ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี - Urban Creature

ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นยุคที่โลกล้ำหน้าแบบสุดขีด ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคโนโลยี ไปจนถึงวงการอวกาศที่ไปไกลถึงขั้นค้นพบดาวดวงใหม่นอกระบบสุริยจักรวาล แต่ขณะเดียวกัน โลกของเราก็ยังมีปัญหาเดิมๆ ที่พัฒนาช้ามากๆ หรือไม่ถูกแก้ไขสักที โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ทั่วโลกมีการประท้วงเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมออกมาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ เหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน

หนึ่งในมูฟเมนต์ที่น่าจับตามองและได้รับการพูดถึงมากที่สุดในปีนี้คือ ‘การประท้วงในประเทศอิหร่าน’ ที่ประชาชนทั่วประเทศต่างลงถนนประท้วงเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง หลังเหตุการณ์เสียชีวิตของ ‘มาห์ซา อามินี’ หญิงสาววัย 22 ปี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมตัวเพียงเพราะเธอสวมฮิญาบคลุมศีรษะไม่มิดชิดมากพอ

นอกจากจะเรียกร้องความยุติธรรม การประท้วงครั้งนี้ยังนำไปสู่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของสตรีอิหร่าน ทั้งตัดผม เผาฮิญาบ ชูนิ้วกลางใส่รูปผู้นำสูงสุด เป็นการแสดงออกถึงความโกรธแค้นที่ไม่เคยเกิดขึ้นให้เห็นมาก่อนในรัฐอิสลามแห่งนี้ 

มากไปกว่านั้น การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐและกฎหมายที่กดขี่เอาเปรียบผู้หญิงมาอย่างยาวนาน ยังนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่อาจเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยมในสังคมอิหร่านไปตลอดกาล

ชนวนประท้วงครั้งใหญ่ในอิหร่าน

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

เริ่มกันที่สาเหตุของการลุกฮือครั้งนี้ ด้วยการย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ ‘มาห์ซา อามินี’ หญิงสาวชาวเคิร์ดวัย 22 ปี ถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกว่า ‘ตำรวจศีลธรรม (Morality Police)’ จับกุมตัวในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน จากข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายที่เข้มงวดของอิหร่านที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องสวม ‘ฮิญาบ (Hijab)’ หรือผ้าคลุมศีรษะปกคลุมผมอย่างมิดชิด และต้องใส่ชุดที่ไม่รัดรูป

อามินีถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายนี้เพียงเพราะมีเส้นผมโผล่ออกมาให้เห็นนอกผ้าคลุมศีรษะเท่านั้น โดยหลังเหตุการณ์การจับกุม เธอตกอยู่ในอาการโคม่าหลังจากล้มหมดสติที่ศูนย์ควบคุม ก่อนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอีก 3 วันต่อมา

ในตอนนั้นมีหลายรายงานเปิดเผยว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของอามินีเกิดจากการที่เธอถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองตีศีรษะ แล้วจับโขกกับรถตำรวจคันหนึ่ง แต่ทางตำรวจปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านั้นและรายงานว่าอามินีเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย พร้อมเผยแพร่ฟุตเทจจากกล้องวงจรปิดขณะที่อามินีล้มลงในสถานีตำรวจเพื่อยืนยันคำกล่าวอ้างของตัวเอง

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

ทว่าตัววิดีโอดังกล่าวและภาพของอามินีในอาการโคม่ากลับทำให้ชาวอิหร่านไม่พอใจและโกรธแค้นอย่างมาก โดยการประท้วงครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ในบ้านเกิดของอามินีที่เมือง Saqqez ทางตะวันตกของอิหร่าน จากนั้นการประท้วงลักษณะเดียวกันก็ผุดขึ้นในเมืองอื่นๆ ของอิหร่านอย่างรวดเร็ว รวมถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศ จนกลายเป็นวาระระดับชาติที่ลากยาวมานานกว่า 2 เดือนแล้ว

บทบาทผู้หญิงในการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

เหตุการณ์เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของผู้หญิงเพียงคนเดียวได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของอิหร่านในรอบกว่า 40 ปี นับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolution) เมื่อปี 2522

ในช่วงแรก การประท้วงเกิดขึ้นเพื่อประณามความรุนแรงของตำรวจศีลธรรม ก่อนลุกลามเป็นการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของสตรี และขยายใหญ่ขึ้นเป็นการขับไล่รัฐบาลเผด็จการที่เต็มไปด้วยความคับแค้นของประชาชน โดยกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญและเป็นแนวหน้าของการลุกฮือครั้งนี้คือ ‘ผู้หญิงอิหร่าน’ ทั่วประเทศ

เพื่อแสดงออกถึงการขัดขืนกฎหมายการแต่งกายของผู้หญิงที่เคร่งครัด ผู้ประท้วงจำนวนมากพากันประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการจุดไฟเผาผ้าคลุมศีรษะ ตัดผมของตัวเอง รวมถึงเดินขบวนพร้อมตะโกนสโลแกนว่า “สตรี ชีวิต เสรีภาพ” (Woman, Life, Freedom) และ “เผด็จการจงพินาศ” (Death to the Dictator)

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนักเรียนหญิงจำนวนมากเข้าร่วมขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ด้วย เห็นได้จากวิดีโอที่พวกเธอลงถนนประท้วงพร้อมสาปแช่งรัฐบาลเผด็จการอย่างดุเดือด รวมถึงบรรยากาศในโรงเรียนที่เด็กผู้หญิงพากันถอดฮิญาบและชูนิ้วกลางใส่รูปผู้นำสูงสุดของอิหร่านอย่าง อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamene) ถือเป็นภาพที่หลายคนไม่คิดว่าจะได้เห็นในประเทศที่จำกัดอิสรภาพของผู้หญิงอย่างอิหร่าน

ทั้งนี้ คลื่นปฏิวัติลูกล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมแห่งนี้ไม่ได้จำกัดผู้ชุมนุมแค่ผู้หญิงเท่านั้น เพราะยังมีชาวอิหร่านทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และทุกเพศ เข้าร่วมประท้วงเรียกร้องสิทธิให้สตรีในประเทศด้วย แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในประเทศ

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม ด้านรัฐบาลอิหร่านก็ไม่อยู่เฉย พยายามตอบโต้กลับด้วยการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อและอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศ รวมถึงสั่งเจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ประท้วงโดยใช้ความรุนแรงหลายครั้ง ทั้งใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง รวมถึงยิงกระสุนจริงเพื่อสลายการชุมนุม

ข้อมูลจาก Human Rights Activists in Iran เปิดเผยว่า มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปแล้วกว่า 16,800 ราย (ข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565) ส่วนข้อมูลจาก Iran Human Rights ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของรัฐบาลแล้ว 416 คน รวมทั้งผู้เยาว์ 51 คน (ข้อมูลวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565)

แม้ว่าทั่วโลกจะประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลอิหร่าน แต่ตัวผู้นำสูงสุดยังมองว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ใช่แค่การจลาจล แต่เป็นกลยุทธ์ทางการทหารที่เรียกว่า ‘สงครามผสาน (Hybrid War)’ ที่มีสหรัฐฯ และอิสราเอลอยู่เบื้องหลัง

Gen Z แนวหน้าการปฏิวัติบนโลกออนไลน์

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

นอกจากผู้หญิงจะเป็นผู้นำการประท้วงครั้งล่าสุดแล้ว อีกกลุ่มที่เป็นแนวหน้าของการส่งเสียงชาวอิหร่านให้คนทั่วโลกได้ยินคือ ‘Generation Z’ หรือคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 12 – 25 ปี (เกิดระหว่างปี 2540 – 2553)

แม้ว่า Gen Z ในอิหร่านจะมีอยู่แค่ 6 ล้านคน หรือคิดเป็นแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 83 ล้านคน แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเสียงดังมากพอและจะไม่ทนกับการกดทับที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษอีกต่อไป 

นอกจากเหล่า Gen Z จะร่วมประท้วงในพื้นที่ต่างๆ พวกเขายังใช้ ‘โซเชียลมีเดีย’ เช่น TikTok และ Instagram เพื่อแสดงจุดยืน รวมถึงเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศให้โลกได้รับรู้

ส่วนเหตุผลที่หนุ่มสาวชาวอิหร่านไม่อยากอยู่ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐอิสลามนั้นมีหลายปัจจัย เช่น พวกเขาไม่รู้สึกยึดโยงกับศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอุดมคติทางการเมือง เหมือนคนรุ่นก่อนๆ ถัดมาคือสาเหตุจาก ‘โลกาภิวัตน์ (Globalization)’ และ ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่ทำให้พวกเขามองเห็นความก้าวหน้าทางแนวคิดของโลกภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงไม่แปลกที่บรรดา Gen Z จะกล้าตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ และไม่เชื่อว่าสังคมจะอยู่ภายใต้การปกครองระบอบอำนาจนิยมได้เหมือนในอดีต

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

มากไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ยังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเองโดยตรง เช่น การว่างงาน การแบ่งแยกเพศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ถ้าการปฏิวัติระบอบอำนาจนิยมหมายถึงโอกาส ความมั่นคง ความปลอดภัยทางการเงิน และเสรีภาพส่วนบุคคล คนรุ่นใหม่ในอิหร่านก็พร้อมต่อสู้เพื่อเป้าหมายเหล่านั้นชนิดที่ไม่กลัวตาย

Pop Culture ทั่วโลกก็ไม่เอาเผด็จการ

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

เมื่อการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี และการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในอิหร่าน ถูกส่งต่อเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วผ่านแฮชแท็ก #MahsaAmini และ #IranRevolution หลังจากนั้นผู้คนใน 150 เมืองทั่วโลกก็ทยอยออกมารวมตัวประท้วงเพื่อซัปพอร์ตชาวอิหร่าน

มากไปกว่านั้น องค์การระหว่างประเทศอย่าง ‘สหประชาชาติ (United Nations)’ และ ‘สหภาพยุโรป (European Union)’ ยังได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงอย่างสันติ และเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ที่น่าสนใจคือ การเรียกร้องสิทธิของชาวอิหร่านยังได้รับแรงสนับสนุนจากแวดวง ‘ป็อปคัลเจอร์ (Pop Culture)’ ทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ ‘วงการศิลปะ’ เช่น การจัดแสดงผลงานชื่อ ‘Woman Life Freedom’ ของศิลปินชาวอิหร่านอย่าง Shirin Neshat ในกรุงลอนดอน รวมถึงการเปลี่ยนน้ำพุบริเวณจัตุรัส Fatemi ในกรุงเตหะรานให้เป็นสีแดงโดยศิลปินนิรนาม ส่วนบนโลกออนไลน์ ทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงและมือสมัครเล่นต่างพากันแชร์ผลงานศิลปะจำนวนนับไม่ถ้วนเพื่อสื่อถึงความเคลื่อนไหวในอิหร่าน

ถัดมาคือ ‘วงการดนตรี’ ที่มีศิลปินชาวอิหร่านจำนวนไม่น้อยแต่งเพลงเพื่อซัปพอร์ตการประท้วงในประเทศของตัวเอง ซึ่งหนึ่งในเพลงที่เป็นไวรัลมากที่สุดคือ ‘Baraye’ ที่แต่งและเผยแพร่โดย Shervin Hajipour นักร้องชาวอิหร่านวัย 25 ปี เนื่องจากเนื้อเพลงได้รวบรวมปัญหาสังคมของอิหร่านไว้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิผู้ลี้ภัย ความยากจน ข้อห้ามทางสังคมและศาสนาที่ล้าหลัง ฯลฯ ทำให้ Baraye กลายเป็นเพลงชาติของการประท้วงครั้งนี้ไปโดยปริยาย ส่วนคนในวงการบันเทิงระดับโลกที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็มีหลายคนเช่นกัน เช่น Roger Waters นักร้องนำวง Pink Floyd, Coldplay, Oprah Winfrey, Shakira ฯลฯ

ปิดท้ายกันที่ ‘อุตสาหกรรมกีฬา’ ที่มีบทบาทไม่น้อยกว่าวงการอื่นๆ ยกตัวอย่าง Hossein Mahini อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอิหร่านที่ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมของผู้หญิงผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง ส่งผลให้เขาโดนจับกุมตัวเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 โทษฐานยุยงให้เกิดจลาจล ก่อนจะถูกปล่อยตัวในเดือนถัดมา

ผู้หญิงอิหร่านนำประท้วงใหญ่ในรอบ 40 ปี เรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพ และขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

ส่วนในอีเวนต์กีฬาระดับนานาชาติอย่าง ‘ฟุตบอลโลก 2022’ หรือ ‘FIFA World Cup Qatar 2022’ ทีมชาติอิหร่านก็พร้อมใจกันงดร้องเพลงชาติก่อนการแข่งขันกับอังกฤษเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ประท้วง ทำให้หลังจากนั้นสมาชิกทีมชาติอิหร่านถูกข่มขู่ว่า ครอบครัวของพวกเขาจะถูกจับกุมและทรมาน หากนักฟุตบอลไม่ยอมประพฤติตัวให้ดีก่อนการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565

แม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะพยายามกดขี่ ปราบปราม และแทรกแซงการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านอยู่เรื่อยๆ แต่การประท้วงของประชาชนที่ลากยาวนานกว่า 2 เดือน และมีแนวโน้มที่ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ก็ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าอิหร่านกำลังปลดแอกตัวเองอย่างช้าๆ และไม่สามารถกลับไปเป็นรัฐที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเหมือนในอดีตได้อีกแล้ว

Sources :
Axios | t.ly/7mdT
BBC | t.ly/_8u-, t.ly/9kgh, t.ly/U2oC, t.ly/a_Ws
CBS News | t.ly/Rv5Y
CNN | shorturl.at/lvwX9
Euronews | t.ly/nTJ3
IranWire | t.ly/nUnK
Middle East Institute | t.ly/1VS1
The Express Tribune | bit.ly/3ugP45y
The Iran Primer | t.ly/gT4x
YouTube : PBS NewsHour | bit.ly/3gNtnXT
YouTube : VICE News | bit.ly/3AXgGjS

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.