. 64) ซึ่งคาดว่าวัคซีนที่ต้องได้รับเดือน ต.ค. จะเข้ามาครบ 24 ล้านโดสภายในสิ้นเดือน ได้แก่ Sinovac 6 ล้านโดส Astrazeneca 10 ล้านโดส Pfizer 8 ล้านโดส และ Sinopharm 6 ล้านโดส

เดือน พ.ย. นำเข้าอีก 23 ล้านโดส ได้แก่ Astrazeneca 13 ล้านโดส Pfizer 10 ล้านโดส และ Sinopharm 12.5 ล้านโดส สำหรับเดือน ธ.ค. นำเข้า 24 ล้านโดส ได้แก่ Astrazeneca 14 ล้านโดส Pfizer 10 ล้านโดส Sinopharm 12.5 ล้านโดส และ Moderna 2 ล้านโดส

| นับถอยหลังอีก 17 วัน เมืองไทยปัง…แน่

ไม่จำเป็นต้องให้คุกกี้เสี่ยงทาย แต่ก็พอรู้ว่าชะตากรรมประเทศไทยจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งภายในระยะเวลาอีก 17 วัน ก่อนเปิดประเทศตามแถลงการณ์ใหม่ แนวโน้มการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ถึง 50 ล้านโดส ดูท่าจะเป็นไปได้ยาก ส่วนเข็มสองน่ะเหรอ อย่าหวังเลย

นี่จึงเป็นความกังวลสำหรับประชาชนว่าการเปิดประเทศจากสถานการณ์ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนครบสองเข็มยังไม่ถึง 50% ยอดผู้ป่วยรายใหม่ทะลุวันละ 1 หมื่นคน รวมถึงผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 80 คนเช่นนี้ จะถือว่าไทยพร้อมจริงหรือเปล่า แม้ภาครัฐจะอยากให้ผู้ประกอบการสามารถลืมตาอ้าปาก ทำมาหากินได้ดังเดิม แต่ถ้าการเปิดประเทศครั้งนี้ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ หรือเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ เราอาจจะเจ็บตัวหนักกันมากกว่าเดิม


Sources :
กระทรวงสาธารณสุข | https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/
ประชาชาติธุรกิจ | https://www.prachachat.net/politics/news-777302
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 | https://www.facebook.com/informationcovid19/
สำนักข่าวไทย | https://www.youtube.com/watch?v=7ghFaYkpLYM

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.