คุณรู้จักถนนไทยดีแค่ไหน - Urban Creature

การจราจรอันหนาแน่น รถบรรทุกวิ่งกันขวักไขว่ ไปจนถึงพฤติกรรมทุบ ขุด เจาะ ตอก บนพื้นถนน ภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อกลายเป็นภาพชินตาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร จากปัญหาเพียงเล็กน้อยกลายเป็นตอใหญ่ของปัญหาถนนไทยที่หยั่งรากลึกมานานแสนนาน

น้องถนนคอนกรีต VS พี่ถนนยางมะตอย 

บนท้องถนนกรุงเทพฯ ที่เราเห็นส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ ถนนคอนกรีตและถนนยางมะตอย ซึ่งการก่อสร้างถนนแต่ละประเภทนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณการจราจร ณ บริเวณนั้นเป็นหลัก เช่น ถนนคอนกรีต ส่วนใหญ่เป็นย่านเมืองใหญ่การจราจรที่มีรถวิ่งมากกว่า 10,000 คันต่อวัน (โดยประมาณ) ส่วนถนนยางมะตอยจะเป็นถนนต่างจังหวัดหรือเส้นนอกเมืองที่มีการจราจรค่อนข้างน้อย

ซึ่งระหว่างถนนคอนกรีตและยางมะตอยก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกันไป หากมองในมุมของความคงทนของการใช้งาน แน่นอนถนนคอนกรีตสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าถนนยางมะตอยอยู่แล้ว เพราะเมื่อรถแล่นบนถนน การส่งแรงในแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง ทำให้เปอร์เซ็นต์การทรุดตัวจะน้อยกว่า ด้วยคุณสมบัติของคอนกรีตมีความหนาแน่นมากกว่า แต่ปัญหาการแตกร้าวจะเกิดขึ้นได้มากกว่า

สำหรับถนนยางมะตอยจะถูกสร้างให้หนากว่าถนนคอนกรีต เพราะต้องการพื้นที่รับน้ำหนักของล้อรถมากกว่า ด้วยคุณสมบัติของยางมะตอยมีความยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้เมื่อรถแล่นผ่านน้ำหนักจะถูกส่งผ่านไปถึงพื้นดินชั้นล่าง เพราะยางมะตอยเป็นตัวกลางในการส่งแรงในแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ ดังนั้นถนนยางมะตอยจึงเสี่ยงที่จะทรุดตัวมากกว่า แต่ผู้ขับขี่จะรู้สึกว่าถนนยางมะตอยจะขับสบายมากกว่าถนนคอนกรีตนั่นเอง

ถนนชำรุดแล้วใครรับผิดชอบ

ถนนแต่ละรูปแบบมีการซ่อมบำรุงที่แตกต่างกันไป หากไม่ได้รับการซ่อมแซมที่ถูกจุด เช่น ถนนยางมะตอยไม่ชอบรอยแตกเมื่อเจอกับน้ำจะเกิดการรั่วซึม จนเกิดการกัดเซาะจากใต้ถนนเป็นสาเหตุให้ถนนพังเร็ว หรือรอยแตกร้าวของถนนที่หากทิ้งไว้เป็นเวลานานรอยแตกจะลุกลามไปเรื่อยๆ

ซึ่งรอยแตกที่เราพบได้บ่อยครั้งคือ ‘หลุมบนผิวถนน’ (Pot hole) โดยเกิดมาจากสาเหตุของการรับน้ำหนักของถนนบริเวณนั้นที่มากเกินไป การขุด เจาะ ตอก หรือเสื่อมสภาพไปตามการใช้งานส่วนใหญ่ หรือจากปัจจัยของการก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น ส่วนผสมของยางมะตอยไม่สม่ำเสมอ มีหินขนาดเล็กผสมมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้เมื่อมีน้ำขังในหน้าฝนและถูกล้อรถย่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดเป็นหลุม หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการซ่อมแซมจะเกิดเป็นหลุมใหญ่และลึกมากขึ้น การซ่อมแซมก็จะยากมากขึ้นเช่นกัน

จากปัญหาเหล่านี้ ทำให้หลายคนเกิดความงุนงงปนสงสัยว่าแท้จริงแล้วถนนหนทางหากเกิดการชำรุดขึ้นมาใครเป็นคนดูแลกันแน่ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบคือ ‘สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร’ โดยจะมีหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ บำรุงรักษา ซ่อมแซม ถนน ตรอก ซอก ซอย ไปจนถึงทางเท้าเลยล่ะ

ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ถนนกรุงเทพฯ พังซ้ำๆ เจ็บซ้ำๆ อันดับแรกต้องจัดการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามประเภทของความเสียหายเสียก่อน แต่ด้วยปัจจัยและข้อจำกัดมากมายที่เกิดขึ้น เช่น ถนนที่ไม่สามารถปิดการใช้งานได้เป็นเวลานานพอ เพราะความหนาแน่นของปริมาณของรถบนท้องถนน และความต้องการของผู้ใช้งานที่ค่อนข้างมาก ทำให้การซ่อมแซมถนนคอนกรีตด้วยวัสดุเดิมจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงเห็นว่าหลายๆ จุดบนถนนกรุงเทพฯ​ มักแก้ปัญหาโดยการซ่อมแซมด้วยยางมะตอยเป็นหลัก เพราะสะดวก รวดเร็ว และต้นทุนน้อย ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีในระยะยาว ไม่นานปัญหาผิวถนนชำรุดก็จะกลับมาอีกครั้ง

*หมายเหตุ ต้นทุนในการก่อสร้างจะปรับเปลี่ยนตามวัสดุและปัจจัยอื่นๆ*


Sources : 
Facebook : วิศวกร ที่ปรึกษา | bit.ly/3phuL4t
Pavement Structure ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | bit.ly/3nhKhLJ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย | bit.ly/3eRlkni
สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร | bit.ly/3ktbmK2

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.