ย่านไหนในกรุงเทพฯ เดินได้เดินดีที่สุด - Urban Creature

“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”

คำขวัญของกรุงเทพฯ จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีโอกาสเข้าถึงความเจริญและการบริการของขนส่งสาธารณะได้มากกว่าใครในประเทศนี้ แต่เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าขนาดเราอยู่ในเมืองหลวงแท้ๆ ทำไมถึงเดินยากเดินเย็นขนาดนี้ ทั้งรถราที่วิ่งกันขวักไขว่ ทางเดินเท้ากลายเป็นที่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ จะไปขึ้นรถสาธารณะทั้งทีก็ไกลแสนไกล แถมยังมาบ้างไม่มาบ้าง ชาวกรุงเทพฯ เราใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความวุ่นวายเหล่านี้มาตลอด


แต่รู้หรือไม่ การเดินเท้าถือเป็นการเดินทางที่สมบูรณ์แบบที่สุด โดยความหมายของ ‘เมืองเดินได้’ คือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดินร่วมกับขี่จักรยานและระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย จากการนิยามของ GoodwalkThailand เพราะเมื่อเมืองที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเดินเท้า และคนในเมืองใช้การเดินเท้าเป็นหลักในการสัญจร จะช่วยให้การเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นไปได้ง่าย มากไปกว่านั้นการเดินทำให้สุขภาพของคนในเมืองดีขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมในแง่ของเศรษฐกิจด้วย

เราจึงพามาทำความรู้จักกับ GoodWalk.org เครื่องมือที่บอกประสิทธิภาพการเดินของพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย ‘GoodWalk Score’ เมื่อการเดินถูกแปรเปลี่ยนเป็นตัวเลข ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เขตบางรักของเรามีคะแนนสูงสุดในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ที่ 59 คะแนน อยู่ในเกณฑ์ปานกลางเท่านั้น และคะแนนต่ำที่สุด ได้แก่ เขตหนองจอก ซึ่งได้คะแนนไปเพียง 19 คะแนน อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำที่สุดและไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินเลย โดยลำดับของคะแนน GoodWalk Score ในช่วงอื่นๆ มีความหมายแบ่งตามช่วงคะแนนต่างๆ ดังนี้


0 – 15 ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดิน
16 – 32 เข้าถึงด้วยการเดินได้ลำบาก
33 – 48 เข้าถึงด้วยการเดินได้เล็กน้อย
49 – 65 เข้าถึงด้วยการเดินได้ปานกลาง
66 – 100 เข้าถึงด้วยการเดินได้ดี


จากระดับคะแนนที่เห็นกันบอกได้ถึงศักยภาพการเดินของพื้นที่นั้นๆ คำนวณจากสถานที่ดึงดูดการเดิน (Point of Attraction) ซึ่งหากมีสถานที่ดึงดูดการเดินจำนวนมากภายในระยะเดินเท้า คะแนนความเดินได้ของจุดหรือพื้นที่นั้นๆ จะมีค่าสูงกว่าพื้นที่ที่มีสถานที่ดึงดูดการเดินน้อยกว่า โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลักๆ ดังนี้


1. แหล่งงาน
2. สถานศึกษา
3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย
4. พื้นที่นันทนาการ
5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม
6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ


ซึ่งจากคะแนน GoodWalk Score ทำให้เห็นว่า กรุงเทพฯ จังหวัดที่หลายคนคิดว่าเจริญแล้วยังได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์การเดินได้แค่ระดับปานกลางเท่านั้นเอง การเป็นเมืองที่ดีจริงๆ นั้นปัจจัยรอบด้านที่ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าแค่มีทางเท้าที่ดี เพราะหากในแต่ละพื้นที่สามารถจัดการพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ไม่ว่าพื้นที่ของเขตต่างๆ จะเล็กหรือใหญ่ การเดินเท้าในเมืองจะไม่ใช่เรื่องยาก รถยนต์ส่วนตัวที่ปัจจุบันกลายเป็นไอเท็มหลักของคนเมืองก็จะจำเป็นน้อยลงไป


Source : http://www.goodwalk.org

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.