เอหิปัสสิโก Come and See วัดธรรมกาย - Urban Creature

ครั้งแรกที่เห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Come and See เอหิปัสสิโก’ ที่เป็นภาพเสี้ยวหนึ่งของวัดธรรมกายถูกบดบังด้วยเงาคนกำลังยกมือไหว้จรดหว่างคิ้ว และความหมายของคำว่า ‘เอหิปัสสิโก’ ในทางพุทธศาสนาที่หมายความว่า “ท่านจงมาดูธรรม” ชวนฉันอยากรู้อยากเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในวัดธรรมกาย และอยากพิสูจน์ผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ในฐานะคนนอกที่รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัดธรรมกาย จากทั้งข่าวจริงข่าวปลอมที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเผยความยิ่งใหญ่ ‘เซอร์เรียล’ จนเกิดคำถามมากมายขึ้นในหัว

หลังจากรอดพ้นจากกองเซนเซอร์หลังส่อแววถูกสั่งห้ามฉาย ฉันไม่รีรอที่จะเดินทางมาดูรอบแรกๆ ที่ House Samyan แม้โรงและรอบฉายจะจำกัด และที่นั่งแถวบนๆ จะถูกจับจองไปหมดแล้ว ฉันต้องนั่งแถวที่สองนับจากข้างหน้า ซึ่งล่าสุดมีการเพิ่มโรงเป็นที่เรียบร้อย ทันทีที่จอหนังมืดลงเรื่องราวในภาพยนตร์สารคดีก็ดูดฉันเข้าไปสู่โลกอีกใบ

01 ในวัดธรรมกายมีอะไร

หนังเปิดด้วยมุมมองของผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ศิษยานุศิษย์ คนใกล้ชิด ครอบครัว คนที่เข้าไปสัมผัสแล้วเปลี่ยนใจเดินออกมา นักวิชาการที่เข้ามาเสริมประเด็นให้เข้มแข็ง ไปจนถึงคนนอกที่มองพิธีกรรมและสารพัดวัตถุมงคลของธรรมกายเป็นพาเหรดแห่งความหลุดโลก จนมีคำครหาว่าเป็น ‘ลัทธิจานบิน’ ซึ่งตัวหนังอาจไม่ได้ลงลึกในแง่มุมนี้ แต่ก็พูดถึงการที่วัดจัดนิทรรศการ Come and See เพื่อต่อสู้กับเฟกนิวส์และภาพตัดต่อบนโลกอินเทอร์เน็ตช่วงที่วัดมีกระแสต่อต้านหนักๆ โดยเรียกร้องให้คนมาพิสูจน์เอง

ในบางช่วงบางตอนของหนังฉันแอบมีความรู้สึกต่อต้านอยู่ลึกๆ แต่ก็พยายามเปิดใจให้กว้างที่สุด ซึ่งน่าแปลก ว่าสิ่งที่ทำฉันเซอร์ไพรส์กลับเป็นมุมมองของคนที่เห็นด้วยกับวัด หนังพาเราไปดูความจริงอีกด้านที่ฉันไม่เคยรู้ นั่นคือชีวิตของพี่ป้าน้าอาที่ล้วนเป็นสาวกของวัด

เรื่องราวของพี่เพ็ญที่เปิดพื้นที่ชั้นล่างของบ้านตัวเองเป็นสำนักปฏิบัติธรรม และชวนคนในครอบครัวมารักษาศีล บำเพ็ญเพียร นั่งสมาธิทุกวัน ภายใต้ความอลังการของวัดธรรมกายที่ฉาบไว้เบื้องหน้า เบื้องหลังคือหลักธรรมคำสอนที่เรียบง่ายธรรมดาของพุทธศาสนาอย่าง ‘ศีล สมาธิ ปัญญา’ 

พี่เพ็ญเล่าถึงประสบการณ์ระหว่างนั่งสมาธิ ชั่วขณะที่เข้าถึงสภาวะจิตที่ว่างเปล่านั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘นิพพาน’ พร้อมความรู้สึก ‘อิ่มบุญ’ ที่ปรากฏขึ้นบนใบหน้า หรืออีกครอบครัวที่สามีเปลี่ยนไปเป็นคนละคนจากที่เคยเสเพลก็กลับดีจนใจหาย สิ่งที่ฉันสังเกตได้อีกอย่างคือกิริยาท่าทางของเหล่าสาวกที่ดูนิ่ง สงบ และอ่อนน้อม ทั้งคำพูดคำจาและความคิด ซึ่งทุกคนมีสิ่งนี้เหมือนกันจนฉันขนลุก

02 พุทธพาณิชย์ผิดไหม

แน่นอนสิ่งที่ฉันตั้งแง่อยู่เสมอคือการเป็นวัดทุนนิยมของธรรมกาย หนังหยิบเอาคำพูดของแม่ค้าที่เลือกเข้าวัดธรรมกาย บอกกับคนดูว่า “ทั้งชีวิตทำบุญไปแล้วสิบสี่ล้านบาท ถึงเรียนมาน้อยแต่หาเงินได้มากขนาดนี้โดยที่ทุกวันไม่เดือดร้อนอะไรเลย” ฉันไม่รู้ว่าการทำบุญทำให้คนธรรมดากลายเป็นเศรษฐีได้จริงไหม แต่สิ่งที่แน่ใจคือวัดธรรมกายมีคำสอนที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “ชิตังเม โป้ง รวย” ซึ่งทำให้คนเชื่อว่าการทำทานเป็น ‘มหาบุญ มหากุศล’

หนังตัดไปที่นักวิชาการซึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมธรรมกายจึงโน้มน้าวให้คนเข้าวัดทำบุญกันได้มากมายขนาดนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าทำไมคนไทยถึงเลือกทำบุญจนหมดตัวทั้งที่วัดไม่ได้บังคับ มันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยอยากรวยด้วยผลบุญ 

ในโลกความจริงมีวัดไทยจำนวนมากที่เป็นพุทธพาณิชย์ เพียงแต่วัดธรรมกายเป็นวัดพุทธพาณิชย์ที่สุดโต่ง กลายเป็นเส้นแบ่งที่ถูกเบลอระหว่าง ‘งมงาย’ กับ ‘ศรัทธา’ ฉันกลับมานั่งตกผลึกว่า สภาพสังคมไทยที่ไม่เปิดโอกาสให้คนจนได้ลืมตาอ้าปาก อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนไทยอยากเกิดมารวย อยากมีบุญช่วย หรืออยากถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง

03 ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่า 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์สมัยเรียนมัธยมฯ ในวิชาพุทธศาสนาที่อาจารย์มักเปิดวีดิทัศน์เล่าเรื่องราวนรกแต่ละขุมให้เด็กนักเรียนดู เช่นเดียวกับวัดธรรมกายที่มีการแสดงบทบาทสมมติ โดยมีผู้หญิงสวยแต่งตัวเป็นนางฟ้านางสวรรค์ หรือชายที่แต่งเป็นยมบาลเฝ้าประตูนรก 

ในมุมมองของฉันมันคือ ‘กุศโลบาย’ ที่สอนให้คนเป็นคนดี เกรงกลัวต่อบาป คนที่เชื่อก็ไม่กล้าทำบาป และทำสิ่งที่คิดว่าเป็นความดี เพื่อที่ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ซึ่งฉันคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความแฟนตาซีเหล่านี้อาจล้าหลังเกินไปในศตวรรษที่คนเลือกเชื่อสิ่งที่พิสูจน์ได้

แนวคิดเรื่องชาตินี้ชาติหน้ายังนำมาซึ่งบางตรรกะที่ฉันตะขิดตะขวงใจ สาวกคนหนึ่งเชื่อว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากันเพราะมี ‘แต้มบุญ’ ไม่เท่ากัน ความสวยหล่อ รวยจน เป็นเรื่องของบาปบุญ “ผิวขาวผ่อง = มีบุญมาก” ซึ่งฉันไม่โทษที่เขาคิดแบบนั้น เพราะสังคมไทยหล่อหลอมให้เขาเชื่อแบบนั้น และการเลือกปฏิบัติก็มีให้เห็นทั่วไปในสังคม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความเท่าเทียมจะไม่เกิดตราบใดที่คนในประเทศยังเชื่อฝังหัวเช่นนี้

04 ศาสนายังจำเป็นอยู่ไหม 

ไคลแมกซ์ของหนังเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของศิษยานุศิษย์ที่พยายามปกป้องวัดธรรมกายในยุคที่ คสช. ออกหมายจับธัมมชโย ภาพของเหล่าสาวกนับร้อยนับพันนั่งสมาธิเป็นกำบังสกัดกั้นการบุกเข้าไปภายในวัดของกองตำรวจ รวมถึงภาพพระลูกวัดที่ออกมาห้ามปรามอย่างเกรี้ยวกราด เป็นความคอนทราสต์ที่สร้างอิมแพกต์แก่คนดูอย่างมาก 

ศิษย์วัดคนหนึ่งประกาศว่า “จะยอมให้นำตัวธัมมชโยไปดำเนินคดีก็ต่อเมื่อสถานการณ์เป็นปกติ บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย และกระบวนกฎหมายต้องเป็นธรรม” 

ซึ่งประเด็นที่นักวิชาการได้พูดไว้ในหนังซึ่งน่าสนใจก็คือ “ทำไมธัมมชโยและรัฐบาล คสช. อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ก็เพราะรัฐมองว่า ธรรมกายเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของประเทศ สถาบันที่เข้มแข็งต้องมีเพียงหนึ่งเดียว”

หนังทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่อย่างไร มีบทบาทอย่างไร หรือยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่คนห่างวัดและไม่เรียนหนังสือกับวัดแล้ว ฉันยังเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน เพียงแต่วัดต้องมีความโปร่งใส ไม่มีอะไรแอบแฝง และปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย เมื่อนั้นพุทธศาสนาจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การตีความเหล่านี้เป็นเพียงมุมมองของฉันหลังจากที่ได้ดู หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วไม่จำเป็นต้องเชื่อ เพราะฉันอยากให้ทุกคนมาพิสูจน์จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Come and See เอหิปัสสิโก’ ด้วยตาตัวเอง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.