[คำเตือน : ภาพประกอบในบทความมีความน่ากลัวและอาจสร้างความตกใจให้ผู้อ่าน]
หากคุณเป็นทั้งทาสแมวและคนรักหนังสยองขวัญเป็นชีวิตจิตใจ วิฬารปรัมปรา คือเพจที่เหมาะสมกับคุณด้วยประการทั้งปวง
เพราะเพจนี้เน้นทำหนังสั้นที่ส่วนใหญ่มีเจ้าแมว ‘วิฬาร’ เป็นตัวดำเนินเรื่อง พาไปสำรวจเรื่องลี้ลับที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในสังคม และถึงแม้จะเป็นคลิปสั้นๆ ไม่กี่นาทีแต่ดูแล้วหลอนได้ใจ
หลายคลิปของวิฬารปรัมปรากลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน อาจเพราะสะท้อนความกลัวที่หลายคนมีร่วมกัน ซึ่งความกลัวที่ว่านั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผีหรือสิ่งมีชีวิตประหลาด แต่เป็นความกลัวที่ถูกตีความในมิติที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะกลัวความจนและกลัวการสูญเสียคนรัก
ในบ่ายที่เงียบเชียบวันนี้ เราชวน อี่-วรันย์ ศิริประชัย และ บอล-ประพนธ์ ตติยวรกุลวงษ์ มาบอกเล่าเรื่องราวหลังกล้องของหนังสั้นสยองขวัญของพวกเขา คุยกันตั้งแต่ไอเดียตั้งไข่กว่าจะเป็นหนังสักเรื่อง ไปจนถึงกระบวนการคิดมุกหลอกผีที่กลายเป็นไวรัล
ฝัน, ผู้กำกับ
แม้จะทำงานในแวดวงโฆษณามาหลายปี แต่จริงๆ ความฝันของวรันย์คือการเป็นผู้กำกับ
“ตอนเด็กๆ เราชอบดูหนังจากวิดีโอ ชอบเข้าร้านเช่าหนัง ชอบดูหนังมากจนเก็บเอาไปฝันว่าเป็นผู้กำกับ ขึ้นเวทีได้รับรางวัลใหญ่” หญิงสาวนึกย้อนถึงอดีต แววตาเป็นประกาย
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทำตามความฝัน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวฐานะไม่ค่อยดีอย่างวรันย์ เธอเปรียบวัยเด็กของตัวเองว่าไม่ต่างจากหนังสั้นเรื่อง ‘หนีหนี้’ ที่เธอทำ เล่าเรื่องครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งที่พ่อแม่โดนเจ้าหนี้ไล่ตามอย่างน่ากลัว
สิ่งที่แตกต่างกันคือชีวิตเธอไม่จบด้วยโศกนาฏกรรมแบบในหนัง วรันย์ไม่ได้ตายแบบลูกสาวในเรื่อง แต่เธอเติบโตมาพร้อมกับเส้นทางชีวิตที่ต้องหนีหนี้นอกระบบ เห็นพ่อแม่ทำงานหนักเพื่อใช้หนี้ และทำให้เธอจำเป็นต้องหันไปเรียนคณะบริหารธุรกิจที่มองว่าหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ และเก็บความฝันของการเป็นผู้กำกับลงในซอกหลืบลึกสุดในใจ
วรันย์บอกว่า ของเล่นชิ้นเดียวที่ติดตัวเสมอไม่ว่าจะย้ายที่อยู่ไปไหนคือกล้องถ่ายหนังพลาสติกที่แม่ซื้อให้เป็นของขวัญ
ระหว่างเรียนจนถึงจบการศึกษา วรันย์นิยามชีวิตช่วงนั้นว่าเป็นช่วงที่ยากลำบาก เธอทำงานทุกอย่างเท่าที่สมัครได้ ตั้งแต่พนักงานพาร์ตไทม์ร้านแมคโดนัลด์ นักแปลการ์ตูน คนจูงสุนัขประกวดในเทศกาลต่างๆ และได้เข้ามาทำงานเป็นแพลนเนอร์ในวงการโฆษณาในที่สุด
แต่ไม่ว่าจะทำงานไหน การทำหนังก็ยังเป็นแพสชันที่ไม่เคยมอดดับไปจากใจเธอ
ผู้กำกับในฝัน
จู่ๆ ก็มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นในชีวิตของวรันย์
หลังจากไม่ได้ฝันถึงบทบาทผู้กำกับมาหลายปี อยู่ๆ ปีที่แล้ว (2566) วรันย์ก็ฝันเห็นตัวเองเดินขึ้นเวทีรับรางวัลในฐานะผู้กำกับอีกครั้ง เป็นฝันเดียวกับที่เธอเคยฝันตอนเรียนประถม
เหมือนเป็นสัญญาณที่กระตุ้นให้เธอลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง
“แต่เราไม่เคยเรียนฟิล์ม สุดท้ายก็ต้องมาศึกษานอกตำราเองหมด เปิดยูทูบ และดูหนังที่ได้รางวัลจากเวทีต่างๆ เรื่อยๆ ณ ตอนนั้นเราอายุสามสิบแปดปี พอจะมีกำลังทรัพย์ที่สะสมมา เราจึงลองทำตามความฝันดูด้วยการเปิดโปรดักชันทำหนังขนาดเล็กขึ้นมา ชื่อวิฬารปรัมปรา”
วรันย์เป็นคนชอบแมวมาก ในหนังสั้นแทบทุกเรื่องจึงมี ‘วิฬาร’ แมวตัวหนึ่งที่จะปรากฏตัวให้เห็นเสมอ ส่วนคำว่าปรัมปราก็แปลอย่างตรงตัวว่าเรื่องเล่า รวมกันแล้วจึงหมายถึงเรื่องน่าขนลุกต่างๆ ที่แมวชื่อวิฬารจะพาไปเจอนั่นเอง
ความกลัวประจำวัน
คอนเซปต์หนังสั้นของวิฬารปรัมปราคือ เป็นหนังที่สะท้อนความกลัวในจิตใจคน ซึ่งคำว่าความกลัวไม่ได้จำกัดความแค่เรื่องผีอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนความกลัวในหลากหลายมิติ
อย่างเรื่อง ‘อะไรในท่อ’ เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เกิดจากไอเดียที่ว่า การที่สัตว์เลี้ยงชอบไปด้อมๆ มองๆ แถวท่อน้ำเพราะมันมองเห็นความผิดปกติบางอย่าง หรือ ‘หนีหนี้’ หนังสั้นเรื่องดังของเพจก็สร้างมาจากความกลัวจากการเป็นหนี้ ซึ่งเป็นความกลัวที่วรันย์เคยมี
มากกว่าความกลัว สิ่งที่ทำให้หนังสั้นของวิฬารปรัมปราดูสนุกคือพล็อตหักมุมสุดเหวอ
“จริงๆ เราชอบดูหนังหักมุมและหนังสืบสวนสอบสวน อีกแรงบันดาลใจหนึ่งคือละครคุณธรรมที่พ่อกับแม่ชอบดูมาก เขาชอบเห็นคนชั่วโดนทำโทษตอนจบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นแพตเทิร์นหักมุมที่น่าสนใจดี”
สำหรับวรันย์และทีมงาน สิ่งที่ยากกว่าการทำหนังผีคือการหาเอกลักษณ์ของวิฬารปรัมปรา ที่เมื่อดูแล้วจะรู้เลยว่าเป็นผลงานของพวกเขา หลังจากลองผิดลองถูก พวกเขาก็ได้คำตอบว่า หนังของวิฬารปรัมปราจะหยิบเอาเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่คนส่วนใหญ่เจอมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ
“ยกตัวอย่าง การที่แมวชอบเดินอยู่ในห้องน้ำ การเป็นหนี้ หรือการร้องเพลงบนรถ ความท้าทายของเราคือการเอาเรื่องปกติเหล่านี้มาเล่าให้น่าสนใจ และตั้งอยู่บนอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ อย่างจริงๆ เรื่อง ‘สักวันหนึ่ง’ ที่เล่าเรื่องชายคนหนึ่งร้องเพลงกับแฟนบนรถ แล้วเฉลยว่าสุดท้ายแฟนตายไปแล้ว มันแสดงให้เห็นการยึดติด ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์หลายคนเป็นอยู่”
Based on True Feeling
เสน่ห์อีกอย่างของหนังสั้นวิฬารปรัมปราคือ ความ ‘จริง’
พวกเขาไม่เคยใช้ซีจีในหนังสั้น เหตุผลหนึ่งคืองบประมาณอันจำกัด อีกเหตุผลคือ พวกเขาอยากสร้างความกลัวที่ดูจับต้องได้ขึ้นมา อย่างผีผมสั้นในเรื่อง ‘ผีพัดลม’ และศพในเรื่อง ‘สักวันหนึ่ง’ พวกเขาก็ลงทุนทำหุ่นขึ้นมาเป็นหัวและตัวจริงๆ
“เราอยากให้คนดูอินที่สุด เลยอยากทำให้ดูเรียลไปเลย ถ้าช็อตนั้นไม่เรียล เรารู้สึกว่ามันคงไม่ไวรัล” วรันย์วิเคราะห์ให้ฟัง
ในอีกแง่หนึ่ง ‘จริง’ ที่ว่าคือการสะท้อนปัญหาจริงๆ ที่คนในสังคมต้องเจอ
“ยกตัวอย่างเรื่องหนีหนี้ หลายคนดูแล้วรู้สึกว่าไม่อยากไปกู้เงินแล้ว กลัวครอบครัวมีสภาพแบบในเรื่อง เราจะเจอในคอมเมนต์เยอะมาก เรารู้สึกว่าการสะท้อนสิ่งน่ากลัวเหล่านี้ให้คนดูเห็น เขาจะตระหนักรู้และฉุกคิดมากขึ้น เท่านี้เราก็คิดว่าหนังของเราทำสำเร็จแล้วนะ”
กลัวไม่ได้ทำ
สำหรับบางคน การทำตามความฝันนั้นอาจจะยากลำบากกว่าคนอื่นๆ ด้วยหลายปัจจัย และบางครั้งเราก็จำเป็นต้องปล่อยมือจากความฝันที่เคยมีและยอมรับว่ามันอาจไม่เกิดขึ้นแล้ว
แต่ไม่ใช่กับวรันย์
“เอาจริงๆ เราว่าวงการนี้ยากสำหรับมือใหม่ ถ้าไม่ได้เรียนฟิล์มหรือมีเครดิตมาก็อาจเป็นผู้กำกับได้ยาก แต่เราเป็นพวกกัดไม่ปล่อย พยายามคิดทุกทาง และหานายทุนที่เข้าใจเรา นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก”
นอกจากวางแผนทำหนังสั้นออกมาเรื่อยๆ แล้ว เธอกระซิบว่า เร็วๆ นี้ วิฬารปรัมปราจะมีโปรเจกต์ใหม่ให้แฟนๆ ที่ติดตามกันมานานได้เซอร์ไพรส์ แต่จะเป็นอะไรคงต้องติดตามดูกัน
“วิฬารปรัมปราเป็นเหมือนช่องทางปล่อยของของเรา มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการทำหนังเป็นเรื่องของทีมเวิร์ก ถ้ามีทีมดี เรามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว อีกอย่างคือ เราได้เรียนรู้ว่าถ้าเรากัดไม่ปล่อย พยายามอยู่เสมอ ผลงานของเรามันจะออกดอกออกผล ถึงมันจะช้าหน่อยก็ตาม
“เราใช้เวลาเกือบสี่สิบปีเลยกว่าจะมาถึงจุดนี้ มันอาจจะยังไม่ได้สำเร็จอะไรมากหรอก แต่มันเป็นก้าวแรกที่เราดีใจที่ได้ทำ” วรันย์ระบายยิ้ม
3 หนังสั้นแนะนำจากวิฬารปรัมปรา
“เป็นชีวิตของผู้กำกับเอง เราอยากให้มาลิ้มรสประสบการณ์ในวัยเด็กของผู้กำกับ (หัวเราะ)”
“เป็นหนังสั้นเรื่องแรกของเพจ เกิดขึ้นจากอินไซด์ของคนรักแมว เราเลยอยากนำเสนอมุมนี้ ตื่นเต้นมากว่าคนจะชอบไหม แต่พอฟีดแบ็กดีเราก็ดีใจ”
“หนังเรื่องแรกที่เราอยากทำเป็นลองเทก และขนาดเราทำเอง ตอนดูเรื่องนี้เรายังน้ำตาซึมนิดหนึ่ง อยากแนะนำให้คนที่ยังยึดติดอะไรบางอย่างได้ดูเผื่อจะได้ปลงขึ้นบ้าง”