‘หมอ’ น่าจะเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในสังคมไทย ทั้งยังถูกขยายภาพซ้ำๆ ในแง่ของอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี และมีเกียรติ ทว่าขณะเดียวกัน ก็เป็น ‘หมอ’ และ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ อีกนั่นแหละที่อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ทำงานหนักมาก หลายครั้งต้องทำงานเกินเวลา ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ถูกสังคมไทยคาดหวังให้ทำงานตลอดเวลา เพราะเป็นอาชีพที่ผูกกับความเสียสละ
จากการสำรวจในปี 2562 หัวข้อ ‘ภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย’ โดย รศ. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ จากสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ที่มีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,105 คน ได้ข้อเท็จจริง ดังนี้
แพทย์กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์หลายคนต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดต่อกันนานกว่า 40 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤต
จำนวนชั่วโมงการทำงานแบบนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแพทย์โดยตรง แต่หลายคนถึงขั้นลาออกเนื่องจากไม่สามารถฝืนทำงานภายใต้แรงกดดันด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแรงได้ แม้จะมีค่าตอบแทนเป็นค่าเวร แต่แพทย์ส่วนมากไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่เวรหรือไม่ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีตำแหน่งแพทย์ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ การสำรวจไม่ได้ครอบคลุมแค่แพทย์เท่านั้น แต่ยังควบรวมไปถึงบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากภาระงานที่มาก จำนวนชั่วโมงที่มากเกินควร ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม รวมถึงความไม่พร้อมของสถานที่กับอุปกรณ์อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และนักรังสีเทคนิค
แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงเพียงครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาทำนองนี้ตลอด โดยเฉพาะช่วงโรคระบาด แม้ในอดีตจะเคยมีการทำข้อเสนอเพื่อควบคุมชั่วโมงเวลาการทำงานของแพทย์ และมีการหารือหลายครั้งเพื่อพยายามแก้ไขปัญหา ในที่สุดแล้วก็ยังไม่เคยมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการหรือมีการกำหนดเป็นกฎหมายควบคุมการทำงานแต่อย่างใด
ในวันนี้ (30 มิถุนายน 2565) กลุ่มสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) จึงเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน เพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และร้องเรียนให้มีกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ
หลังจากนี้ จะมีการพิจารณาถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ คุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์จะดีขึ้นหรือเปล่า Urban Creature อยากชวนทุกคนร่วมกันติดตามไถ่ถามเรื่องนี้ไปด้วยกัน อย่างน้อยคนทำงานที่ช่วยเหลือชีวิตคนจะได้มีเวลากินอาหารที่ชอบ นอนหลับเต็มอิ่ม หรือเอนจอยกับงานอดิเรกเพิ่มอีกหน่อยก็ยังดี
ติดตามสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้ที่ facebook.com/ThaiFrontlinePhysicianConfederation