‘นางเลิ้ง’ เป็นอีกหนึ่งย่านที่มีประวัติศาสตร์ทางสังคมและมีความหลากหลายด้านศิลปวัฒนธรรม ความบันเทิง มหรสพ รวมเอาไว้ทั้งผู้คน สถานที่ และวิถีชีวิตที่เชื่อมต่อกันผ่านตรอกซอกซอย จนทำให้บริเวณนี้มีความเป็นย่านนางเลิ้งที่มีเอกลักษณ์ที่แข็งแรง
แต่จุดเด่นเหล่านี้แทบจะถูกลืมเลือนไปด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ อาจไม่รับรู้ถึงของดีของเด็ดในย่าน หรือแม้แต่ใช้ศักยภาพของพื้นที่ในย่านได้อย่างไม่เต็มที่ จนทำให้ย่านที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงาลงตามกาลเวลา
‘City PopUp’ จึงได้ร่วมมือกับ ‘Urban Studies Lab (USL)’ และ ‘หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (DCE)’ จัดทำนิทรรศการ ‘Framing Spaces : เรา-เล่า-นางเลิ้ง’ เพื่อรังสรรค์ให้ย่านนางเลิ้งกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
เรา-เล่า-นางเลิ้ง จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 29 ตุลาคมนี้ วันนี้คอลัมน์ Events จะพาไปทำความรู้จักย่านนางเลิ้งผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เราได้รู้ว่านอกจากกล้วยแขกแล้ว ในย่านเก่าแก่แห่งนี้ก็ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ไปค้นหาอีกมากมาย
‘เรา-เล่า-นางเลิ้ง’ เป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘Placemaking Week Bangkok 2023’ ภายใต้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Ford Motor Company Fund และกรุงเทพมหานคร ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์มาร่วมกันเปลี่ยนเมืองผ่าน 5 ย่านในกรุงเทพฯ
นิทรรศการ เรา-เล่า-นางเลิ้ง จัดขึ้นที่โรงเรียนสตรีจุลนาค โรงเรียนในย่านนางเลิ้งที่เพิ่งปิดตัวไม่นานมานี้หลังจากเปิดมาตั้งแต่ปี 2469 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้จำนวนนักเรียนลดน้อยลงจนไม่มีการเรียนการสอนเกิดขึ้น ถึงอย่างนั้นสถานที่แห่งนี้ก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นโรงเรียนเก่า และยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีศักยภาพในการจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงความสร้างสรรค์เข้ากับชุมชนอีกด้วย
กิจกรรมภายในงานเริ่มต้นกันตั้งแต่ ‘Exhibition Zone’ ที่ใช้พื้นที่โรงอาหารโรงเรียนเพื่อจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่ได้จากการประกวด และภาพถ่ายจากการ Workshop ของคนในชุมชนผ่านมุมมองความสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไป
ส่วนด้านนอกจะมีลานกิจกรรมสำหรับวงเสวนาจากเหล่าครีเอเตอร์ด้านสื่อสร้างสรรค์ ที่จะมาร่วมกันแชร์ประสบการณ์การทำงาน เกร็ดความรู้ ส่งต่อแรงบันดาลใจไปพร้อมกับต่อยอดเส้นทางการสร้างสื่อสร้างสรรค์
รวมถึงยังมีพื้นที่หนังกลางแปลง โดยในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคมนี้ จะมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘อัศวินดาบกายสิทธิ์’ (2513) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ ‘มิตร ชัยบัญชา’ ร่วมงานกับต่างประเทศ และเป็นเรื่องเดียวที่ถ่ายจบก่อนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต โดยภายในงานนี้จะมีการพากย์สดโดยนักพากย์มืออาชีพอีกด้วย
ส่วนชั้นสองจะเป็นการนำเสนอภาพจำของย่านนางเลิ้งในห้องเรียน 5 ห้อง 5 รูปแบบการนำเสนอ จาก 5 นักสร้างสรรค์ เพื่อถ่ายทอดความเป็น ‘นางเลิ้ง’ ให้ได้รู้จักย่านนี้มากขึ้นกว่าเดิม ผ่านโชว์เคส ‘5 ROOMs 5 CONTENTs 5 CREATORs’ ที่จะเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 11.00 – 18.00 น.
นอกจากผลงานที่ถ่ายทอดความเป็นชุมชนนางเลิ้งแล้ว ในแต่ละห้องก็จะมีสติกเกอร์ที่ให้ผู้เข้าชมได้สะสมเพื่อติดบนถุงกระดาษ สำหรับนำไปแลกรับ ‘กล้วยแขก’ และบัตรส่วนลดค่าอาหาร 10 บาทต่อใบ เพื่อนำไปใช้กับร้านค้าต่างๆ ในย่านที่เข้าร่วมกับนิทรรศการนี้
ห้องแรกคือห้องฉายภาพยนตร์สารคดีสั้น 15 นาที เรื่อง ‘InCharm’ ที่เล่าถึงเรื่องราวในนางเลิ้งผ่านมิติต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับ ‘ชาม’ ภาชนะเรียบง่ายที่มีเนื้อวัสดุและลวดลายแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
โดยตัวภาพยนตร์นั้นจะชวนให้ทุกคนสังเกตชามและรสชาติในชาม ที่เปรียบเทียบกับกลิ่นอาย บรรยากาศ หรือผู้คนย่านนางเลิ้ง ผ่านมุมมองทั้งคนในและคนนอกในพื้นที่สามเหลี่ยมนางเลิ้งแห่งนี้
ห้องถัดมาเป็นผลงานที่ชื่อว่า ‘TAITO’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัตลักษณ์และวิถีชีวิตชุมชนของย่านนางเลิ้ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง ‘สนามม้านางเลิ้ง’ ที่เป็นภาพหนึ่งที่ทำให้นางเลิ้งเป็นทั้งย่านรื่นเริง สันทนาการ และการพนัน เล่าผ่านผลงานสองชุดที่แสดงถึงประสบการณ์ในสองช่วงวัยที่ห่างกัน คือ ‘วัยเด็ก’ และ ‘วัยผู้ใหญ่’ แตกต่างกันตามบริบทและสภาพแวดล้อมของย่านแห่งนี้
โดยมีการใช้โต๊ะนักเรียนเปรียบเทียบการเรียนเป็นบนโต๊ะเบื้องหน้า การเล่นก็คือ ‘ใต้โต๊ะ’ นักเรียน เพราะนอกจากการเรียนแล้ว ชีวิตช่วงนั้นก็ยังมีการเล่นทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งก็อาจจะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงดวง การลุ้น หรือการคำนวณความน่าจะเป็นวนอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเกมกระดาษ ดินสอสุ่มเลข ลูกเต๋ายางลบ เซียมซี ไม้หมุน สุ่มไข่ สอยดาว กาชาปอง นั่นเอง
ห้องที่สามเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากศิลปินที่สนใจและตั้งคำถามธรรมะปรัชญาและสิ่งรอบตัวที่มากระตุ้นจิตใจจากการสังเกตภายในและภายนอก งานส่วนใหญ่จะเป็นประติมากรรมขนาดย่อมและภาพวาด จนได้ออกมาเป็น ‘Buddhaandz’ งานปั้นที่ได้รวบรวมปรางค์พระจากวัดในย่านมาต่อเติมส่วนที่ขาด เพื่อสร้างงานศิลปะที่เข้ากับจิตวิญญาณของย่านเมืองเก่าอย่างนางเลิ้ง
ห้องที่สี่เป็นการนำเสนอนางเลิ้งผ่านภาพถ่ายจาก ‘Sony x Photographers’ ที่ผสมผสานกับงานแฟชั่นและการสร้างสรรค์ที่หลากหลายรูปแบบ สะท้อนมุมมองของช่างภาพจาก Sony ที่จะช่วยให้ย่านมีชีวิตชีวามากขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Diverse + City : เมืองหลากหลาย’
นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายสนามม้านางเลิ้งในช่วงระยะเวลาต่างๆ เพื่อให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในย่านผ่านการแสดงภาพผลงานบน TV Sony Bravia อีกด้วย
ห้องสุดท้ายพาเราไปพบกับความสวยงามของดอกไม้ที่เชื่อมโยงกับ ‘ละครชาตรี’ ที่อยู่คู่กับชุมชนนางเลิ้งมากว่าร้อยปี ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยภายในห้องถูกจัดในรูปแบบ 4 แท่น 4 มุมห้อง พร้อมโต๊ะตรงกลางเพื่อให้เห็นภาพการจัดเวทีการแสดงในสมัยโบราณ
โดยโต๊ะกลางนั้นจะมีดอกไม้ที่มีรูปทรงที่แสดงให้เห็นถึงการร่ายรำ ความอ่อนช้อยของท่วงท่า และสีสันที่มักพบเห็นจากการแต่งกายของตัวละคร ได้แก่ สีเขียว สีแดง และสีเงินจากเครื่องประดับ ส่วนดอกไม้บนแท่นที่จัดวางไว้ในแต่ละมุมห้องเปรียบเสมือนตัวแทนของทำนองที่ใช้ในการขับร้อง ประกอบด้วย 4 ทำนอง ได้แก่ ทำนองร่าย ทำนองโทน ทำนองกำพลัด และทำนองครวญโทน
ใครกำลังมองหากิจกรรมสำหรับสุดสัปดาห์นี้สามารถไปค้นหาตัวตนและสำรวจย่านนางเลิ้งกับนิทรรศการ Framing Spaces : เรา-เล่า-นางเลิ้ง ได้ตั้งแต่วันนี้ – 29 ตุลาคม 2566 ที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ย่านนางเลิ้ง (bit.ly/3rLD9PQ)
นอกจากนี้ยังมีย่านอื่นๆ อย่างหัวลำโพง บำรุงเมือง ตลาดน้อย และปากคลองตลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Placemaking Week Bangkok 2023 ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งการจัดแสดงผลงานออกแบบด้านพื้นที่ในเมือง, การทดลองทำ Public Space Activation หรือการปรับปรุง-ฟื้นฟู-เปิดใช้งานพื้นที่สาธารณะ, แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่ และกิจกรรมในช่วงวันศุกร์-อาทิตย์อีกด้วย
ติดตามกิจกรรมทั้งหมดของงาน Placemaking Week Bangkok 2023 ได้ที่ bit.ly/3tN0otv