ทำไมคนที่เรารักถึงเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ไม่ได้ - Urban Creature

คำว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เป็นอีกหนึ่งคำที่พวกเราได้ยินกันบ่อยมาก เมื่อกำลังพูดถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าจะให้ฟังดูสมเหตุสมผล คนที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันได้ ก็ควรเป็นคนสนิทหรือคนที่เรารักเขา-เขารักเราที่สุด

แต่ในความเป็นจริง หลายครั้งเราก็ไม่อาจรู้สึกปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์จากคนที่เรารักหรือผูกพันที่สุด แม้ว่าเขาจะไม่ได้ตั้งใจทำให้เรารู้สึกแบบนั้นเลยก็ตาม และจุดนี้แหละที่ทำให้มันเป็นความจริงที่น่าเศร้า

ใช่ เรายังรักเขาต่อไปได้ สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องกระทบความเข้มข้นและลึกซึ้งของความรักที่เรามีให้เขา แต่วันนี้มาลองทำความเข้าใจกันดีกว่าว่า มีความท้าทายไหนบ้างที่ยากจะทำให้คนรักของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เรา และเราเองนั้นควรระวังอะไรบ้าง เพื่อจะยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่เรารักได้อย่างดีที่สุด

ทำไมคนที่เรารักถึงเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เราไม่ได้ สุขภาพจิต

พื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่พื้นที่เลิศหรูสมบูรณ์แบบ

ผู้เขียนยังไม่เคยได้ยินใครเปรียบเทียบความรู้สึก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ว่าเป็นปราสาทราชวังหรือเมืองหรูๆ ที่ไหน

บางคนบอก พื้นที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่ได้คุยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด บางคนบอก พื้นที่ปลอดภัยคือสนามบอลที่ได้ใช้เวลากับเพื่อน คือมุมชงกาแฟที่ให้ตัวเองได้พักจากความเครียดในที่ทำงาน คือวงเหล้าในบาร์ที่คุ้นเคย ฯลฯ

พื้นที่ไหนทำให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก แม้มันอาจจะไม่สบายตัวบ้าง หรือแตกต่างจากพื้นที่ของคนอื่นแค่ไหน แต่ความสบายใจที่ได้รับมันก็ชนะทุกอย่างอยู่ดี

พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่ต้อนรับทุกอารมณ์และความรู้สึก

ผู้เขียนเคยไปบรรยายในงานเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตงานหนึ่ง เขาตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรลูกถึงจะรู้สึกว่าพ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของเขา โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุอันตราย เช่น ลูกถูกล่อลวงหรือโดนหลอกผ่านอินเทอร์เน็ต แล้วไม่กล้าบอกพ่อแม่ ทำให้ไม่มีที่พึ่งเพราะไม่รู้จะหันไปหาใครดี

พวกเราโตมาพร้อมกับความเชื่อที่แบ่งแยกบางความรู้สึกว่า นี่คือความรู้สึกที่ดี ควรรู้สึกให้ได้บ่อยๆ และบางความรู้สึกก็เป็นความรู้สึกที่แย่

บางความรู้สึกหรืออารมณ์ สังคมมองว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีหรือน่าเป็นห่วง เช่น เศร้า อิจฉา โกรธ เหงา ฯลฯ และแน่นอนว่า หากเรารู้สึกอึดอัดในตอนที่อยู่ในอารมณ์เหล่านี้ของตัวเอง เราก็จะอึดอัดเวลาที่ต้องอยู่เพื่อคนอื่นในช่วงเวลาที่เขามีอารมณ์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ทำไมคนที่เรารักถึงเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เราไม่ได้ สุขภาพจิต

ลองจินตนาการภาพลูกของเราเดินลงบันไดมาด้วยสีหน้ากังวลสุดขีด พร้อมบอกว่า ตอนนี้รูปตัวเองในชุดชั้นในเกลื่อนโซเชียลไปหมดแล้ว เพราะไว้ใจส่งให้แฟนดู

ถึงผู้เขียนจะยังไม่มีลูก แต่ก็จินตนาการถึงความรักและห่วงลูกอย่างสุดขีดได้ ซึ่งนั่นอาจทำให้ปฏิกิริยาแรกของคนเป็นผู้ปกครองที่ได้ฟังข้อความนี้คือ โกรธ ด่าว่าตักเตือนด้วยถ้อยคำรุนแรง ผิดหวังว่าลูกปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร ฯลฯ ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นของความรู้สึกนั้นคือความกลัวที่มาจากความรักและห่วงใย

ความกลัวนี้เป็นความรู้สึกที่น่าอึดอัดเป็นที่สุด ซึ่งพ่อแม่ก็จะพยายามปัดมันออกไป และตัวลูกเองก็พยายามกดมันไว้ ไม่อยากให้เขาผิดหวัง ไม่อยากให้ความกลัวของเขาเพิ่มเข้ามา เพราะลูกเองคงแบกรับอีกไม่ไหวแล้ว

พื้นที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่เกิดการยอมรับทั้งอารมณ์ที่น่ารักและไม่น่ารัก ความรู้สึกที่ส่งออกมาได้ง่ายและอธิบายลำบาก เหตุการณ์ที่มีความสุขสบายใจและเศร้าหมองยากต่อการจัดการ

หากเราต่างจับมือกันก้าวผ่านความกระอักกระอ่วนบอบช้ำไปได้ เมื่อนั้นแหละ พื้นที่ปลอดภัยนี้จะแข็งแรงมากขึ้น

ทำไมคนที่เรารักถึงเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เราไม่ได้ สุขภาพจิต

พื้นที่ปลอดภัย ให้คำแนะนำได้ แต่ไม่ตัดสิน

การรับฟังที่ดี ไม่ใช่จะพูดอะไรไม่ได้เลย เราให้คำแนะนำได้ หากมาจากเลนส์ของการไม่ตัดสินหรือไม่ตั้งแง่ไปก่อนแล้วว่าสิ่งที่อีกฝ่ายทำนั้นแย่มาก

โปรเจกชัน (Projection) คือกระบวนการป้องกันตัวในเชิงจิตวิทยา เวลามีอะไรหรือใครมาทำให้เรารู้สึกไม่ชอบ แต่เราดันส่งสิ่งนั้นกลับไปให้เขา เช่น มีคนมาปรึกษาเราว่าจะเปลี่ยนงานดีไหม เราที่เคยเปลี่ยนงานแล้วกลายเป็นเจองานที่หนักและเจ้านายที่แย่กว่าเดิม เลยรีบบอกเพื่อนไปว่า อย่าเปลี่ยนเลย เป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดในโลก ไม่คุ้มหรอก! หรือรุ่นน้องมาบ่นให้ฟังว่าแฟนงานยุ่ง ไม่ค่อยมีเวลาให้ เราที่เคยโดนแฟนนอกใจก็รีบบอกน้องไปเลยว่า เขาต้องคิดไม่ซื่อกับเธออยู่แน่เลย คนรักกันจริงมันจะไม่ปล่อยให้แฟนต้องเหงา!

อคติในใจตรงนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าคนนั้นจะรักเรามากแค่ไหน บางครั้งการพูดจาและความเห็นของคนอื่นอาจจี้ใจเรา แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะไม่นำมาเป็นเรื่องส่วนตัวมากนัก เพราะหลายครั้งมันก็มาจากเรื่องส่วนตัวของเขา และอคตินี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องหมั่นระวังเหมือนกันว่า เรากำลังแนะนำเขาผ่านตัวตนและสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเขา หรือแค่เพื่อให้ตัวเองสบายใจเพราะมีอะไรมากระทบใจกันแน่

ทำไมคนที่เรารักถึงเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เราไม่ได้ สุขภาพจิต

พื้นที่ปลอดภัย ต้องให้ค่าเขาด้วย ไม่ใช่สนใจแต่ตัวเรา

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตบ่อยว่าหลายคนพลาด แต่พลาดด้วยความเจตนาดี นั่นคือ เวลามีคนมาเล่าเรื่องความทุกข์ของเขาให้เราฟัง เราจะอยากทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้เจอเรื่องนี้อยู่คนเดียวนะ เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีคนเคยผ่านเรื่องนี้มาเหมือนกัน ด้วยการหันมาเล่าให้เขาฟังทันทีว่า เราก็เคยเจอเรื่องประมาณนี้มาเหมือนกัน พร้อมกับเล่าประสบการณ์ตัวเองให้ฟัง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความสนใจจะถูกเบี่ยงเบนมาที่เรื่องของเราและตัวเราทันที แถมเป็นไปได้สูงว่า เขาจะต้องแบกความทุกข์นั้นกลับไป พร้อมกับรู้สึกว่าเสียงและความรู้สึกของเขาไม่มีค่าต่อการรับฟัง

สิ่งที่ควรทำคือ รับฟังเขาด้วยความตั้งใจ ปล่อยให้เขาได้ระบายออกมาให้หมดก่อน หากสัมผัสได้ว่าเขาค่อยๆ รู้สึกเบาลง รู้สึกดีขึ้น ก็ถามเขาได้ว่า อยากได้คำแนะนำไหม แนวไหน หรืออยากแค่ระบายออกมาเฉยๆ

พื้นที่ปลอดภัย ให้เชื่อเสมอว่า คนคนนั้นรู้จักชีวิตของตัวเองดีที่สุดแล้ว

คอยย้ำกับตัวเองบ่อยๆ เวลาเรากำลังรับฟังใครว่า อีกฝั่งต้องรู้จักตัวตนและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตเขามากที่สุด เพื่อเป็นการค่อยๆ ลดอัตตาเราลง ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนเขา แก้ไขชีวิตเขา หรือพยายามชักชวนให้เขาเชื่อแบบที่เราเชื่อแต่อย่างใด 

หากเราไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการคิดของเขาที่เรามองว่าไม่ดีได้ นั่นไม่ได้แปลว่าเราเป็นที่ปรึกษาที่ไม่ดีพอ เพราะเราทำเพื่อเขา ไม่ได้ทำเพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง

จงรับฟังเขาอย่างเคารพ โดยเน้นให้เขารับรู้ว่าความรู้สึกของเขาคู่ควรแก่การถูกรับฟัง เพื่อให้เขารู้สึกว่า พื้นที่นี้ปลอดภัยแล้ว แค่เขาได้เป็นเขา

หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าคุณคงมีความตั้งใจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่คุณรักบ้างไม่มากก็น้อย แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ บางทีแม้คุณจะพยายามและระมัดระวังขนาดไหน คุณก็อาจทำให้คนที่คุณรักเสียใจได้อยู่ดี เพราะความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่าย ณ ขณะนั้น เป็นสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้

เพราะฉะนั้น อย่าลืมอ่อนโยนกับตัวเองมากๆ และระลึกเสมอว่าคุณทำดีที่สุดในตอนนั้นแล้ว

ทำไมคนที่เรารักถึงเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เราไม่ได้ สุขภาพจิต

Writer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.