ประจำจังหวัด
ตำราธุรกิจฉบับประจำจังหวัด ที่มีวิธีการขายเฉพาะตัว มีวัตถุดิบไม่เหมือนใคร หรือมีเคล็ดลับอะไรที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้
‘ไทยเด็ด’ โครงการที่พาสินค้าท้องถิ่นเด็ดๆ มาอยู่ใกล้กับทุกคนมากขึ้นที่ PTT Station กว่า 300 สาขาทั่วประเทศ
เราทุกคนต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า บ้านเรามีของดีของเด็ดของแต่ละพื้นที่ซุกซ่อนตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่ปัญหาคือรู้แล้วก็ใช่ว่าจะหากินได้ง่ายๆ เพราะการส่งออกสินค้าจากจังหวัดหนึ่งไปสู่จังหวัดหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเหล่าผู้ประกอบการรายเล็ก รวมไปถึงผู้บริโภคต่างถิ่นที่อยากสนับสนุนสินค้าจากท้องถิ่น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาแหล่งซื้อขายสินค้าที่ไหน จะสั่งสินค้าโดยตรงก็กลัวต้องใช้เวลาส่งนาน แถมกว่าสินค้าจะมาถึงมือก็ไม่รู้ว่าจะเกิดความเสียหายระหว่างทางอีกไหม ทาง ‘บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR)’ ซึ่งเป็นองค์กรที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชน ได้นำเอาเพนพอยต์เหล่านี้มาแก้ไข รวมถึงต้องการขยายโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านโครงการ ‘ไทยเด็ด’ เพื่อผลักดันการสร้างเศรษฐกิจของคนในชุมชนทั่วประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน สินค้าจากชุมชนท้องถิ่นไทย หาซื้อง่ายๆ ในโครงการไทยเด็ด โครงการไทยเด็ด เป็นโครงการ CSR ที่เป็นการร่วมมือของ OR กับพันธมิตรอีก 8 หน่วยงานที่เล็งเห็นถึงปัญหาการซื้อขายสินค้าของชุมชนที่หายาก บางอย่างเป็นของเด็ดของดังในชุมชน แต่คนนอกพื้นที่กลับไม่รู้เลยว่าจะอุดหนุนได้จากที่ไหน ไทยเด็ดจึงทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้บริโภค ภารกิจของโครงการคือ การเฟ้นหาและคัดสรรผลิตภัณฑ์เด็ดๆ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และเครื่องประดับ หรือของใช้ต่างๆ เพื่อนำมาเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้สินค้าเหล่านี้กระจายตัวสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากกว่าแค่กระจุกอยู่ในชุมชนเท่านั้น โดยทาง OR จะรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการสนับสนุนช่องทางการขายให้กับชุมชน ผ่านการวางขายที่ ‘PTT Station’ หรือ ‘ร้านคาเฟ่อเมซอน’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และส่งต่อสินค้าให้ถึงผู้บริโภคอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น […]
เรียนรู้ความเป็นมาและสัมผัสความสวยงามของผ้าไหมไทย Colors of Buriram
เมื่อพูดถึง ‘ผ้าไหม’ หรือ ‘ผ้าไทย’ ภาพที่เราจะได้เห็นผู้คนสวมใส่ชุดผ้าไหมนั้นมักเป็นโอกาสสำคัญๆ อย่างงานพิธีการ มากกว่าที่จะนำมาใส่ในชีวิตประจำวัน ด้วยภาพจำที่มีต่อผ้าไทยที่ดูไม่ทันสมัยหรือสวมแล้วดูเป็นทางการเกินไป ทำให้ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ใหญ่ที่ให้ความสนใจกับผ้าประเภทนี้ คอลัมน์ประจำจังหวัดจะพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวผ้าไทยกับงาน ‘Colors of Buriram’ เพื่อเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์ที่มีการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่มีความทันสมัย ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ผ่านการถักทอด้วยความประณีต ออกแบบและตัดเย็บอย่างสวยงาม เพื่อต่อยอดโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ให้อยู่คู่กับชุมชนและชาวบุรีรัมย์ รวมถึงสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และสนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ‘Colors of Buriram’ สีสันและชีวิตของผ้าไหมทอมือ Colors of Buriram นั้นเป็นงานสุดยอดมหกรรมผ้าไทย ที่จัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด จัดแสดงผ้าทอนานาชนิดและงานหัตถกรรมผ้า 2,000 กว่าชิ้น ที่คัดสรรผลิตภัณฑ์มาจากทั้ง 23 อำเภอทั่วจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 19 – 21 มีนาคม บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ ไม่เพียงแต่จัดแสดงผลงานผ้าไทยเท่านั้น แต่ผู้ที่เข้าร่วมงาน Colors of Buriram ทั้งชาวบ้านในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวก็ยังจะได้สัมผัสและเรียนรู้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมความเป็นไทยผ่านผลิตภัณฑ์ผ้าทอนานาชนิด รวมถึงเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมไทยตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพและความสามารถในการผลิตและจำหน่ายสินค้าชุมชน ที่ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัยใช้ในชีวิตประจำวันได้ […]
kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย
ลัดเลาะเข้ามาในซอยสาทร 11 ท่ามกลางเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ และภาพคนทำงานเดินขวักไขว่ ร้านไอศกรีมเล็กๆ ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนน ประตูหน้าร้านถูกเปิดเข้า-ออกเป็นระยะ ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ใช้ในร้าน ผู้คนที่เดินเข้าไปต่างกลับออกมาพร้อมกับแซนด์วิชหนึ่งชิ้นและรอยยิ้มกว้าง kintaam (กินตาม) คือชื่อร้านที่เราพูดถึง นี่คือแบรนด์ไอศกรีมแซนด์วิชของ น้ำอบ-ถมทอง ไชยจินดา และ น้ำทิพย์ ไชยจินดา สองพี่น้องชาวเชียงใหม่ผู้รักไอศกรีม ขนมอบ และการทดลองเป็นชีวิตจิตใจ พวกเธอไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ก่อนจะเปิดร้านก็ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญในการทำไอศกรีม มีเพียงความชอบกิน ความสนุกจากการสร้างสรรค์ และความกล้าบ้าบิ่นอีกหนึ่งหยิบมือที่เป็นส่วนผสมในการสร้างแบรนด์ขึ้นมา กินตามเกิดขึ้นจากธุรกิจไอศกรีมพรีออเดอร์ช่วงโควิด เติบโตสู่ไอศกรีมฝากขายในร้านอาหารเหนือ หอมด่วน และร้านขายของชำสุดชิก The Goodcery เพียงสองขวบปี สองสาวก็สร้างร้านของตัวเองที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ คอลัมน์ประจำจังหวัดครั้งนี้ขอชวนทุกคนล้างมือให้สะอาด แล้วตามไปกินกินตาม ไอศกรีมแซนด์วิชที่เรารับรองว่าไม่มีใครเหมือน พลางฟังน้ำอบและน้ำทิพย์เล่าเรื่องการทำแบรนด์ไอศกรีมที่เรามั่นใจว่าไม่เหมือนใคร เตือนอีกครั้งก่อนกินว่า วิธีกินที่ถูกต้องคือกินแบบเบอร์เกอร์ ไม่ต้องใช้ช้อนส้อม แค่จับด้วยสองมือแล้วกัดเท่านั้น เชื่อเถอะว่าจะเลอะสักนิดสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก กิน’ติม kintaam มาจาก ‘กินตามอัธยาศัย’ วลีที่คนในครอบครัวของน้ำอบและน้ำทิพย์ชอบใช้บ่อยๆ ครอบครัวของสองพี่น้องไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับไอศกรีมมาก่อน หากจะมีอะไรที่จุดประกาย คงเป็นความชอบในการกินและทำขนมของน้ำทิพย์ เรื่องมีอยู่ว่า หน้าร้อนในปีที่โควิดระบาดหนัก […]
จากเต้าหู้ยี้อายุ 70 ปี สู่ Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้เจียงใหม่ที่อยากให้คนกิน Have a nice day
เช้านี้เชียงใหม่อากาศเย็นกำลังดี เรามาถึง The Goodcery ร้านขายของชำย่านช้างม่อยตั้งแต่ประตูเปิด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร้านขายของชำขนาดสองคูหาแห่งนี้จะกลายเป็น Safe Space ที่เราปวารณาตนว่าจะมาทุกครั้งถ้าได้มาเชียงใหม่ อาจเพราะที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ขายวัตถุดิบและของกินคัดสรรจากทั่วไทย แต่ยังมีร้านกาแฟ ร้านขนมปัง ร้านอาหารฟิวชัน ทุกสิ่งที่เราต้องการภายในที่เดียว แต่เช้านี้ สิ่งแรกที่เข้าปากเราไม่ได้อยู่ในลิสต์นั้น แต่เป็นน้ำเต้าหู้ของ Have a nice bean ที่วางเด่นหราอยู่ในตู้แช่ของร้าน ปกติเราไม่ค่อยกินน้ำเต้าหู้ ยิ่งเต้าหู้ก้อนหรือเต้าหู้ยี้นี่ไม่ต้องพูดถึง แต่ความเข้มข้นของน้ำเต้าหู้แบรนด์นี้ทำให้เราลองเปิดใจ Have a nice tofu Have a nice bean คือแบรนด์น้ำเต้าหู้สุดเข้มข้นจากเชียงใหม่ ฝีมือ ‘ฝน-รวิพร พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์’ ทายาทรุ่นสามของธุรกิจเต้าหู้ยี้ห่อใบไผ่ตราลูกโลกที่มีอายุกว่า 70 ปี ย้อนไปราว 70 ปีก่อน อากงของฝนอพยพจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบมาอยู่ย่านหัวลำโพง หาบเร่ขายอาหารแถวเยาวราชอยู่พักใหญ่ก่อนจะเปิดธุรกิจของดองบรรจุกระป๋องของตัวเอง อากงขายทั้งซีเซ็กฉ่าย ตั้งฉ่าย ขิงดอง และจับพลัดจับผลูมาทำเต้าหู้ยี้ ‘ทวีผล พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์’ ผู้เป็นทั้งป๊าของฝนและเป็นลูกชายคนที่ 3 ของอากงเล่าให้ฟังว่า กว่าสินค้าจะติดตลาดก็ลำบากใช่เล่น […]
วัตถุดิบนิยม เปลี่ยนเนื้อมะพร้าวเหลือใช้ให้เป็นโยเกิร์ตรักษาภูมิแพ้และซึมเศร้า
นิยามคำว่าอาหารที่ดีของคุณเป็นแบบไหน เป็นอาหารที่อร่อย ให้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน หรือทำมาจากวัตถุดิบหายาก สำหรับ ‘วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์’ อาหารที่ดีของเธอคืออาหารที่ดีต่อตัวเธอ และต้องดีต่อโลก นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอก่อตั้ง วัตถุดิบนิยม แบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพที่อยากสื่อสารให้ทุกคนได้เข้าใจเรื่องขยะอาหาร และเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างคนเมืองกับเกษตรกร ให้มาแชร์ความรู้และวัตถุดิบกันแบบที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ส่วนผู้บริโภคได้ความรู้และของกินกลับไป สินค้าตัวแรกของวัตถุดิบนิยมอย่าง ‘ไบโคเกิร์ต’ ก็มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะเป็นโยเกิร์ต Plant-based ที่ทำจากเนื้อมะพร้าวเหลือทิ้งจากฟาร์มที่ราชบุรี ผสมรวมกับจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ซึ่งช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ ซึมเศร้า และยังเป็นโยเกิร์ตที่ลูกค้าต้องลุ้นทุกครั้ง เพราะรสชาติจะเปลี่ยนไปทุกกระปุก! เช้าวันอากาศดี เรานัดพบกับภาวิดาเพื่อคุยกันถึงเรื่องราวเบื้องหลังธุรกิจของวัตถุดิบนิยม และความตั้งใจในการผลักดันแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพจากกรุงเทพฯ ที่มีน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรในราชบุรีเป็นส่วนประกอบ กรุงเทพฯ ย้อนกลับไปยังจุดแรกเริ่ม วัตถุดิบนิยม ประกอบสร้างขึ้นจากความชอบในวิถีออร์แกนิกและเงื่อนไขด้านสุขภาพของภาวิดา อาจเพราะเติบโตในครอบครัวยากจนถึงขนาดต้องซื้อบะหมี่ชามเดียวมาแบ่งแม่และพี่น้องกิน ภาวิดาจึงรู้จักและสำนึกในคุณค่าของอาหารเสมอมา แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอเห็นความสำคัญของคำว่าออร์แกนิก เกิดขึ้นตอนไปเรียนปริญญาโทที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ราวปี 2537 ในยุคที่คำว่าออร์แกนิกยังไม่แพร่หลาย ผู้คนที่นั่นสอนให้ภาวิดาเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน คนที่เติบโตมากับการใช้ถุงพลาสติก ถูกสอนให้ล้างวัตถุดิบทุกอย่างก่อนนำมาปรุงอาหาร ภาวิดาประหลาดใจกับภาพการใช้ถุงตาข่ายของชาวออสซี่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงการหยิบผักผลไม้จากบนเชลฟ์ให้เด็กๆ กินได้โดยไม่ล้าง เพราะพวกเขามั่นใจว่ามันปลอดสารเคมี ภาวิดาซึมซับภาพเหล่านั้นเป็นประจำ รู้ตัวอีกทีคำว่าออร์แกนิกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกไม่ออก หลังจากเรียนจบและกลับไทย เธอเข้าทำงานในฝ่ายการตลาดให้สื่อเว็บไซต์แห่งหนึ่งจนได้ขึ้นเป็นระดับผู้บริหาร […]
Rayavadee อาณาจักรสีเขียวในกระบี่ที่ให้แขกดื่มด่ำความรุ่มรวยของธรรมชาติและอนุรักษ์ชายหาด
ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวที่เคยไป กระบี่ ประเทศไทย น่าจะติดอันดับต้นๆ บนลิสต์แหล่งท่องเที่ยวในดวงใจของฉัน ธรรมชาติอันรุ่มรวยของทะเลอันดามัน ชีวิตกลางคืนซึ่งไม่เคยหลับใหล และกิจกรรมผจญภัยที่หลากหลาย น่าจะเป็นเหตุผลที่ฉันหาโอกาสไปเยือนกระบี่แทบทุกปี บางครั้งก็ไม่ได้ไปเที่ยวเกาะ แค่ไปเช่าที่พักแถวอ่าวนาง นั่งเปื่อยๆ อยู่ริมหาด แล้วปล่อยให้ลมทะเลตีหน้าก็รู้สึกเหมือนได้ชาร์จแบตฯ แล้ว กระบี่ยังเป็นพื้นที่ที่เซอร์ไพรส์ฉันได้อยู่เสมอ อย่างปีก่อนฉันกับเพื่อนเคยนั่งเรือไปเที่ยวหาดไร่เลย์ กะจะตามรอยหนังเรื่องเฟรนด์โซนฉากที่ตัวละครนั่งริมหาดโดยมีวิวภูเขากลางน้ำอยู่ข้างหน้า ก็เพิ่งมารู้ตอนนั้นว่าต้องเดินลุยน้ำทะเล (ที่ขึ้นมาถึงเอว!) ไปจุดนั้น อีกสิ่งที่เพิ่งรู้เช่นกันคือมันเป็นชายหาดที่อยู่ติดรีสอร์ตแห่งหนึ่ง “ถ้ามารอบหน้า ไม่อยากเดินลุยน้ำมาแล้วอะแก” ฉันบอกเพื่อน กึ่งบ่นกึ่งสัญญา ตัดภาพมาอีกที ปีนี้ฉันกับเพื่อนได้กลับมาไร่เลย์อีกรอบ ในฐานะแขกของ ‘รีสอร์ตแห่งหนึ่ง’ ที่เล่าให้ฟัง รีสอร์ตนั้นชื่อ รายาวดี ประสบการณ์ระหว่างเข้าพักที่นี่ตอกย้ำว่าฉันคิดถูกเกี่ยวกับกระบี่ คือมันเป็นพื้นที่ที่เซอร์ไพรส์ฉันได้เสมอ เพราะรายาวดีไม่ใช่แค่รีสอร์ตติดหาดที่เปิดโอกาสให้ฉันเชยชมไร่เลย์ได้เต็มตา (แถมไม่ต้องเปียกไปครึ่งตัว) ทว่าที่นี่คืออาณาจักรสีเขียวที่ชวนให้แขกได้รู้จัก รัก และทะนุถนอมกระบี่อย่างแท้จริง ผ่านธรรมชาติ ดีไซน์ที่พัก การบริการ และการทำงานกับชุมชนของพวกเขา อาณาจักรสีเขียวกลางทะเล (ย์) ฉันเพิ่งรู้จากปากของคุณชุมพล จันทะลุน General Manager ของรายาวดีว่าชื่อของหาดไร่เลย์ มาจาก ‘ไร่ที่อยู่กลางทะเล’ ทำไมถึงมี ย์ […]
กานเวลา คราฟต์ช็อกโกแลตจากเชียงใหม่ที่พาผลผลิตของเกษตรกรไทยไปชนะรางวัลระดับโลก
แคบหมู-ไส้อั่วที่ขายในกาดเจ๊า (ตลาดเช้า) ขนมจีนสันป่าข่อย อาหารเหนือที่ร้านเจริญสวนแอก ถ้าเป็นของหวานก็ขนมหวานช่างม่อย เฉาก๊วยข้างหอประชุม มช. หรือพายมะพร้าวของร้านบ้านเปี่ยมสุข ในฐานะคนเชียงใหม่ ถ้าถามว่ามาเชียงใหม่แล้วต้องกินอะไร ‘ของดี’ ที่ฉันพอจะนึกออกอาจเป็นชื่อเหล่านี้ และว่ากันตามตรง ก่อนหน้านี้คงไม่มีคำว่า ‘คราฟต์ช็อกโกแลต’ หลุดออกจากปากฉันแน่ๆ แต่คำตอบนั้นก็เปลี่ยนไป เมื่อฉันได้ลิ้มรสช็อกโกแลตของ KanVela แบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตที่ปลุกปั้นโดยสองพี่น้องคนเจียงใหม่แต๊ๆ อย่าง ธนา คุณารักษ์วงศ์ และ นิรมล คุณารักษ์วงศ์ ชื่อของร้านนี้ก็มาอยู่ในลิสต์ ‘มาเชียงใหม่ต้องไปนะ’ ของฉันทันที แน่นอนว่ากานเวลาไม่ใช่แบรนด์แรกในเชียงใหม่ กระบวนการในการทำก็ไม่ได้ต่างจากวิธีทำคราฟต์ช็อกโกแลตทั่วไปที่เน้นความเป็นโฮมเมด ดูแลกันตั้งแต่ขั้นตอนเลี้ยงต้นโกโก้ ไหนจะโปรดักต์สุดท้ายที่มีรสชาติหวาน ขม เปรี้ยว มีหลายมิติแบบคราฟต์ช็อกโกแลตที่ดีควรเป็น ถึงอย่างนั้น สิ่งที่กานเวลาโดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ไหนๆ คือความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเมนูอันหลากหลายและน่าตื่นเต้น เช่น เจ้า ‘บงบง’ ช็อกโกแลตก้อนกลมสีสดใสที่มีรสแปลกใหม่แต่น่าลองอย่างฝรั่งจิ้มเกลือ ตะโก้เผือก สังขยาใบเตยมะพร้าวคั่ว และอีกสารพัด อร่อยหรือไม่-คงแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่ช็อกโกแลตกานเวลาต้องมีดีอะไรสักอย่าง เพราะล่าสุดเจ้าบงบงและช็อกโกแลตบาร์ ‘คลองลอย’ ก็ถูกเสิร์ฟในชั้นเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจของสายการบินไทย หนำซ้ำยังชนะรางวัลจากสองเวทีช็อกโกแลตระดับโลกอย่าง Academy of Chocolate […]
หงส์ไทย ยาดมกระป๋องเขียวในตำนานที่ลูกค้าใช้บ่อยจนฉลากเลือน แต่ยังหอมทน หอมนาน
ไม่รู้ว่าคนทำงานสร้างสรรค์คนอื่นเป็นกันไหม แต่ในฐานะนักเล่าเรื่องที่ชีวิตผูกติดกับการคิด เขียน สัมภาษณ์ และเรียบเรียง, ฉันเสพติดยาดมขั้นหนัก เวลาที่สมองถูกปกคลุมด้วยก้อนความคิดขมุกขมัว อยู่ในสถานะเขียนไม่ออกแต่บอกไหว (เพราะเดดไลน์จี้ก้นมาแล้ว) แค่ปื้ดเดียวจากยาดมคู่ใจก็ปลุกพลังฉันได้ราวปาฏิหาริย์ ยาดมแขนงใดที่ใครว่าดี ฉันลองมาแล้วเกือบหมด แต่ไม่มีปื้ดไหนจะโดนใจฉันเท่าปื้ดของ หงส์ไทย แบรนด์ยาดมจากฝั่งธนฯ กรุงเทพมหานคร ซึ่งวางจำหน่ายให้คนไทยได้สูดดมมาแล้วกว่า 16 ปี มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือกระป๋องสีเขียวกับฉลากสีเหลืองเตะตา กลิ่นสมุนไพรที่สูดแล้วสดชื่น โปร่งโล่ง เย็นสบาย บรรเทาอาการวิงเวียนและหายใจติดขัดได้เป็นอย่างดี ในปีที่โควิด-19 กำลังระบาด ธุรกิจทุกหย่อมหญ้าทรุดตัว แต่รายได้ของหงส์ไทยก็โตเอาๆ ถึงขนาดทะลุหลัก 50 ล้านบาทในปี 2564 บ่ายวันแดดจัดวันนี้ ฉันจึงพาตัวเองมาที่สำนักงานใหญ่ของ บริษัท สมุนไพรไทย หงส์ไทย จำกัด เพื่อพบกับ ธีระพงศ์ ระบือธรรม ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ด้วยความสงสัยว่า อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ยาดมหงส์ไทยเป็นที่นิยมของคนทุกกลุ่มจนมียอดขายพุ่งปรี๊ดสวนกระแสกับสินค้าอื่นในตลาด แม้แต่โรคระบาดก็ฉุดไม่อยู่ กำกระป๋องเขียวคู่ใจของคุณไว้ให้มั่น สูดลึกๆ สักปื้ด แล้วตามไปหาคำตอบพร้อมกัน ธุรกิจในฝัน ปกติเวลาคุยกับเจ้าของธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ฉันได้ยินบ่อยๆ คือ ธุรกิจมักเริ่มต้นจากความชอบของเจ้าของ ยาดมหงส์ไทยไม่ใช่แบบนั้น ธีระพงศ์ไม่ได้ผูกพันกับยาดมมาแต่เด็ก […]
ส.สะพานมอญ โรงเรียนสอนขับรถที่ส่งต่อความใส่ใจบนท้องถนนให้คนกรุงมากว่า 75 ปี
เสียงเครื่องยนต์ดังแว่วในอากาศ มองแวบแรก ภาพตรงหน้าของเราคือสวนร่มรื่นที่น่าเดินไม่หยอก แต่หากกวาดสายตาดูดีๆ ภายในสวนกว้างแห่งนี้มีถนนกว้างที่ถูกดีไซน์เป็นทางตรง ทางโค้ง และเนินสูง มีป้ายจราจรที่เด่นหราอยู่ท่ามกลางสีเขียวของพืชพรรณ ไหนจะรถยนต์จอดเรียงรายหลายสิบคัน หนึ่งในนั้นคือรถจี๊ปคันใหญ่ที่ดูจากทรงและสีก็รู้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ที่นี่คือสนามหัดขับรถ และไม่ใช่สนามหัดขับรถธรรมดา แต่เป็นสนามของ ส.สะพานมอญ โรงเรียนสอนขับรถยนต์เก่าแก่ประจำกรุงเทพฯ ที่เปิดมานานกว่า 75 ปี เปลี่ยนผู้บริหารมาแล้วสองรุ่น และสอนนักเรียนให้ขับรถได้ดีจนกลายเป็นเจ้าของใบขับขี่มาแล้วกว่า 86 รุ่น อะไรทำให้โรงเรียนสอนขับรถยนต์แห่งนี้ยืนระยะมาได้อย่างยาวนาน ในยามสายของวันที่อากาศเป็นใจ เรามีนัดกับ ครูใหญ่ฑิตยาภรณ์ ทาบทอง ทายาทรุ่นสองที่ใครต่อใครเรียกติดปากว่า ‘ครูใหญ่’ ผู้รับช่วงต่อในการสอนและบริหารโรงเรียนแห่งนี้ ครูใหญ่เดินเข้ามาต้อนรับเราที่อาคารสำนักงานของโรงเรียนอย่างใจดี และเมื่อเสียงเครื่องยนต์ในอากาศเบาลง ท่านก็เริ่มเล่าประวัติศาสตร์และหัวใจของโรงเรียนแห่งนี้ให้ฟัง เรียนขับรถ 15 บาท ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2490 ครูสวง ยังเจริญ และครูพิศพงศ์ ยังเจริญ พ่อแม่ของครูใหญ่เริ่มทำธุรกิจจากการเปิดปั๊มน้ำมัน 1 หัวจ่ายของบริษัท Shell ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง ซึ่งถือว่าเป็นถนนสายหลักในกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น ส่งผลให้มีลูกค้ามากมายแวะเวียนมาไม่ขาด เมื่อธุรกิจไปได้ดี อาจารย์สวงผู้เป็นพ่อก็เริ่มมีความคิดอยากสอนขับรถนักเรียนบ้าง เนื่องจากคุณย่าของครูใหญ่เคยเปิดโรงเรียนสอนขับรถชื่อ ‘สมบูรณ์ดี’ […]
จากของฝากสู่เวทีมิสแกรนด์ ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์ที่ส่งต่อวัฒนธรรมภูเก็ตผ่านผืนผ้า
ในฐานะคนที่รักเสื้อผ้าแนวมินิมอลเป็นชีวิตจิตใจ มีไม่กี่ครั้งหรอกที่เราจะเห็นเสื้อผ้าสีสันสดใส เต็มไปด้วยลวดลาย แล้วจะรู้สึกใจเต้น ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee คือหนึ่งในนั้น เหมือนกับใครหลายคน-ครั้งแรกที่เราเห็นชุดผ้าสีสดใสแบรนด์ยาหยีคือในการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ปีล่าสุด ที่โบกี้-เณอริสา ธนะ มิสแกรนด์จังหวัดปัตตานีใส่เข้ากอง และนั่นเปลี่ยนภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับชุดผ้าปาเต๊ะของเราไปทันที ไม่ใช่แค่การแมตช์สีที่ถูกใจทั้งคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่ หรือการดีไซน์ลวดลายที่ทั้งละเอียดลออและสอดแทรกเรื่องราวชาวภูเก็ตลงไปพร้อมกัน แต่เรื่องราวเบื้องหลังการสร้างแบรนด์ยาหยีจากรุ่นแม่มาสู่รุ่นลูกก็น่าสนใจมาก พวกเขาทำให้ผ้าปาเต๊ะที่เคยเป็นของเก่าป็อปปูลาร์ได้อย่างไร ภูมิ-พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ ทายาทรุ่นสองของยาหยีรอเราอยู่พร้อมคำตอบ ปาเต๊ะ 101 ปาเต๊ะอาจเป็นคำที่คนไทยคุ้นหูมานาน และภาพที่หลายคนชินตาคือผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด รังสรรค์จากการปิดเทียน แต้ม ระบาย และย้อมสีให้สดใส แต่หากย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ อาจเห็นได้ว่าหลายประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นหรืออินเดีย มีศิลปะประเภทที่ใช้ปากกาเขียนเทียนทองเหลืองหรือเปลือกไม้ต่างๆ มาสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าเช่นกัน โดยอาจมีคำเรียกและแพตเทิร์นที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับศักดิ์และสิทธิ์ของผ้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปาเต๊ะเคยเป็นผ้าที่คนทั่วไปสวมใส่ และครั้งหนึ่งมันเคยเป็นผ้าพิเศษของสุลต่าน มีช่วงใหญ่ที่ห้ามวาดรูปสัตว์บนผ้าเพราะผูกโยงกับความเชื่อทางศาสนา กระทั่งยุคที่มาเลเซียและอินโดนีเซียทำการค้าขายร่วมกัน วัฒนธรรมผ้าปาเต๊ะได้เผยแพร่ไปยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเต็มไปด้วยคนจีนโพ้นทะเลที่ย้ายเข้ามาตั้งรกราก ทำให้เกิดวัฒนธรรม ‘เปอรานากัน’ ที่เปลี่ยนให้ปาเต๊ะกลายเป็นผ้าสีสันสดใสและเต็มไปด้วยลวดลายสัตว์มงคลอย่างหงส์ฟ้า ไก่ฟ้า มังกร หรือนกฟีนิกซ์ สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ เพื่อนบ้านของเราเรียกปาเต๊ะว่า บาติก (บา แปลว่า ศิลปะ ส่วนติกแปลว่า จุด […]
ภูมิปัญญาญี่ปุ่นผสมข้าวไทย YoRice เครื่องดื่มเชียงใหม่ที่ช่วยชาวนาแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ
หากพูดถึงการนำข้าวไปหมักทำเป็นเครื่องดื่ม คนไทยอย่างเราคงคุ้นเคยกับสาโทหรือสุราชาวบ้าน คงไม่ได้นึกถึง ‘อามาซาเกะ’ หรือสาเกหวาน ไร้แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มภูมิปัญญาจากญี่ปุ่น ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นทั้งอาหารสุขภาพ และให้เด็กๆ ได้ลิ้มลองรสความเป็นสาเกก่อนถึงวัย การเกิดขึ้นของอามาซาเกะข้าวไทยอย่าง YoRice จึงดึงดูดใจใครหลายคน เพราะนอกจากจะเป็นของแปลกใหม่ในไทย สรรพคุณของเครื่องดื่มชนิดนี้ก็ให้ทั้งประโยชน์ด้านสุขภาพตอบเทรนด์ที่คนกำลังสนใจ ที่สำคัญคือยังสะท้อนให้เห็นปัญหาในจังหวัดเชียงใหม่ (ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่ลามไปไกลถึงระดับประเทศ) ถึง 3 ประเด็น หนึ่ง คือ ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ สอง คือ ปัญหาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่นับวันยิ่งหลากหลายน้อยลงไปทุกวัน สาม คือ ปัญหาความหิวโหยของคนในสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ถูกจัดการผ่านเครื่องดื่มหนึ่งขวดได้อย่างไร ปอ-ภราดล พรอำนวย ผู้อยู่กับ YoRice มาตั้งแต่วันแรก เต็มใจถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟังผ่านบทสนทนานี้ เมื่อเห็นปัญหาจึงเกิดคำถาม ใครหลายคนคงเหมือนเราที่คุ้นเคยกับปอในบทบาทนักดนตรี เจ้าของร้าน North Gate แจ๊สบาร์คู่เชียงใหม่ มากกว่าการรู้จักเขาในบทบาทของหนุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม ที่แม้จะไม่ใช่ภาพที่คุ้นชินของใคร แต่เขาก็ยืนยันว่าจริงๆ ความคิดเรื่องนี้วนเวียนอยู่ในตัวเขามานานตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม ปอย้อนความว่าเหตุการณ์ที่มาจุดประเด็นให้เขาเริ่มสนใจปัญหาปากท้องของคนอื่น มาจากประสบการณ์ครั้งที่เขาโบกรถจากเชียงใหม่ไปฝรั่งเศส การเดินทางครั้งนั้นจะเรียกว่าเป็นการเดินทางเปลี่ยนชีวิตเลยก็ได้ เพราะมันทำให้เขาได้เห็นน้ำใจจากคนครึ่งค่อนโลกที่พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้นักดนตรีแปลกหน้าอย่างตน “เราไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตเยอะ การต้องแบกเครื่องดนตรีโบกรถไปหลายหมื่นกิโล […]
ความงามเป็นของทุกคน Celine เครื่องสำอางฮาลาลที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงมุสลิม
Urban Creature x UN Women คนจะงาม งามที่ใจใช่ใบหน้า ทำไมสุภาษิตไทยช่างไม่เข้าใจแล้วก็ใจร้ายใจดำกับพวกเราได้ขนาดนี้ ยิ่งในยุคปัจจุบันก็ต้องบอกว่าเราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงหรือใครคนใดก็ตาม ย่อมมีสิทธิ์ที่จะดูดีในแบบของตัวเองทั้งนั้น และสำหรับญาญ่า-สุไรยา แวอุเซ็ง เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางฮาลาล Celine และบรรดาสาวงามทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ถ้าได้ความสวยงามที่มาพร้อมความสบายใจ ก็คงไม่ได้ขออะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว Celine คือเครื่องสำอางที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนสามจังหวัดโดยแท้จริง อย่างแรกคือผลิตมาแบบหลักศาสนาจะได้ใช้งานกันอย่างสบายใจ อย่างที่สองคือตอบโจทย์ด้านสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน และหนาวเย็นในเวลากลางคืน ทำให้เหมาะกับพื้นที่มากกว่าเครื่องสำอางยี่ห้ออื่นตามท้องตลาด “เราปิดหน้าแต่ก็ยังปัดแก้ม ทาปาก แต่งหน้าอยู่นะ” ญาญ่าเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี และบอกว่าสำหรับเธอสิ่งสำคัญที่สุดของ Celine อาจจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงมุสลิมลุกขึ้นมาดูแลตัวเองมากกว่าเรื่องของธุรกิจเสียอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าธุรกิจของ Celine เป็นเรื่องธรรมดา ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง Celine มีตำราธุรกิจที่เข้ากับพื้นที่อย่างมาก เพราะมีวิธีการขายแบบสามจังหวัดชายแดนใต้ แบบฉบับที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและใกล้ชิด แถมธุรกิจนี้ยังช่วยสร้างอาชีพให้กับเหล่าแม่บ้านมุสลิม และส่งออกไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอีกมากมาย มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า เครื่องสำอางก็มีมาตรฐานฮาลาลเหมือนอาหารด้วยหรือ หรือว่าทำไมผู้หญิงที่ใส่ฮิญาบต้องแต่งหน้าด้วย เราชวนมาทำความเข้าใจบริบทนี้ไปพร้อมกัน ด้วยเนื้อหาข้างล่างนี้เลย สาวงามสามจังหวัด หญิงสาวในผ้าคลุมฮิญาบเล่าให้พวกเราฟังว่า ย้อนกลับไปราว 10 ปีที่แล้ว เครื่องสำอางที่มีตราฮาลาลยังไม่มีวางขายตามท้องตลาด มีแต่สินค้าประเภทเคาน์เตอร์แบรนด์ ซึ่งไม่ทราบว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง และไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องตามหลักศาสนาหรือเปล่า […]