สวนสาธารณะแห่งแรกของโลก - Urban Creature

ข่าวการนำพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบมาสร้างสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางกรุงอย่าง ‘สวนป่าเบญจกิติ’ บนเนื้อที่ทั้งหมด 450 ไร่ ถือว่าสร้างความฮือฮาให้คนเมืองพอสมควร ทำให้เห็นว่า ‘สวนสาธารณะ’ และพื้นที่สีเขียวกลายเป็นตัวชี้วัดที่บอกถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองหรือประเทศนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่ามาตรฐานพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำของการเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่สีเขียวเพียง 6.99 ตร.ม./คน เท่านั้น 

ภาพ : The Independent

| เพราะยุคอุตสาหกรรม ทำให้เกิด ‘สวนสาธารณะ’

ย้อนกลับไปประมาณปี 1760 ประเทศอังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในภาคเกษตรกรรม การผลิต การทำเหมืองแร่ การคมนาคม และเทคโนโลยี กระบวนการผลิตจากเดิมที่เคยใช้แรงงานคน สัตว์ และพลังน้ำ ถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรและระบบโรงงานแทน เมื่อโรงงานเกิดขึ้นจำนวนมาก แรงงานจากชนบทก็พากันอพยพเข้ามาทำงาน และรวมกลุ่มลงหลักปักฐานในเมืองอย่างแน่นหนา จนก่อกำเนิดเป็น ‘ชุมชนแออัด’ ที่เสื่อมโทรม ขาดสุขลักษณะ และไม่มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจมากเท่าที่ควร

ผู้ใช้แรงงานเลยชอบแอบไปใช้พื้นที่ว่างหรืออุทยานส่วนตัวของกษัตริย์และพวกชนชั้นสูงเป็นประจำ ทำให้พวกเขาถูกลงโทษอยู่บ่อยครั้ง นานวันเข้าความอดทนของผู้ใช้แรงงานเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจล จนเกิดเป็น ‘ขบวนการอุทยานเพื่อประชาชน’ (People’s Parks Movement) หรือการเรียกร้องให้มีพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนนั่นเอง หลังจากนั้นไม่นาน ทางราชการก็ยอมให้ประชาชนเข้าไปใช้อุทยานของกษัตริย์หรือขุนนางชั้นสูง เพียงแต่ต้องเสียค่าเข้า หรือถ้าเข้าฟรีก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าของที่กำหนดไว้

ภาพ : Birkenheadpark1847.com

ตั้งแต่นั้นมา อุทยานที่ยอมเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ก็จะถูกเรียกว่า ‘อุทยานประชาชน’ (People’s Parks) และกลายเป็นอุทยานหรือสวนสาธารณะ (Public Parks) อย่างในปัจจุบัน ซึ่งสวนสาธารณะ ‘เบอร์เคนเฮด’ (Birkenhead Park) ประเทศอังกฤษ ถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของโลก ที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน ออกแบบโดย ‘โจเซฟ แพกซ์ตัน’ (Joseph Paxton) นักจัดภูมิทัศน์และสถาปนิกชาวอังกฤษ

เบอร์เคนเฮดใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 5 ปี จนกระทั่งเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายน ปี 1847 เวลาต่อมาสวนสาธารณะแห่งนี้ ยังถูกกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ในปี 1977 และประกาศให้เป็นภูมิทัศน์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1995 ก่อนจะถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่ทิ้งร้างเรื่อยมา 

จนปลายศตวรรษที่ 20 เบอร์เคนเฮดถูกบูรณะครั้งใหญ่ มีการฟื้นฟูอาคาร ซ่อมสะพานทางเดินต่างๆ ปลูกต้นไม้ เพิ่มที่จอดรถ ไปจนถึงทำความสะอาดทะเลสาบให้ใหม่เอี่ยมน่าใช้งาน เหมือนยุคแรกๆ ที่เปิดสวน ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ใช้เงินไปทั้งสิ้น 11.5 ล้านปอนด์ และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังใช้เวลาบูรณะไป 6 ปี

ภาพ : silpa-mag.com

| ‘สวนลุมพินี’ สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย 

กลับมาที่บ้านเรากันบ้าง ‘สวนลุมพินี’ ถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของไทย เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1925 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รัชกาลที่ 6 จึงมีพระราชดำริให้จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม โดยใช้ชื่องานว่า ‘สยามรัฐพิพิธภัณฑ์’ เพื่อทำให้เกิดกระแสการเงินหมุนเวียน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ต่อมาได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ประมาณ 336 ไร่ สำหรับสร้างพื้นที่ดังกล่าวและจัดให้เป็น ‘สวนสาธารณะ’ ให้ประชาชนใช้พักผ่อนเหมือนต่างประเทศ และพระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า ‘สวนลุมพินี’ ตามชื่อสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

การก่อสร้างสวนลุมฯ เริ่มด้วยการขุดสระน้ำ ปลูกพันธุ์ต้นไม้ ตัดถนน สร้างตึกและหอนาฬิกา โดยภายในก็มีพื้นที่สำหรับจัด ‘งานแสดงสินค้า’ แต่แล้วการก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงักลงถึง 3 ปี เนื่องจากรัชกาลที่ 6 สวรรคต จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีพระบรมราชานุญาตให้รื้อฟื้นโครงการสวนลุมพินีขึ้นมาอีกครั้ง และทรงมอบหมายให้กรมนคราทร หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน ใช้พื้นที่ด้านใต้ของสวนลุมพินีประมาณ 90 ไร่ จัดเป็นพื้นที่วนาเริงรมย์ เปิดการแสดงมหรสพ ออกร้านขายของ มีเครื่องเล่น และกิจกรรมต่างๆ โดยพื้นที่ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปใช้งาน ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 

ปัจจุบัน สวนลุมพินีกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ให้เหล่าคนเมืองจำนวนมากใช้ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ในอนาคต กทม. ยังมีแผนที่จะปรับภูมิทัศน์และปรับปรุงทัศนียภาพต่างๆ ภายในสวน เพื่อให้ที่นี่กลายเป็นสวนสาธารณะระดับโลกที่สร้างสรรค์และทันสมัย เพื่อเฉลิมฉลองสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปีในปี 2025

| สวนสาธารณะ มาตรฐานในการสร้างเมือง

หลังการปฏิวัติในยุคอุตสาหกรรม มีแนวคิดหนึ่งเกิดขึ้นที่เรียกว่า ‘การ์เดนซิตี้’ (Garden City) หรืออุทยานนคร เป็นแนวคิดการออกแบบเมืองที่เน้นประโยชน์ต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และการทำอุตสาหกรรม หลังจากนั้นเป็นต้นมา สวนสาธารณะก็ได้กลายเป็นมาตรฐานในการวางแผนพัฒนาเมือง ซึ่งในการวางผังเมืองของแต่ละประเทศก็จะกำหนดมาตรฐานด้านการวางแผน และออกแบบสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ความหนาแน่นของผู้คน และลักษณะประชากรของพื้นที่นั้นๆ เช่น ค่ามาตรฐานของพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจโดยรวมต่อจำนวนประชากรในสหรัฐฯ จะถูกกำหนดเอาไว้ประมาณ 25 ไร่ต่อประชากร 1,000 คน สนามเล่นกีฬาและสนามเด็กเล่นตามชุมชน ถูกกำหนดอยู่ที่ 2.5 ไร่ต่อประชากร 800 คน ซึ่งในแต่ละรัฐก็จะมีตัวเลขไม่เท่ากัน 

และประเทศไทยเองก็เคยกำหนดพื้นที่พักผ่อนโดยรวมไว้ที่ 10 ไร่ต่อประชากร 1000 คน แต่ในความเป็นจริง ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ทำได้เพียง 1.8 ไร่ต่อประชากร 1000 คนเท่านั้น แต่ในอนาคต กทม. ก็มีแผนสร้างสวนสาธารณะในเมืองเพิ่มถึง 11 แห่ง รวมถึงอุทยานและพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีป่าชายเลน หวังเพิ่มเส้นทางสีเขียวระยะทาง 15 กิโลเมตร เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่สร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างเพียงพอ


Sources :
Birkenhead Park | www.birkenheadpark1847.com
Silpa-Mag | www.silpa-mag.com/history/article_25090
การปฏิวัติอุตสาหกรรม | wl.mc.ac.th/s32102/016.htm
หนังสือ Planting Design
ไทยโพสต์ | www.thaipost.net/main/detail/86912

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.