5 ประเทศ ประกาศลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - Urban Creature

จากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization-WMO) ระบุว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

เมื่อโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างร้ายแรง จึงถึงคราวที่มนุษย์ต้องสวมบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ทำหน้าที่ปกป้องโลกใบนี้ เหล่าประเทศผู้นำทั้งหลายจึงจับมือกันประกาศนโยบายสีเขียว พร้อมเปิดจุดยืนที่จะลดปริมาณคาร์บอนฯ สุทธิให้เท่ากับศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050

01 | สเปน : ผู้นำการผลิตพลังงานไฮโดนเจน

“ปลูกป่า”
“ฟื้นฟูลุ่มน้ำ”
“เพิ่มพลังงานสีเขียว”

สเปน (Spain) เป็นประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 51 ของโลก โดยสเปนตั้งเป้าที่จะให้ตนเองเป็นประเทศปลอดคาร์บอนฯ ให้ได้ 90% ภายในปี ค.ศ. 2050 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเมื่อปี ค.ศ. 1990 รวมถึงการปลูกป่าเพิ่มขึ้น 20,000 เฮกตาร์ และการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ 50,000 เฮกตาร์ ในขณะเดียวกันพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นจาก 20% ของพลังงานผสมเป็น 97%

สเปนให้ความสำคัญกับไฮโดรเจนในฐานะหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนของประเทศ เช่น ภายในปี ค.ศ. 2030 สเปนจะสามารถติดตั้งอิเล็กโทรไลต์ไฮโดรเจน จำนวน 4 กิกะวัตต์ และมีการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รวมทั้งออกกฎหมายห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงภายในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในกรุงมาดริด และเมืองบาร์เซโลนาในแคว้นกาตาลุญญา

นอกจากนี้สเปนกำลังปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 69% ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นการรื้อถอนที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก และเมื่อปีที่แล้วสเปนยังเป็นประเทศที่ติดตังกังหันลมบนบกมากที่สุดในทวีปยุโรปอีกด้วย

โดยในอีก 3 ปีข้างหน้า สเปนจะทุ่มเงินกว่า 27,000 ล้านยูโรกับการใช้จ่ายด้านพลังงานสีเขียว ซึ่งเป็นเงินดาวน์ก้อนแรกจากเงินลงทุนทั้งหมด 750,000 ล้านยูโรที่คาดการณ์ไว้เพื่อใช้ในการย้ายออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ ภายในปี ค.ศ. 2050


02 | เกาหลีใต้ : ผู้นำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน

“เพิ่มอาคารพลังงาน 230,000 แห่ง”
“มีรถยนต์ไฟฟ้า 1.13 ล้านคัน”
“ผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 42.7 GW (กิกะวัตต์)”

เกาหลีใต้ (South Korea) ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเจ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นก็ถูกมองว่าตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง

จากการถูกมองว่าเป็นวายร้ายทำลายสภาพภูมิอากาศ เกาหลีใต้ได้พลิกบทบาทตัวเองด้วยการประกาศอย่างแข็งขันว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลงให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2020 และเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วยแผนการ “Green New Deal” ที่จะลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยเริ่มจากที่เกาหลีใต้ได้สร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของโลก มูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาคารถูกออกแบบมาให้ใช้พลังงานหมุนเวียน และจะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แม้แต่น้อย ซึ่งภายในอาคารใช้เทคโนโลยีในการผลิตและประหยัดพลังงานทั้งหมด 66 ชนิด

นอกจากนี้ภายในปี ค.ศ. 2025 เกาหลีตั้งเป้าว่าจะสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 230,000 แห่ง มีรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจนวิ่งบนถนน 1.13 ล้านคัน และผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 42.7 GW (กิกะวัตต์) จากเดิม 12.7 GW (กิกะวัตต์)

ทั้งยังจะอัพเกรดที่อยู่อาศัย อย่างการเคหะของรัฐ โรงเรียนให้เป็นอาคารที่ใช้พลังงานทดแทน รวมไปถึงขยายพื้นที่สีเขียวในเมืองต่างๆ พร้อมจะติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ (Smart Meter) ในอะพาร์ตเมนต์อีก 5 ล้านแห่งทั่วประเทศ เป็นเครื่องมือที่มีคุณสมบัติพิเศษในการบันทึกและอ่านอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้า ให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง

แม้เป้าหมายที่เกาหลีใต้ตั้งไว้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนเป็นกังวลว่าการจะบรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2050 อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะในขณะเดียวกันเกาหลีใต้เองก็กำลังสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 7 แห่ง อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นอันดับ 7 ของโลกอีกด้วย


03 | อุรุกวัย : ผู้นำด้านพลังงานสะอาด

“สนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน”
“ผลิตพลังงานทดแทนใช้เองเกือบ 100%”

เมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศในอเมริกาใต้แห่งนี้เคยเผาน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ และต้องนำเข้าพลังงานจากอาร์เจนตินา แต่ปัจจุบันอุรุกวัยอยู่ในอันดับ 4 ของโลกในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งหากเพิ่มไฟฟ้าพลังน้ำอุรุกวัยจะผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ถึง 97% พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างสวยงาม

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 2008 – 2015 ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี อุรุกวัยได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินจากรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงโดยสัญญาว่าจะให้อัตราภาษีฟีดอินแบบคงที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จึงทำให้เม็ดเงินกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ทำให้อุรุกวัยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงาน รวมถึงแก้ไขปัญหาภัยแล้งและความยากจนภายในประเทศได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น อุรุกวัยได้ร่วมมือกับบราซิลเปิด สร้างฟาร์มกังหันลมนิวตราล กัมโปส (Neutral Campos) ที่บริเวณชายแดนรอยต่อของสองประเทศ ซึ่งถือเป็นฟาร์มกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 583 MW (เมกะวัตต์) 

ในปี ค.ศ. 2014 กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประกาศให้อุรุกวัยเป็นประเทศกลุ่ม “ผู้นำด้านพลังงานสะอาด (Green Energy Leaders)” เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำเทรนด์ในการลงทุนเพื่อพลังงานทดแทน


04 | คอสตาริกา : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน

“สนับสนุนการใช้รถเครื่องยนต์ไฟฟ้า”
“ขยายพื้นที่ป่า 55%”
“แบนถ่านหินและพลาสติก”

“คอสตาริกา” ประเทศที่มีธงชาติคล้ายไทยแต่อยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง นอกจากเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดในโลกแล้ว ยังเคยถูกประกาศให้เป็นประเทศที่มีความเขียวชอุ่ม หรือมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก

คอสตาริกาเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 โดยไฟฟ้าเกือบทั้งหมดในประเทศได้มาจากพลังงานน้ำ 78% พลังงานลม 10% พลังงานความร้อนจากภูเขาไฟ 10% และอีกประมาณ 1% มาจากพลังงานมวลชีวภาพและพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากขึ้นควบคู่ไปการรักษ์โลก และยังประกาศว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2021 

นอกจากนี้คอสตาริกายังมีสร้างความท้าทายครั้งใหม่ โดยประกาศว่าในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้จะยกเลิกพลาสติกแบบใช้แล้วทั้งหมด โดยจะเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้หรือสามารถรีไซเคิลได้ 100% และจะปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ทันสมัย ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะปัจจุบันการขนส่งในคอสตาริกาปล่อยมลพิษสู่อากาศถึง 40% ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณ 70% ของรถประจำทาง และ 25% รถยนต์ภายในเมืองจะต้องขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า

แผนดังกล่าวยังมีการเรียกร้องให้ทำการปลูกป่าเพิ่ม 55% เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 คอสตาริกามีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าต่อบุคคลสูงสุดในโลก โดยมีการคาดการณ์ว่า คอสตาริกา จะกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการมลภาวะจากพลาสติกและพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจรในอีกไม่ช้า


05 | เคนยา : ผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์

“สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ”
“ปชช. ทั้งหมดเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์”

“เคนยา” เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ทั้งยังเป็นอันดับ 1 ของทวีปแอฟริกาและอันดับ 9 ของโลกด้านการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยปัจจุบันเคนยาใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 93% เพื่อผลิตไฟฟ้า

เคนยามีทรัพยากรหมุนเวียนจำนวนมาก นั่นหมายความว่ามีศักยภาพมากพอที่จะหลีกเลี่ยงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเมื่อเดือนที่แล้วธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกาได้ประกาศว่า “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพขนาด 105 MWe ได้แล้วเสร็จเรียบร้อย”

อีกทั้งมีแผนจะขยายระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มจากเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออกนั่นคือ “โรงงาน Garissa” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนมูลค่า 128.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแผงเซลล์แสงอาทิตย์มากกว่า 200,000 แผง สามารถดูดซับพลังงานจากแสงแดดในแต่ละวัน ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้จะทำให้ประชาชนของเคนยามีไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี ค.ศ 2017 เป็น 75% ในปัจจุบัน และภายในปี ค.ศ. 2022 เคนยาตั้งเป้าว่าประชาชนทุกคนจะต้องเข้าถึงระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้


Sources :

TheGuardian | https://bit.ly/3qiTLIZ
Reporters | https://reut.rs/3lqOMSU
Royal Thai Embassy | https://bit.ly/3fZjjWQ
TheGuardian | https://bit.ly/3qiTLIZ
TheGuardian | https://bit.ly/3okzIIv
VoiceTV | https://bit.ly/2I2wUQJ
TheGuardian | https://bit.ly/3qiTLIZ
Creative Economy Agency | https://bit.ly/3qkUwkN
iEnergyGuru | https://bit.ly/3qj52Jv
VoiceTV | https://bit.ly/2VwZaOA
TheGuardian | https://bit.ly/3qiTLIZ
TheGuardian | https://bit.ly/36yTvO7
Dailynews | https://bit.ly/3qmwOVl
MRGonline | https://bit.ly/2I32Kg3
TheGuardian | https://bit.ly/3qiTLIZ
Xinhuathai | https://bit.ly/37rYO1f

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.