‘หมอบรัดเลย์’ ผู้สร้างวัคซีนเข็มแรกของไทย - Urban Creature

‘หมอบรัดเลย์’ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) หนึ่งในตัวละครบนหน้าประวัติศาสตร์ที่ออกมาโลดแล่นให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในหนังสือหรือบทละครโทรทัศน์ในฐานะบิดาแห่งวงการพิมพ์ไทยผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก แต่รู้หรือไม่ในฐานะแพทย์รักษาคนไข้เขาก็โดดเด่นไม่แพ้กัน


| สวัสดีข้านี้ชื่อ ‘แบรดลีย์’

แบรดลีย์ เกิดมาในยุคที่อเมริกาต้องการฟื้นฟูหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ทำให้อาชีพมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนากลายเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะ ‘มิชชันนารีที่เป็นแพทย์’ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่เขาเลือกศึกษาวิชาการแพทย์และพยายามฝึกฝนหาความรู้อยู่เสมอ จนในที่สุดก็สมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีกับคณะกรรมาธิการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเลแห่งอเมริกา (American Board of Commissioners for Foreign Missions) เพื่อเดินทางออกไปเผยแผ่ศาสนายังดินแดนตะวันออกไกล


| การเดินทางครั้งใหม่

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 คือฤกษ์งามยามดีที่แบรดลีย์และกลุ่มมิชชันนารีเดินทางออกจากบอสตันมุ่งหน้าสู่สยาม ระหว่างทางมีการแวะพักที่สิงคโปร์ เลยถือโอกาสเรียนภาษาไทยกับชาวอินเดียพอให้พูดได้ขายคล่อง ก่อนจะมาถึงสยามในวันที่ 18 กรกฎาคมปีเดียวกัน

เริ่มแรกหมอแบรดลีย์และคณะเปิด ‘โอสถศาลา’ อยู่แถวย่านวัดเกาะ เพื่อทำการรักษา จ่ายยา ควบคู่ไปกับการเผยแผ่ศาสนาให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น แต่เปิดไปได้ไม่นานกิจการนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าส่งเสริมให้ชาวจีนแข็งข้อกับสยาม จนต้องเก็บข้าวของออกไปหาที่อยู่ใหม่ในที่สุด

เมื่อโดนไล่ที่ แบรดลีย์หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หมอบรัดเลย์’ หรือ ‘หมอปลัดเล’ ก็ย้ายมาเช่าบ้านแถวชุมชนกุฎีจีนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ต่อมาได้ดัดแปลงบ้านเพื่อเปิดโอสถศาลาขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากเผยแผ่ศาสนาและจ่ายยาเบื้องต้นแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังกลายเป็นที่ผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของสยาม คือการผ่าตัดแขนให้ภิกษุรูปหนึ่งที่โดนสะเก็ดระเบิดในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาสฯ

| สร้างวัคซีนเข็มแรกของไทย

อยู่ไปอยู่มาช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ก็เกิดการระบาดของ ‘โรคฝีดาษ’ หรือ ‘ไข้ทรพิษ’ ทำให้มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก หมอบรัดเลย์จึงตัดสินใจเขียนจดหมายกลับบ้านเกิดขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหมอด้วยกัน เพื่อที่จะสั่ง ‘หนองฝีวัว’ จากอเมริกาเข้ามารักษาผู้คนในตอนนั้น

หมอบรัดเลย์เริ่มปลูกฝีให้ชาวบ้านเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2379 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากหนองฝีวัวที่ได้มานั้นใช้เวลาขนส่งนานกว่า 10 เดือน ทำให้คุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งานลดลง

6 ปีให้หลัง โรคฝีดาษกลับมาระบาดอีกครั้ง ทั้งชาวบ้านและลูกสาวหมอบรัดเลย์ต่างติดเชื้อและเสียชีวิตลง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงทุ่มเทศึกษาเกี่ยวกับการปลูกฝี และทดลองทำหนองฝีจนในที่สุดก็สำเร็จในปลาย พ.ศ. 2385 โดยฉีดหนองฝีของผู้ป่วยโรคฝีดาษเข้าไปในวัว เพื่อทำให้วัวเป็นโรคแล้วสร้างภูมิคุ้มกัน ก่อนจะสกัดเชื้อมาทำวัคซีนใช้รักษาคนต่อไป ทั้งยังพิมพ์ตำราปลูกฝีโคหรือปลูกฝีดาษ เป็นหนังสือการแพทย์สมัยใหม่เล่มแรกของคนไทยสมัยนั้น

ต่อมารัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ที่จะทำหนองฝีขึ้นใช้เองในประเทศ จึงรับสั่งให้กระทรวงธรรมการจัดส่งหมอ 2 นายไปศึกษาวิชาการทำพันธุ์หนองฝี ณ เมืองมะนิลา เกาะฟิลิปปินส์ จนเกิดการทำพันธุ์หนองฝีโดยฝ่ายราชการเป็นครั้งแรกในพระนครเมื่อ พ.ศ. 2444

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดตั้ง ‘ปาสตุระสภา’ สถานที่ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแห่งแรกในไทย รวมทั้งได้ย้ายกิจการทำพันธุ์หนองฝี ทำวัคซีน รวมถึงการทำเซรุ่มสำหรับรักษาโรคของสัตว์พาหนะต่างๆ ตลอดทั้งจัดหาเซรุ่มที่ใช้ในการรักษาโรคสำหรับคนมาไว้ที่เดียวกัน ซึ่งปัจจุบันที่แห่งนี้คือ ‘สถานเสาวภา’ สถานที่ผลิตวัคซีนและเซรุ่มของประเทศไทยนั่นเอง

แม้ภายหลังการรักษาของสยามจะเจริญขึ้น จนทำให้บทบาทของแพทย์มิชชันนารีค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘หมอบรัดเลย์’ ชายต่างชาติร่างบางที่มีหนวดเคราเต็มใบหน้าคนนี้ คือผู้ที่อุทิศตนให้เกิดการแพทย์สมัยใหม่ในสยามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครเลย


Sources :
Hfocus | https://bit.ly/3p3edLW
Hfocus | https://bit.ly/3qfAFms
Wikipedia | https://bit.ly/3cOF8Jc

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.