Street canyon pollution คืออะไร - Urban Creature

เมื่อมีโอกาสได้ไปสักที่หนึ่ง ไกลออกไปจากตัวเมืองอันเร่งรีบและมีแต่การแก่งแย่ง ไปยังสถานที่ซึ่งธรรมชาติมีอำนาจปกครองบรรยากาศมากกว่าผู้คน เพื่อหาความเงียบสงบอันแท้จริง ความรู้สึก ณ ตรงนั้นบอกกับเราว่า มันช่างมีค่ามากกว่าอะไรทั้งสิ้น เสียงต่างๆ ที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงลม เสียงภูเขา เสียงทะเล หรือเสียงสัตว์น้อยใหญ่ที่เปล่งออกมาจะมีความหมายเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างบอกไม่ถูก รวมไปถึงอากาศอันบริสุทธิ์ ที่น่าสูดดมให้เต็มปอด เมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพอากาศในเมือง เสียงไซเรน เสียงแตรรถ เสียงเครื่องยนต์ หรือแม้กระทั่งเสียงผู้คนอันที่บางครั้งฟังแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียน รวมไปถึงความเห็นแก่ตัวได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นภาพอย่างชัดเจนในหัวจนเกิดคำถามขึ้นมาว่า

“เราจะเป็นบ้า เพราะเมืองแบบนี้หรือป่าววะ ?”

แน่นอนว่า หลายต่อหลายคนที่กำลังอ่านอยู่ อาจไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดนี้เสียทีเดียว การได้เจอผู้คนอัดแน่นตามรถไฟฟ้าหรือพบเจอผู้คนตามท้องถนนที่กำลังขวักไขว่หาสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” ในรูปแบบต่างๆ นั้น อาจเป็นพลังในการผลักดันตัวเองของใครบางคนก็ได้

“การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่สามารถทำลายตัวตนของคุณได้ หรือไม่ก็สามารถเติมเต็มชีวิตของคุณไปเลย และมันอาจขึ้นอยู่กับโชคชะตา” – หนังสือ ‘Here is New York’ โดย E. B. White

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ปี ค.ศ. 2011 ใน Nature วารสารวิทยาศาสตร์ระดับสากลรายสัปดาห์ยืนยันว่า การใช้ชีวิตในเมืองมีแนวโน้มส่งผลให้เกิดความผิดปกติในเชิงจิตวิทยา ผู้อยู่อาศัยในเมืองมีระดับความวิตกกังวลสูง รวมไปถึงความผิดปกติทางอารมณ์และปัญหาทางจิตเวช เมื่อเปรียบเทียบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่นอกเมืองใหญ่แล้ว ความเสี่ยงของคนเมืองที่จะพัฒนาเป็นโรคจิตเภทก็สูงเป็นสองเท่า

Andreas Meyer-Lindberg หัวหน้าวิจัยได้ทำการทดลองกับอาสาสมัคร 32 คนผ่านวิธีทดลองแบบคณิตศาสตร์ ในขณะที่ทำการทดลองนั้น อาสาสมัครจะถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์เชิงลบ

“เราจะบอกอาสาสมัครว่าพวกเขากำลังทำการทดลองที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน
และจะกระตุ้นอาสาสมัครให้ทดลองเร็วกว่านี้ เพื่อใส่ความรู้สึกล้มเหลวลงไป”

โดยจากการทดลองพบว่า สมองจะแสดงผลเป็น 2 ส่วนเมื่อมีความเครียดทางสังคมที่เร่งรีบและบีบคั้น ความเครียดจากสังคมจะกระตุ้นระบบสมอง 2 ส่วนหลักๆ คือพื้นที่สมองส่วน ‘Amygdala’ หรือที่ถูกเรียกว่า เจ้าถั่วเขียวขี้กลัวซึ่งคอยควบคุมอารมณ์ และ ‘Cingulate Cortex’ ส่วนของสมองที่ช่วยควบคุม Amygdala อีกทอดหนึ่ง ทั้งยังเป็นตัวหลักในการพัฒนาอารมณ์ให้เป็นเชิงลบ ซึ่งสมองสองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นกับผู้ทดลองที่ปัจจุบันอาศัยในเมืองใหญ่ได้ชัดเจนกว่าอาศัยในชนบท หรือสรุปได้ว่า สมองที่เติบโตท่ามกลางเมืองใหญ่จะตอบสนองต่อความเครียดทางสังคมอย่างไม่เป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นผลพ่วงมาจากสภาพแวดล้อมนั่นเอง

ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดโรคจิตเภทสูงขึ้น คือชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วกลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นจิตเภทเหมือนกัน อาจเป็นเพราะกำแพงทางภาษาหรือวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจนเกินกว่าจะปรับตัวทัน ซึ่งเป็นเหตุให้คนที่เปราะบางเกิดความเครียดและป่วยทางใจได้

แน่นอนว่า อีกสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักและเรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่คือ ‘มลพิษทางอากาศ’ ที่ทำให้ความน่าใช้ชีวิตในเมืองนั้นลดน้อยลง หากลองสังเกตให้ดี หลายเมืองรวมถึงกรุงเทพมหานครจะมีบรรดาตึกสูงขนาบอยู่สองข้างทาง และมีถนนหนึ่งเส้นตัดผ่านตรงกลาง ซึ่งเมื่อมองจากมุมไกลจะเป็นลักษณะคล้ายหุบเขาลึก ภาษาอังกฤษมีคำนิยามถนนลักษณะนี้ว่า Street Canyon

ด้วยลักษณะเมืองของ Street Canyon จะส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิ ความเร็วลม และทิศทางของลม และส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพอากาศในเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเมื่อมีลมพัดอากาศผ่านเข้ามาในช่อง Street Canyon จะทำให้อากาศนั้นถูกขังและหมุนเวียนอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นการขัดขวางอากาศบริสุทธิ์ไม่ให้ไปถึงถนนที่เราเดินอยู่ ที่แย่ไปกว่านั้น เมื่ออากาศหมุนวนเวียนอยู่ในถนน ก็จะพัดฝุ่น มลพิษทางรถยนต์ หรือมลพิษต่างๆ ให้ไหลวนอยู่ในนั้น ผู้คนที่เดินอยู่ตามถนนก็จะสูดดมฝุ่นละอองและมลพิษอันเข้มข้นอย่างไม่รู้จบ หรือที่เรียกว่า ‘Street Canyon Pollution’ นั่นเอง

ดังนั้นการดูแลสุขภาพกายของเราถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงถึง สำหรับใครที่รู้สึกว่าการใช้ชีวิตในเมืองจะทำสุขภาพของเราถดถอยลง ก็ควรหาวิธีรับมือกับมันให้ดี สิ่งสำคัญไม่แพ้กันเลยคือสุขภาพจิต ยิ่งสุขภาพจิตดี สมองก็จะมีกำลังในการคิด วิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย และเมืองที่ดีควรบาลานซ์ทั้งสองด้านให้เท่าเทียม

เช่นประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแออัดมากที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่ใช้สอยอันน้อยนิดบวกกับประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงความตึงเครียดในการใช้ชีวิตและการแข่งขันสูงจนน่าตกใจ แต่ทั้งภาครัฐและประชาชนต่างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของชาวฮ่องกง ด้วยการสร้างสวนสาธารณะขึ้นในปี ค.ศ. 1991 เพื่อเป็นสถานที่สีเขียวสำหรับประชาชนชาวฮ่องกงไว้พักกายพักใจด้วยต้นไม้น้อยใหญี่ที่จำลองสภาพแวดล้อมป่าฝนเขตร้อน มีกรงนกขนาดใหญ่ ซึ่งละลานตาด้วยนกกว่า 150 สายพันธุ์ พร้อมด้วยน้ำตก บ่อน้ำ น้ำพุ ภูเขาที่อยู่อีกฟากของสวนและตึกสูงที่อยู่อีกฝั่ง กลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม และช่วยยกระดับและฟื้นฟูจิตใจให้เย็นลงได้อย่างดี

มหานครนิวยอร์คเป็นอีกหนึ่งในเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สองทางข้างถนนมีตึกสูงเสียดฟ้ามากมายนับไม่ถ้วน ผู้คนหลากหลายสัญชาติเข้ามาในนิวยอร์คเพื่อหวังสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้มาพร้อมกับความเครียด ความวิตกกังวล ความยุ่งเหยิงในชีวิตที่มิอาจหลีกเลี่ยง ใจกลางเมืองจึงมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่นามว่า Central Park ตั้งอยู่ในเขต Manhattan ให้คนได้หลบมาพักใจกับต้นไม้สีเขียว นั่งผ่อนคลายกับธารน้ำใส สูดอากาศบริสุทธิ์ รวมถึงจัดกิจกรรมมากมายเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวเมือง

ภาวะเครียดที่สะสมจากเมืองใหญ่ ยังสามารถลดลงได้ด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นสนุกไปกับกิจกรรมต่างๆ เหมือนที่อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์เปิดพื้นที่สาธารณะอย่าง สวน Amsterdamse Bos สะพาน Nescio หรือ Rembrandtpark ให้คนเมืองมาพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นการพายเรือแคนู ปั่นจักรยาน เล่นสเก็ตบอร์ด และเมื่อฤดูหนาวมาเยือน อุณหภูมิลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง แม่น้ำลำคลองหลายสายในเมืองก็กลายเป็นสถานที่สำหรับเล่นไอซ์สเก็ต พร้อมจัดงานเฟสติวัลมากมายสำหรับเติมความสุขให้ชีวิต

สุดท้ายนี้ขอเน้นย้ำอีกครั้งกับเรื่องอากาศบริสุทธิ์ที่ทุกคนควรได้รับ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อทุกระบบในร่างกายและจิตใจ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในเมืองที่มีคุณภาพอากาศยอดแย่ได้ อย่างน้อยก็ควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นกัน และหาเวลาออกหลบไปพึ่งพิงธรรมชาติบ้างก็ดีไม่น้อย


Sources :
academic.oup.com
statnews.com
psmag.com
nature.com
theguardian.com
cracked.com
news.usc.edu
iamsterdam.com

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.