Know you Know me #พื้นที่เข้าใจใจ - Urban Creature

คุณเคยมีเพื่อนที่ไม่ค่อยได้เจอ หรือไม่ค่อยคุยกัน 
แต่ทุกครั้งที่กลับมาพบกัน ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมไหม

เชื่อไหมว่า ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘เพื่อน’ จะมีมนตร์วิเศษอะไรบางอย่างคอยดึงดูดคนสองคน หรือมากกว่าสองคน ที่มีลักษณะนิสัยคล้ายกัน มีความชอบบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน ให้เข้าหากันเสมอ แม้ว่ากาลเวลาหรือภาระหน้าที่บางอย่างจะทำให้เราเจอเพื่อนน้อยลง แต่ความประหลาดของมัน คือไม่ว่าจะกลับมาคุยกันเมื่อไหร่ก็ยังเข้าใจกันอยู่เสมอ

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่าน บทความที่ทุกคนจะได้อ่านต่อไปนี้ เปรียบเสมือนสมุดเฟรนด์ชิปที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ‘ความทรงจำ’ ของฉันระหว่างเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ปิงปอง’ เรารู้จักกันมามากกว่า 10 ปี ซึ่งความสัมพันธ์ของเราสองคนอาจไม่ใช่การเจอหน้ากันทุกวัน หรือรู้เรื่องชีวิตทุกกระเบียดนิ้ว แต่ถ้าเราคนใดคนหนึ่งต้องการ ‘ที่พักพิง’ เมื่อไหร่ พวกเราก็พร้อมที่จะมอบความสบายใจให้แก่กันและกันเสมอ

หลังจากฉันนั่งไถเฟซบุ๊กเป็นกิจวัตร จู่ๆ อีเวนต์ ‘Know you Know me #พื้นที่เข้าใจใจ’ ของ Muchimore ก็เด้งขึ้นมาตรงหน้า พร้อมแคปชันว่า “อยากเข้าใจคนข้างๆ คุณมากกว่านี้ไหม?” พอมานั่งตีความคำว่า ‘คนข้างๆ’ มันควรเป็นใคร จนตกผลึกได้ว่าต้องเป็น ‘ปิงปอง’ เท่านั้นแหละ

จะว่าไปฉันกับปิงปองก็เป็น ‘คนข้างๆ’ ของกันและกันมาตลอด สมัยประถมฯ เราสองคนยืนเข้าแถวข้างกัน เพราะเธอเป็นคนตัวเล็กสุดใน ป.6/5 ส่วนฉันเป็นคนตัวสูงสุดใน ป.6/6 ทำให้เวลาเข้าแถวเรียงหน้ากระดาน เราจะยืนใกล้กันพอดิบพอดี พอเข้ามัธยมฯ ก็ได้พัฒนาความสนิทเพิ่มมากกว่าเคย เพราะได้เรียนห้องเดียวกันและอยู่กลุ่มเดียวกัน จนมหา’ลัย เรากลับเจอหน้ากันไม่บ่อยนัก

บ่อยครั้งที่ฉันเองก็ไม่แน่ใจ ว่าในวันที่เราสองคนกลับมาเจอกัน สุดท้ายเรายังเป็น ‘เพื่อนคนเดิม’ ของกันและกันอยู่หรือเปล่า

สื่อสารผ่าน ‘กระดาษ’ กับ ‘สีเทียน’

คุณสนัด-ณัฐพงษ์ โสธรวัฒนา เจ้าของ Muchimore เปิดประตูต้อนรับเราสองคนอย่างอบอุ่น ภายใต้สตูดิโอสีขาวโพลน กับกลิ่นหอมจากเทียนที่คละคลุ้งไปทั่ว หลังจากกวาดสายตาสำรวจห้อง ฉันพบโต๊ะเล็กตั้งพื้น และเบาะนั่ง 2 ใบขนาบข้าง เพื่อบ่งบอกอาณาเขต ‘พื้นที่เข้าใจใจ’ ในวันนี้ เราทั้งสามคนนั่งประจำที่ ฉันกับปิงปองนั่งหันหน้าเข้าหากัน โดยมีคุณสนัดนั่งอยู่ตรงกลาง เพื่อเป็น ‘คนกลาง’ ในการปรับความเข้าใจของฉันและเพื่อนในวันนี้

“หยิบสีขึ้นมาคนละ 1 สี จากนั้นให้วาดอะไรก็ได้สลับกันไปมา โดยห้ามพูดคุยกัน”

สิ้นสุดคำพูดของคุณสนัด ฉันผายมือไปที่ปิงปองเพื่อส่งสัญญาณว่า ‘ให้เริ่มวาดก่อน’ เพื่อนทำท่าเหมือนแอบด่าในใจแต่ก็ยอมเริ่มก่อนแต่โดยดี เธอหยิบสีเทียน ‘สีเขียว’ สีโปรดที่สุดของเธอ ขีดเขียนลงไปบนกระดาษ A4 สีขาว จากลายเส้นกระยึกกระยือค่อยๆ ปรากฏรูปร่างออกมาเป็น ‘ภาพดอกไม้’

ฉันต่อยอดจากสิ่งที่เพื่อนตั้งใจ (เข้าใจว่าวาดดอกไม้) โดยละเลง ‘สีชมพู’ สีโปรดของฉันไปเรื่อยๆ เป็นดอกไม้ช่อที่สอง สาม และสี่ เราสลับกันวาดไปมาจนออกมาเกือบสมบูรณ์ ก่อนคุณสนัดจะบอกให้วางสีเทียนลง แล้วถามว่า “เรารู้อะไรจากการสื่อสารผ่านภาพ” ซึ่งสิ่งที่ฉันได้รับ คือ การรับฟังเพื่อนว่าเขาอยากทำอะไรแล้วคอยเป็นแรงสนับสนุนในสิ่งที่เพื่อนทำ

หลังจากฟังคำตอบของฉัน คุณสนัดถามกลับทันทีว่า “แล้วในชีวิตจริงของเราทั้งสองเป็นแบบนั้นด้วยไหม” ซึ่งเราพยักหน้าหงึกๆ เป็นการตอบรับ อันที่จริง มันทำให้ฉันนึกถึงหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่ไม่ว่าเราสองคนจะตัดสินใจแก้ปัญหาแบบไหนก็ตาม แม้ว่าสุดท้ายอาจผิดหวัง เสียใจ แต่จะมีเพื่อนคอยจับมือแล้วบอกว่า

“ไม่เป็นไรมึง ค่อยเริ่มใหม่ไปด้วยกัน”

จบจากการสื่อสารผ่านภาพ คุณสนัดให้เราสองคนเลือกไพ่ขึ้นมาคนละ 3 ใบ โดยไพ่ใบนั้นเชื่อมโยงส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งให้เราสลับกันพูดไพ่ของกันและกัน

  • ไพ่ใบที่ 1 เพื่อนมีประสบการณ์อะไรกับไพ่ใบนี้
  • ไพ่ใบที่ 2 บอกเรื่องราวที่ผ่านมาด้วยกัน
  • ไพ่ใบที่ 3 เล่าถึงสิ่งที่เพื่อนชอบ หรือไม่ชอบในชีวิตนี้

คำตอบตรงนี้ไม่มีถูกผิด ซึ่งการเปิดไพ่ทำให้ฉันหันกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า ถึงแม้เราจะเห็นช่วงชีวิตของเพื่อนอยู่ในสายตามาตลอดก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่ฉันอาจหลงลืมเหตุการณ์เหล่านั้นไปอย่างไม่รู้ตัว

“วันนี้เราเข้ามาพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ที่ตัวเราอาจจะเข้าใจว่าสนิทกันมานาน หรือเข้าใจกันมานาน แต่ไม่แน่ว่าวันนี้อาจจะไม่เคยเข้าใจ หรือรู้จักในมุมนี้ของเพื่อนเลยก็ได้”

คุณสนัดพูดสรุปภาพรวมว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

‘การฟัง’ คือตัวกลางที่พาเราไปเข้าใจความสัมพันธ์

ไม่ว่าเราจะอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบไหน ‘การฟัง’ คือสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจในตัวคนพูดมากขึ้น บางครั้งเราอาจเป็น ‘ผู้ฟัง’ มากกว่า ‘ผู้พูด’ หรือบางครั้งเราอาจเป็น ‘ผู้พูด’ มากกว่า ‘ผู้ฟัง’ แต่ในวงล้อมสนทนาครั้งนี้ คุณสนัดให้เราเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังอย่างเท่าเทียม โดยผลัดกันเล่าเรื่องในหัวข้อ ‘เรื่องที่มีความสุขที่นึกออกในตอนนี้’ ภายใน 3 นาที และให้คนฟังสรุปเหลือ 1 นาที

ขณะที่นาฬิกาจับเวลาเดินไปช้าๆ เราต่างพรั่งพรูความสุขออกมาจนไม่ได้สนใจเวลาว่าผ่านไปนานเท่าไหร่ ฉันพยักหน้ารับฟัง เป็นการตอบรับว่าฉันเข้าใจในสิ่งที่เพื่อนพูด ในเวลาเดียวกัน เมื่อฉันเป็นผู้พูด ปิงปองก็พยักหน้ารับฟังอย่างเข้าใจ หลังจากเห็นปฏิกิริยาเพื่อนต่อเรื่องเล่า มีแวบหนึ่งที่แทรกขึ้นมาในความคิด

“มันยังเป็นเพื่อนคนเดิมที่นั่งฟังความทุกข์และความสุข
ของเราโดยไม่บ่นออกมาสักคำ”

คุณสนัดให้เราถอดบทเรียนออกมาว่า “ขณะที่เป็นคนเล่าและคนฟัง เราสังเกตเห็นอะไรบ้าง” และคำตอบนั้นถูกจดลงบนกระดานไวต์บอร์ด ซึ่งข้อสรุปของคู่เรา คือ เป็นคนชอบฟังเรื่องราวของกันและกัน ขณะเดียวกันก็เป็นคนชอบเล่า ยิ่งมีคนตั้งใจฟังเรื่องของเรา ยิ่งทำให้รู้สึกสนุก และอยากเปิดใจเล่าให้เขาฟังเรื่อยๆ อีกหนึ่งสิ่งที่ฉันสังเกต คือ การที่เราพยักหน้าเข้าใจ มันไม่ใช่ความเข้าใจ ‘ทางภาษา’ อย่างเดียว แต่เป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

มีประโยคหนึ่งที่คุณสนัดบอกกับฉัน และเป็นคำที่ฉันชื่นชอบมากที่สุด จนต้องจดบันทึกเอาไว้ เพื่อให้ฉันได้กลับมาอ่านมันอีกซ้ำๆ

“เวลาที่เราได้ฟังคนย้ำในสิ่งที่เราพูดอีกที มันเหมือนได้กลับมาฟังตัวเองอีกครั้ง และบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เห็นตัวเอง แต่คนที่เขามองเราจะเห็นในมุมที่เราไม่เห็น”

ฉันเห็นด้วยกับคำพูดเหล่านี้ทุกประการ เพราะขณะที่ฉันพูด สมองจะเต็มไปด้วยเหตุการณ์ในเวลานั้นจนละเลยความสุขไป พอได้กลับมาฟังเรื่องราวของตัวเองจากเพื่อน มันทำให้รู้ว่าฉันมีความสุขกับเรื่องราวที่เล่าออกไปมากแค่ไหน และยิ่งคนฟังเป็นเพื่อนสนิทในชีวิตด้วย

มันเหมือนมีดอกไม้ที่เบ่งบานอยู่ในใจของฉันเหมือนกันนะ

รู้จักกันและกันผ่านบุคลิกภาพจาก ‘สี’

หลังจากเราตั้งใจรับฟังเรื่องราว ‘ความสุข’ ของกันและกัน ถึงเวลาที่คุณสนัดจะพาฉันกับเพื่อน เข้าไปรู้จักตัวตนของตัวเองผ่าน ‘สี’ ที่ปรับมาจาก Cognitive Functions ของ Carl Jung เพื่อเรียนรู้ว่าบุคลิกภาพของเราเป็นอย่างไร จากห้องสตูดิโอสีขาวโพลนถูกปกคลุมด้วยความมืด มีเพียงโปรเจกเตอร์ที่ฉายบุคลิกภาพของแต่ละสีบนม่านขาว ก่อนที่คุณสนัดจะอธิบายแต่ละสีอย่างช้าๆ แล้วเลือกขึ้นมา 2 สี ว่า

“สีไหนอธิบายตัวตนเราได้ดีที่สุด” และ “สีไหนที่ไม่ใช่ตัวตนเรามากที่สุด”

สำหรับฉันเลือก ‘สีส้ม’ บอกตัวตนฉันได้ดีที่สุด เพราะเป็นคนรักอิสระ ลงมือทำก่อนคิด และสนุกสนานไปกับสิ่งเร้ารอบข้าง แต่ ‘สีน้ำเงิน’ ไม่ใช่ตัวฉันเลย เพราะฉันไม่ใช่คนจัดระบบกับสิ่งต่างๆ ได้ดีเท่าที่คิด ซึ่งปิงปองเลือก ‘สีเหลือง’ บอกตัวตนของเธอได้ดีที่สุด เพราะใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ มีแพสชันต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ และ ‘สีดำ’ เพราะใช้ความเป็นเหตุเป็นผลมาสนับสนุนมากไป

“พอเรารู้ว่าตัวตนของเราเป็นสีไหน อยากให้ลองออกจากการเป็นตัวนั้นดูบ้าง
เพราะเวลาเราใช้ชีวิตอย่างไม่รู้ตัว เราจะใช้ชีวิตในสิ่งที่เราเป็น และมุ่งหน้าทำต่อไปเรื่อยๆ
จนความสมดุลหายไป ซึ่งถ้าเรารู้ตัวตนเมื่อไหร่ ก็ค่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ จนครบ 8 สี”

คุณสนัดให้ฉันกับเพื่อนเลือกสีอีกครั้ง แต่คราวนี้เลือกให้เพื่อนบ้าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ กลายเป็นเราตอบเฉียดๆ กับสิ่งที่ตัวตนของเรามอง เพราะเราจะจำภาพของกันและกันในเวลาที่เพื่อนอยากให้เราเห็นตัวตนนั้นๆ แน่นอนว่ากิจกรรมนี้ไม่มีถูกผิด แต่มันทำให้ฉันกับปิงปองต่างเข้าใจกันและกันมากขึ้น แถมยังเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่เข้าใจบุคลิกภาพของเราค่อยๆ เริ่มมาถูกทางแล้ว

“ไม่ว่าเราจะเจอเหตุการณ์อะไร มันจะมีบุคลิกภาพ ‘ค่าเริ่มต้น’ ที่โผล่ขึ้นมาในสถานการณ์นั้นก่อน แต่จริงๆ แล้ว เราทุกคนมี 8 สีอยู่ในตัวเอง ซึ่งจะมีมากหรือมีน้อยมันแล้วแต่คน”

นอกจากนี้ คุณสนัดยังเสริมว่า เวลามองคนหรือตัวเอง ยังไม่อยากให้ตัดสินว่าสิ่งที่เขาเป็นมันไม่ดี บางครั้งการที่เขาอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม เขาจะดึงบุคลิกออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งคำพูดนี้เองที่ทำให้ฉันกับปิงปองหันมามองตากันปริบๆ ว่า ‘สี’ ที่เราสองคนเลือกให้กันเมื่อกี้ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราเห็นก็ได้ ดังนั้นกิจกรรมการค้นหาสี ทำให้ฉันรู้ว่าตัวตนของเพื่อนที่แท้จริงเป็นอย่างไร และเพื่อนมองตัวตนของฉันเป็นอย่างไร

สวมบทบาทเป็นตัวเพื่อน

สุดท้าย เป็นกิจกรรมที่ฉันชอบมากที่สุด เพราะฉันจะได้ลองเป็นเพื่อนดู คิดอย่างเพื่อน ตัดสินใจอย่างเพื่อน มันเหมือนการสวมบทบาทสมมติตามละคร แต่คราวนี้คาแรกเตอร์กลับเป็นคนใกล้ตัว ซึ่งคุณสนัดจะให้โจทย์มาทั้งหมด 6 ข้อ แล้วลองเชื่อมโยงความคิดว่า “ถ้าฉันเป็นเพื่อน ฉันจะตัดสินใจในสถานการณ์นี้อย่างไร”

  • เหตุการณ์ที่ 1 : เพื่อนโทรศัพท์มากะทันหันว่าชวนไปเที่ยวหัวหิน เพื่อนจะตอบรับอย่างไร
  • เหตุการณ์ที่ 2 : คุยกันในรถว่าอยากกินร้านนี้ให้ได้ แต่ปรากฏว่าคิวเต็มเลย เพื่อนจะออกอาการอย่างไร
  • เหตุการณ์ที่ 3 : เมื่อไปถึงที่เช็กอิน คิดว่าเพื่อนจะทำอะไรก่อนเป็นอย่างแรก
  • เหตุการณ์ที่ 4 : ถ้าเพื่อนเกิดอาการกรึ่มได้ที่ แล้วเดินชนเพื่อนอีกคนจนโทรศัพท์คนนั้นตกน้ำ เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร
  • เหตุการณ์ที่ 5 : ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งขอตัวไปโทรศัพท์ แล้วกลับมาสีหน้าไม่ค่อยดี เพราะทะเลาะกับแฟน เพื่อนจะปลอบคนคนนั้น หรือมีวิธีการรับมืออย่างไร
  • เหตุการณ์ที่ 6 : ถ้าต้องไปพรีเซนต์งานลูกค้าด่วน โดยตกลงกันว่า A เป็นคนพรีเซนต์ B เป็นคนซัปพอร์ต แต่ A มีเรื่องเร่งด่วนที่สุดในชีวิต ไม่สามารถไปนำเสนอแทนได้ คิดว่าเพื่อนจะทำอย่างไร

ก่อนเริ่มกิจกรรมฉันแอบกังวลเล็กน้อย เพราะไม่รู้จะตอบได้ตรงกับสิ่งที่เพื่อนเป็นหรือเปล่า แต่หลังจบกิจกรรมฉันเองก็ค่อนข้างแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะปิงปองตอบได้เป๊ะๆ ว่าถ้าฉันเจอสถานการณ์ดังกล่าว ฉันจะทำอย่างไร หรือถ้าฉันเป็นปิงปองจะทำอย่างไร เรียกว่ารู้ใจกัน 9/10 (หัก 1 คะแนน เพราะต่างคนต่างรู้ดีเกินไป)

อันที่จริง กิจกรรมนี้ตอบคำถามที่ฉันตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มได้ดีที่สุดว่าสุดท้ายเรายังเป็น ‘เพื่อนคนเดิม’ ของกันและกันอยู่ เพียงแต่ฉันยังได้เรียนรู้ตัวตนของเพื่อนเพิ่มขึ้นมาอีก นั่นทำให้ฉันรู้สึกไม่เสียดายที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ Muchimore

คุณสนัดบอกกับฉันว่า “Muchimore ทำเรื่องเกี่ยวกับการเข้ามาดูจิตใจของตัวเอง ซึ่งผลต่อเนื่องของมันคือเราต้องไปเข้าใจคนอื่นด้วยอีกต่อหนึ่ง แต่แรกเริ่มเดิมทีเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ ซึ่งพอมานั่งคิดว่าคนบางคน คู่บางคู่ กลุ่มบางกลุ่ม เขาอาจจะอยากได้คนกลาง ตัวกลาง หรือกิจกรรมอะไรบางอย่างให้เรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะคนที่เราบอกว่าเข้าใจเขามากที่สุดแล้ว หลังจากทำกิจกรรมนี้สิ่งที่เราคิดอาจจะไม่ใช่ก็ได้

“เรามองว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี จริงๆ เราอาจจะไม่ต้องรู้จักคนคนนี้ไปทุกอย่างเลยก็ได้ ไม่ต้องเดาใจเขาถูกทุกสิ่งทุกอย่าง แค่เรายอมรับ เราวางใจให้เขาได้ใช้ชีวิตในแบบของเขาได้เต็มที่ที่สุด เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันน่ารักมาก จะมีสักกี่คนที่อนุญาตให้ตัวเราเป็นตัวเราจริงๆ แม้แต่ตัวเราในบางครั้งยังไม่อนุญาตตัวเองเลย”

สำหรับกิจกรรม Know you Know me #พื้นที่เข้าใจใจ กำลังจะเปิดเป็น Private Class เพื่อปรับกิจกรรมให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งจะมาเป็นคู่ หรือกลุ่มก็ได้ ขอแค่มีความอยากเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายก็พอ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.