ทำไมสร้างเมืองต้องฝัง ‘เสาหลักเมือง’ - Urban Creature

ตอนเด็กๆ จำได้ว่าเคยดูละครเรื่อง “เจ้ากรรมนายเวร” แล้วมีตอนหนึ่งที่เขาโยนคนลงในหลุมแล้วตอกเสาเข็มประตูชัยเมืองทับลงไป เพื่อฆ่าเอาดวงวิญญาณมาดูแลเมือง ถือเป็นฉากที่น่ากลัวและเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากในสมัยนั้น เราจึงพาย้อนเวลาไปตามหาที่มาของ ‘เสาหลักเมือง’ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า การสร้างเสาหลักเมืองของไทยมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว โดยเล่าว่าประเพณีการตั้งเสาหลักเมืองมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์โดยมีที่มาจากพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งประเพณีพราหมณ์เผยแพร่เข้ามาสู่สุโขทัยและเจริญรุ่งเรืองมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะค่อยๆ ลดบทบาทลงในภายหลัง

ตำนาน อิน จัน มั่น คง

“อิน จัน มั่น คง” คือตำนานความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองในสมัยโบราณ คือการทำพิธีอาถรรพ์ทั้ง 4 ที่ประตูเมือง เสาหลักเมือง หรือเสามหาปราสาท โดยการนำคนที่มีชีวิตชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงหลุม เพราะเชื่อกันว่าทั้ง 4 คน เมื่อตายไปจะกลายเป็น “ผีราษฎร” คอยปกปักรักษาบ้านเมืองและเจ้าฟ้าเจ้ากษัตริย์จากอริราชศัตรูทั้งหลาย

โดยคนชื่อ อิน จัน มั่น คง จะต้องมีลักษณะตามที่โหรพราหมณ์กำหนด คือ ไม่ใช่นักโทษประหาร ไม่มีรอยสัก ไม่เจาะหู อยู่ในวัยต่างกัน ฐานะดีเป็นที่ยกย่อง และต้องเกิดตามที่โหรกำหนด 

เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ใกล้กับกระทรวงกลาโหมคือที่ตั้งของ “ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ” สถานที่แห่งขวัญกำลังใจของคนกรุงเทพฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศาลแห่งเดียวที่มีเสาหลักเมือง 2 ต้น เสาหลักเมืองต้นแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พร้อมการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ ลงรักปิดทอง ส่วนยอดนั้นเป็นรูปบัวตูม ภายในเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

ในครั้งนั้นโหรหลวงได้ถวายดวงเมืองให้รัชกาลที่ 1 เลือก 2 แบบ คือ แบบแรกบ้านเมืองสงบสุข เจริญรุ่งเรือง แต่อาจต้องตกเป็นเมืองขึ้นระยะหนึ่ง และแบบที่สอง ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป ซึ่งเล่ากันต่อมาว่าพระองค์ทรงเลือกแบบที่สอง

ส่วนเสาต้นที่ 2 สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากตรวจพบว่าเสาต้นแรกเป็นอริกับลัคนาดวงเมือง ประกอบกับเสาต้นเดิมทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ โดยมีแกนเป็นไม้สัก และประกอบด้านนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ส่วนยอดเป็นทรงมัณฑ์ นอกจากนั้นยังสร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และสร้างอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย 

โดยเสาหลักเมืองส่วนใหญ่จะทำจากไม้มงคลจำพวก ‘ชัยพฤกษ์’ หรือ ‘ราชพฤกษ์’ ที่มีความหมายถึงชัยชนะ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และส่วนปลายยอดเป็นดอกบัวตูม หน้าเทวดา หรืออาจเป็นหลักหินใบเสมาโบราณก็ได้ ส่วนบริเวณตัวศาลส่วนใหญ่เป็นศาลาทรงไทยจตุรมุขมีประตูทั้งสี่ด้าน ยอดอาจเป็นแบบปรางค์ แบบปราสาท แบบมณฑป หรือเป็นศาลเจ้าแบบจีน ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่นั่นเอง


Sources :
Sanook | bit.ly/35ktrWp
Wikipedia | https://bit.ly/3nn7e0h, https://bit.ly/35ktlOx

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.