คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้งเมื่อไรยังไม่รู้แน่ชัด แต่ระหว่างนี้เราอยากชวนอ่านนโยบายจากผู้สมัครเพื่อหาตัวเลขในใจกันก่อน
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา งาน “ชัชชาติ อาสา ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ” ณ มิวเซียมสยาม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในผู้สมัครในปีนี้ ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ หลังใช้เวลากว่า 2 ปี ลงพื้นที่สำรวจปัญหา รับฟังความต้องการชาวกรุงเทพฯ หารือผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคม
ภายในงาน “ชัชชาติ อาสา ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ” จึงมีการเปิดตัว 200 นโยบายหาเสียงภายใต้แนวคิด ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ ที่จะพัฒนาเมือง 9 มิติ เพื่อให้ตอบโจทย์คนกรุงทุกกลุ่ม พร้อมเปิดตัวเครือข่าย “เพื่อนชัชชาติ” เบื้องหลังนโยบาย นำทีมโดย ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ และทีมงานคนรุ่นใหม่
‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ หรือนโยบาย 9 มิติ กรุงเทพฯ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” คือโจทย์หลักที่ใช้ในการออกแบบนโยบาย ทีมเพื่อนชัชชาติจึงเน้นศึกษาดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบาย และดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของกรุงเทพฯ จนนำมาสู่ ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’
เราจะพามาดูว่าจาก 200 นโยบายของ ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ มีไฮไลต์อะไรน่าสนใจ และมีนโยบายไหนที่ถูกใจคนกรุงเทพฯ เป็นพิเศษบ้าง
1. ปลอดภัยดี
– สร้างแผนที่จุดเสี่ยงด้านอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย รู้ก่อนป้องกันได้ ไหวตัวทัน
– จัดตั้งศูนย์สั่งการ เพื่อความชัดเจน คล่องตัว ในการรับมือกับสาธารณภัย
– พนักงาน กทม. เป็นหูเป็นตา ช่วยแจ้งถนนพัง ไฟดับ ทางเท้าทรุด ฯลฯ
– ทุกโครงสร้างพื้นฐานใน กทม. พร้อมใช้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ
– พัฒนาที่พักชั่วคราว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้
2. เดินทางดี
– ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) บริการจราจรทั้งโครงข่ายเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร
– พัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ เพิ่มรถสายหลักและรอง (Trunk and Feeder) ราคาถูก ราคาเดียว และสร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Hub)
– หารือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ รฟม. เพื่อลดค่าแรกเข้า ลดรายจ่ายประชาชน
– พัฒนาจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ในจุดเชื่อมต่อการเดินทาง
– กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม.
3. สุขภาพดี
– เชื่อมโยงประวัติคนไข้ภายในสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อและดูแลรักษาได้ทั่วกรุงเทพฯ
– เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร ในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.)
– หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine
– ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียงสู่ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ เสริมศักยภาพ อสส. สู่ Caregiver คุณภาพ
– เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แขวง 180 ลาน ภายใน 100 วันแรก
4. สร้างสรรค์ดี
– เปลี่ยนศาลาว่าการเดิมสู่พิพิธภัณฑ์เมืองฯ และพื้นที่สาธารณะ
– สร้าง Open Art Map and Calendar ให้ประชาชนปักหมุดกิจกรรมหรือตามเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุง
– ปักหมุดทำฐานข้อมูลรวมพื้นที่ของรัฐและเอกชน ให้ประชาชนเลือกใช้จัดกิจกรรม
– ห้องสมุด กทม. สู่ห้องสมุดดิจิทัล ยืมหนังสือออนไลน์ อ่าน E-book ได้จากทุกที่
5. สิ่งแวดล้อมดี
– เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลานกีฬาให้เดินถึงภายใน 15 นาที
– ตรวจจับรถปล่อยควันดำเชิงรุกจากต้นทาง เช่น สถานีรถโดยสาร และไซต์ก่อสร้าง
– ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดอายุขัย ป้องกันการสูญหายและการปล่อยปละละเลย
– แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งเป้าองค์กรและสร้างพื้นที่เขตต้นแบบ
6. โครงสร้างดี
– เตรียมจุดทิ้งขยะ จุดซักล้างในทุกพื้นที่การค้าแผงลอย
– ลอกท่อ ลอกคูคลอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูง ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมหาพื้นที่รับน้ำธรรมชาติ
7. บริหารจัดการดี
– พัฒนาระบบการขออนุญาตจาก กทม. ให้ประชาชนตรวจสอบและติดตามได้
– จัดสรรงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน
– เปิดให้ประชาชนประเมิน ผอ.เขตและผู้ว่าฯ
8. เรียนดี
– ชีวิตครูกรุงเทพฯ ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มสวัสดิการ และลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี
– ขยายเวลาโรงเรียนให้สอดคล้องกับเวลางานของผู้ปกครอง มีครูเฝ้า มีกิจกรรมสร้างสรรค์จากวิทยากรทั้งในและนอกโรงเรียน
– เพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพ กทม. ให้สอดคล้องกับฝั่งธุรกิจและการค้าขายออนไลน์
9. เศรษฐกิจดี
– ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและจัดหาสถานที่ขาย
– ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 12 เทศกาลตลอดปี
– พัฒนาเศรษฐกิจกลุ่ม Hi-tech เช่น eSports, E-commerce และ Hi-touch เช่น นวด สปา กิจกรรมฝึกจิตใจ
นอกจากไฮไลต์ที่ยกมา ยังมีอีก 200 นโยบาย กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน อัดแน่นอยู่ในเว็บไซต์ www.chadchart.com ซึ่งจัดทำข้อมูลมาอย่างดี กราฟิกเข้าใจง่าย และมีรายละเอียดนโยบายให้อ่านเพิ่มเติม เป็นเว็บไซต์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เราเชื่อว่ารวบรวมข้อมูลและนโยบายเอาไว้ได้ดีที่สุดใน พ.ศ. นี้แล้ว
ทีมเพื่อนชัชชาติยังเปิดรับแนวคิด ข้อเสนอ ความคิดสร้างสรรค์ จากประชาชนอีกด้วย เพราะความเห็นของคุณมีผลกับการเปลี่ยนแปลงเมืองนี้ ใครมีความคิดเห็นต่อนโยบายไหนอย่างไรบ้าง สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นกับทีมงานได้บนเว็บไซต์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
Sources :
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
www.facebook.com/chadchartofficial
www.chadchart.com