จะดีแค่ไหนถ้าได้อยู่ในเมืองที่น่าอยู่ คุณภาพชีวิตดี แถมยังรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
ท่ามกลางวิกฤต ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ หรือ ‘Climate Change’ หลายเมืองทั่วโลกเดินหน้าผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในเมืองที่ยืนหนึ่งด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘ความยั่งยืน’ ก็คือ ‘โคเปนเฮเกน’ เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก
นิตยสาร Time Out ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 27,000 คนจากหลายร้อยเมืองทั่วโลก เพื่อหาคำตอบว่าเมืองใดคือเมืองที่ ‘ยั่งยืนที่สุดในโลก’ ประจำปี 2021 โดยผลการสำรวจชี้ว่า 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจยกให้ ‘โคเปนเฮเกน’ เป็นเมืองที่ครบเครื่องเรื่องความยั่งยืนอันดับหนึ่งของโลก
แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าโคเปนเฮเกนจะกลายเป็นเมืองสีเขียวอันดับต้นๆ ของโลกได้ อากาศในเมืองหลวงแห่งนี้เคยเต็มไปด้วยมลพิษ ส่วนแหล่งน้ำก็ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ขยะ และสิ่งปฏิกูล Urban Creature จะพาทุกคนไปหาคำตอบว่า โคเปนเฮเกนทำอย่างไรจึงสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและสังคมที่เข้มแข็ง จนกลายเป็นเมืองที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้
01 | Public and Private Sectors : เมืองที่ภาครัฐร่วมมือกับเอกชน
ก่อนอื่นต้องอธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า รัฐบาลเดนมาร์กบริหารงานแบบ ‘กระจายอำนาจการปกครอง’ (Decentralization) และยังทุ่มงบประมาณส่วนใหญ่ให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับงบประมาณประจำปี (Annual Block Grant) จากรัฐบาลแห่งชาติ โดยจะมีการเจรจาต่อรองประจำปีระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นและกระทรวงการคลังแห่งชาติ ทำให้เทศบาลเมืองต่างๆ รวมถึงโคเปนเฮเกน มีอำนาจและอิสระในการตัดสินใจและบริหารงานด้วยตนเอง
แต่เดิมเมืองโคเปนเฮเกนเคยเป็นเมืองที่ปกคลุมไปด้วยควันดำ ที่เกิดจากถ่านหินและปิโตรเลียม ส่วนแหล่งน้ำก็ปนเปื้อนและเต็มไปด้วยขยะและสิ่งปฏิกูล ทั้งหมดเป็นผลพวงจากการทำอุตสาหกรรมและการทำประมง จนกระทั่งคริสต์ทศวรรษที่ 1990 โคเปนเฮเกนเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และมุ่งเน้นไปที่การวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนและความยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างรากฐานเพื่อให้นวัตกรรมและธุรกิจที่สร้างสรรค์มีโอกาสเติบโตได้ โคเปนเฮเกนสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน
ในส่วนของภาครัฐ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือนายกเทศมนตรี อย่างเช่น Bo Asmus Kjeldgaard อดีตนายกเทศมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของโคเปนเฮเกนระหว่างปี 1998 – 2011 ผู้มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนโคเปนเฮเกนให้เป็น ‘เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘Environmental Capital’ ของยุโรป และยังต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนควบคู่ไปกับการพัฒนาความยั่งยืน เพื่อทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ (Liveability)
ส่วน Frank Jensen อดีตนายกเทศมนตรีโคเปนเฮเกนตั้งแต่ปี 2010 – 2020 ก็มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนโคเปนเฮเกนเป็นเมืองหลวงที่ปราศจากคาร์บอนแห่งแรกของโลกภายในปี 2025 โคเปนเฮเกนได้ทุ่มงบประมาณไปกับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับปั่นจักรยาน การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน และการสร้างพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์
มากไปกว่านั้น โคเปนเฮเกนยังจับมือร่วมกับหน่วยงานและบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน อย่างเช่น ‘Copenhagen Solutions Lab’ ศูนย์บ่มเพาะโครงการพัฒนาโคเปนเฮเกนให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีสำหรับรวบรวม ตีความ และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะกับตัวเมืองและผู้คน อย่างเช่น การทดสอบที่จอดรถอัตโนมัติ การดูแลธรรมชาติในตัวเมือง การจัดการของเสีย และการวัดคุณภาพอากาศ
นอกจาก Copenhagen Solutions Lab ยังมีบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายบริษัทที่ร่วมมือกับทางการโคเปนเฮเกน อย่างเช่น บริษัทวิศวกรรม Danfoss บริษัทสาธารณูปโภค HOFOR บริษัทแก้ปัญหาเรื่องน้ำ Grundfos บริษัทส่งออกนวัตกรรมกังหันลม Vestas และอื่นๆ
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาโคเปนเฮเกนให้เป็นเมืองแห่งความยั่งยืน และยังช่วยเร่งเปลี่ยนเมืองสีเขียวแห่งนี้ให้เป็นเศรษฐกิจไร้คาร์บอนให้เร็วยิ่งขึ้นด้วย
02 | Bike-friendly City : เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน
กรุงโคเปนเฮเกนได้รับฉายาว่าเป็น ‘เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานมากที่สุดในโลก’ โดยในปี 2005 โคเปนเฮเกนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,800 ล้านบาท) เพื่อปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงถนน สร้างเลนจักรยาน และสร้างสะพานสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ เพื่อให้นักปั่นสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ตอนนี้โคเปนเฮเกนมีเลนจักรยานยาวรวมกันทั้งหมดกว่า 250 ไมล์ (ราว 400 กิโลเมตร) และมีจุดจอดจักรยานกว่า 48,000 แห่ง
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการปั่นจักรยานที่เพียบพร้อมและปลอดภัย ผู้คนในโคเปนเฮเกน ส่วนใหญ่ยังเลือกเดินทางด้วยจักรยาน เห็นได้จากช่วงเวลาเร่งด่วน ที่ท้องถนนเต็มไปด้วยจักรยานวิ่งขวักไขว่ไปมามากที่สุด โดยในแต่ละวันมีชาวโคเปนเฮเกนปั่นจักรยานไปทำงานและไปโรงเรียนมากกว่า 150,000 คน (คิดเป็น 36% ของการเดินทางของแต่ละวันในโคเปนเฮเกน) ส่วนจำนวนจักรยานในโคเปนเฮเกนมีทั้งหมดมากกว่า 675,000 คัน มากกว่าจำนวนรถยนต์กว่า 5 เท่า เพราะจำนวนรถยนต์มีอยู่ราว 120,000 คันเท่านั้น
ตั้งแต่อดีตชาวโคเปนเฮเกนปั่นจักรยานกันอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย ไม่ต้องเจอปัญหารถติด การปั่นจักรยานยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อกล้ามเนื้อ กระดูก และหัวใจด้วย แต่ในช่วง 10 – 15 ปีที่ผ่านมา ผู้คนหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้นเพราะความกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศและผลกระทบจาก Climate Change โดยข้อมูลในปี 2016 เปิดเผยว่า ในแต่ละวัน ระยะทางของนักปั่นในโคเปนเฮเกนรวมกันทั้งหมดมีมากกว่า 1.4 ล้านกิโลเมตร (เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปี 2006) ซึ่งการปั่นจักรยานอย่างแพร่หลายทำให้โคเปนเฮเกนสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 90,000 ตันต่อปี
สำหรับเป้าหมายในอนาคตอันใกล้ โคเปนเฮเกนยังได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการเดินทางโดยจักรยาน จากเดิมที่มีอยู่ 49% ให้กลายเป็น 50% ภายในปี 2025 และโคเปนเฮเกนยังมีแผนที่จะขยายเลนจักรยาน เพื่อรองรับนักปั่นที่คาดว่าจะมีเพิ่มอีกประมาณ 60,000 คน ภายในกรอบเวลาเดียวกันด้วย
03 | CopenHill : เมืองที่เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน
หลายคนอาจเคยเห็นภาพสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ในโคเปนเฮเกน ที่จะเป็นโรงงานก็ไม่ใช่ สนามกีฬาก็ไม่เชิง แต่ถ้าให้พูดกันตามตรง ที่นี่ก็เป็นทั้งสองอย่างนั่นแหละ
‘CopenHill’ หรือ ‘Amager Bakke’ คือโรงไฟฟ้าที่เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นความร้อนและพลังงาน (Waste to Energy Power Plant) ในแต่ละปี CopenHill สามารถเปลี่ยนขยะมากถึง 485,000 ตันเป็นพลังงานได้ พลังงานที่ว่าก็คือ ‘ไฟฟ้า’ ที่ผลิตให้กับ 30,000 ครัวเรือน และ ‘ความร้อน’ ที่กระจายให้แก่ 72,000 ครัวเรือน
กระบวนการเผาขยะที่เกิดขึ้นใน CopenHill จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ทำให้น้ำเดือด ก่อนจะกลายเป็นไอน้ำที่ระบายออกทางปล่องขนาดใหญ่ นับเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ เพราะไม่มีการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกเลย ทำให้ CopenHill กลายเป็น ‘โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษที่สุดในโลก’ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 107,000 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากถึง 99.5% และลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 85%
CopenHill คือผลงานของ Bjarke Ingels Group (BIG) บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลกที่ตั้งอยู่ในโคเปนเฮเกนและนิวยอร์ก ซึ่งนอกจาก BIG ต้องการออกแบบ CopenHill ให้เป็นโรงเผาขยะรักษ์โลก ผู้ออกแบบยังต้องการทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับผู้คนด้วย เพราะดาดฟ้าของที่นี่คือพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีทั้งลานสกีความยาวประมาณ 450 เมตร (ที่สามารถเล่นสกีได้ตลอดปีโดยไม่ต้องพึ่งหิมะ) สนามเด็กเล่น เส้นทางเดินป่า ลู่วิ่ง พื้นที่ออกกำลังกาย คาเฟ่ ลิฟต์แก้วที่มองเห็นภายในโรงไฟฟ้า และยังมีหน้าผาจำลองที่สูงที่สุดในโลกถึง 80 เมตร โดยกิจกรรมอย่างสกีจะมีค่าใช้จ่ายและต้องจองล่วงหน้า แต่ดาดฟ้าของ CopenHill เปิดให้ประชาชนเข้าใช้ได้ฟรีในช่วงเวลาให้บริการ
BIG สร้างพื้นที่สาธารณะที่ CopenHill โดยใช้แนวคิด ‘การพัฒนาความสุขอย่างยั่งยืน’ (Hedonistic Sustainability) ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่นอกจากจะปกป้องสิ่งแวดล้อม ยังต้องตอบความต้องการของมนุษย์ที่อยากมีความสุขอย่างยั่งยืน และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ได้ด้วย ซึ่งผู้ริเริ่มแนวคิด Hedonistic Sustainability ก็คือ Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์กผู้ก่อตั้งบริษัท BIG นั่นเอง
04 | District Heating/Cooling Systems :
เมืองที่ได้ความร้อนจากไฟฟ้าเหลือใช้และความเย็นจากน้ำทะเล
โคเปนเฮเกนได้พัฒนา ‘ระบบกระจายความร้อนให้แก่ชุมชน’ (District Heating System) และ ‘ระบบกระจายความเย็นให้แก่ชุมชน’ (District Cooling System) เพื่อประหยัดพลังงานและใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โคเปนเฮเกนริเริ่มการใช้ ‘District Heating System’ มานานเกือบ 100 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 1925) ซึ่งระบบดังกล่าวคือ ‘เครือข่ายท่อใต้ดิน’ ที่นำไฟฟ้าเหลือใช้และความร้อนจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี ‘Combined Heat and Power’ (CHP) มาเปลี่ยนเป็น ‘พลังงานความร้อน’ สำหรับใช้งาน
โรงไฟฟ้า CHP จะใช้ของเสีย (Waste) และชีวมวล (Biomass) อย่างเช่น เศษไม้ ขยะ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อนไปพร้อมๆ กัน (เป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ CopenHill ใช้) หลังจากนั้นโรงไฟฟ้าก็จะผลิตกระแสน้ำร้อน ก่อนจะกระจายผ่านเครือข่ายท่อไปยังอาคารและบ้านเรือนต่างๆ ทั่วโคเปนเฮเกน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ประชาชน
โดยปัจจุบัน 99% ของครัวเรือนในโคเปนเฮเกนเชื่อมต่อกับ District Heating System ข้อดีของ District Heating System ก็คือ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 – 50% เพราะเป็นการนำของเสียและวัสดุเหลือมาใช้ใหม่ และยังมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้น้ำมันผลิตความร้อนถึง 49% เป็นระบบที่ช่วยประหยัดเงินและแทบไม่ส่งผลกระทบแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อมเลย
ส่วนในปี 2010 โคเปนเฮเกนได้พัฒนาและเริ่มใช้ District Cooling System ซึ่งเป็นเครือข่ายท่อใต้ดินเช่นเดียวกับ District Heating System แต่ District Cooling System คือการผลิตกระแสน้ำเย็นโดยใช้น้ำทะเลเป็นหลัก ก่อนจะกระจายไปยังอาคารบ้านเรือนต่างๆ โคเปนเฮเกนตั้งใจใช้ระบบแจกจ่ายกระแสน้ำเย็น เพื่อลดสัดส่วนการใช้เครื่องปรับอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน
District Cooling System สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 70% เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป และลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 80% นอกจากนั้นระบบนี้ยังไม่มีเสียงรบกวนเหมือนเครื่องปรับอากาศ และลดพื้นที่ในการติดตั้งเครื่องทำความเย็นต่างๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะในอาคารใหญ่ๆ ที่ไม่ต้องติดตั้งเครื่องอัดน้ำยาแอร์ทั่วชั้นดาดฟ้าเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป ช่วยให้ชาวโคเปนเฮเกนมีที่เปิดโล่งสำหรับการพักผ่อนและพบปะมากขึ้น
05 | Waterways : เมืองที่มีแหล่งน้ำเพื่อคนเมือง
โคเปนเฮเกนเป็นเมืองที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ส่วนตัวเมืองยังถูกตัดผ่านด้วยคลองและเส้นทางน้ำ ทำให้คนที่นี่คุ้นชินกับการอาศัยร่วมกับแหล่งน้ำ ซึ่งโคเปนเฮเกนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มี ‘น้ำ’ สะอาดที่สุดในโลก ผู้คนสามารถดื่มน้ำประปาจากก๊อกโดยไม่ต้องกรอง หรือจะกระโดดว่ายน้ำเล่นในแม่น้ำลำคลองก็ได้เช่นกัน เพราะแหล่งน้ำของที่นี่ทั้งสะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพ
แต่แหล่งน้ำของโคเปนเฮเกนไม่ได้สะอาดแบบนี้มาตั้งแต่แรก หากย้อนไปราว 40 ปีก่อน แหล่งน้ำที่อยู่บริเวณท่าเรือปนเปื้อนและเต็มไปด้วยขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันรั่วไหล สาหร่าย รวมไปถึงปลาตาย (ว่ายน้ำแบบยุคปัจจุบันไม่ได้แน่นอน) ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในอดีตท่าเรือของโคเปนเฮเกนคือช่องทางสำคัญสำหรับขนส่งสินค้าและการทำอุตสาหกรรม หากเกิดฝนตกหนัก มลพิษเหล่านี้ก็จะไหลล้นเข้าท่าเรือ
ทำให้ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ทางการโคเปนเฮเกนได้ตัดสินใจปฏิรูปทรัพยากรน้ำ โดยการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ สร้างแนวกั้นน้ำล้น แยก ‘ระบบบำบัดน้ำเสีย’ (Sewer System) และ ‘ระบบกักเก็บน้ำฝน’ (Rainwater Harvesting System) ออกจากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู่ท่าเรือในช่วงที่ฝนตกหนักจนทำให้แหล่งน้ำต้องปนเปื้อน นอกจากนั้นโคเปนเฮเกนยังสร้างพื้นที่จัดเก็บน้ำใต้ดินบริเวณท่าเรือสำหรับให้ประชาชนว่ายน้ำด้วย เปรียบเสมือนสระว่ายน้ำที่อยู่ในแม่น้ำเลย
โคเปนเฮเกนได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำไปทั้งหมดราว 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,500 ล้านบาท) แม้ว่าปัจจุบันพายุรุนแรงหรือฝนตกหนักอาจทำให้น้ำจากท่อบำบัดน้ำเสียไหลทะลักและทำให้ท่าเรือสกปรกอยู่บ้าง แต่ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา โคเปนเฮเกนสามารถลดการรั่วไหลของสิ่งปฏิกูลที่ท่าเรือได้มากกว่า 75%
06 | Think Like The Danes : คิดอย่างชาวเดนิช
นอกจากนโยบายจากภาครัฐและเอกชน การออกแบบ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในโลกแล้ว อีกปัจจัยสำคัญคือ ‘ผู้คน’ เพราะคนที่นี่ต้องการและเต็มใจร่วมเปลี่ยนเมืองของพวกเขาให้กลายเป็นเมืองด้านสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่เด็กจนโต ชาวเดนิชถูกปลูกฝังให้ตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิม (Conventional Wisdom) และได้รับการสนับสนุนให้คิดค้นและพัฒนาสิ่งที่ดีกว่า ทำให้ ‘นวัตกรรม’ และ ‘ความเป็นผู้ประกอบการ’ ฝังอยู่ในกระบวนการคิดโดยธรรมชาติของพวกเขา
มากไปกว่านั้น บริษัทต่างๆ ในเดนมาร์กยังมีโครงสร้างองค์กรแบบแนวราบ (Flat Hierarchy) ทุกคนในบริษัท ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนสามารถแสดงความกังวลเรื่องงานหรือแชร์ไอเดียต่างๆ ได้ ความเท่าเทียมในทุกแง่มุมของชีวิตชาวเดนิชจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จุดประกายความสร้างสรรค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
นอกเหนือจาก ‘แนวคิด’ หรือ ‘Mindset’ ที่นำไปสู่นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ชาวเดนิชยังดำเนินชีวิตประจำวันโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก พวกเขาปั่นจักรยานไปทำงานเพื่อลดมลภาวะ กินออร์แกนิกเพื่อลดการใช้สารเคมี ลดปัญหาขยะอาหารโดยการใช้แอปพลิเคชันสำหรับ ‘ขายอาหารเหลือ’ ในราคาที่ถูกกว่าราคาจริงหลายเท่าตัว รวมไปถึงแยกขยะเพื่อนำขยะกลับมาใช้ใหม่
หากย้อนไปเมื่อปี 1978 เดนมาร์กคือประเทศแรกของโลกที่กำหนดใช้กฎหมายแยกขยะ (Law on Recycling) โดยกำหนดให้อย่างน้อย 50% ของกระดาษและบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มต้องถูกนำไปรีไซเคิล ทำให้การแยกขยะผูกติดกับวัฒนธรรมของชาวเดนิชมาอย่างยาวนาน
ชาวเดนิชไม่ได้กังวลเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงวิกฤตของโลก เพราะธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB) ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ชี้ว่า 79% ของชาวเดนิชมองว่า Climate Change และผลกระทบจากวิกฤตนี้คือความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 และ 73% ของชาวเดนิชพร้อมสนับสนุนนโยบายเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นสัดส่วนที่มากกว่าชาวยุโรปทั่วไปที่มีอยู่ที่ 69%
ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า แนวคิดและวิสัยทัศน์ของชาวเดนิชคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ ‘โคเปนเฮเกน’ และ ‘เดนมาร์ก’ เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนลำดับต้นๆ ของโลก
Sources :
ArchDaily | t.ly/tnh1
Architect Magazine | t.ly/o4Y5
Australian Energy Council | t.ly/4Frx
BIG | t.ly/ZDsb
Bloomberg | t.ly/FFBv
Brookings | t.ly/iXmg
CIBSE Journal | t.ly/DusU
Copenhagen Solutions Lab | shorturl.at/bfiIM
CopenHill | t.ly/9gXA
DANSIC | t.ly/2rTS
European Investment Bank | shorturl.at/nouA3
FIA Foundation | t.ly/HFbU
Freethink | shorturl.at/iBFGW
Global District Energy Climate Award | t.ly/9olc
HOFOR | t.ly/lmyOd
HOFOR Bæredygtige byer | t.ly/uf3F
IBI Group | t.ly/pqVx
Københavns Kommune | t.ly/p7n6
MITR PHOL ModernFarm | t.ly/8kzw
State of Green | shorturl.at/buJ35
The Danish Eco-Innovation Program | shorturl.at/szIV8
The Guardian | shorturl.at/qJRS9
TimeOut | t.ly/VCVW
Tomorrow.City | t.ly/uG62
Urban Life Copenhagen | t.ly/EQTY
Urban Sustainability Exchange | t.ly/7YMh
World Economic Forum | t.ly/Ciqr