ใครขับรถไปจนถึงเดินบนฟุตพาทแล้วอาจชำเลืองตาไปเห็นกับสภาพ ‘ถนนปูด’ ที่ปูดเก่งไม่ไหว จนพาให้รถหลายคัน ทั้งรถยนต์ ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์เหินเวหา ล้มระเนระนาดมานับไม่ถ้วน แล้วสภาพถนนปูดนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร คอลัมน์ Curiocity ชวนมาหาคำตอบกัน

ก่อนอื่นชวนทำความเข้าใจก่อนว่า ถนนในบ้านเรามีทั้ง ‘ถนนลาดยางมะตอย’ หรือ ถนนแบบผิวทางอ่อน (Flexible Pavement) ซึ่งจะใช้หลักการออกแบบตามมาตรฐานของสถาบันยางมะตอย (Asphalt Institute) โดยจะมีอายุการใช้งานราว 20 – 30 ปี กับอีกรูปแบบถนนคือ ‘ถนนคอนกรีต’ หรือ ถนนแบบผิวทางแข็ง (Rigid Pavement) ใช้หลักการออกแบบตามวิธีของสมาคมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement Association ; PCA) โดยจะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 40 – 50 ปี
สาเหตุถนนปูดคืออะไร
สำหรับอาการถนนบวม (Upheaval) หรือเรียกง่ายๆ ว่าถนนปูดนั้น เป็นความเสียหายด้านการใช้งาน (Functional Failure) ประเภทการเปลี่ยนรูปร่าง (Distortion) และมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับถนนประเภทลาดยางมะตอย ที่มีชั้นถนนเป็นดินเดิมของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสาเหตุของการเกิดมีดังนี้
1. การบวมตัวของชั้นดินถมคันทาง หรือชั้นโครงสร้างทางอื่นๆ
2. ความแข็งตัวของน้ำในมวลดิน
3. วัสดุชั้นคันทางเป็นดินที่ขยายตัวได้
4. ความร้อนของยางมะตอยสะสมตามกาลเวลา ส่งผลให้ยางมะตอยเริ่มเหลว และแรงทนทานต่อการรับน้ำหนักน้อยลง
5. การใช้งาน และการรับน้ำหนักที่มากเกินไป
เมื่อถนนปูดบวมแล้ว ความเสียหายหลักๆ ที่เกิดคือการเสื่อมของคุณภาพของรถที่ขับขี่ เพราะถนนไม่เรียบเนียน เมื่อขับขี่อาจเกิดแรงกระแทกต่างกัน และพื้นถนนอาจสูงจนกระทบบริเวณใต้ท้องรถได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้การขับรถช้าลง พาให้การจราจรติดขัด และที่หนักกว่านั้นคืออาการรถบินที่กลายเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งเห็นกันตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์นับไม่ถ้วน
แก้ไขยังไงดี
การแก้ไขสภาพถนนปูด แน่นอนว่าต้องมองลึกไปถึงชั้นโครงสร้าง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการขุดซ่อมผิวทาง (Deep Patching) การฉาบผิวใหม่ (Overlay) และการขุดรื้อวัสดุที่เกิดการบวมตัวออก แล้วแทนที่ด้วยวัสดุที่คุณภาพดีกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม
แต่ถนนปูดอีกรูปแบบซึ่งเห็นได้บ่อยไม่แพ้กัน คือปูดชนิดที่ว่าเอายางมะตอยมาถมโปะ โดยเกิดจากการที่ถนนยุบตัวตามสาเหตุเดียวกันของถนนบวม แต่เพราะการซ่อมแซมต้องใช้เวลานาน ทำให้บางครั้งเราแอบเห็นการซ่อมแบบขอไปที อย่างการโปะยางมะตอยถมลงไปบริเวณที่ยุบตัว ทำให้เกิดถนนงอกขึ้นมาเป็นเนินเล็กๆ ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนไม่แพ้กัน
ดังนั้นคงจะดีไม่น้อย ถ้าการทำถนนของบ้านเราได้มาตรฐานตั้งแต่ครั้งแรกที่ก่อสร้าง ใช้วัสดุคุณภาพ และดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นไปตามหลักที่ควรจะเป็น และเมื่อถึงเวลาซ่อมแซมก็ควรซ่อมอย่างถูกวิธี เพื่อให้พื้นถนนปลอดภัยกับผู้ใช้รถ
Source : อาจารย์วีระเกษตร สวนผกา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | https://bit.ly/3yK0ZK6