WHAT’S UP
ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าในเกม หรือการซื้อสกิน กระแสดิจิทัลแฟชั่นโหมหนัก ต้อนรับการมาถึงของ Metaverse
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแฟชั่นคอลเลกชันล่าสุด ไม่ได้ทำจากเส้นด้ายหรือใช้เทคโนโลยีสิ่งทอ แต่ตัดเย็บขึ้นมาด้วยโปรแกรมและมีวัสดุเป็นพิกเซล เสื้อผ้าดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกมเมอร์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ช้อปปิงเสื้อผ้าในโลกออนไลน์มาหลายปีดีดักแล้ว ในประเทศไทยเราแต่งตัวในโลกเสมือนกันมาตั้งแต่สมัย Ragnarok (หรือเก่ากว่านั้น) นอกจากเกมเต้น Audition ยังเป็นสมรภูมิแฟชั่น ขณะที่ปัจจุบันในอีกซีกโลกการจับจ่ายสกินสำหรับ Fortnite ก็ได้รับความนิยมมาก และคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และจากการประกาศล่าสุดของ Facebook เกี่ยวกับ Metaverse ก็ยิ่งทำให้เสื้อผ้าดิจิทัลน่าจับตามองมากขึ้น Dhanush Shetty ผู้จัดการผลิตภัณฑ์วัย 22 ปี จากซานฟรานซิสโกบอกว่าการซื้อเสื้อผ้าดิจิทัลให้ความรู้สึกแปลกประหลาดในตอนแรก แต่ในที่สุดเขาค้นพบว่ามันง่ายกว่า ราคาถูกกว่า และรู้สึกมีจริยธรรมมากกว่า (จากการไม่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์จำนวนมากเหมือนการผลิตเสื้อผ้าในชีวิตจริง) บริษัทเสื้อผ้าดิจิทัลที่กำลังได้รับความนิยมคือ DressX ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนสิงหาคมเมื่อปีที่ผ่านมา และกำลังวางจำหน่ายทั้งงานออริจินัล รวมถึงการคอลแลบกับศิลปินดิจิทัลอีกมากหน้าหลายตา ลูกค้าของ DressX สามารถเข้าห้องลองเสื้อได้ผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ซึ่งพอตัดสินใจได้ว่าจะซื้อชิ้นไหน ก็จะทำการอัปโหลดรูปภาพของตัวเองไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของ DressX แล้วหลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 วัน ก็จะได้รับภาพตนเองกำลังสวมใส่เสื้อผ้าดังกล่าวที่ทำการตกแต่งโดยมืออาชีพกลับมา และพร้อมสำหรับการโพสต์ในโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม “เป้าหมายของเราคือการมอบตู้เสื้อผ้าดิจิทัลให้กับทุกคน” Natalia Modenova […]
ภาคีSaveบางกลอย ชวนระดมอาหารช่วยคนบางกลอยที่ขาดสารอาหารอย่างหนัก
ชาวหมู่บ้านบางกลอยคือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีบ้านอยู่ใน ‘ใจแผ่นดิน’ แถบจุดศูนย์กลางของป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแต่เดิมทุกคนอาศัยอยู่ที่นั่นมาเป็นเวลาร่วม 100 ปี ก่อนการเป็นอุทยานแห่งชาติ ด้วยวิถีการเกษตรที่มีความเกื้อกูลกันระหว่างคนและป่า แต่ในตอนนี้ชาวบางกลอยกลับถูกรัฐขับไล่ให้ออกจากบ้านที่เคยอยู่กันมาชั่วชีวิต ด้วยการให้เหตุผลว่าคนเหล่านี้บุกรุกพื้นที่ป่า จนต้องย้ายมาอยู่ที่บางกลอยล่าง และบ้านโป่งลึก สถานที่ที่ปลูกพืชไม่ได้ ทำเกษตรกรรมไม่ได้ ทำให้ชาวบางกลอยตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่เคยอยู่ ในขณะที่รัฐตอบโต้ด้วยวิธีการที่แข็งกร้าว และดำเนินคดีกับพี่น้องบางกลอยโดยไม่ใส่ใจมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งแม้ช่วงต้นปี 2564 ชาวบางกลอยจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง แต่จนปัจจุบันจะสิ้นปีแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และแน่นอน ทุกคนยังคงมีชีวิตที่ยากลำบาก เพราะไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีรายได้ ไม่มีอาหาร นำมาสู่การตกงาน และการเข้ามาดิ้นรนในเมืองแต่กลับได้เงินค่าตอบแทนน้อยมาก ที่สำคัญคือภาวะการขาดสารอาหารของคนในชุมชน โดยเฉพาะแม่ลูกอ่อนที่ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน เด็กจึงมีภาวะผอมหัวโต ทำให้สถานการณ์ต่างๆ อยู่ในระดับวิกฤติ และเมื่อมีความป่วยไข้ทั้งจากภาวะขาดสารอาหารหลักร้อยคน และจากการเกิดโรคระบาดตามฤดูกาล แต่พวกเขากลับเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากมากอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่ ภาคี Saveบางกลอย ชวนทุกคนให้มาช่วยระดมอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อสถานการณ์วิกฤติในตอนนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แม้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาลูกโซ่ที่รัฐไม่แก้ให้เหมาะสมสักทีก็ตาม สิ่งที่ชาวหมู่บ้านบางกลอยจำเป็นต้องใช้อย่างมากก็คือ 1. ข้าวสาร 2. อาหารแห้ง จำพวกอาหารทะเลแห้ง ปลาแห้ง และหมูแห้ง เป็นต้น 3. นมผงสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก […]
MOCA กลายเป็นจุดเกิดเหตุ เตรียมไล่ล่าแก๊งโจรกรรมงานศิลป์ กับภาพยนตร์เรื่อง RED NOTICE
มีรายงานว่าพบสิ่งแปลกปลอมหน้าอาคารทรงเหลี่ยมสีขาวนวลตาของ MOCA Bangkok โดยระบุว่ามีเส้นกั้นเขตสีแดงรายล้อมอยู่บริเวณหน้าโซนทางเข้า ราวกับฉากโจรกรรมในภาพยนตร์กำลังหลุดออกมาสู่ชีวิตจริง จนสร้างความสนใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ทุกคนกำลังตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่าสิ่งนี้คือนิทรรศการ หรือเกิดเหตุบางอย่างขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ความฉงนคลี่คลายเมื่อได้เดินเข้าไปสำรวจใกล้ๆ เพราะมี QR CODE ให้สแกนแล้วคำตอบก็ปรากฏขึ้นพร้อมกับข้อความ “เตรียมไล่ล่าแก๊งโจรกรรมงานศิลป์ระดับโลกไปพร้อมกัน!” เฉลยเลยแล้วกันว่าไม่ใช่คดีอาชญากรรมที่ไหน แต่เป็นนิทรรศการจากภาพยนตร์เรื่อง RED NOTICE ที่นำทัพโดยนักแสดงมากฝีมือทั้ง ดเวย์น จอห์นสัน, แกล กาด็อต และไรอัน เรย์โนลส์ กับภาพยนตร์แอ็กชันฟอร์มยักษ์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่ออกหมายแดง (RED NOTICE) หรือหมายจับระดับสูงสุดเพื่อตามล่าอาชญากรระดับพระกาฬ ที่โจรกรรมทรัพย์สินมีค่าอย่างงานศิลปะจากทั่วโลกที่มีมูลค่ามหาศาล จึงเกิดเป็นไอเดียให้ Netflix เลือกให้ พิพิธภัณฑ์ MOCA Bangkok เปรียบเสมือนจุดเกิดเหตุนั่นเอง เรื่องราวโจรกรรมครั้งนี้จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน รับชมพร้อมกันได้วันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ทาง Netflix
‘จำกัดระบบตรวจใบหน้า’ – เฟซบุ๊กปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อผู้ใช้กังวลเรื่องสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคล
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา Meta – บริษัทแม่ของเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กประกาศแผนจำกัดการใช้งานระบบตรวจจับใบหน้าผู้ใช้ (Facial Recognition System) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เฟซบุ๊กจะไม่แท็กใบหน้าผู้ใช้งานในรูปภาพและวิดีโอโดยอัตโนมัติอีกต่อไป รวมถึงจะลบข้อมูลใบหน้าของผู้ใช้เดิมกว่า 1 พันล้านคน Jerome Pesenti รองประธานบริษัทฝ่าย AI ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้คือ “การขยับครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การใช้งานเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า” ซึ่งมีผู้ใช้งานถึงหนึ่งในสามของผู้ใช้ทั้งหมด นอกจากหยุดแท็กใบหน้าอัตโนมัติ และลบข้อมูลใบหน้าผู้ใช้แล้ว เฟซบุ๊กจะยุติระบบสร้างข้อความบรรยายภาพ (Automatic Alt Text System) ที่บริษัทกล่าวว่ามีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้บกพร่องทางการมองเห็น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงการจำกัดขอบเขตเท่านั้น เพราะระบบตรวจจับใบหน้าผู้ใช้ยังถูกใช้งานในบัญชีส่วนตัวอยู่ เช่น เพื่อปลดล็อกบัญชีผู้ใช้ หรือการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมการเงิน รวมทั้งอาจมีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวทางสาธารณะในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊กครั้งนี้จุดประเด็นถกเถียงในสหรัฐอเมริกาว่าขอบเขตของเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าผู้ใช้ควรอยู่ตรงไหน ประเด็นที่ถกเถียงกันต่อมาคือ ความกังวลด้านสิทธิเสรีภาพและการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเทคโนโลยีซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิวในสหรัฐฯ รวมถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นในการใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวัง (Surveillance) ในประเทศจีน การขยับครั้งนี้ของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์หลังการออกมาเปิดเผยของอดีตพนักงานบริษัทว่าเฟซบุ๊กตั้งใจปล่อยผ่าน ‘กิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังและข้อมูลผิดๆ’ ด้าน Luke Stark ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ (University of Western Ontario) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กครั้งนี้ แม้จะมองได้ว่าเป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับตัวบริษัท และไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเบื้องหลังจริงๆ […]
buildbetternow.co นิทรรศการจาก COP26 รวม 17 แนวคิดสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ที่เล่าเรื่องผ่านภาพ เสียง และวิดีโอจากทั่วโลก
นอกจากการแสดงวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมของบรรดาผู้นำกว่า 190 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุม COP26 หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties) ในปีนี้ยังมีนิทรรศการออนไลน์ ‘Build Better Now’ ที่เปิดให้ผู้ชมทางบ้านจากทั่วมุมโลกเข้าชมได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.buildbetternow.co Build Better Now เป็นนิทรรศการออนไลน์แบบ 360 องศาที่จัดแสดงไอเดียและโปรเจกต์ที่ออกแบบเกี่ยวกับ ‘Built Environment’ หรือแนวคิดสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับมือกับปัญหา Climate Change โดยมีแนวคิดว่าการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นตึกสูง อาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะต้องทำให้เกิดความสมดุล 3 ด้าน ได้แก่ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่และส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์จะพบกับโครงการสถาปัตยกรรมต้นแบบจากทั่วโลกกว่า 17 โครงการที่คัดสรรโดย UK Green Building Council (UKGBC) เช่น Favela […]
Tarket แพลตฟอร์มของมือสองที่จะทำให้การซื้อขายของใช้แล้วเป็นเรื่องสนุก
เมื่อปัญหาโลกร้อนกลายเป็นกระแสสังคมที่รังแต่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนทั่วโลกหรือกระทั่งในบ้านเราเองหันมาใส่ใจและร่วมกันรณรงค์ใช้ชีวิตอย่างนึกถึงโลกใบนี้กันมากขึ้น โดยหนึ่งในวิธีที่มาแรงมากๆ คือการลดการซื้อของใหม่แล้วใช้ของมือสอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ภาดา กาญจนภิญพงศ์ กับเพื่อนๆ จึงร่วมกันคิดแพลตฟอร์มส่งต่อของมือสองรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Tarket ซึ่งมีความแตกต่างจากแอปพลิเคชันขายของอื่นๆ ขึ้นมา ความพิเศษคือการเจาะกลุ่มผู้ใช้คนรุ่นใหม่ ทำให้มีการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์วัยรุ่นอย่างฟังก์ชันการปัดแบบแอปฯ เดตติ้ง ชอบ-ไม่ชอบชิ้นไหนก็ปัดใช่ปัดชอบได้ มากไปกว่านั้นตัวแพลตฟอร์มยังให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการแสดงข้อมูลต่างๆ อีกด้วย “ที่ผ่านมา เรายังไม่เคยเจอแพลตฟอร์มขายของมือสองไทยที่สร้างขึ้นมาเพื่อกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ ก็เลยทำให้คิดว่านี่อาจเป็นอุปสรรคในการซื้อ-ขายของมือสองของคนรุ่นเราด้วยหรือเปล่า เราจึงสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาพร้อมกับจุดดึงดูดใหม่ๆ ที่ปกติคนไม่น่าจะเคยเห็นกันในตลาดขายของออนไลน์” ตัวอย่างฟีเจอร์ใน Tarket ที่ภาดากับทีมวางแผนดีไซน์ไว้ มีดังนี้ – ให้อิสระกับคนซื้อในการเสนอราคาที่ชอบ และให้โอกาสกับคนขายให้เลือกราคาที่ใช่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า – มี AI เช็กปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ของสินค้าชิ้นนั้นๆ แล้วเปลี่ยนเป็นแต้มส่วนลดได้ รวมถึงนำเสนอข้อมูลว่าเราช่วยโลกได้ยังไงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น เสื้อที่คุณส่งต่อ ช่วยลดมลพิษเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 10 ต้น – มีความปลอดภัยสูง เพราะทุกคนต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้ นอกจากนี้ภาดายังเสริมถึงมิชชันระยะยาวของเขาอีกว่าต้องการที่จะเห็นคนรุ่นใหม่เปลี่ยนมายด์เซตเกี่ยวกับของมือสอง โดยหวังว่า Tarket จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างค่านิยมในการส่งต่อและใช้ของมือสองให้กลายเป็นเรื่องปกติ สนุก และไม่ว่าใครก็ทำได้เหมือนการซื้อของใหม่ […]
ไม่ต้องโป๊ก็ลงแข่งได้ สหพันธ์แฮนด์บอลนานาชาติยอมเปลี่ยนกฎ ให้นักกีฬาหญิงใส่กางเกงขาสั้นแทนบิกินี
‘บิกินี’ ซึ่งเป็นยูนิฟอร์มของนักกีฬาแฮนด์บอลหญิงได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 หลังจากสหพันธ์แฮนด์บอลยุโรป (EHF) สั่งปรับทีมนักกีฬาแฮนด์บอลหญิงนอร์เวย์เป็นเงิน 1,500 ยูโร (ราว 58,000 บาท) เนื่องจากพวกเธอสวมกางเกงขาสั้นแนบเนื้อแทนบิกินีในการแข่งขันแฮนด์บอลชายหาดชิงแชมป์ยุโรปปี 2021 โดยทาง EHF อ้างว่า พวกเธอ ‘แต่งกายไม่เหมาะสม’ กรณีดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่นักกีฬาหญิงต้องสวมชุดบิกินีระหว่างลงแข่งขัน นอกจากนั้น การลงโทษครั้งนั้นยังถูกตีตราว่าเป็น ‘การแบ่งแยกทางเพศ’ หรือ ‘การเหยียดเพศ’ จนนำไปสู่การเรียกร้องและกดดันให้มีการยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวด้วย โดยในเดือนกันยายน 2021 รัฐมนตรีกีฬาของเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ได้เรียกร้องให้สหพันธ์แฮนด์บอลนานาชาติ (IHF) ทบทวนข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของนักกีฬาหญิงใหม่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ กระแสต่อต้านชุดบิกินีที่ยืดเยื้อส่งผลให้ IHF ตัดสินใจเปลี่ยนระเบียบการแต่งกายสำหรับนักกีฬาในที่สุด โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2021 IHF ได้ออกกฎใหม่ที่ไม่กำหนดให้นักกีฬาหญิงสวมบิกินีระหว่างลงแข่งขัน แต่ระบุว่า นักกีฬาแฮนด์บอลหญิงสามารถสวมใส่ ‘เสื้อกล้ามที่พอดีตัว’ และ ‘กางเกงขาสั้นแนบเนื้อ’ (จากเดิมที่กำหนดให้ใส่เสื้อครอปแขนกุดและกางเกงทรงบิกินี) ส่วนนักกีฬาชายสามารถสวมกางเกงขาสั้นที่ไม่หลวมจนเกินไป แต่กางเกงต้องอยู่เหนือเข่าราว 10 […]
REX เก้าอี้รีไซเคิลจากขยะ ที่ขายคืนได้หลังไม่ใช้งานแล้ว
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยซื้อเก้าอี้สักตัวมาด้วยความคิดว่าจะใช้ไปนานๆ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป เก้าอี้ตัวนั้นอาจหมดความหมาย ถูกทิ้งขว้างกลายเป็นขยะชิ้นโตในบ้าน ครั้นจะนำไปทิ้งก็เสียดาย จะขายต่อก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะยึดมั่นในแนวคิดการใช้โปรดักต์อย่างยั่งยืน Ineke Hans ดีไซเนอร์แห่ง Circuform แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติดัตช์ จึงคิดและออกแบบ REX เก้าอี้รีไซเคิลที่ลูกค้าสามารถนำมาขายคืนหลังใช้งานแล้วเป็นเวลานานได้ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก Hans ต้องการออกแบบเก้าอี้ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผ่านการคิดนวัตกรรมที่ครอบคลุมตั้งแต่จุดกำเนิดไปจนถึงจุดสิ้นสุดของวงจรชีวิตโปรดักต์ เพื่อใช้งานมันให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด REX เป็นเก้าอี้ที่ทำด้วยพลาสติกรีไซเคิลจากอวนจับปลา แปรงสีฟัน ส่วนประกอบเก้าอี้สำนักงาน และขยะอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งแบรนด์จะคืนเงินมัดจำที่รวมในราคาขาย 20 ยูโรให้ลูกค้าเมื่อส่งคืนเก้าอี้หลังไม่ใช้งานแล้ว โดยจะนำมาซ่อมแซมเพื่อใช้งานอีกครั้ง หรือกระทั่งนำมารีไซเคิลเพื่อสร้างเก้าอี้ตัวใหม่ “มันเป็นเก้าอี้ที่จะอยู่ต่อไปอีกนาน แต่ความจริงแล้วผู้คนไม่ได้ใช้งานมันนานเช่นนั้น บางครั้งพวกเขาอยากใช้งานแค่หกเดือน อย่างงานที่จัดขึ้นชั่วคราวหรืออีเวนต์ต่างๆ” Hans อธิบายและเสริมอีกว่าเธออยากเห็นโลกที่บริหารจัดการกับของมือสองอื่นๆ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เก้าอี้ที่เธอออกแบบประกอบด้วยสองส่วนหลัก นั่นคือ ส่วนเบาะนั่งกับขา และพนักพิงแขนที่แยกออกมาโดยสามารถเสียบเข้ากับช่องว่างด้านหลังเบาะ แถมยังเพิ่มที่พักแขนได้ สอดคล้องกับจุดประสงค์ในการเป็นเก้าอี้ที่เหมาะกับทุกคน ขณะเดียวกันตัวบริษัทผู้ผลิตเองก็จัดตั้งสถานีรับคืนเก้าอี้ไว้หลายแห่งทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการคืนโปรดักต์ให้ลูกค้า ไม่ใช่แค่ออกแบบแล้ววาดฝันกระบวนการขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น เรียกว่าคิดมาครบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจริงๆ Source : dezeen | https://bit.ly/3nLGnNd
ประติมากรรมที่เรียกร้องผู้นำใน COP26 ให้เลิกสนใจการเติบโตของเศรษฐกิจ และหันมาเอาจริงเรื่องโลกร้อนเสียที
บ้านสีแดงสดที่ลอยเท้งเต้งเหนือผิวน้ำ และด้านบนมีคนกำลังดึงเชือกที่มีตัวอักษร COP26 คือ ‘Sinking House’ ประติมากรรมจากบริษัทสถาปัตยกรรม Stride Treglown ที่ติดตั้งอยู่บริเวณสะพานพัลต์นีย์ ที่แม่น้ำเอวอน ในเมืองบาธ ประเทศอังกฤษ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากปาฐกถาเรื่อง Our house is on fire ของ Greta Thunberg ในปี 2019 ที่งาน World Economic Forum “เราต้องการให้งานศิลปะชิ้นนี้บอกว่า ‘บ้านของเรา’ กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายมาก อิทธิพลส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้มาจากสถานการณ์น้ำท่วมในยุโรปเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งเราเห็นผู้คนจำนวนมากติดอยู่บนหลังคาบ้าน เป็นภาพที่ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน” Rob Delius หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของ Stride Treglown กล่าวกับ Dezeen สีของ Sinking House ยังสื่อถึงรายงานของ IPCC ที่คาดว่าอีก 20 ปี โลกจะมีอุณหภูมิร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาฯ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสีแดง (Code Red) […]
โบสถ์ในเวลส์จัดงานรำลึกผู้เสียชีวิตโควิด-19 เพื่อส่งต่อความหวังหลังการระบาดใหญ่
5,015,400 คน คือตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกตั้งแต่เริ่มระบาดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเสียชีวิตอย่างกะทันหันทำให้หลายครอบครัวไม่มีเวลาที่จะบอกลาหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้เหมือนการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น และเป็นช่วงเวลาที่เศร้าโศกของผู้คนทั่วโลกที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ โบสถ์ Saint Giles ประจำเขตแพริชในเมืองเร็กซ์แฮม ประเทศเวลส์ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงได้จัด ‘Festival of Angels’ ตกแต่งโบสถ์ด้วยทูตสวรรค์ทำด้วยมือกว่า 6,000 องค์เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเวลส์ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2021 ไปจนถึงช่วงปีใหม่ Revd Dr Jason Bray บาทหลวงของโบสถ์ Saint Giles กล่าวว่า “สำหรับคริสเตียนหลายคน ทูตสวรรค์เป็นตัวแทนของความหวังและแสงสว่าง ตอนนี้คือช่วงเวลาที่เราโผล่ออกมาจากวันที่มืดมนที่สุดของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แล้ว Festival of Angels จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่เราควรจะส่งต่อและแบ่งปันความหวังของคริสเตียนให้กับโลก” การจัดแสดงทูตสวรรค์เหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากทูตสวรรค์ดนตรีสมัยศตวรรษที่ 15 ที่แกะสลักไว้บนหลังคาไม้ของโบสถ์ ซึ่งทูตสวรรค์กว่า 6,000 องค์เหล่านี้เป็นตัวแทนของจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมด 6,150 คน ในเวลส์นับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ จากรายงานล่าสุดของสาธารณสุขของเวลส์ ทูตสวรรค์เหล่านี้เป็นงานทำมือจากกระดาษ […]
นักวิจัยทำฟอนต์ไทยประหยัดพลังงานลดใช้หมึกพิมพ์ 30%
โดยปกติแล้วหน่วยงานราชการในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้ฟอนต์ TH Sarabun ทำงานเสมอมา แต่ติดตรงที่เจ้าฟอนต์ประเภทนี้น่ะเป็นฟอนต์ที่มีขนาดหนาไปสักหน่อย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการต้องใช้หมึกพรินต์ตัวหนังสือซะเยอะ ส่งผลให้ปีหนึ่งๆ บรรดาหน่วยงานต่างๆ ต้องทุ่มเทค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณไปกับการจัดซื้อหมึกสำหรับพิมพ์เอกสารจำนวนมหาศาลกันเลยทีเดียว ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ อาจารย์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ เลยตัดสินใจจับมือกับ ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช และทีมนักวิจัยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. ด้วยโจทย์การแก้ไขปัญหาที่ว่า ทำยังไงให้เราลดการใช้หมึกพิมพ์ให้ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคงความคมชัดของตัวอักษรไว้ให้เหมือนเดิมที่สุดด้วยเหมือนกัน คราวนี้ก็เลยตกผลึก ผุดเป็นไอเดียการดีไซน์ชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน หรือที่เรียกกันว่า Thai Eco font ครั้งนี้ ทีมงานไม่ได้เอาฟอนต์พิสดารหรือแหวกแนวจากที่ไหนมาเป็นเรฟเฟอเรนซ์หรอก แต่เป็นการหยิบเอาสิ่งใกล้ตัวอย่าง TH Sarabun มาพัฒนาและต่อยอด ทำออกมาแล้วนำมาทดสอบว่าประหยัดหมึกพรินต์ได้จริงหรือไม่ ซึ่งหลักการของไอเดียนี้ก็คือการลดขนาดพื้นที่ภายในแต่ละตัวอักษรลง และลดปริมาณ Black Pixel ให้มากด้วยวิธีการประมวลผลภาพถ่าย เมื่อทำกันจริง ทีมวิจัยก็ค้นพบว่า Thai Eco font ให้ผลลัพธ์ด้วยการประหยัดหมึกพรินต์ได้จำนวนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าสนใจมากคือตัวหนังสือยังคงชัดแจ๋วเหมือนเดิม แถมสังเกตเห็นการลดลงของขนาดไม่ได้ ที่ขนาดตัวอักษรสูงสุดถึง 18 pt ซะด้วย […]
ถึงจะเปลี่ยนโฉม แต่อร่อยเหมือนเดิม! Coca-Cola เปิดตัวขวดไร้ฉลากในเกาหลีใต้ช่วยให้ง่ายต่อการรีไซเคิล
Go Green กันให้สุดๆ ไปเลย! เพราะ Coca-Cola ประเทศเกาหลีใต้ เปิดตัว Coca-Cola Contour Label Free หรือเรียกว่า ‘โค้กไร้ฉลาก’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลแบบสิบเต็มสิบ! โดยขวดไร้ฉลากจะผลิตเฉพาะขนาดบรรจุ 24 ขวด (ขวดละ 370 มล.) และจำหน่ายผ่านทางออนไลน์เท่านั้น สำหรับข้อมูลผลิตภัณฑ์ ส่วนผสม รวมถึงบาร์โค้ดจะปรากฏบนแพ็กเกจจิ้ง ทำให้เราจะเห็นความแตกต่างระหว่าง ‘โค้กออริจินัล’ กับ ‘โค้กซีโร่’ จากสีของฝาเท่านั้น ถึงแม้หน้าตาของขวดโค้กจะดูโล้นไปนิด แต่เรื่องรสชาติรับรองว่ายังอร่อยเหมือนเดิม! ส่วน Coca-Cola ที่วางขายปลีกตามตู้น้ำมินิมาร์ต ยังคงมีฉลากเพื่อบอกข้อมูลผลิตภัณฑ์อยู่เหมือนเดิม เหตุผลของการสลัดฉลากพลาสติกทิ้ง ส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ออกนโยบายการใช้บรรจุภัณฑ์น้ำดื่มแบบไร้ฉลาก เนื่องจากเคยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าขวดน้ำที่มีฉลากหุ้มอยู่ ไม่สะดวกต่อการรีไซเคิลเท่าไหร่นัก เพราะต้องแยก ‘ขวดน้ำ’ กับ ‘ฉลาก’ ทิ้งคนละประเภท ซึ่งฉลากส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และสร้างขยะพลาสติกเอาไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากจำนวนขวดน้ำพลาสติกแบบเดิมในปี 2019 ซึ่งมีทั้งหมด 4.2 พันล้านขวด ถูกแทนที่ด้วย ‘ขวดไร้ฉลาก’ […]