A : เราท้อวะ
B : …………
ถ้าคุณเป็น B จะปลอบใจ A ว่าอย่างไร
ก. สู้ๆ นะ
ข. ไม่เป็นไร ฉันรู้ว่าแกทำได้
ค. อดทนหน่อย เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น
ง. เราอยู่เคียงข้างแกเสมอนะ
จากคำถามด้านบน คงไม่มีใครตัดสินได้ว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องที่สุด เพราะแต่ละคนต่างมีเรื่องราวและประสบการณ์แตกต่างกันออกไป หากคำปลอบใจที่เลือกเยียวยาคนที่ต้องการกำลังใจได้ก็ดีไป แต่หากพูดไปแล้วไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟัง ก็อาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม รวมถึงสร้างความลำบากใจให้แก่คนปลอบในที่สุด
แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะแสดงความห่วงใยให้คนฟังรู้สึกไม่ท้อ เราจึงต่อสายตรงไปหา ‘แพทย์หญิงชัชชญา เพียรจงกล’ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการให้คำแนะนำปัญหาทางด้านจิตใจจาก Ooca แพลตฟอร์มปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์ที่จะช่วยให้คำแนะนำการพูดปลอบใจให้คนฟังและคนพูดรู้สึกดีไปพร้อมกัน
ปลอบใจ คือตัวแทนความเป็นห่วง
ก่อนปรึกษาอย่างลงลึก คุณหมอชัชชญาพูดถึง ‘การปลอบใจ’ ให้ฟังว่า คือสิ่งสำคัญที่ควรทำให้แก่กันในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงความรู้สึกให้อีกฝ่ายรับรู้ แต่ส่วนใหญ่คนมักมองข้าม และมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งที่ผลลัพธ์นั้นช่วยเขยิบความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากกว่าการผูกมิตรรูปแบบอื่น ซึ่งคงจะดี ถ้าเราได้อยู่เคียงข้างกันในช่วงเวลายากลำบาก คอยให้กำลังใจ และปลอบประโลม มากกว่าถูกทิ้งให้เศร้าเพียงลำพัง
“วันไหนที่รู้สึกแย่ ไม่ว่าใครก็อยากมีคนปลอบใจ”
“การปลอบใจเป็นวิธีการแสดงออกที่ช่วยให้อีกคนหนึ่งรู้สึกดีขึ้นทางด้านจิตใจ ซึ่งเดิมมนุษย์มีสัญชาตญาณของความเห็นอกเห็นใจอยู่แล้ว ดังนั้นการปลอบใจเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เช่น อาจจะมีวันไหนที่รู้สึกแย่ แล้วเราอยากมีใครสักคนคอยปลอบใจกัน อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจว่า ยังมีเรานั่งข้างเธออยู่เสมอนะ หมอคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ”
คุณสมบัติ : ความเห็นใจอย่างพอดี
สิ่งสำคัญที่คนรับบทผู้ปลอบใจควรต้องมีคือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ที่เป็นตัวแปรหลักสำหรับเข้าไปไขกุญแจคนที่กำลังเผชิญปัญหาว่ารู้สึกอย่างไร โดยศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ‘Empathy’
ความเห็นอกเห็นใจและความรู้สึกที่แสดงออกมาให้คนฟังรับรู้ จะแตกต่างจากการรับฟังเฉยๆ ที่ไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปทำความรู้จักปัญหาของคนพูด ซึ่งทุกคนมีสิ่งนี้อยู่ในตัวและฝึกฝนกันได้ เช่นเมื่อเพื่อนกำลังเศร้า อาจลองจินตนาการว่า ถ้าตัวเองเจอสถานการณ์เช่นเดียวกันจะคิดอย่างไร เราก็สะท้อนสิ่งนั้นกลับไปว่า เข้าใจความรู้สึกนะ ไม่แปลกหรอกที่จะรู้สึกแบบนี้ ระบายออกมาได้
‘ปลอบใจแบบ Empathy ไม่ใช่ Sympathy’
“แต่การเป็นห่วงมากเกินไป ระวังจะกลายเป็น ‘Sympathy’ นั่นคือการเอาตัวเองไปอินกับความรู้สึกของเพื่อน จนทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ตามไปด้วย ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นเลย
“อารมณ์เหมือนเราเศร้าไปกับเขา ก็ยิ่งเสียใจหนักเข้าไปกันใหญ่ ดังนั้น เราควรปลอบใจแบบ Empathy นั่นคือการที่เราลองไปยืนในจุดเดียวกับเขาเพื่อเข้าใจปัญหา ในขณะเดียวกันก็ทำตัวเป็นคนนอกที่ยืนมองออกมา ซึ่งเราเตือนหรือฉุดเขาขึ้นมาจากหลุมดำในจิตใจได้” คุณหมอเสริม
วิธีที่ 1 : รับฟังโดยไม่ตัดสิน
ขั้นตอนแรก หากมีคนมาเล่าเรื่องหนักใจให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน แฟน หรือคนใกล้ชิด ให้เริ่มต้นด้วยการเปิดใจรับฟังอย่างไม่ตัดสินไปก่อนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด รวมทั้งแสดงความสนใจในสิ่งที่เขาพูด และไม่ว่อกแว่กไปทำอย่างอื่นแล้วบอกว่ากำลังฟังอยู่ เพื่อให้คนพูดรู้สึกสบายใจที่จะกล้าเปิดเผย ซึ่งคุณหมอเล่าให้ฟังว่า การรับฟังทำได้ทุกคน โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ควรเป็นวัยที่รับฟังเด็กมากที่สุด
“เราเข้าใจความรู้สึกนะ ที่ผ่านมาเหนื่อยมากใช่ไหม”
“หลายๆ ครอบครัวเจอปัญหาแบบนี้เยอะ อย่างพ่อแม่มักจะไม่ค่อยรับฟังและตัดจบเร็ว ทั้งที่ลูกยังเล่าไม่จบ ก็ชิงบอกไปก่อนแล้วว่าทำอย่างนี้สิฉันผ่านมาก่อน ก็เธอเป็นคนแบบนี้ หรือทำไมไม่ทำแบบนี้ล่ะ
“ทั้งหมดนี้เป็นคำที่ดูเหมือนตำหนิ ไปสั่งสอนมากกว่าการทำความเข้าใจเขาว่ารู้สึกอย่างไร สิ่งที่ตามมาคือลูกมองว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งไม่ได้ เขาก็จะไปหาที่ยึดเหนี่ยวอย่างอื่นที่ทำให้เขาสบายใจทดแทน เช่น ติดเพื่อน หลงแฟน หรือทดลองทำกิจกรรมไม่ดีที่เราควบคุมไม่ได้ แถมยังสร้างกำแพงในใจใส่ครอบครัวหนามากกว่าเดิม
“บางคนเล่าเรื่องตัวเองยาวมาก เอาประสบการณ์ตัวเองมาตัดสินทั้งหมด เช่น ฉันเจอมากกว่าเธออีก ฉันยังทนได้เลย หรือเลิกเศร้าได้แล้ว ซึ่งเป็นประโยคที่คนฟังจะอึดอัดใจที่เอาแต่พูดเรื่องของตัวเอง
“ทางที่ดีควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการเข้าหากัน ลองฟังคนพูดให้จบและแสดงความเห็นใจให้กับเขาก่อนที่จะให้คำแนะนำในแง่บวกตามมา เช่น เราเข้าใจความรู้สึกนะ คงเหนื่อยมามากเลยใช่ไหม ลองค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละอย่างดีไหม”
วิธีที่ 2 : ชมเพื่อสร้างกำลังใจ
เมื่อคนพูดระบายความในใจจนหมดเปลือก การปลอบใจที่ทำให้เขารู้สึกดีมากกว่าเดิมอาจจะเริ่มจากการชมสิ่งเล็กๆ ในสิ่งที่เขาทำ เช่น เพื่อนรู้สึกท้อแท้ในการทำงาน ก็อาจพูดว่า งานที่ทำหนักมากใช่ไหม แต่ก็เก่งมากเลยนะที่ผ่านมาได้ขนาดนี้ หรือในครอบครัวถ้าเด็กทำดี พ่อแม่ก็ควรต้องชื่นชมเพื่อให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่คุณหมอพูดถึงเทคนิคการชมที่น่าสนใจจากเคสของคู่รัก ซึ่งปรับใช้ได้กับทุกคน นั่นคือ การเปลี่ยนจาก ‘จับผิด’ เป็น ‘จับถูก’ เพราะปัญหามากมายของครอบครัวหรือคู่รักที่บานปลายใหญ่โต ส่วนหนึ่งมาจากการชอบจ้องจับผิดกันจนทำให้อึดอัด แต่ถ้าลองหันมาสนใจในสิ่งดีๆ ของอีกฝ่ายคงจะดีกว่า เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน รวมทั้งยังลดช่องว่างของความห่างเหินให้แคบลง
“แต่อย่างน้อย เธอเก่งมากเลยนะ ที่ผ่านมาได้ขนาดนี้”
ทั้งนี้การชมควรมีขอบเขตที่พอดี ไม่ควรใช้ฟุ่มเฟือยจนโอเวอร์ ซึ่งจะทำให้คนให้คำปรึกษาดูไม่จริงใจ และคนฟังเองก็รู้สึกรำคาญ
“หลักๆ คือเราไม่จำเป็นต้องพูดเยอะ กลายเป็นว่าเหมือนพยายามเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นบวกไม่ว่าเขาจะพูดอะไรมา เช่น เรารู้สึกแย่จังเลยที่หัวหน้าเป็นแบบนี้ แต่เธอยังโชคดีนะที่มีแบบนี้ แล้วพอเพื่อนพูดว่าแบบนี้ไม่แฮปปี้เลย เราก็พูดอีกว่ามันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่ก็ยังดีนะ อันนี้มันอาจดูเยอะไปหน่อย หมอว่าควรฟังเขาเล่าให้จบแล้วหาจังหวะที่จะปลอบใจดีกว่าพูดคั่นทุกประโยค”
วิธีที่ 3 : คอยอยู่เคียงข้างกันเสมอ
เราถามคุณหมอว่า ถ้าสมมติเป็นคนแสดงความรู้สึกไม่เก่งจะทำอย่างไรให้คนพูดรู้สึกสบายใจ เขาตอบว่าการอยู่เคียงข้างกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรือการใช้ภาษากายเข้ามาสัมผัส เช่น เพื่อนกำลังอกหักสดๆ ร้อนๆ ก็สามารถเป็นไหล่ให้เขาซบอยู่ข้างๆ รวมทั้งกอด ลูบหัว หรือตบไหล่เบาๆ ให้เขาได้ระบายความทุกข์ออกมา
แต่ถ้าวันใดเราอยู่ในสถานการณ์ตัวคนเดียว และประสบปัญหากลุ้มใจที่ไม่สามารถบอกให้ใครฟังได้ คุณหมอแนะนำว่าให้อยู่เคียงข้างตัวเอง ให้อภัยตัวเอง และลองใจดีกับตัวเองบ้าง
“ถึงไม่มีใคร แต่ต้องไม่ลืมว่าเรายังมีตัวเองอยู่เคียงข้างเสมอ เทคนิคของหมอคือ ให้ลองสมมติว่า ถ้าเรามีเพื่อนอีกคนหนึ่ง เขาเจอเรื่องราวเหมือนเราเลย เราอยากบอกกับเพื่อนว่าอะไรและปลอบใจเขาอย่างไร
“บางคนอาจจะบอกว่าไม่เป็นไรนะ หรือเดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีขึ้น แต่ถ้าบางคนยังคงจมอยู่กับความเศร้าจนเจ็บหนัก บางทีเราให้อภัยตัวเองได้นะ เพราะคนเราก็ผิดพลาดกันได้เป็นเรื่องปกติ ลองใจดีกับตัวเองบ้างสิ เริ่มต้นง่ายๆ จากการพูดให้กำลังใจตัวเอง เช่น สู้ๆ นะ เราต้องทำได้ หรือพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม
“หากพูดไม่เก่งจริงๆ หมอแนะนำให้ไปเติมพลังใจใส่ตัวสักหน่อย อย่างการไปทำกิจกรรมในสิ่งที่ชอบ ไปสวนสาธารณะ ไปคาเฟ่ ไปออกกำลังกาย ไปกินชาบู ชานมไข่มุก หรือช้อปปิงเป็นของขวัญปลอบใจให้ตัวเองก็ได้เหมือนกัน”
สุดท้าย คุณหมอชัชชญาทิ้งท้ายว่า การปลอบใจคือการแสดงออกความเห็นอกเห็นใจต่ออีกฝ่าย แต่ไม่ใช่การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาทั้งหมด เพราะฉะนั้น คำพูดเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเปลี่ยนความรู้สึกแย่ให้กลายเป็นดี ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายไปกันใหญ่ได้เหมือนกัน แต่ทั้งหมดแล้ว…
“การปลอบใจไม่มีคำพูดต้องห้ามหรอก
ขึ้นอยู่กับเจตนามากกว่า
เพราะน้ำเสียงและความรู้สึกต่างหาก
ที่เป็นตัวบอกความจริงใจจากเรา”
หากมีวันไหนที่รู้สึกเครียดและมีปัญหายากเกินจะรับมือไหว ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Ooca ได้ที่ : https://ooca.page.link/collabs