‘เอสโตเนีย’ สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก - Urban Creature

เพื่อขจัดความยากจน ‘เอสโตเนีย’ จึงใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศ จนล่าสุดเอสโตเนียกลายเป็น ‘สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก’ และเมืองหลวงอย่าง ‘ทาลลินน์’ ยังได้รับเลือกให้เป็น‘ชุมชนอัจฉริยะแห่งปี 2020’ ด้วย

คอลัมน์ City in Focus คราวนี้ เราจึงพาทุกคนไปท่องดินแดนสุดคลาสสิกแห่งทวีปยุโรปเหนือ ว่ากว่าจะมาเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีได้ในปัจจุบันเขามีวิธีการอย่างไร

จุดเริ่มต้นการพัฒนา

เอสโตเนีย (Estonia) เป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดของทวีปยุโรป ดินแดนแห่งนี้ในอดีตเคยถูกครอบครองโดยหลายกลุ่มชาติมหาอำนาจ ทั้งสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนี ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นอิสระใน ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

หลังจากแยกตัวออกมา เอสโตเนียก็ได้ทำการเลือกตั้งและสร้างรัฐบาลของตัวเอง ซึ่งปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเทศมณฑลจำนวน 15 เทศมณฑล โดยมีเมืองหลวงชื่อว่า ‘ทาลลินน์’

ทั้งนี้ เอสโตเนียมีประชากรราวๆ 1.3 ล้านคน และมีการเก็บภาษีแบบคงที่ ซึ่งหมายความว่าคนเอสโตเนียทุกคนจะถูกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อปีในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ จากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรประมาณ 741,741 บาทต่อปี

การใช้ ‘เทคโนโลยี’ พัฒนาประเทศ

ในอดีตเอสโตเนียเคยประสบปัญหาความไม่แน่นอนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเพราะประเทศเพิ่งได้รับเอกราช แต่เมื่อมีรัฐบาลเป็นของตัวเอง เอสโตเนียจึงเริ่มเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เอสโตเนียโดดเด่นกว่าใครคือ รัฐบาลสมัยนั้นได้มีการปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัลให้กับประชาชน ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ผ่านหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ เพราะผู้นำเขามองว่า ในอนาคตทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับประเทศได้ จนเมื่อ ค.ศ. 2000 เอสโตเนียประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นประเทศแรกของโลก

ดูเหมือนว่าแนวทางการพัฒนานี้จะได้ผลดีเสียด้วย เพราะนอกจากเอสโตเนียจะกลายเป็น ‘สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก’ ล่าสุดเมืองหลวงอย่างทาลลินน์ยังได้รับเลือกให้เป็น ‘ชุมชนอัจฉริยะแห่งปี 2020’

โดยเอสโตเนียใช้ระบบ ‘รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์’ (e-Government) คือการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในงานบริการของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณได้มหาศาล

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเริ่มแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนทีละนิด ตั้งแต่ใช้ ‘Digital ID’ ระบบยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัลที่สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคารแบบออนไลน์ ยื่นจดทะเบียนบริษัท หรือใช้ ‘e-Tax’ ให้ประชาชนยื่นภาษีออนไลน์ได้เพียง 3 – 5 นาที

นอกจากนี้ ชาวเอสโตเนียยังใช้ระบบ ‘e-Voting’ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบออนไลน์ รวมถึงใช้ ‘X-Road’ ให้ภาครัฐและเอกชนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้โดยไม่ต้องกลัวข้อมูลรั่วไหล

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลเอสโตเนียยังเลือกใช้ ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) เทคโนโลยีเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดในโลก เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าข้อมูลทั้งหมดจะคงอยู่แบบมั่นคง อีกทั้งประชาชนยังได้รับสิทธิ์จากรัฐเข้าไปตรวจสอบในระบบว่ามีเจ้าหน้าที่คนไหนเข้ามาดูข้อมูลของเราบ้างหรือไม่ และหากพบความผิดปกติเราก็สามารถแจ้งให้มีการตรวจสอบได้

เครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

รัฐบาลเอสโตเนียกล่าวว่า หากต้องการให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จ โครงสร้างพื้นฐานอย่างเครือข่ายการขนส่งสาธารณะต้องดีและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเอสโตเนียจึงประกาศให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ฟรีทั่วประเทศ พร้อมทั้งวางแผนที่จะใช้งานระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticketing) ในการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างเอสโตเนียและฟินแลนด์ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศเริ่มที่จะใช้ระบบขนส่งและการจราจรอัจฉริยะ (Intelligent transportation system) นวัตกรรมใหม่ที่จะมาช่วยบริหารจัดการระบบคมนาคม การขนส่ง และจราจร ให้ดียิ่งขึ้น 

ในขณะที่รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car หรือ Self-driving Car) ก็ได้รับอนุญาตให้ขับขี่บนถนนสาธารณะในเอสโตเนียตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ด้วย

ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำเก็บข้อมูลผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน เอสโตเนียก็ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ เพื่อรับรองความปลอดภัยของข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน

เช่น ทุกคนที่ไปพบแพทย์จะมี ‘e-Health’ บันทึกออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แถมด้วยระบบจ่ายยาแบบออนไลน์ ซึ่งข้อมูลสุขภาพของประชาชนทั้งหมดจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงได้โดยบุคคลที่ได้รับอนุญาต

หรือในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินก็มีระบบ ‘e-Ambulanc’ ที่สามารถตรวจและจับตำแหน่งการโทรของเรา เพื่อส่งรถพยาบาลมาภายใน 30 วินาที

ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นวันสองวัน แต่มันเกิดจากการที่ผู้นำประเทศมองเห็นปัญหาและกระหายที่จะขจัดความยากจนของคนในประเทศ ด้วยการสร้างกรอบการพัฒนาโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาขับเคลื่อน ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาก็เป็นบทพิสูจน์ว่าเอสโตเนียเดินมาถูกทางแล้ว


Sources :
e-Estonia | bit.ly/3mU8Uht, bit.ly/2JwJRT5, bit.ly/3exmt3j
EGA | bit.ly/38gMKlp
MGR Online | bit.ly/36dMTDq
Tallinn | bit.ly/3k1pb2b
TCDC | bit.ly/3n0K13s
TCDC Material Database | bit.ly/3oWCBAl
Wikipedia | bit.ly/38iDOfw
Work in Estonia | bit.ly/2U5unr7

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.