เพราะโลกร้อนขึ้น ‘ไวรัสโคโรนา’ จึงแข็งแกร่ง ? - Urban Creature

ความฝุ่นยังไม่ทันหาย ความวุ่นวายของ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ (Novel Coronavirus) ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามันพัฒนาขึ้นมาจากตัวเดิมก็เข้ามาแทรก ซึ่งทำเอาหลายคนรับมือแทบไม่ทัน ขนาดพี่จีนที่เป็นประเทศต้นทางของการแพร่ระบาด ยังออกมาประกาศสภาวะฉุกเฉินกันเลยทีเดียว ในขณะเดียวกัน ‘ภาวะโลกร้อน’ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของโลกใบนี้ และเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จุดไฟให้ไวรัสแข็งแกร่ง อึดถึกทน และระบาดได้อย่างรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งมีชีวิตล้วนต้องมีวิวัฒนาการ ไวรัสก็เช่นกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ (Novel Coronavirus) ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามันพัฒนาขึ้นมาจากตัวเดิม ถึงมีการแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟให้ไวรัสแข็งแกร่ง อึดถึกทน และระบาดได้อย่างรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อโลกค้นพบไวรัส

‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่อะไร แต่เป็นไวรัสในตระกูลโคโรนาที่พัฒนาเป็นไวรัสซาร์ส (SARS) เมื่อปี ค.ศ. 2003 จนทำให้คนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยในการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดนี้ ทีมแพทย์บอกว่าไวรัสโคโรนาไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่เคยพบมาก่อน องค์การอนามัยโลกจึงตั้งชื่อให้ว่า ‘Novel Coronavirus’ หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั่นเอง

ต้นตอของไวรัสตระกูลเดิมเพิ่มเติมคือสายพันธุ์ใหม่ มาจากเมื่อปลายปีที่แล้ว ชาวจีนที่เมืองอู่ฮั่นเกิดป่วยเป็นโรคปอดอักเสบพร้อมกันหลายคน โดยผู้ป่วยกลุ่มแรกเป็นลูกค้าและคนงานของตลาดอาหารทะเลเมืองอู่ฮั่น ซึ่งทีมแพทย์ได้ตรวจสอบจนพบว่าไวรัสนี้มีรหัสพันธุกรรมตรงกับค้างคาว ขณะเดียวกันมีการวิเคราะห์ว่าเชื้ออาจมาจากงู เพราะมีรหัสโปรตีนคล้ายกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะเจาะจงว่าเชื้อไวรัสมาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่

ปกติไวรัสนี้จะเกิดขึ้นในสัตว์ แต่ในบางกรณีคนก็สามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน อีกทั้งแพทย์ยังออกมายืนยันแล้วว่า มันสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วย และความน่ากลัวก็คือ ไวรัสตัวนี้ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่ต่างจากคนเป็นหวัดหรือเป็นไข้ เรียกได้ว่ากว่าจะรู้ตัว เชื้อก็พัฒนาจนทำให้เป็นโรคปอดอักเสบ ไปจนถึงป่วยรุนแรง และเสียชีวิต ซึ่งเราต้องมาติดตามกันว่า

“นี่จะเป็นไวรัสที่เกิดขึ้นมาแค่ชั่วคราว หรือส่งผลเสียระยะยาวต่อมนุษย์”

‘โคโรนา’ พรากชีวิตไปมากแค่ไหน

ก่อนจะมีการประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นหลังไวรัสโคโรนาตัวนี้ระบาด คนอู่ฮั่นกว่า 5 ล้านคน ได้ออกเดินทางไปเที่ยวตรุษจีนตามเมืองต่างๆ กว่า 20 ประเทศ 109 เมือง ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม อเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี และตุรกี

นั่นทำให้ประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ บ้านเรามีความเสี่ยงเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีคนจีนมาเที่ยวเยอะ และนับตั้งแต่ประกาศการแพร่ระบาดของไวรัสจนถึงตอนนี้ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกถูกยืนยันแล้วกว่า 7 พันคน โดยประเทศจีนมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจำนวน 170 ราย (อัปเดตเมื่อ 30 มกราคม 2563) ส่วนไทยพบผู้ติดเชื้อ 14 ราย และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากไวรัส

ไวรัสจะอึด! ถ้าโลกยังไม่หยุดร้อน

‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ เชื้อที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับร้อย ซึ่งการที่ไวรัสตัวนี้แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้ไวรัสแข็งแกร่งขึ้น

โดยปกติแล้วไวรัสทั่วไปจะเกิดขึ้นตอนช่วงอากาศหนาว เพราะมันต้องอาศัยความชื้นเป็นตัวพาไป รู้แบบนี้บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วโลกร้อนเกี่ยวข้องอย่างไร ? มีรายงานจาก ‘วิจัยสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน’ บอกว่าเมืองอู่ฮั่นมีสภาพอากาศเปลี่ยนไป นั่นเป็นตัวแปรที่ทำให้ไวรัสแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเมื่อเอาอุณหภูมิในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2016 ถึง 2019 มาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่ามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น หมายความว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น หิมะก็ละลายและระเหยไปในอากาศเร็วขึ้น ยิ่งเพิ่มความชื้นให้ไวรัสระบาดไปอย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ของจีนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า ฝุ่น PM 2.5 จะทำให้เกิดการระคายเคือง ทั้งเยื่อบุตา ปาก หรือทางเดินหายใจ และเมื่อร่างกายอ่อนแอลง ก็ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำงานได้ดีขึ้น และง่ายต่อการติดเชื้อ

อนาคตต้านไวรัส

‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ เพิ่งพบการติดเชื้อในคน ทำให้ยังไม่มียาป้องกันหรือวัคซีนเฉพาะ แต่ในการรักษาที่ผ่านมาก็มีคนหายจากโรคนี้ได้หลายคน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เชื้อไวรัสเพิ่มความแข็งแกร่งได้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีอะไรมาต้านทาน และไม่รู้ว่าจะหยุดแพร่ระบาดเมื่อไหร่ ทำให้วงการสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสนใจกับเรื่องนี้

อย่างทีมวิจัยอเมริกา ได้ศึกษาเรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ด้วยการถอดลำดับจีโนมหรือชุดข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ที่อยู่บน DNA ของไวรัสซาร์สมาพัฒนาเป็นวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะทดลองใช้กับคนได้ นอกจากอเมริกาแล้ว ยังมีคนที่เล่นใหญ่กว่านั้น เห็นทีต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่สามารถเพาะเลี้ยงไวรัสโคโรนาภายในห้องปฏิบัติการได้สำเร็จ โดยไวรัสที่เพาะเลี้ยงจะสร้างแอนติบอดี้ ซึ่งจะทำให้ตรวจหาไวรัสในผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการได้ ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนในอนาคต

สำหรับพี่จีนซึ่งเป็นต้นทางของการแพร่ไวรัสตัวนี้ ได้จับมือกับโรงพยาบาลและบริษัทเอกชน พัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA รุ่นใหม่ที่ใช้เวลาผลิตสั้นกว่า เพื่อปราบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และส่งไปทดสอบยังคลินิกต่างๆ โดยเร็วที่สุด หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง ‘อาลีบาบา’ ก็ไม่พลาดลงสนามมาช่วยเหลือปัญหานี้ ด้วยการเปิดตัวบริการให้คำปรึกษาคุณหมอออนไลน์แบบฟรีๆ เพื่อลดแรงกดดันในโรงพยาบาล โดยเมื่อเปิดตัวไปก็มีคนเข้ามาใช้บริการกว่า 3 หมื่นคนภายใน 24 ชั่วโมง

‘วัคซีน’ ทางรอดของมวลมนุษยชาติ

เมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด ก็ดูเหมือนว่าทั่วโลกจะหันมาพัฒนาวัคซีนกันมากขึ้น เพราะเป็นหนทางเดียวที่เห็นผลไวและป้องกันได้ดีที่สุด แม้ว่าจะต้องใช้เวลาศึกษาและผลิตหลายปีก็ตาม อย่างวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนาตัวนี้ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ก็ยังไม่มีเจ้าไหนผลิตออกมาใช้ได้ทันท่วงที

ปกติแล้วการผลิตวัคซีนจะทำขึ้นมาเฉพาะอาการหรือโรคนั้นๆ และมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนอย่างมาก ยกตัวอย่างกรณี ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ที่มีเชื้อไวรัสหลายร้อยชนิด และมีช่วงเวลาแพร่ระบาดแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสามารถสรุปวิธีการผลิตและเตรียมวัคซีนคร่าวๆ ได้ดังนี้

• ช่วงเตรียมเชื้อและเฝ้าระวัง: ส่งรายงานจากหลายประเทศ และตัวอย่างเชื้อไวรัสไปยังองค์การอนามัยโลก จากนั้นต้องระบุเชื้อ และแยกตัวไวรัสก่อโรคออกมา เพื่อนำไปผลิตขั้นตอนต่อไป

• ขั้นตอนการผลิตวัคซีน: ส่วนใหญ่จะใช้ไข่ไก่เป็นเซลล์ตั้งต้นในการเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนเชื้อ โดยจะนำไข่ไก่มาฉีดเชื้อลงไป ซึ่งเชื้อไวรัสในไข่ไก่จะถูกนำมากรองและทำให้บริสุทธิ์ จากนั้นนำมาเก็บรักษาเอาไว้

• ใส่แอนติเจน (Antigen): ส่วนผสมหลักอย่าง แอนติเจน คือสารที่ฉีดเข้าไปแล้วสามารถกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดี้ ซึ่งจะนำมาผสมในสูตรตำรับถังใหญ่ที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นจะถูกกรอกในขวดยา และส่งไปยังที่ต่างๆ โดยต้องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนี้ก็กินเวลาราว 6 เดือนเลยทีเดียว

• กระจายวัคซีนไปยังผู้ป่วย: การกระจายยาไปยังประเทศต่างๆ นั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเสียก่อน อย่าง FDA หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานั่นเอง

เรียกได้ว่าต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่จะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อไหร่ แล้วต่อจากนี้จะมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่เพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า


Sources
CNN | cnn.it/2t76xS4
The Conversation | bit.ly/3123bMS
BBC ไทย | bbc.in/2U7vBmY
ประชาชาติธุรกิจ | bit.ly/2uKHVyU
Wikipedia | bit.ly/391hIv9, bit.ly/36G1jKI
South China Morning Post | bit.ly/36Ec00g
Thai PBS News | bit.ly/3130RoT, bit.ly/2GBmQK8, bit.ly/2RTTPhO
Whats Orb | bit.ly/2S3maCn
Time and Date | bit.ly/38UWAXf
เดลินิวส์ | bit.ly/2tScyTh
BCC News | bbc.in/2uIh8mX
Xinhua Thai | bit.ly/2GBV8Na
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย | bit.ly/2RDE13Z

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.