ถ้าถามถึงวงดนตรีสากลที่คอเพลงชื่นชอบที่สุด เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยต้องมีชื่อวงป็อปร็อกสัญชาติอังกฤษอย่าง Coldplay ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของลิสต์แน่ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวดนตรีที่มีเมโลดี้สุดยูนีก เนื้อเพลงความหมายลึกซึ้งที่ฟังเมื่อไหร่ก็รีเลตได้ทันที จึงไม่แปลกใจที่ผลงานของ Coldplay ช่วยปลอบประโลมและเยียวยาจิตใจของแฟนๆ ทั่วโลกได้นานถึง 26 ปี
แต่ในปี 2022 วงดนตรีระดับโลกเจ้าของ 7 รางวัลแกรมมี่ (Grammy Awards) และ 9 รางวัลบริต (BRIT Awards) ไม่ได้หยุดอยู่แค่การถ่ายทอดความสุขให้แฟนเพลงผ่านเสียงดนตรีเท่านั้น แต่ยังยกระดับตัวเองให้เป็นแนวหน้าของวงการเพลงระดับโลกที่เปลี่ยนทัวร์คอนเสิร์ตให้มี ‘ความยั่งยืน’ และ ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ย้อนไปเมื่อปี 2019 Coldplay ได้ประกาศยกเลิกเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมตอัลบั้ม Everyday Life เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนที่โลกของเรากำลังเผชิญ โดยทางวงให้เหตุผลว่าจะใช้ช่วงเวลาที่หยุดพักหาแนวทางการทัวร์คอนเสิร์ตที่ยั่งยืน ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบทางบวกให้สังคม
สองปีผ่านไป วงดนตรีจากเมืองผู้ดีคัมแบ็กพร้อมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ด้วยการประกาศทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้มใหม่ Music of the Spheres World Tour 2022 ที่มีเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) รวมถึงแนวทางที่ส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนอีกเพียบ ครอบคลุมเกือบทุกมิติของการจัดคอนเสิร์ตที่วงดนตรีวงหนึ่งจะทำได้ ตั้งแต่การใช้ยานพาหนะไฟฟ้าสำหรับขนส่งและเดินทาง เวทีที่สร้างจากวัสดุรีไซเคิลและคาร์บอนต่ำ รวมถึงการติดตั้งพื้นพลังงานจลน์และจักรยานไฟฟ้า ที่ทำให้ผู้ชมได้มีโมเมนต์สนุกๆ ในคอนเสิร์ตและสร้างพลังงานสีเขียวไปพร้อมๆ กัน
It was all green (not Yellow)
ทัวร์คอนเสิร์ตที่รักษ์โลกและปล่อยคาร์บอนต่ำสุดๆ
Coldplay ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 ว่าพวกเขาจะทำให้การทัวร์ครั้งถัดไปปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รวมถึงการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยไม่ปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศ
เป้าหมายหลักของการทำให้ทัวร์คอนเสิร์ต Music of the Spheres World Tour 2022 มีความยั่งยืนที่สุดคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการทัวร์ครั้งที่ผ่านมาระหว่างปี 2016 – 2017 Coldplay จึงให้ความสำคัญกับทุกๆ ขั้นตอนของการแสดงที่พวกเขาใช้เวลาเตรียมตัวนานถึงสองปี
เริ่มกันตั้งแต่เรื่อง ‘การขนส่ง’ ที่ทางวงได้พาร์ตเนอร์เป็นบริษัทโลจิสติกส์ระดับโลกอย่าง DHL ที่ซัปพอร์ตการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และวัสดุต่างๆ สำหรับติดตั้งเวที ได้แก่ เครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicles) และรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยขยะอินทรีย์ (Organic Waste)
ไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกในวงและทีมงานยังวางแผนการเดินทางล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เพื่อลดการเดินทางโดยเครื่องบินให้มากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมการบินคือหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยมีส่วนปล่อยมลพิษทางอากาศทั่วโลกมากถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ถึงอย่างนั้น Coldplay ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางทางอากาศได้เสมอไป ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบินจริงๆ ทางวงจะเลือกเดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางกรณีที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำบ้างเหมือนกัน
แต่เพื่อลดการสร้างมลพิษจากการบิน Coldplay ยินดีจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมเพื่อใช้ ‘Sustainable Aviation Fuel (SAF)’ หรือ ‘เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน’ สำหรับทุกการเดินทาง ทั้งเที่ยวบินพาณิชย์และเช่าเหมาลำ โดยทางวงได้จับมือกับ Neste บริษัทผลิต SAF ที่ทำจากขยะและสารตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารต่างๆ
อธิบายให้เห็นภาพคือ เมื่อนำขยะเหลือใช้เหล่านี้มาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับเครื่องบิน น้ำมัน SAF จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบินได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ตลอดวงจรการใช้งาน เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม
แค่จุดเริ่มต้นของทัวร์คอนเสิร์ตที่ใส่ใจตั้งแต่เชื้อเพลิงยันพาหนะใช้เดินทาง ก็คงพอจะทำให้หลายคนเริ่มเห็นภาพแล้วว่า Coldplay ทำการบ้านเรื่องความยั่งยืนมาดีขนาดไหน
You’ve got a renewable power!
การแสดงที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานจากแฟนเพลง
มาถึงไฮไลต์ของการทัวร์คอนเสิร์ต นั่นคือช่วงเวลาที่สมาชิกทั้ง 4 คนของ Coldplay ได้แก่ คริส มาร์ติน, จอนนี่ บัคแลนด์, กาย เบอร์รีแมน และ วิล แชมเปียน ขึ้นเวทีโชว์ฝีมือให้แฟนๆ ได้สนุกและอินไปกับดนตรีของพวกเขา แถมมาคู่กับสเตจโปรดักชันที่รักษ์โลกแบบจัดเต็มด้วย
เพราะไม่ว่าไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ไหน Coldplay จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บริเวณพื้นที่จัดแสดงให้ได้มากที่สุด ทั้งหลังเวที รอบสเตเดียม ไปจนถึงลานด้านนอก ที่สำคัญทางวงยังเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานฟอสซิลให้ได้มากที่สุด โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ทำจากขยะและสารตกค้างแทน
อีกส่วนที่เราคิดว่าแฟนคลับส่วนใหญ่น่าจะชอบคือ ‘พื้นพลังงานจลน์ (Kinetic Floor)’ และ ‘โซนจักรยาน’ ที่ติดตั้งไว้ทั่วสเตเดียม ผู้ชมสามารถปั่นจักรยานและเต้นบนพื้นที่เหล่านี้ เพื่อส่งพลังงานตรงไปยังตัวแบตเตอรี่ที่คอยจ่ายพลังงานให้กับโชว์แต่ละครั้งได้ เป็นประสบการณ์ดูคอนเสิร์ตที่สนุกและแปลกใหม่สำหรับแฟนเพลง ทั้งยังทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างพลังงานที่ยั่งยืนด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ชมยังได้ใส่ ‘LED Wristband’ ซึ่งเป็นสายรัดข้อมือผลิตจากวัสดุที่ทำจากพืชย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างจากคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ทั่วไปที่มักแจกสายรัดข้อมือกระดาษหรือพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้ผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ ทัวร์การแสดงของ Coldplay ยังช่วยลดการผลิตสายรัดข้อมือได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการเก็บคืน LED Wristband เมื่อการแสดงจบลง ก่อนนำมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และชาร์จแบตเตอรี่ใหม่สำหรับคอนเสิร์ตครั้งถัดๆ ไป
ส่วนหน้าจอ LED และระบบแสงสีเสียงในคอนเสิร์ตนั้นใช้พลังงานต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการทัวร์ครั้งก่อน ด้านเทคนิคพิเศษอย่างกระดาษสีเล็กๆ ที่ใช้โปรยในการแสดง (Confetti) ก็ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ แถมยังใช้ปริมาณแก๊สยิงกระดาษน้อยกว่าการทัวร์ครั้งก่อนอีกด้วย
นี่ยังไม่รวมถึงแอปพลิเคชันเจ๋งๆ ‘Coldplay’ ที่ทางวงทำออกมาให้แฟนคลับเข้าไปติดตามข่าวสารและตารางทัวร์ รวมถึงใช้เช็กได้ด้วยว่า วิธีการเดินทางที่ตัวเองเลือกใช้นั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และปล่อย Carbon Footprint เท่าไหร่ พร้อมคำแนะนำเพื่อเปลี่ยนการเดินทางของแฟนๆ ให้รักษ์โลกกว่าเดิม
Viva La Vegan
แบ็กสเตจที่ปรุงเฉพาะเมนูมังสวิรัติและลดการสร้างขยะ
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง นักดนตรีก็เช่นกัน!
‘อาหาร’ คืออีกหนึ่งส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับการทัวร์คอนเสิร์ต Coldplay จึงทำให้มั่นใจว่าอาหารที่เสิร์ฟให้ศิลปินและทีมงานต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลักดันเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน เพราะคาร์บอนที่ปล่อยจากอาหารคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของ Carbon Footprint ที่คนหนึ่งคนปล่อยออกมาเลยทีเดียว
เพราะเหตุนี้ เมนูหลักที่ทีมงานจัดเตรียมล้วนเป็นมังสวิรัติทั้งหมด โดยใช้วัตถุดิบออร์แกนิกจากผู้ผลิตหรือฟาร์มท้องถิ่นที่ยึดแนวทางเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดิน
Coldplay ยังสนับสนุนการพัฒนาเนื้อที่ผลิตจากห้องแล็บ และร่วมมือกับธนาคารอาหารในพื้นที่เพื่อบริจาคอาหารส่วนเกินจากคอนเสิร์ตให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการ รวมถึงนำขยะอินทรีย์ เช่น เปลือกผักผลไม้และเศษอาหาร ไปทำปุ๋ยหมักด้วย
นอกจากขยะอาหาร Coldplay ยังตั้งเป้าหมายลดขยะประเภทอื่นๆ และส่งเสริมเรื่องการรีไซเคิลให้มากที่สุด โดยทางวงลดขยะขวดน้ำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเปลี่ยนมาใช้แก้วทางเลือกที่ใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้อย่าง ‘Ball Aluminum Cup’ แทน
Coldplay ยังส่งต่อแนวคิดนี้โดยการชวนให้แฟนเพลงพกขวดน้ำใช้ซ้ำได้มาด้วย ซึ่งทางคอนเสิร์ตได้จัดเตรียมจุดเติมน้ำดื่มไว้ให้บริการ อีกทั้งยังร่วมมือกับแบรนด์ MiiR ออกแบบขวดน้ำรุ่นพิเศษสำหรับทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้ม Music Of The Spheres โดยเฉพาะ นอกจากใช้เป็นพร็อปให้แฟนเพลงพกพากันแบบเท่ๆ แล้ว ขวดน้ำที่สกรีนชื่อ Coldplay ยังสะท้อนดีเอ็นเอเรื่องความยั่งยืนของวงได้ดีมากๆ
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มเข้าใจแล้วว่าการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมนั้นไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่คนจากทุกอุตสาหกรรมสามารถลุกขึ้นมาสื่อสารและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้โลกของเราได้จริงๆ
เห็นได้จาก Coldplay ที่ไม่ได้ผลักดันเรื่องความยั่งยืนระหว่างการทัวร์คอนเสิร์ตเท่านั้น แต่พวกเขายังวางแผนสร้างโลกสีเขียวในระยะยาวด้วย ยกตัวอย่าง ทุกบัตรคอนเสิร์ตหนึ่งใบที่ขายได้ ทางวงจะนำไปปลูกต้นไม้หนึ่งต้น รวมถึงการบริจาครายได้ 10 เปอร์เซ็นต์จากการทัวร์คอนเสิร์ต ยอดขายอัลบั้มและสินค้าอื่นๆ ให้กับโปรเจกต์และองค์กรการกุศลที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ClientEarth, The Ocean Cleanup และ One Tree Planted เป็นต้น
เราเชื่อว่าการที่วงดนตรีคุณภาพอย่าง Coldplay หันมาแคร์สิ่งแวดล้อมและตั้งใจผลักดันเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง คงทำให้แฟนคลับหลายๆ คนรักวงนี้ยิ่งกว่าเดิม ส่วนใครที่ไม่ค่อยได้ติดตามวงการดนตรี ก็คงอยากลองเปิดใจฟังเพลงของวงป็อปร็อกวงนี้ดูบ้าง
หวังว่าถ้า Coldplay มาจัดการแสดงที่เมืองไทยครั้งถัดไป พวกเราคงได้ไปตะโกนร้องเพลง Fix You ในบรรยากาศคอนเสิร์ตที่กรีนและรักษ์โลกสุดๆ พร้อมกัน
Sources :
BBC | t.ly/8EUM, t.ly/9KW0_, t.ly/TrBF
CMRU | t.ly/9cBL
Coldplay | sustainability.coldplay.com
EW | t.ly/o-sZ
Global Citizen | t.ly/_0PN
MiiR | t.ly/8L5e
Neste | t.ly/4K6V
The Guardian | t.ly/8MXP