เมื่อพูดถึง ‘ผ้าไหม’ หรือ ‘ผ้าไทย’ ภาพที่เราจะได้เห็นผู้คนสวมใส่ชุดผ้าไหมนั้นมักเป็นโอกาสสำคัญๆ อย่างงานพิธีการ มากกว่าที่จะนำมาใส่ในชีวิตประจำวัน ด้วยภาพจำที่มีต่อผ้าไทยที่ดูไม่ทันสมัยหรือสวมแล้วดูเป็นทางการเกินไป ทำให้ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ใหญ่ที่ให้ความสนใจกับผ้าประเภทนี้
คอลัมน์ประจำจังหวัดจะพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวผ้าไทยกับงาน ‘Colors of Buriram’ เพื่อเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์ที่มีการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่มีความทันสมัย ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ผ่านการถักทอด้วยความประณีต ออกแบบและตัดเย็บอย่างสวยงาม เพื่อต่อยอดโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ให้อยู่คู่กับชุมชนและชาวบุรีรัมย์ รวมถึงสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และสนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
‘Colors of Buriram’ สีสันและชีวิตของผ้าไหมทอมือ
Colors of Buriram นั้นเป็นงานสุดยอดมหกรรมผ้าไทย ที่จัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด จัดแสดงผ้าทอนานาชนิดและงานหัตถกรรมผ้า 2,000 กว่าชิ้น ที่คัดสรรผลิตภัณฑ์มาจากทั้ง 23 อำเภอทั่วจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 19 – 21 มีนาคม บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์
ไม่เพียงแต่จัดแสดงผลงานผ้าไทยเท่านั้น แต่ผู้ที่เข้าร่วมงาน Colors of Buriram ทั้งชาวบ้านในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวก็ยังจะได้สัมผัสและเรียนรู้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมความเป็นไทยผ่านผลิตภัณฑ์ผ้าทอนานาชนิด รวมถึงเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมไทยตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพและความสามารถในการผลิตและจำหน่ายสินค้าชุมชน ที่ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัยใช้ในชีวิตประจำวันได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่ตลาดของคนรุ่นใหม่ด้วย
‘ผ้าซิ่นตีนแดง’ เอกลักษณ์ผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์
ผ้าไทยจาก 23 อำเภอที่นำมาแสดงในงานล้วนมีความหลากหลายที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่หากจะพูดถึงผ้าไทยที่โดดเด่นของจังหวัดบุรีรัมย์ คงต้องเป็น ‘ผ้าซิ่นตีนแดง’ ผ้าไหมทอมือเอกลักษณ์ท้องถิ่นของอำเภอพุทไธสงและอำเภอนาโพธิ์ ที่มีลักษณะเด่นด้วยสีแดงสดทั้งหัวและท้ายของซิ่น
ความเป็นมาของผ้าไทยชนิดนี้คือ เป็นภูมิปัญญาที่รับมาจากผ้าโบราณของชนชาติลาว ก่อนที่จะนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นลวดลายเฉพาะของพื้นที่ จนกลายเป็นผ้าประจำถิ่นของชาวบุรีรัมย์
ด้วยความสวยงามและความโดดเด่นทั้งสีสันและลวดลาย ทำให้เป็นหนึ่งในผ้าไหมไทยที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
‘ชุมชนนาโพธิ์’ แหล่งทอผ้าที่สำคัญของจังหวัด
ในปัจจุบัน อำเภอนาโพธิ์ถือว่าเป็นแหล่งทอผ้าไหมที่สำคัญ โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัด ซึ่งชุมชนนาโพธิ์นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพตั้งแต่ปี 2524 และมีศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา แก่กลุ่มเยาวชนทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ความสามารถในการทอผ้าไหมนั้นถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมตามความต้องการของตลาด และสนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก สืบสานภูมิปัญญา สร้างอาชีพให้ชาวบ้าน
และเพื่อเป็นการต่อยอดมรดกและรักษาภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยอีกทางหนึ่ง ก่อให้เกิด ‘โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก’ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาที่อยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่หันมาสืบสานผ้าไทย ผ่านการเรียนรู้ ดัดแปลง หรือแม้แต่การนำผ้าไทยมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน
จากการผลักดันโครงการนี้ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผ้าไทยในหลายด้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ลวดลาย สีสัน หรือการประยุกต์ให้รูปแบบของผ้าไทยออกมาทันสมัย เพื่อทำให้ภูมิปัญญาไทยนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสั่งจองผ้าล่วงหน้าหลายเดือนจากคนไทย รวมถึงการส่งออกนอกประเทศ จนทำให้ในปี 2565 – 2566 ผ้าไทยติดอันดับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีการขยายตัวทางการค้ามากที่สุดเลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกจึงกลายเป็นตัวช่วยในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพทอผ้าหลายครัวเรือนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ส่งออกผ้าไหมไทย สู่วงการแฟชั่นระดับโลก
ผ้าไหมไทยไม่ได้อยู่แค่ในผลิตภัณฑ์จากชุมชนหรือสินค้าที่มีเพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ได้เห็นถึงความสวยงาม แต่ทางแบรนด์ ‘SIRIVANNAVARI’ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาที่นับเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่ได้เข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ระดับโลกอย่าง ‘Paris Fashion Week’ ก็ได้มีการนําเอาผ้าไหมไปเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นวีคระดับโลกด้วย
จากการได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเวทีนานาชาติ นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการผลักดันผ้าไทยของเราให้ก้าวออกสู่สายตาของวงการแฟชั่นระดับโลก รวมไปถึงยังเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า ผ้าไหมไทยนั้นสามารถประยุกต์เข้ากับแฟชั่นได้ทุกรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับภาพจำของผ้าไทยแบบเดิมอีกต่อไป