บันทึกสีน้ำจากสีธรรมชาติทำมือ - Urban Creature

บ่ายวันหนึ่งฉันเจอสมุดวาดรูปเล่มเก่าในหลืบชั้นหนังสือที่บ้าน เป็นความประหลาดใจระคนตื่นเต้นเมื่อได้รื้อฟื้นความทรงจำวัยเด็ก ฉันไม่รีรอเปิดดูทีละหน้าแล้วพึมพำกับตัวเอง “เกือบลืมไปแล้วว่าตอนเด็กๆ เคยชอบศิลปะขนาดไหน”

หลายปีแล้วที่ไม่ได้จับพู่กันวาดภาพสีน้ำ ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ฉันเผชิญความรู้สึกต่างๆ มากมาย จึงคิดว่าอยากกลับมาจริงจังกับสีน้ำอีกครั้ง การได้อยู่บ้านมากขึ้นยังทำให้ฉันเห็นสุนทรียะรอบตัว อย่างการเฝ้าดูดอกกุหลาบที่แม่ปลูกเบ่งบาน หรือตัดดอกพวงชมพูริมรั้วมาใส่แจกัน แถมยังได้ลองเก็บดอกเฟื่องฟ้ามาคั้นเป็นสีน้ำ และพบว่าสีจากธรรมชาตินั้นสวยกว่าที่คิด

ฉันตัดสินใจจองคอร์ส Natural Watercolour Making Class และเดินทางมาเรียนรู้วิธีการทำสีน้ำธรรมชาติ ที่สตูดิโอศิลปะสไตล์มินิมอลในบ้านหลังอบอุ่น ‘Mamolism’ ตกแต่งด้วยโทนสีขาว ด้านในสุดมีหน้าต่างบานใหญ่ เมื่อมองออกไปจะเห็นสวนหลังบ้านที่อยู่ติดกับคลองบางมด ที่มุมเดียวกันมีโต๊ะไม้ซึ่งปกติใช้กินข้าว ถูกเปลี่ยนเป็นโต๊ะเรียนสีธรรมชาติของ มะโม-วรมา อำไพรัตน์ ศิลปินที่เยียวยาตัวเองด้วยศิลปะและธรรมชาติ

มะโมไม่ได้เรียนจบศิลปะโดยตรง แต่เธอก็ใช้ชีวิตอยู่กับการวาดรูปและปั้นเซรามิกมาร่วม 10 ปี และทำแบรนด์ของตัวเองชื่อ ‘Mamo & Things’ จนเมื่อ 2 ปีก่อนเธอได้เรียนรู้ความสนุกของการทำสีธรรมชาติ และไม่คิดกลับไปใช้สีน้ำจากหลอดอีกเลย เพราะเป็นโทนสีที่เธอชอบและสิ่งที่ทำใช้เองนั้นมีคุณค่าทางใจกับเธอ ไม่ใช่แค่สีน้ำธรรมชาติเท่านั้น พู่กัน ดินสอ ปากกาจุ่มหมึกที่ทำจากไม้ ไปจนถึงจานสี ของแต่งบ้าน และข้าวของเครื่องใช้ แม้แต่ที่ตักอึแมวก็เป็นงานเซรามิกฝีมือเธอ เธอบอกว่ามันเริ่มจาก 1 ชิ้น 2 ชิ้น จนตอนนี้บ้านของมะโมเต็มไปด้วยงานเซรามิกรูปร่างบูดเบี้ยวตั้งอยู่แทบทุกมุม

หนังสืออธิบายถึงสีที่ได้จากแมลงชื่อ ‘Cochineal’

ก่อนเริ่มคลาสเรียน มะโมเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสีอันน่าพิศวง สีถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ยุคมนุษย์ถ้ำที่ใช้ดินและพืชในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมีตัวผสานเนื้อสี เรียกว่า Binder ทำจาก ‘น้ำลาย’ เพราะมีเอนไซม์ที่สามารถย่อยพืช ก่อนจะพัฒนามาเป็น Binder ที่ได้จากหนังสัตว์ และ ‘กัมอารบิก’ หรือยางไม้ที่วันนี้เราจะได้ทดลองใช้

มะโมเปิดหนังสือเล่มหนาเล่าถึงแหล่งที่มาแปลกๆ ของสีในสมัยก่อน เช่น สีม่วงฟ้าจาก ‘หอยทาก’ ในยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน เรียกว่า ‘Tyrian Purple’ เป็นสีราคาแพงเพราะต้องใช้หอยทากเป็นหมื่นตัว ถัดไปเป็นสีแดงม่วงที่ได้จากแมลงชื่อ ‘Cochineal’ ในอเมริกาใต้ พวกมันอาศัยอยู่ตามต้นกระบองเพชร ซึ่งเป็นที่ต้องการจนมีการทำฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ส่วนอินเดียและไทยก็มีสีแดงที่ได้จากแมลงอย่าง ‘ครั่ง’ เช่นกัน

แม้ปัจจุบันเราจะหาซื้อสีน้ำนับร้อยนับพันเฉดสีได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป แต่ความพิเศษที่หาเทียบไม่ได้ของสีธรรมชาติคือคุณสมบัติที่ยากจะเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตกตะกอนของสี ผิวสัมผัสเฉพาะตัว อีกทั้งสีทำมือยังเก็บความทรงจำของเราไว้อีกด้วย

แดดเช้าอ่อนๆ ส่องเข้ามาทางหน้าต่างเคลือบลงบนข้าวของที่เรียงรายอยู่บนโต๊ะไม้ ทั้งอุปกรณ์ทำงานศิลปะอย่าง พู่กัน จานสี และกระปุกเล็กๆ เกินสิบใบที่บรรจุผงพิกเมนต์ ไปจนถึงก้อนหินหลากสีจากสถานที่ต่างๆ ที่มะโมสะสมระหว่างเดินทางท่องเที่ยว และพืชพรรณนานาที่เธอเก็บมาจากละแวกบ้านเตรียมไว้สำหรับคลาสเรียนวันนี้

เราเริ่มด้วยการหยิบดอกไม้ทีละชนิดมาบดในโกร่งบดยา ไล่จากดอกกุหลาบ ดอกเฟื่องฟ้า ดอกเหลืองชัชวาล ดอกอัญชัน ใบอัญชัน และลูกหมึก ใส่น้ำลงไปในโกร่งเล็กน้อย บดดอกไม้จนมีสีออกมา แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง คั้นลงพาเลตต์ใส่สีหรือภาชนะเล็กๆ ซึ่งความสนุกอยู่ที่การได้ลุ้นว่ามันจะออกมาเป็นสีอะไร

มะโมเดินไปหยิบโหลใส่น้ำส้มสายชูและเบกกิ้งโซดาจากในครัว จากนั้นหยดสีที่ได้ลงในน้ำส้มสายชู กลายเป็นอีกสีที่สดขึ้นเพราะน้ำส้มสายชูมีความเป็นกรด ส่วนสีที่หยดในเบกกิ้งโซดาซึ่งมีความเป็นเบสจะได้สีที่เข้มขึ้น

ฉันลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะกึ่งทดลอง แล้วรู้สึกทึ่งกับวัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่างที่สร้างสีสันและผสมกับสีอื่นๆ ได้อีกมากมาย น่าเสียดายตรงที่สีจากพืชเหล่านี้ ทิ้งไว้ไม่นานก็เริ่มเน่าเหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา การยืดอายุสีจะใช้วิธีเดียวกับการทำหมึก โดยนำพืชที่ต้องการไปต้มเพื่อพาสเจอร์ไรซ์ แล้วใส่เกลือคล้ายการถนอมอาหาร หากแช่ตู้เย็นจะอยู่ได้ 3 – 4 เดือน แต่ข้อเสียคือต้องใช้พืชในปริมาณที่เยอะมากๆ

อีกวิธีที่ยากขึ้นสักหน่อย คือการทำสีจากพืชให้เป็นผงพิกเมนต์ด้วยการต้ม มะโมหย่อน ‘ฝาง’ สมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่คนนิยมดื่มเป็นชา ลงไปในหม้อต้มประมาณ 5 – 6 แก่น ไม่นานน้ำในหม้อก็เปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง มะโมบอกว่าต้องรอจนกว่าน้ำงวดสีถึงจะสวย เมื่อได้ที่แล้วเธอผสมสารส้มซึ่งมีความเป็นกรดลงไปเพื่อช่วยให้สีชัดขึ้น ตามด้วยโซดาแอชที่มีฤทธิ์เป็นด่างเพื่อช่วยให้สีตกผลึก ขั้นตอนต่อไปนำสีที่ผสมเรียบร้อยแล้วไปกรองผ่านกระดาษกรองกาแฟ เอาแต่ส่วนกากไปตากแดด 3 – 4 วัน ก็จะได้ผงสีเก็บไว้ใช้ได้นานๆ

หลังจากง่วนกับการทำสีจากดอกไม้ใบไม้ตลอดช่วงเช้า ตกบ่ายก็ถึงคาบวิชาทำสีจากดิน หิน แร่ ซึ่งมีอุปกรณ์และวิธีการต่างกัน เริ่มจากทำความรู้จักประเภทของดินและหินที่นำมาทำสีได้กันก่อน มะโมแนะนำให้ใช้ดินเหนียว เพราะดินร่วนจะมีเศษอื่นๆ เช่น กากมะพร้าว ปนอยู่ด้วย ดินร่วนจึงต้องเอามาร่อนก่อน แต่ดินเหนียวแค่ตากแดดแล้วตำให้ละเอียดก็ใช้ได้เลย ส่วนหินจะต้องเป็นหินตะกอนเพราะหินแกรนิตจะแข็งเกินไป แต่หินตะกอนบดให้แตกได้ หากลองขูดกับหินที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะออกสี

มะโมโชว์ขวดแก้วใบจิ๋ว มีเศษสายไฟทองแดงนอนก้นอยู่ในน้ำส้มสายชู ที่กลายเป็นสีฟ้าอมเขียวสดใส ราวกับสีของเทอร์ควอยซ์ ทริกง่ายๆ ในการทำสีจากทองแดงคือต้องเปิดฝาขวดแก้วทิ้งไว้ เพราะทองแดงใช้ออกซิเจนในการทำปฏิกิริยา มะโมอธิบายการทดลองเล็กๆ ของเธอด้วยความกระตือรือร้น

กัมอารบิกแบบก้อนและแบบละลายน้ำ

เจ้าก้อนสีทองชื่อ ‘กัมอารบิก’ ที่มะโมพูดถึงตอนต้นคลาส เป็นยางไม้ธรรมชาติ 100% ที่ได้จากต้นไม้ประเภท Acacia Senegal ซึ่งขึ้นอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นส่วนผสมสำคัญในการทำสีน้ำธรรมชาติ โดยทั่วไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร แต่เมื่อนำก้อนกัมอารบิกมาแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืน จะละลายเป็นของเหลวเหนียวๆ คล้ายน้ำผึ้ง มีคุณสมบัติเป็นสารยึดเกาะให้สีน้ำติดทนยิ่งขึ้น

กระปุกผงพิกเมนต์จากดิน หิน และแร่ต่างๆ
ผงพิกเมนต์ของครามในขั้นตอนการบดสี

ฉันเลือกหินจากในกล่องขึ้นมาหนึ่งก้อนขูดกับกระดาษทรายหรือตะไบเหล็กจนได้ผงพิกเมนต์ ต่อมาเป็นขั้นตอนบดผงพิกเมนต์ให้เป็นสีน้ำ อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือ ‘ที่บดสี’ ทำจากแก้วหรือเรียกว่า Glass Muller และแผ่นกระเบื้องสำหรับรอง เริ่มจากเทผงพิกเมนต์ลงไปตรงกลางแผ่นกระเบื้อง ทำเป็นหลุมแล้วเทน้ำและหยดกัมอารบิกลงไปประมาณ 1 : 3 จากนั้นใช้ที่บดสีวนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ จนผงพิกเมนต์แตกละเอียดเข้ากันเป็นเนื้อเดียว

สีจากดินยังสามารถนำไปใช้กับงานเซรามิกแถมย้อมผ้าได้ด้วย ซึ่งมะโมยังคงค้นคว้าวัสดุและทดลองเทคนิคใหม่ๆ อยู่ตลอด เพราะทุกครั้งที่สร้างชิ้นงาน มะโมต้องเซอร์ไพรส์กับผลลัพธ์ที่ไม่เคยเหมือนเดิม ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นที่มะโมทำมีเพียงชิ้นเดียวในโลก

ตัวอย่างสีจากดินบนเซรามิก

หนึ่งวันกับการทำสีธรรมชาติเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กที่หาความสุขง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัว เพราะมันทำให้ฉันคิดถึงการเล่นสนุกแบบเด็กๆ ที่ชอบเก็บดอกไม้ใบหญ้ามาตำเล่น สมมติว่าตัวเองเป็นแม่ค้าขายข้าวแกง

ผลงานของมะโม

มะโมแบ่งปันความหลงใหลในสีธรรมชาติให้เราฟัง เธอชอบทดลองสีใหม่ๆ จากสิ่งรอบตัว เวลาไปเที่ยวแล้วเจอดินหรือหินที่มีสีสวยๆ ก็จะเก็บมาทำสีน้ำ โดยใส่ความทรงจำของสถานที่นั้นๆ ลงไปด้วย เธอรู้ว่าสีธรรมชาติที่เธอมีวันหนึ่งก็อาจหมดไปหรือหาไม่ได้อีกแล้ว แต่นั่นทำให้เธอเห็นคุณค่าของสีที่ได้มาจากธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิม

ภาพสีน้ำจากสีของดอกกุหลาบ

ฉันเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่รักและทำได้ไม่เบื่อ ทุกครั้งที่ฉันได้อยู่กับสีน้ำฉันรู้สึกผ่อนคลายและจิตใจจดจ่อ ฉันหลงใหลอิสระของสีน้ำที่เพียงจรดปลายพู่กันลงบนกระดาษ สีก็จะซึมไปตามน้ำที่ไหล ฉันจึงต้องฝึกฝนซ้ำๆ จนรู้จังหวะการปล่อยน้ำ ทิศทางการไหล และน้ำหนักในการลงสี หวังว่าบันทึกบทนี้จะจุดประกายให้ใครที่ได้อ่านค้นพบความสุขในแบบฉบับตัวเอง มันอาจซุกซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่งในตัวเราก็ได้

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.