เมื่อภาวะทางใจของคนที่ทำงาน หนักหนาจนมากระทบเรา - Urban Creature

ชาวออฟฟิศหลายคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในชีวิตหนึ่งสัปดาห์ ใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้านเสียอีก ยิ่งช่วงไหนที่ประชุมบ่อย งานด่วน โปรเจกต์ใหม่ใกล้เปิดตัว ฯลฯ บ้านเราจริงๆ ก็มีไว้แค่กลับไปอาบน้ำนอนเท่านั้นแหละ

‘การมี ‘Work BFF’ หรือเพื่อนรักในออฟฟิศคือลาภอันประเสริฐ’ จึงเป็นคำกล่าวที่จริงมาก เพราะสมัยก่อนตอนเราทำงานออฟฟิศ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือความขัดแย้งกับเจ้านาย ก็ได้เพื่อนสนิทที่นั่งโต๊ะข้างๆ กันนี่แหละคอยแชร์ความเข้าใจ ความห่วงใย กอดคอรอดไปพร้อมๆ กัน

แต่ความเจ็บปวดอีกระดับที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อคนที่ควรเป็นที่พึ่งและความอุ่นใจของเรา ดันกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยแทนซะแล้ว อาจเพราะด้วย ‘ภาวะทางใจ’ ไม่ว่าจะเป็นโรคหรืออาการทางจิตใจต่างๆ ที่กระทบเขาอย่างรุนแรง จนห้วงอารมณ์และความเป็นตัวตนของเขาเปลี่ยนไป จนทำให้เราแทบจำเวอร์ชันเก่าไม่ได้ ส่งผลให้การทำงานของเขาและเรายากขึ้นตามไปด้วย

แล้วชีวิตการทำงานของเราจะรอดได้ยังไง หากต้องรับมือเหตุการณ์หนักๆ นี้ไปทุกวัน

ทำยังไง เมื่อเพื่อนที่ทำงานมีปัญหา

‘มันคืออาการหรือโรคที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ ถ้าทุกอย่างปกติ เขาจะไม่ทำกับเราแบบนี้’

เมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพจิตใจเผชิญเรื่องราวหนักหนาจนตั้งรับไม่ไหว สภาพร่างกายและอารมณ์ก็จะแสดงความสุดโต่งต่างๆ ออกมา เช่น เกรี้ยวกราด ด่าทอ เฉยชา หงุดหงิดง่าย ฯลฯ

สิ่งนี้เรียกว่าระบบป้องกันตัวในยามที่สภาพร่างกายและจิตใจอยู่ในช่วงฉุกเฉิน

คนคนนั้นจำเป็นต้องสร้างตัวตนอื่นมาตั้งรับกับสภาวะแปลกใหม่ที่เขากำลังเจออยู่

และแน่นอน ‘นั่นไม่ใช่การรับมือแบบปกติทั่วไป’ เช่น ถ้าเพื่อนของเราเพิ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เพื่อนคนนี้เครียดมาก ปล่อยวางไม่ได้ จนอารมณ์ฉุนเฉียวใส่เพื่อนร่วมงานเสมอ แปลว่าเพื่อนคนนี้อาจยังไม่พร้อมเปิดแผลและเผชิญหน้ากับความเจ็บที่ฝังลึกอยู่ในใจ

จากความเศร้าที่ไม่ได้เยียวยา จึงส่งเป็นพลังโกรธพ่นไปหาทุกคนที่ขวางหน้า คล้ายๆ ว่า ‘ถ้าฉันต้องเจอความไม่ยุติธรรม คนอื่นก็ต้องเจอความเจ็บนี้เหมือนๆ กับฉัน’ เป็นต้น

อย่าลืมว่า หากเขาสุขภาพจิตดี ร่างกายไหว เขาไม่มีทางทำแบบนี้แน่ๆ ให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจอย่างอ่อนโยนว่า ‘พฤติกรรมของเขาเกิดมาจากเงื่อนไขที่ซับซ้อนของภาวะทางใจเขา’

หากทุกอย่างเป็นปกติ เขาจะไม่มีทางทำให้เราเจ็บอย่างนี้แน่

ทำยังไง เมื่อเพื่อนที่ทำงานมีปัญหา

‘อย่ารับมือเรื่องนี้คนเดียว ให้แชร์กับคนที่เกี่ยวข้องเสมอ’

หากเจอปัญหาทำนองนี้ ลองปรึกษาหัวหน้าหรือเพื่อนคนอื่นที่ร่วมงานด้วยว่า ต่างคนมีความเห็นในการรับมือเพื่อนคนนี้ ในตอนนี้ อย่างไรบ้าง 

ไม่ว่าอาการจะซับซ้อนขนาดไหน เมื่อมาอยู่ในบริบทของการทำงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน นั่นคืองาน

ความเป็นอยู่ของเพื่อนในตอนนี้อาจกระทบเงื่อนไขการทำงานที่เร่งปั่นอยู่ เช่น หากเพื่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่มาทำงานหลายวันโดยไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ การชี้แจงความกังวลให้เจ้านายทราบ จะทำให้เจ้านายสามารถวางแผนอย่างล่วงหน้าได้โดยไม่เสียงาน เช่น รับคนมาช่วยเพิ่ม ลดจำนวนงาน ฯลฯ หรือระหว่างเพื่อนในทีมด้วยกันเองจะได้คอยจัดตารางเวลาว่า อยากไปเยี่ยมดูใจเพื่อนวันไหน สลับกันไป เป็นต้น

‘จดจ่อแต่เนื้อหา เอางานให้รอดก่อน’

ช่วงเวลาแบบนี้ ความรู้สึกของเราอาจท่วมท้นมากจนรับไม่ไหว เพราะเพื่อนส่งพลังงานร้อนอย่างกับระเบิดมาให้ทุกวัน

แค่ ‘รับรู้’ ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ แล้วค่อยๆ ประคองสติตัวเองกลับมา โฟกัสที่ความคืบหน้าของงานให้ได้ เพราะถ้าการสื่อสารกับเพื่อนที่สภาวะใจไม่ดีตอนนี้ มีแต่จะสร้างความบั่นทอนให้จิตใจของเรา ก็ขอให้ใช้เวลาที่ต้องคุยกับเพื่อนคุยแต่เรื่องงานก็พอ 

ส่วนเรื่องเคลียร์ใจเอาไว้ก่อน เพราะตอนนี้เพื่อนยังไม่ฟังก์ชันพร้อมสื่อสารเรื่องอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนได้

ทำยังไง เมื่อเพื่อนที่ทำงานมีปัญหา

‘ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง เพราะเราทำได้ดีที่สุดแล้ว’

นานวันเข้า เราได้แต่เฝ้ามองดูเพื่อนคนนี้เปลี่ยนไปผ่านอาการหรือโรคที่เพื่อนเป็น และยิ่งเราสนิทกับเพื่อนคนนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งจะมีความรู้สึก ‘What-if’ หรือเต็มไปด้วยความคิดซ้ำๆ ถึงอดีตว่า ‘ถ้าตอนนั้นเราทำอย่างนั้น…’, ‘ถ้าเราเลือกพูดกับเพื่อนแบบนี้…’, ‘ถ้าเราตั้งใจรีเสิร์ชเรื่องหมอให้เพื่อนกว่านี้…ตอนนี้เพื่อนอาจจะอาการดีขึ้นแล้วหรืออาจจะหายแล้วก็ได้’

ผู้เขียนอยากให้ค่อยๆ เอาก้อนความรู้สึกผิดหรือความอับอายออกจากตัวเอง เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องแบกเอาไว้ตั้งแต่แรก เราทำได้ดีที่สุดแล้วในฐานะเพื่อนคือ การมอบความรักและความห่วงใยให้เขาในระยะที่เราปลอดภัย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้แล้ว

และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้เซฟตัวเองก่อนเสมอ เพราะการควบคุมเดียวที่เรามีคือการดูแลชีวิตของตัวเองตอนนี้ให้ดี และผ่านความยากนี้ไปให้ได้

‘ปล่อยให้ทุกความรู้สึกของเราได้ระเหยออกมา’

เหตุผลที่ใช้คำว่าปล่อยให้ ‘ระเหย’ เพราะเราอาจเผลอกดหรือกักเก็บความรู้สึกบางอย่างไว้ ความรู้สึกที่เชื่อว่าตัวเองไม่ควรจะรู้สึกถึงมัน 

เราแค่ต้องปล่อยให้ความรู้สึกหลายอย่างนั้นลอยขึ้นมาเหนือน้ำบ้าง หลายครั้งเราอาจต้องอยู่ในฐานะ Caretaker หรือผู้ดูแลเพื่อนที่มีสภาพจิตใจปั่นป่วน

ในฐานะคนสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ มักมีความเชื่อว่า ‘เพื่อนคนนี้หนักกว่าเราหลายเท่า เราไม่มีสิทธิ์ไม่ไหว เพราะเพื่อนต้องพึ่งเราอยู่’ ความรู้สึกแบบนี้ทำให้เรารู้สึกผิดที่บางครั้งเราสัมผัสถึงสิ่งอื่นในใจ นอกเหนือจากความภูมิใจที่ได้อยู่เพื่อเพื่อน ความเป็นห่วงเพื่อน ความเต็มที่ในความเสียสละ ฯลฯ

แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกรำคาญ โกรธแค้น เหนื่อยล้า โดดเดี่ยว หรือความรู้สึกใดๆ มันไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนใจร้าย แต่แปลว่าเราคือมนุษย์ปกติคนหนึ่ง ที่จริงใจในความรู้สึกตัวเองต่างหาก และหากรู้สึกเริ่มรับมือกับสิ่งนี้ไม่ไหว เราก็มีสิทธิ์ทุกประการที่จะหาความช่วยเหลือให้หัวใจของเรา เพราะผู้เขียนเองก็มีคนไข้หลายคนที่เข้ามาปรึกษาเพราะตัวเองเป็น Caretaker ของคนที่พวกเขารักเช่นกัน

ไม่ว่าจะสุขภาพจิตสดใสหรือหม่นหมอง ทุกคนล้วนควรค่าแก่การดูแลด้วยความใส่ใจกันทั้งนั้น

ทำยังไง เมื่อเพื่อนที่ทำงานมีปัญหา

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.