เปิดมุมมองซีรีส์ Y ในประเทศจีน - Urban Creature

ตอนนี้พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ไทยเราเป็นประเทศส่งออกคู่จิ้น โดยเฉพาะคู่จิ้นจาก ‘ซีรีส์วาย’ ที่โด่งดังข้ามน้ำข้ามทะเลไปทั่วโลก ฉากชวนฝันและภาพอันแสนหอมหวานจากซีรีส์แนวชาย-ชาย เป็นกระแสที่มาแรงไม่แพ้ละครหลังข่าว ทำเอาฐานแฟนคลับใหญ่อย่าง ‘ประเทศจีน’ ถึงขนาดมุด VPN มาตามฟินคู่จิ้นของบ้านเราไม่แพ้คนไทย

หากมองกระแส Y ในจีนเองก็เรียกได้ว่าทำเม็ดเงินให้ประเทศไปไม่น้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจและดูเหมือนจะย้อนแย้งคือ รัฐจีนเองยังคงพยายามกวาดไล่ให้หายไป ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ หนัง การ์ตูน นิยาย ก็ต้องถูกคุมเข้มและแบนไปตามๆ กัน แม้สื่อแนวนี้จะได้รับความนิยมจากสาววายในประเทศก็ตาม

Yaoi : picuki.com

Y วัฒนธรรมจิ้นชาย-ชาย มาจากไหน

วัฒนธรรมวาย (Y) มีต้นกำเนิดมาจากคำภาษาญี่ปุ่นว่า Yaoi (ยาโออิ) ซึ่งจากงานวิจัยของ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายว่า สิ่งนี้พัฒนามาจากนิยาย shōnen-ai (โชเน็นไอ) หรือเรื่องราวของชายรักชายที่ปรากฏในการ์ตูนผู้หญิง ตั้งแต่ยุค 1970 และพัฒนามาเป็นนิยายแนว Boy’s Love ที่เล่าถึงความสัมพันธ์แบบชายรักชายเน้นๆ

Danmei Novel : kanojo.pixnet.net

พอมาช่วงยุค 90 อนิเมะเริ่มเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ สาวจีนจะเรียกนิยายแนวชายจิ้นชายว่า ตันเหม่ย โดยนิยายวาย เรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์ในจีนคือ Danmei Season ในปี 1999 จากนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามา จึงเกิดคอมมูนิตี้ออนไลน์ของสาววายจีนขึ้นเยอะมาก จนตอนนี้จีนมีสื่อบันเทิงแนววาย ทั้งนิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน และซีรีส์ที่ฮิตอยู่หลายเรื่อง

ซึ่งพล็อตมีตั้งแต่เลเวลจับมือใสๆ กอดกันแบบอบอุ่น ไปจนถึงขั้นสมจริงจนต้องอ้าปากค้าง ซึ่งถ้ามองในความเป็นจริง สื่อแนวนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับละครที่มีนักแสดงนำเป็นชาย-หญิง และเป็นความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่งที่ชวนให้แฟนๆ ร่วมลุ้นไปกับเรื่องราวเช่นเดียวกับซีรีส์ นิยาย หรือภาพยนตร์ทั่วไป

Me & Mr X 1: Us Against The World

ตลาด Y ฮิต แต่ยังติดเรื่องวัฒนธรรม

แม้กระแสวายในจีนจะมาแรงขนาดไหน ก็ยังถูกปิดกั้นจากรัฐ  สาววายบางกลุ่มต้องเสพสื่ออย่างหลบซ่อน การจะบอกว่าตัวเองมีรสนิยมอย่างไรอาจทำให้ไม่ได้การยอมรับจากสังคม เพราะสังคมจีนแผ่นดินใหญ่ยึดถือแนวคิดขงจื๊อ ที่ให้ยกให้สถาบันครอบครัวสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งการที่มีความหลากหลายทางเพศ หร’อรักเพศเดียวกันอาจมีผลต่อจิตใจของคนญาติผู้ใหญ่และครอบครัวในมุมมองของคนจีนสมัยก่อน

สำหรับการแบนซีรีส์วาย จีนยึดกฎเหล็กที่บังคับใช้กับสื่อที่ออกฉายในทีวีสาธารณะมานานแล้ว โดย 3 ประเด็นต้องห้าม คือ

  1. ภูตผีและเรื่องเหนือธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าคอนเทนต์เหล่านี้ทำให้ประชาชนงมงายจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ซึ่งมาจากครั้งอดีตสมัยราชวงศ์ชิง ที่ว่ากันว่าบ้านเมืองล้าหลังด้วยประเพณีอันคร่ำครึก่อนจะถูก เหมา เจ๋อตุง มาปฏิวัติความเชื่อเหล่านี้
  2. ความรุนแรงและการกระทำผิดกฎหมายโดยเยาวชน เป็นสิ่งที่รัฐจีนสอดส่องเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าคอนเทนต์เหล่านี้อาจปุปั่นยุยงให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ
  3. รักร่วมเพศ ที่ถูกปลูกฝังว่าเป็นเรื่องต้องห้ามและผิดศีลธรรม แม้ว่าในปี 2001 จีนจะถอดถอนพฤติกรรมรักร่วมเพศออกจากเอกสารอาการจิตเภทแล้ว แต่เหล่านี้ยังคงฝังอยู่ในความคิดของคนจีนรุ่นเก่าอยู่ อีกทั้งรัฐจีนยังคงแบนคอนเทนต์แนวรักร่วมเพศที่ออกฉายบนทีวีสาธารณะ ทำให้ซีรีส์หลายเรื่องเลือกที่จะไปลงในช่องทางออนไลน์แทน
Addicted

มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าจีนยังคงไม่เปิดรับความหลากหลายตรงนี้ อย่างภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name ที่คว้ารางวัลมาหลายเวที ก็ถูกสั่งห้ามฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง หรืออย่างซีรีส์เรื่อง Addicted ก็ถูกแบนกลางคันใน 3 ตอนสุดท้าย แม้จะให้ฉายในช่องทางออนไลน์ต่อได้ แต่รัฐก็สั่งตัดบางฉากและเซ็นเซอร์ซีนที่สาววายรอคอยออกไปเกือบหมด

เคสที่หนักสุด เห็นจะเป็นประเด็นในปี 2017 ที่ศาลมณฑลอานฮุยตัดสินจำคุกนักเขียนหญิงนามปากกาเทียนอี้ เป็นเวลา 10 ปี เพราะเธอแต่งนิยายเรื่อง Occupation ออกขาย โดยตำรวจบอกว่า นิยายเรื่องนี้มีพฤติกรรมอนาจารทางเพศระหว่างผู้ชาย มีความรุนแรง การละเมิดสิทธิ์ และการทำให้อับอาย

รักแห่งสยาม : Sahamongkolfilm International Co.,Ltd

Y ไทย ครองใจแม่จีน

ด้วยข้อจำกัดในการเสพสื่อวาย ทำให้แม่จีนหันมาลิ้มรสชาติที่ไทยแทน ซึ่งดูจะติดอกติดใจจนเรียกได้ว่า บ้านเราก็เป็นตัวท็อปของอุตสาหกรรมนี้เหมือนกัน

ในยุคของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ข้อจำกัดในการใช้อินเทอร์เน็ตยังมีไม่มาก คนจีนยังไม่ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนเวลาใช้งานเว็บบอร์ดต่างๆ ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม คือหนังไทยเรื่องแรกที่ครองใจแม่จีนจนถึงขนาดทำซับจีนขึ้นมา

พอมาในยุค สี จิ้นผิง การเซ็นเซอร์บนอินเทอร์เน็ตโหดขึ้น สื่อไหนที่ชักจูงให้คนไปในทิศทางที่ไม่ดีในมุมมองของรัฐก็จะถูกแบนทันที แม้การแบนจะเข้มข้นแค่ไหน สื่อวายในจีนก็ยังคงมีคอนเทนต์ออกมาให้แฟนทั่วโลกได้ติดตามกันอยู่เสมอ

The Untamed

อย่างกระแสของซีรีส์เรื่อง The Untamed หรือ ปรมาจารย์ลัทธิมาร ที่มาแรงสวนทางกับการเซ็นเซอร์ของจีน เพราะได้ดัดแปลงบางส่วนจากเดิมที่เป็นนิยายวาย ให้เป็นซีรีส์ที่เล่าถึงมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชาย และแม้จะปรับเรื่องราวแล้ว แต่ก็ทำให้สาววายจิ้นและฟินไปตามๆ กัน จนถึงขึ้นมาจัดแฟนมีตติ้งในไทย และมีฟิกเกอร์ออกมาให้แฟนคลับได้ซื้อสะสมกันอีกด้วย

นอกจากนี้ซีรีส์วายไทยหลายเรื่องก็เข้าไปครองใจแม่จีนได้สำเร็จ โดยผู้ผลิตซีรีส์ของไทยใช้วิธีการส่งออกคู่จิ้นแทนการส่งออกผลงาน เพราะรัฐจีนยังคงไล่กวาดล้างสื่อแนวนี้อยู่ ซึ่ง Love Sick The Series เป็นซีรีส์วายไทยเรื่องแรกที่ตีตลาดจีนสำเร็จ ทำให้หลังจากนั้น ไม่ว่าจะซีรีส์กี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็ได้รับความนิยมจากแม่จีนเรื่อยมา

Love Sick The Series

อย่าง SOTUS The Series ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของพี่ว้ากตัวร้ายกับน้องปีหนึ่ง ก็โดนใจแม่จีนถึงขึ้นจัดแฟนมีตติ้งหลายรอบ และต้องใช้บอดี้การ์ดหลายชีวิตเวลาออกงานที่จีนแต่ละครั้ง ล่าสุดซีรีส์เรื่อง เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ที่แม้ว่าจะออนแอร์ในช่วง COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงที่นักแสดงไม่สามารถออกอีเวนต์ใดๆ ได้เลย แต่กระแสก็ยังเปรี้ยงปร้างจนเกิดเป็นดราม่าระหว่างประเทศ

SOTUS The Series
เพราะเราคู่กัน 2gether The Series

เหตุผลที่ทำให้แฟนจีนชอบใจซีรีส์วายของไทย หลักๆ คือเรื่องราวเหล่านี้ไม่สามารถพบเจอได้ในวัฒนธรรมจีน เช่น การเล่าเรื่องเด็กผู้ชายหน้าตาดีวัยมัธยม หรือระบบรุ่นพี่รุ่นน้องในรั้วมหาวิทยาลัยที่แสวงหาตัวตนและความรัก

แฟนจีนก็จะรู้สึกว่า การได้เสพสื่อของไทยเหมือนได้หลุดออกจากสิ่งที่รัฐอยากให้เขาเป็น และสิ่งที่ทำให้คอนเทนต์แนววายไทยก้าวไกลไประดับโลก ส่วนหนึ่งมาจากกฎการเซ็นเซอร์หรือการตรวจสอบโดยรัฐบาลของเราไม่ได้เข้มข้นเท่าประเทศอื่น ตรงนี้จะเรียกว่าเป็นข้อได้เปรียบก็คงไม่ผิดอะไร

The Shanghai Pride opening party at The Pearl in 2015.

แน่นอนว่าการแบนซีรีส์วายที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ชายรักชาย ยังสะท้อนไปถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศในจีน โดยตอนนี้เริ่มพอมีให้เห็นบ้าง อย่างที่เซี่ยงไฮ้มีบาร์ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่ม LGBTQ ขนาดใหญ่ หรืออย่างในปี 1997 จีนได้ถอดการกำหนดโทษแก่ผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศออกจากประมวลกฎหมายอาญา นับว่าเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าจีนนั้นเริ่มอ้าแขนรับความเป็นสากล และไม่มีกฎใดๆ มาบอกว่า การมีความหลากหลายทางเพศในจีนเป็นสิ่งที่ผิด 

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้นตรงกันข้าม คนจีนบางส่วนเลือกที่จะเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์มากกว่าชีวิตจริงเพื่อเลี่ยงการสอดส่องของรัฐ บ้างก็เลือกที่จะออกไปใช้ชีวิตประเทศอื่น อย่างประเทศไทย ที่คนจีนมองว่ามีความเสรีเรื่องการแสดงออกทางเพศมากกว่า และนี่ก็เป็นสิ่งที่จีนยังต้องเผชิญต่อไป เพราะไม่ว่าอย่างไรรัฐก็ยังคงปิดกั้นสื่อเหล่านี้ แม้ตลาดภาพยนตร์และซีรีส์วายจะเติบโตและทำรายได้อย่างมหาศาลก็ตาม


SOURCE

นวนิยายยาโออิของไทย: การศึกษาเชิงวิเคราะห์ โดย นัทธนัย ประสานนาม
ศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The People
ส่องสื่อ
โพสต์ทูเดย์
Workpoint News
Voice TV
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.