
WHAT’S UP
MADE LIM Café เปลี่ยนโบสถ์คริสต์ 120 ปีในเกาหลีใต้ เป็นคาเฟ่และพื้นที่ศิลปะสมัยใหม่ แฝงด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์และแนวคิดธรรมชาติ
กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ คือเมืองหลวงที่ใครหลายคนขนานนามให้เป็นเมืองแห่งคาเฟ่ เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ต้องพบเข้ากับคาเฟ่สุดเก๋ ที่มาพร้อมคอนเซปต์หลากหลาย ตั้งแต่การออกแบบสไตล์มินิมอลไปจนถึงแนวคิดล้ำๆ แต่ความจริงแล้ว ไม่ไกลจากตัวสนามบินอินชอนเองก็มีคาเฟ่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะแต่เดิมที่นี่คือ ‘โบสถ์วังซาน’ โบสถ์คริสต์อายุ 120 ปี ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ‘NONE SPACE’ สตูดิโอออกแบบและก่อสร้างสัญชาติเกาหลีใต้ ได้รีโนเวตโบสถ์ 3 ชั้นแห่งนี้ให้กลายเป็น ‘MADE LIM Café’ คาเฟ่และพื้นที่จัดแสดงศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังคงไว้ด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ NONE SPACE เลือกใช้อิฐและกระจกสีเป็นวัสดุหลักในการรีโนเวต เพื่อแสดงถึงความตั้งใจที่คงไว้ซึ่งวัสดุตกแต่งเดิมของโบสถ์ให้ได้มากที่สุด และไม่ทำการรื้อถอนภายในหากไม่จำเป็น โดยมีคอนเซปต์คือ ‘MADE 林’ ที่สะท้อนถึงปรัชญาที่มองว่ามนุษย์จะกลับคืนสู่ธรรมชาติ MADE LIM Café แบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามการใช้งาน ได้แก่ ‘Forest Hall’ ห้องโถงหลักที่ประกอบด้วยคาเฟ่ ห้องรับประทานอาหาร และห้องโถงสำหรับจัดงาน ในขณะที่ ‘Detached Forest House’ และ ‘Heritage Hall’ ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะเชิงประสบการณ์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ […]
‘Artchimboldi Menorca’ เปลี่ยนโรงเรียนหญิงล้วนที่ถูกทิ้งร้าง ให้เป็นพื้นที่ทำงานและพักผ่อนในสเปน
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการนำสถานที่ที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้มาปรับเปลี่ยนและใช้งานใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกันกับโรงเรียนหญิงล้วนบนเกาะมินอร์กา ประเทศสเปน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกหลงลืมและปล่อยให้รกร้าง แต่เมื่อถูกค้นพบอีกครั้ง ที่นี่ก็ได้รับการปรับปรุงให้กลับมาสดใสและใช้งานได้อีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ‘Artchimboldi Menorca’ ผู้ที่เข้ามาแปลงโฉมโรงเรียนแห่งนี้คือ ‘Artchimboldi’ บริษัทที่ให้บริการพื้นที่ในการทำงานในประเทศสเปน ซึ่งบริษัทต่างๆ สามารถมาใช้สำหรับการประชุมหรือทำกิจกรรมพัฒนาองค์กรได้ โดยก่อนหน้านี้ Artchimboldi มีสถานที่สำหรับให้บริการอยู่แล้วสองแห่งในเมืองบาร์เซโลนา แต่ตอนนี้ได้เปิดแห่งที่สามในเกาะมินอร์กา ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ในการทำงานแล้วยังใช้สำหรับการพักผ่อนได้ด้วย Artchimboldi Menorca เดิมทีเคยเป็นโรงเรียนหญิงล้วนเก่าแก่ใน Sant Lluís ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีเสน่ห์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ โดยโรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2443 แต่เนื่องจากถูกทิ้งร้างมานานจึงทำให้ภายในอยู่ในสภาพที่ไม่น่าอยู่ ทาง Anna Truyol ผู้ก่อตั้ง Artchimboldi จึงได้ร่วมมือกับ Emma Martí สถาปนิกท้องถิ่นในการปรับปรุงเพื่อนำพื้นที่กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงและสร้างใหม่หลายส่วน แต่ผู้ออกแบบได้รักษากำแพงหินเดิมของอาคารไว้ และทาสีใหม่ด้วยสีขาว ส่วนคานไม้บนเพดานจำนวนมากก็ทิ้งไว้ตามเดิม มากไปกว่านั้น เพื่อระลึกถึงโรงเรียนอันเก่าแก่ อาคารแห่งนี้ยังได้รวมตู้หนังสือโบราณขนาดใหญ่และกระดานดำแบบที่ใช้ในห้องเรียน ซึ่งสามารถเขียนข้อความหรือจดบันทึกไอเดียต่างๆ ได้ ภายในมีพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหาร และมีโต๊ะที่สั่งทำพิเศษ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงไปตามกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นมื้ออาหารแบบกลุ่ม การประชุม หรือการทำเวิร์กช็อป […]
Liuzhou Forest City จีนสร้าง ‘เมืองป่าไม้’ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดมลพิษทางอากาศและช่วยเพิ่มพลังงานหมุนเวียน
‘Liuzhou Forest City’ หรือ ‘เมืองป่าไม้’ เป็นโครงการนวัตกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศ ทั้งยังเป็นการกำหนดความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติกันใหม่ เพื่อความเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเมืองใหม่แห่งนี้จะเกิดขึ้นบริเวณตอนเหนือของจังหวัดที่อยู่ทางใต้ของประเทศจีนอย่างหลิ่วโจว (Liuzhou) ซึ่งได้บริษัทสถาปนิกชื่อดังจากอิตาลี ‘Stefano Boeri Architetti’ มาร่วมออกแบบภาพเมืองในฝัน โครงการนี้เป็นการขยายขอบเขตของการทดลองที่ประสบผลสำเร็จจากโปรเจกต์แรกเมื่อปี 2014 กับต้นแบบอาคารป่าแนวตั้ง Bosco Verticale ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่นำเสนอและพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยของเมือง เพื่อมุ่งหวังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ จากการวางผังเมืองของเทศบาลหลิ่วโจวพบว่า โครงการเมืองป่าไม้นี้จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,750,000 ตารางเมตรตามแนวแม่น้ำหลิ่วเจียง นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนประมาณ 30,000 คนแล้ว เมืองใหม่แห่งนี้ยังเอื้อต่อสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายสำหรับพืชและต้นไม้ที่มีอยู่ในอาคารทุกหลัง โดย Liuzhou Forest City จะมีต้นไม้ประมาณ 40,000 ต้น บวกรวมกับเหล่าพืชพรรณอีกกว่าหนึ่งล้านต้นที่มีความแตกต่างทางสายพันธุ์กว่า 100 ชนิด ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่ Stefano Boeri Architetti ได้ออกแบบและนำมาพัฒนาเมืองใหม่ในหลิ่วโจว เปรียบเสมือนเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ผลิตความยั่งยืนออกมา เพราะความเป็นเมืองป่านี้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10,000 ตัน และฝุ่นละอองอนุภาคละเอียดอีก 57 ตันทุกปี […]
LEGO ของเล่นในตำนานก็รักโลก ใช้ขวดพลาสติกสร้างวัสดุตัวต่อ เล่นสนุกพร้อมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เราเชื่อว่าไม่น่าจะมีใครไม่รู้จัก ‘ของเล่น’ ที่เป็นมิตรคู่เรือนเพื่อนคู่บ้านที่อยู่มายาวนานอย่าง ‘LEGO’ ตัวต่อพลาสติกสีสันสดใสที่มอบประสบการณ์และจินตนาการในการสร้างโลกของตัวเองผ่านการเล่นที่สร้างสรรค์ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2475 โดย ‘Ole Kirk Kristiansen’ ช่างไม้ชาวเดนมาร์กที่อยากทำของเล่นไม้ให้ลูกในวันวาน จนกลายเป็นแบรนด์ของเล่นที่เป็นตำนานและประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจอันดับต้นๆ ของโลก บริษัทเลโก้ได้พัฒนาของเล่นมาตลอด ตั้งแต่เริ่มจากไม้ จนมาถึงการใช้วัสดุแบบพลาสติก และได้กลายเป็นของเล่นที่ถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานนานหลายสิบปี สามารถเล่นได้ตั้งแต่เด็กจนโต และบางบ้านอาจจะยกเป็นมรดกให้กับลูกหลานก็ยังได้ แต่อย่างไรก็ตาม เลโก้ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์จากวัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา ตัวต่อเลโก้ส่วนใหญ่จำนวนหลายพันล้านชิ้นที่ผลิตในแต่ละปี ล้วนทำมาจากพลาสติกที่เรียกว่า ‘อะคริโลไนไตรล์ บิวทาไดอีน สไตรีน’ (ABS) หรือพลาสติกบริสุทธิ์ที่ทำจากน้ำมันดิบ ที่ผ่านมาเลโก้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกได้ราว 1.1 – 1.2 แสนล้านชิ้นต่อปี และการผลิตนี้ยังปล่อยคาร์บอนมากถึง 1.2 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว ในปี 2561 เลโก้จึงได้ออกมาประกาศถึงเป้าหมายว่าจะทำการผลิตสินค้าหลักทั้งหมดจากวัสดุที่ยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2573 เป้าหมายด้านความยั่งยืนอันได้แก่ การพัฒนาตัวต่อจากพลาสติกชีวภาพ ตลอดจนการสร้างขยะให้น้อยที่สุด หรือเป็นไปได้ก็อยากให้ไร้ขยะไปเลย รวมถึงเปลี่ยนถุงพลาสติกที่บรรจุตัวต่อในกล่องเป็นถุงกระดาษแทน และยังมีเป้าหมายว่าจะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกด้วย เนื่องจากต้องหาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นมาทดแทนในกระบวนการผลิต บริษัทจึงต้องพัฒนาวัสดุให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงด้านความปลอดภัย คุณภาพ […]
ชมการออกแบบโปสเตอร์สร้างสรรค์ ชวนไปเลือกตั้งในนิทรรศการ #ทราบแล้วโหวต ที่ Kinjai Contemporary 23 – 30 เม.ย. 66
หลังจากสนุกสุดเหวี่ยงในวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สุดสัปดาห์นี้เรามีโปรแกรมสนุกๆ เที่ยวเบาๆ ในกรุงเทพฯ ชวนไปเปิดหูฟังความรู้ เปิดตาดูความสร้างสรรค์ กับงาน ‘BANGKOK THROUGH POSTER’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ประจำปีที่จัดขึ้นครั้งที่ 4 แล้ว ในปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์พิเศษที่ต้อนรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ในชื่อนิทรรศการ ‘#ทราบแล้วโหวต’ ที่มี ‘โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน’ หรือ ‘iLaw’ มาร่วมสร้างสรรค์งานครั้งนี้ด้วย โดยนิทรรศการครั้งนี้ได้รวบรวมนักสร้างสรรค์หลากหลายแขนงมารวมพลังร่วมเป็นกระบอกเสียง เพื่อพูดและสื่อสารข้อมูลต่อสังคมผ่านผลงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบของ ‘โปสเตอร์ดีไซน์’ กับคอนเซปต์ ‘รณรงค์ให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2566’ เพื่อความมุ่งหวังที่อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น ทางงานได้คัดเลือกผลงานจากนักสร้างสรรค์ทั้งหมด 66 ชิ้นงานมาจัดแสดงให้ได้เดินชมกันอย่างจุใจ และเมื่อนิทรรศการแสดงจบแล้ว ชิ้นงานทั้งหมดจะมีการนำไปโพสต์และทำแคมเปญส่งต่อให้ประชาชนได้นำไปใช้ประชาสัมพันธ์ผ่าน Hashtag #ทราบแล้วโหวต ตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ ต่อไป งานนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 – 30 เมษายน 2566 สถานที่จัดงานอยู่ที่ ‘Kinjai Contemporary’ แกลเลอรีศิลปะและการออกแบบร่วมสมัยในย่านบางพลัด ที่ร่วมผลักดันและเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้สิทธิในการสื่อสารและแสดงออกต่อสาธารณะ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง BANGKOK THROUGH POSTER
อ่านบันทึกเรื่องราวของชาว LGBTQ+ ที่เชื่อมโยงความทรงจำกับสถานที่ บนแผนที่ออนไลน์ ‘Queering the Map’
ทุกคนย่อมมีพื้นที่หรือสถานที่ในความทรงจำ เช่น สวนสาธารณะแห่งนี้เพื่อนสนิทที่เคยแอบชอบมักพามานั่งเล่น ใต้ต้นไม้ต้นนี้เป็นที่ที่เราบอกชอบแฟนคนแรก หรือกระทั่งถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นโปรดของแฟนเก่าที่เธอใช้บอกเลิกเราเมื่อหลายปีก่อน ฯลฯ หลายคนอาจเลือกที่จะเก็บงำไว้กับตัว แต่บางคนก็อยากบอกเล่าความทรงจำเหล่านี้ให้คนอื่นได้รับรู้ Queering the Map เป็นแพลตฟอร์มที่มีหน้าตาคล้ายกับ Google Maps ที่เรารู้จักกันดี แต่ความพิเศษคือ มันเป็นแผนที่สีชมพูที่เปิดให้กลุ่ม LGBTQ+ เข้ามาบันทึกหรือแบ่งปันเรื่องราวในความทรงจำหรือความรู้สึกต่อสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่เรื่องเล่าผ่านความทรงจำเท่านั้น แต่ในแผนที่นี้ยังอัดแน่นไปด้วยการเปิดเผยตัวตน การเผชิญหน้ากับความรุนแรง ช่วงเวลาแห่งความรักที่ลืมไม่ลง หรือแม้แต่ความอาลัยต่อช่วงเวลาในอดีต พูดง่ายๆ ว่า Queering the Map ทำหน้าที่เป็นเหมือนที่เก็บบันทึกชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งถ้าใครคิดว่าเรื่องราวเหล่านั้นมีความสำคัญกับตัวเอง แน่นอนว่าสำหรับ Queering the Map ก็มองว่าเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้มีความสำคัญต่อเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน ‘Lucas LaRochelle’ ผู้สร้างโปรเจกต์นี้เล่าถึงจุดกำเนิดของ Queering the Map ต่อสื่อต่างๆ ว่า ตัวเองได้แรงบันดาลใจจากต้นไม้ที่มักขี่จักรยานผ่าน ซึ่งเป็นจุดที่เขาได้เจอกับคู่ชีวิต และยังเป็นที่ที่พวกเขาทั้งคู่ได้พูดคุยและเปิดเผยตัวตนทางเพศของตัวเอง หลังจากนั้นเมื่อเขาผ่านไปยังต้นไม้ต้นนั้นอีกครั้ง ก็จะรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับพื้นที่ตรงนั้นเสมอ และทำให้เขาคิดถึงสถานที่อื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ตามไปอ่านเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ บนแผนที่สีชมพูฉบับนี้ได้ที่ […]
ตัวช่วยพ่อแม่รุ่นใหม่รับมือลูกเล็ก แอปฯ วิเคราะห์เสียงร้องไห้ ‘CryAnalyzer’ เพื่อแปลงเป็น 5 อารมณ์ ผ่านอีโมจิน่ารัก
สำหรับพ่อแม่มือใหม่ การต้องรับมือกับเสียงร้องไห้ของลูกเล็กคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ว่าจะฟังอย่างไรก็แยกไม่ออกอยู่ดีว่า ระหว่างร้องไห้เพราะหิวกับร้องไห้เพราะง่วงนอน มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ‘CryAnalyzer’ คือแอปพลิเคชันวิเคราะห์เสียงเด็กร้องไห้ ที่อาจเป็นตัวช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจเสียงร้องไห้ของเด็กได้มากขึ้นผ่านการวิเคราะห์เสียงจาก AI CryAnalyzer เป็นผลงานการออกแบบของ ‘First Ascent inc.’ บริษัทเทคโนโลยีสำหรับเด็ก สัญชาติญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นจากการเก็บตัวอย่างช่วงอารมณ์ต่างๆ ของทารกอายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี จำนวนมากกว่า 20,000 คน เพื่อนำมาวิเคราะห์เสียงร้องไห้และแปลงเป็น 5 อารมณ์ ได้แก่ หิว ง่วงนอน เบื่อ โกรธ หรือรู้สึกไม่สบายตัว ผ่านอีโมจิน่ารักๆ ส่วนวิธีการอ่านค่าความรู้สึกก็ทำได้ง่ายๆ แค่กดบันทึกเสียงร้องของทารกเป็นเวลา 5 – 10 วินาที จากนั้นแอปฯ จะทำการวิเคราะห์อารมณ์ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของทารกตามข้อมูลประวัติที่จัดเก็บไว้ โดยคำนึงถึงเพศและอายุของทารกร่วมด้วย ซึ่งทางทีมผู้พัฒนาแอปฯ อ้างว่ามีความแม่นยำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในการระบุสภาวะทางอารมณ์ เพื่อให้พ่อแม่มือใหม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ของทารกดีขึ้น นอกจากนี้ ภายในแอปฯ ยังมีการแสดงประวัติการร้องไห้ย้อนหลัง สำหรับดูความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ของลูกน้อยได้อีกด้วย ผู้ที่สนใจ ดาวน์โหลดแอปฯ ‘CryAnalyzer’ […]
เคลียร์กองดอง บริจาคหนังสือสำหรับผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรม วันนี้ – 30 เม.ย. 66
หลายคนไม่รู้ว่ากิจกรรมที่เป็นหนึ่งในความรื่นรมย์ของผู้ต้องขังในเรือนจำคือการอ่านหนังสือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักกิจกรรมที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำเนื่องจากคดีทางการเมือง เคยเล่าว่า การอ่านหนังสือคือกิจกรรมที่เขาทำมากที่สุดตอนอยู่ในเรือนจำ โดยอ่านทุกอย่างตั้งแต่วรรณกรรม หนังสือประวัติศาสตร์ ยันนิตยสารรถยนต์ หลังหยุดยาววันสงกรานต์ที่ผ่านมา ชวนทุกคนเคลียร์กองดอง แยกหนังสือที่อ่านจนหนำใจแล้ว หรือซื้อหนังสือใหม่อ่านสนุก ส่งไปยังโครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ (ค.พ.น.) ที่เปิดรับบริจาคหนังสือสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำกลางคลองเปรม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือตำรา สารคดี หรือหนังสือความรู้ต่างๆ ก็นำมาบริจาคได้หมดที่ กล่องรับบริจาคบริเวณหน้าศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชั้น 1 ของคณะนิติศาสตร์ ส่วนคนที่ไม่สะดวกเดินทาง ทางโครงการฯ ก็เปิดให้ส่งหนังสือที่อยากบริจาคมาที่ ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เลขที่ 99 ม.18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12121 บริจาคได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ (ค.พ.น.)
AG Campus โครงการเชื่อมต่อความรู้สู่ธรรมชาติ ด้วยห้องเรียนสีเขียวใจกลางกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
จากกระแสที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวของเมืองและความยั่งยืนกันมากขึ้น ทำให้ ‘AG Insurance’ บริษัทประกันภัยสัญชาติเบลเยียมตัดสินใจรีโนเวตอาคารสำนักงานใหม่ เพื่อให้บริเวณชั้นใต้ดินและชั้นหนึ่งเป็นเหมือนห้องเรียนสีเขียวที่เชื่อมต่อความรู้สู่ธรรมชาติในชื่อ ‘AG Campus’ AG Campus ตั้งอยู่ใจกลางกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ภายในประกอบด้วยห้องเรียน ห้องประชุม พื้นที่เลานจ์ และ 2 หอประชุมขนาดใหญ่ ที่ออกแบบโดยมีเป้าหมายหลักคือการเล่นกับแสงสว่าง พื้นที่ว่าง และเชื่อมต่อกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งานอาคาร และสร้างความยั่งยืนในโลกของเรา AG Insurance ออกแบบอาคารโดยใช้วัสดุที่ยั่งยืนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตพลังงานหมุนเวียน มีการกักเก็บน้ำฝนสำหรับนำมาใช้ในอาคาร รวมถึงสร้างหลังคาสีเขียวขึ้นจากพืชคลุมดิน และสวนสาธารณะขนาดเล็กภายในพื้นที่ว่างที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมกว่า 1,500 ตารางเมตร คำแนะนำทั้งหมดเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างและระบบต่างๆ ที่มีความยั่งยืนของ AG Campus ต่างได้รับความช่วยเหลือจาก ‘Rotor’ สตูดิโอออกแบบที่สร้างแนวปฏิบัติการออกแบบอย่างยั่งยืนขึ้น เพื่อให้ AG Campus แห่งนี้เป็นเหมือนโครงการตัวอย่างสำหรับการออกแบบอาคารที่ยั่งยืนในอนาคต Sources : ArchDaily | t.ly/0UZYArchiweek | t.ly/O-Sy
ไม่ต้องตบก้นขวดอีกต่อไป Heinz ดีไซน์ขวดที่มีฝาปิดสองฝั่ง บีบซอสมะเขือเทศได้หมดจนหยดสุดท้าย
สาวกซอสมะเขือเทศคงรู้ดีว่า การเทซอสออกจากขวดนั้นต้องใช้เทคนิคสารพัด ทั้งการเขย่าขวดครั้งแล้วครั้งเล่าก่อนเปิดฝาครั้งแรก ไปจนถึงการตบก้นขวดหรือเขย่าแรงๆ เพื่อเทซอสที่เหลืออยู่ก้นขวดให้ไหลออกมา ซึ่งวิธีนี้มักทำให้ซอสกระเด็นและหกเลอะเทอะไปทั่ว เป็นปัญหาน่าหงุดหงิดใจที่คนชอบกินซอสต้องเจอ แบรนด์ซอสมะเขือเทศระดับโลก Heinz จึงปิ๊งไอเดีย คิดค้น ‘Heinz Ketch-Up & Down Bottle’ ซอสมะเขือเทศรุ่นพิเศษที่มีฝาปิดอยู่สองฝั่งตรงข้ามกัน เพื่อให้ผู้บริโภคเทซอสได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นไอเดียที่ต่อยอดจากซอสขวดคว่ำที่ทางแบรนด์เคยเปิดตัวเมื่อปี 2010 ทาง Heinz เปิดเผยว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการศึกษาความชอบและพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยทางแบรนด์พบว่าลูกค้าแต่ละคนมีวิธีการใช้สินค้าที่แตกต่างกันไป บางคนชอบบีบขวดแรงๆ ขณะที่บางคนอาจชอบเขย่าขวดซอสก่อนใช้ ส่วนวิธีจัดเก็บก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่ไม่น้อย เพราะบางคนอาจวางขวดให้ตั้งตรง คว่ำ หรือตั้งตะแคง “จากความสำเร็จของขวดซอสกลับหัวที่เปิดตัวเมื่อปี 2010 เรามองเห็นโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ผู้บริโภคหลายคนของ Heinz เผชิญอยู่ หากแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น เราอาจพลิกโฉมการทานซอสมะเขือเทศให้ผู้บริโภคก็เป็นได้” Passant El Ghannam หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Heinz กล่าว ตอนนี้ Heinz Ketch-Up & Down Bottle เป็นเพียงแนวคิดต้นแบบเท่านั้น ยังไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่ายจริง แต่ถ้าทาง Heinz […]
‘Sabus’ รถบัสเก่าที่เปลี่ยนให้เป็นซาวน่าเคลื่อนที่ ออกเดินทางให้บริการรอบจังหวัดเฮียวโกะ
เมื่อไม่มีการนำไปใช้งานต่อ ‘รถบัสรุ่นเก่า’ อาจต้องจอดทิ้งไว้เฉยๆ เพื่อรอการแยกชิ้นส่วน แต่บริษัทสตาร์ทอัปในประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ยังใช้งานได้ของรถโดยสารประเภทนี้ จึงเกิดเป็นไอเดียที่ผสมผสานการชมวิวผ่านหน้าต่างรถและการอบซาวน่าไว้ในรถคันเดียวกัน ‘OSTR’ บริษัทสถาปัตยกรรมในโอซาก้าได้ร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัป ‘Sauna Ikitai’ ในการเปลี่ยนรถบัสเก่าให้กลับมาใช้งานได้ แต่เป็นในรูปแบบของซาวน่าเคลื่อนที่ ที่จะเดินทางให้บริการรอบจังหวัดเฮียวโกะ ซาวน่าติดล้อนี้มีชื่อว่า ‘Sabus’ เป็นรถบัสที่ได้รับการปรับปรุงให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเลือกระดับความร้อนได้จากตำแหน่งที่นั่งและระยะห่างจากเพดาน โดยแถวแรกจะอยู่ใกล้เตาที่สุดและได้รับความร้อนโดยตรง ซึ่งสามารถควบคุมปุ่มทำความร้อนเองได้ แถวที่สองจะมีพื้นสูงและอยู่ใกล้เพดานมากที่สุด และแถวสุดท้ายจะนั่งสบายที่สุด ด้วยม้านั่งแบบยาวที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการยืดขาหรือจะนอนก็ยังได้ อุปกรณ์ซาวน่าส่วนใหญ่ทำขึ้นจากการนำชิ้นส่วนในรถบัสมาใช้ใหม่หรือปรับปรุงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นราวจับที่ติดกับที่นั่งที่นำป่านมาหุ้มเพื่อให้รู้สึกสบายยิ่งขึ้น สายสำหรับห่วงจับถูกนำมาใช้กับเทอร์โมมิเตอร์เพื่อบอกอุณหภูมิภายใน กล่องตั๋วที่มีหมายเลขก็ถูกเปลี่ยนเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำหอม ส่วนบริเวณด้านหน้าของรถบัสยังถูกปรับให้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนและเก็บสัมภาระ โดยรถคันนี้ยังคงรักษาหน้าต่างขนาดใหญ่เอาไว้เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ชมวิวทิวทัศน์ระหว่างที่ซาวน่าเคลื่อนตัวไปด้วย สำหรับรูปลักษณ์ด้านนอกนั้นยังคงลักษณะของรถบัสสีส้มเอาไว้ แต่มีการเพิ่มเติมองค์ประกอบบางอย่าง เช่น เติมเส้นสีฟ้าอ่อนเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างซาวน่ากับอ่างน้ำเย็น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการใช้งานใหม่ และป้ายข้อมูลไฟฟ้าด้านหน้ารถบัสที่เปลี่ยนให้เป็น ‘ซาวน่าไอน้ำ 37’ ซึ่งหมายถึงซาวน่าที่จะพกพาไปยังที่ต่างๆ รวมไปถึงรูปสัญลักษณ์ของรถเข็นวีลแชร์ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์ของห้องซาวน่าแทน Sources :Designboom | bit.ly/3zP5bdyOSTR | bit.ly/3ZWpnVySauna Ikitai | bit.ly/3mrI6dW
โรงเรียนอนุบาลใต้ทางรถไฟยกระดับในโตเกียว บรรยากาศอบอุ่น มีสนามเด็กเล่นกึ่งกลางแจ้ง ไอเดียเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้มีประโยชน์และปลอดภัย
ในความหนาแน่นของเมืองและผู้คน การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยคือหนึ่งในโจทย์สำคัญที่หลายเมืองทั่วโลกยังคงหาทางออกอยู่เสมอ วันนี้เราอยากพาไปดูหนึ่งไอเดียสำหรับการออกแบบพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ ถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม สถานที่แห่งนี้คือ ‘โรงเรียนอนุบาล’ ที่ตั้งอยู่ใต้ทางรถไฟยกระดับในมาจิยะ ใจกลางเมืองโตเกียว ทางรถไฟที่ว่านี้ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2474 เมื่อมีการเกิดขึ้นของทางรถไฟยกระดับแห่งนี้ ผลที่ตามมาก็คือมีร้านค้าและบ้านเรือนถูกสร้างขึ้นอยู่บริเวณพื้นที่ทางด้านล่าง ก่อเกิดเป็นภูมิทัศน์ใจกลางเมืองที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัย ในเวลาต่อมา ชาวเมืองถูกเวนคืนพื้นที่เพื่อเปิดทางให้กับการเสริมโครงสร้างยกระดับจากแผ่นดินไหว สถานที่ดังกล่าวถูกทิ้งร้างให้ว่างเปล่าเป็นเวลานาน และได้เริ่มต้นนำกลับมาใช้ใหม่โดยปรับปรุงพื้นที่ด้วยการสร้างโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่เมืองกำลังขาดแคลนเพราะไม่มีที่ทางจะสร้างนั่นเอง โดยโครงสร้างทางยกระดับที่ตัดผ่านตัวเมืองแห่งนี้มีคานที่สูงประมาณ 3.9 เมตร และมีระยะความกว้างระหว่างเสาประมาณ 6 เมตร ซึ่งกว้างขวางพอเหมาะมากสำหรับการสร้างพื้นที่ห้องเรียนหรือห้องอเนกประสงค์ต่างๆ ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี และทางสถาปนิกก็ยังทำการออกแบบหลังคาขนาดใหญ่ยาว 70 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกันระหว่างขนาดของโครงสร้างยกระดับและขนาดของสถาปัตยกรรม รวมถึงยังทำผนังของโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ให้ปลอดภัยและห่างไกลอันตรายจากความเร่งรีบของการจราจรบนท้องถนน ภายใต้สะพานยกระดับซึ่งเป็นหลังคาขนาดใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ มีสนามเด็กเล่นกึ่งกลางแจ้งที่ไม่เหมือนใคร สร้างขึ้นจากการซ้อนทับของโครงสร้าง และโครงสร้างที่สูงก็กลายเป็นหลังคาช่วยปกป้องสนามเด็กเล่นจากแดดจ้า ฝนชุ่มช่ำ และทำให้แสงยังสอดส่องได้อย่างเพียงพอ นอกจากเครื่องเล่นแล้ว โรงเรียนอนุบาลยังมีลานซักล้างและลานจอดจักรยานด้วย จากพื้นที่ที่คนเมืองรู้สึกอันตรายอย่างใต้ชายคาทางยกระดับ ถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยและกลายเป็นอีกสถานที่ในเมืองที่ทำให้ผู้คนได้เพลิดเพลินไปกับดอกไม้และต้นไม้ที่ปลูกบริเวณโรงเรียน และเมื่อมีการสัญจรผ่านไปบนท้องถนนก็จะทำให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาได้เห็นชีวิตประจำวันของเด็กๆ เป็นเสมือนฉากการเติบโตขึ้นของอนาคตประชากรของเมืองที่เลื่อนเปลี่ยนผ่านไปในทุกวัน Source :ArchDaily | t.ly/Oq4jd