ในแต่ละปีประเทศไทยพบเด็กที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ประมาณ 1 ใน 700 คน
เด็กและรอยยิ้มเป็นของคู่กัน แต่ ‘ยิ้ม’ สำหรับเด็กที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ อาจเป็นความไม่มั่นใจจนทำให้ขาดโอกาสหลายอย่างในชีวิตไป
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความผิดปกติของใบหน้าที่เกิดกับเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ หรือการได้รับสารเคมีจากภายนอก ซึ่งเมื่อเด็กคลอดออกมา อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร อันเนื่องมาจากความยากลำบากในการป้อนนม ความยากลำบากในการกลืนกิน ไปจนถึงการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตลอดจนถึงปอด ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่สามารถเกิดขึ้นแยกกันหรือร่วมกันได้ทั้งสองอย่าง โดยปากแหว่งจะเป็นสิ่งที่เห็นได้จากภายนอกเลย คือเด็กจะมีรอยแยกของริมฝีปากบนไปจนถึงเหงือกและเพดานปากส่วนหน้า ส่วนเพดานโหว่ รอยแยกจะเกิดขึ้นตั้งแต่เพดานอ่อนไปจนถึงเพดานแข็ง
ภายใต้รอยยิ้ม คือความยากในชีวิต
ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ คือจะไม่สามารถดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณแม่ต้องใช้กระบอกฉีดยาในการป้นอนนมทีละนิด ซึ่งนั่นอาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากอะไรสำหรับบ้านที่มีกำลังทรัพย์ แต่บางบ้านที่ไม่มีเงินซื้อกระบอกฉีดยา คุณแม่ต้องใช้หลอดน้ำค่อยๆ หยอดนมป้อน เรียกว่านอกจากจะมีผลกระทบจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว ยังทำให้เด็กขาดสารอาหารจนเจ็บป่วยได้อีกด้วย
เมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นมา ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ยังคงสร้างความยากลำบากในชีวิตประจำวัน อย่างเวลากินก๋วยเตี๋ยว เส้นก็อาจออกมาทางจมูก กินน้ำซุปรสจัดแล้วจะแสบจมูก หรือเวลาพูดแต่ละครั้งก็ต้องพยายามพูดให้ชัดเหมือนเสียงคนปกติ
และในเมื่อไม่มีเพดานปาก เวลาไม่สบายขึ้นมา น้ำมูกจะไหลตรงลงสู่ท้องหรือหู ทำให้เชื้อโรคเข้าไปสะสมในร่างกายได้ง่าย เด็กที่มีภาวะนี้จึงเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยกว่าเด็กทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเสี่ยงในการเป็นหูน้ำหนวกมากกว่าเด็กทั่วไปอีกด้วย
ทางเดียวที่จะหายจากความยากลำบากเหล่านี้มีแค่การผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดแต่ละครั้งก็ใช้เงินหลายหมื่นบาท ยิ่งมีอาการทั้งปากแหว่งและเพดานโหว่ร่วมด้วยกันแล้ว การผ่าตัดแค่ครั้งสองครั้งอาจไม่เพียงพอ ทำให้เด็กบางคนต้องผ่านการผ่าตัดถึง 7 ครั้ง กว่าจะสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้
รอยยิ้มใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ
การมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ในโรงพยาบาลไม่ถือเป็นเคสที่ต้องรีบรับการรักษา หากเป็นผู้มีกำลังมากพอก็เข้าโรงพยาบาลเอกชนเพื่อผ่าตัดได้เลย แต่สำหรับผู้ป่วยที่ยากไร้นั้นเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
และเป็นเวลากว่า 23 ปีแล้ว ที่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation) ได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ซึ่งยากไร้ ให้ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และให้การดูแลต่อเนื่องจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ โดยทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม มีโครงการรักษาผู้ป่วยหลักๆ 2 รูปแบบ คือ
- โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การผ่าตัดภายในหนึ่งสัปดาห์ เป็นการรวบรวมบุคลากรแพทย์อาสาสมัครมาออกหน่วยเพื่อมอบการผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติพิการบนใบหน้า และความพิการทางศัลยศาสตร์ตกแต่งอื่นๆ ให้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล หรือขาดแคลนศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- โครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่อง ไม่จำกัดระยะเวลา เป็นการรับเคสนอกเหนือจากการไปออกพื้นที่ และส่งผู้ป่วยให้ผ่าตัดตามโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด
นอกจากผ่าตัดศัลยกรรมให้น้องๆ มีใบหน้าปกติและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแล้ว ยังทำให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ความทรมานใจที่เคยรู้สึกว่าตัวเองถูกมองว่าไม่ปกติก็หมดไป นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังดูแลในเรื่องของการออกเสียงและการพูดอีกด้วย เพราะเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มักออกเสียงได้ไม่ชัด ทำให้อาจพบปัญหาเรื่องการเข้าสังคม การศึกษา และการหางานทำ
เสียงจากตัวแทนมูลนิธิ
เวลานี้เราเห็นศิลปินออกมาเคลื่อนไหวต่อประเด็นและปัญหามากมายที่เกิดในสังคม หนึ่งในนั้นคือ เทย่า โรเจอร์ ที่เต็มที่กับบทบาทของการเป็นแอมบาสเดอร์ของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม
เทย่าเล่าว่า เธอเป็นคนติดต่อทางมูลนิธิเข้ามาเอง เพราะตั้งใจอยากช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เธอรู้สึกว่าเด็กที่มีภาวะเหล่านี้เขามีความหวัง และรอโอกาสที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งการที่เด็กและผู้ปกครองได้มาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำให้พวกเขาได้เจอคนที่มีภาวะเหมือนกัน และมีกำลังใจที่จะรักษาให้หาย
“ชาวบ้านยังมีความเชื่อผิดๆ ต่อภาวะปากแหว่งเพดานโหว่อยู่เยอะมาก บางครั้งก็ได้ยินคนพูดว่าโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการโดนคำสาป บางคนก็เชื่อว่าเป็นเพราะคนบนฟ้าเขากำหนดมาเลยเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งมันบั่นทอนจิตใจเด็กที่ต้องจมกับคำพูดเหล่านี้”
จากการได้ลงพื้นที่ ทำให้เธอรู้เลยว่าการช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือเงิน เพราะทางมูลนิธิใช้เงินเยอะมากกับอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องใช้ผ่าตัด โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ผ่าตัดเด็ก รวมถึงบางเคสพ่อแม่ไม่อยากลางานพาลูกมาหาหมอเพราะทำให้ขาดรายได้ ทางมูลนิธิก็ช่วยสนับสนุนค่าเดินทาง และที่พักต่างๆ
เทย่าประทับใจทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ เพราะเธอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของผู้ป่วย อย่างเด็กบางคนที่ต้องมารับการผ่าตัดเพิ่มเติมทุกปี พอเธอเห็นว่าอาการของเด็กเริ่มดีขึ้น เริ่มพูดชัดขึ้นแล้ว เธอก็รู้สึกอิ่มเอมใจที่เห็นเด็กคนนั้นมีความมั่นใจขึ้นมากจากวันแรกที่มารักษา
ใครๆ ก็ส่งต่อรอยยิ้มได้
ไม่ใช่แค่ศิลปินที่ขอเป็นเสียงเล็กๆ เพื่อส่งต่อความสุขให้แก่เด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แต่แบรนด์รองเท้าขวัญใจวัยรุ่นทุกยุคอย่าง Converse ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการ “เติมรอยยิ้ม” และมอบชีวิตใหม่ร่วมกับมูลนิธิอีกด้วย
คุณเองก็สามารถ “เติมรอยยิ้ม” และชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาเติมรอยยิ้มให้น้องๆ ได้ด้วยการซื้อรองเท้า Converse Jack Purcell รุ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยเส้นขีดรอยยิ้มที่หน้ารองเท้า ได้ที่ Converse Shop หรือทาง Lazada Thailand โดยรายได้จากการขายรองเท้า 1 คู่ จะหัก 400 บาท เพื่อนำเงินไปมอบให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้มนั่นเอง
ร่วมเปลี่ยนชีวิตของเด็กให้ดีขึ้นตลอดไป ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แล้วอย่าลืมแชร์รอยยิ้มนั้นให้เราเห็น ผ่านแฮชแท็ก #JustSmile #OperationSmileThailand และ @Converse_Thai