กอดตัวเองอย่างไรให้อุ่น ‘Butterfly Hug’ วิธีปลอบใจในวันที่ไม่มีใครเคียงกาย - Urban Creature

เรียนรู้ผ่านซีรีส์เกาหลีเเนวจิตวิทยา ‘It’s okay to not be okay’ หรือภาษาไทย ‘เรื่องหัวใจไม่ไหวก็อย่าฝืน’ เกี่ยวกับพระเอกและนางเอกที่ทั้งคู่ต่างมีปมในใจ รวมทั้งต่างฝ่ายต่างช่วยรักษาจิตใจซึ่งกันและกัน เช่น พระเอกที่ต้องเป็นคนอดทนและปิดกั้นความรู้สึกอยู่เสมอ เเต่เมื่อนางเอกเข้ามาในชีวิต จึงทำให้เขากล้าเเสดงความรู้สึกในสิ่งที่อยากทำได้อิสระ ในขณะเดียวกันนางเอกจากที่เป็นคนไร้ความรู้สึก ก็กลายเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่าเคย

ซึ่งจากการเป็นคนดูซีรีส์เรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ‘ความเสียใจ’ ไม่ใช่เรื่องแย่ และเมื่อไหร่ที่เกิดปัญหา บางคนอาจจะเลือกวิ่งหนี แต่ It’s okay to not be okay กลับบอกให้เราสู้กับปัญหา และไม่ลืมที่จะปลอบใจตัวเองด้วยท่า Butterfly Hug ซึ่งเป็นวิธีที่ใครก็สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา

photo credit : Claudia Wolff on Unsplash
| เข้าใจ ‘ความเสียใจ’ ก่อนจะเจ็บลึก

พูดถึงความเสียใจ มันก็ไม่ได้เเย่เสมอไปถ้าจะเกิดขึ้นในชีวิต หากเราเข้าใจที่มาของ ‘ความเสียใจ’ เพื่ออยู่ร่วมกับมันได้อย่างมีความสุข โดย ‘Kathryn Schulz’ นักเขียนจากสำนักพิมพ์ New Yorker และเจ้าของหนังสือ Being Wrong : Adventure in the Margin of Error เล่าถึงความเสียใจใน Ted Talk Salon NY 2011 ว่า

ความเสียใจมักเกิดขึ้นจาก ‘อารมณ์’ เป็นหลัก โดยเกิดขึ้นจากตัวแปรเพียงเเค่ 2 อย่าง นั่นคือ ‘ตัวกระทำ’ เเละ ‘จินตนาการ’  ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทวีความเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น เช่น คุณกำลังไปสนามบินแต่รถติดมาก และตกเครื่องบินในที่สุด แล้วจะยิ่งรู้สึกเสียใจมากกว่าเดิม ถ้ารู้ว่าพลาดเครื่องบินที่เพิ่งออกไปได้เเค่ 3 นาที เจ็บกว่าการพลาดเวลาไป 30 นาทีเสียอีก นั่นเพราะเราจินตนาการว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ซึ่งความรู้สึกเสียใจจะเกิดขึ้นเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจที่เกิดผลเสียตามมา

Photo Credit : Kathryn Schulz : TEDSalon NY2011

ความเสียใจยุคนี้ระวังจะเป็นเเบบ
control + Z

นอกจากนี้รูปแบบของความเสียใจ มักมีอยู่ 5 ประเภทที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับทุกคน คือ การกลัวที่จะโดนปฎิเสธ ความสับสนไม่มั่นใจ การลงโทษตัวเองเพื่อชดใช้ในสิ่งที่ทำ การหมกหมุ่นกับปัญหา และข้อสุดท้ายที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ ‘วัฒนธรรมแบบ Control+Z’ เหมือนกับคำสั่งที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถสั่งลบและเรียกกลับมาได้ตามที่ต้องการ 

สิ่งเหล่านี้กำลังหล่อหลอมให้เราคุ้นชินกับการไม่ยอมเผชิญหน้ากับปัญหา เช่น คิดว่าสามารถใช้เงินเเก้ปัญหาให้จบลงได้ หรือมีเทคโนโลยีคอยควบคุมเป็นไปตามที่ต้องการ อย่างไม่อยากเจอคนนี้ก็กดบล็อกหนีได้ทันที แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เราเจ็บปวดมากขึ้น เพราะว่าไม่ได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเเละเติบโตได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน

Photo Credit : Netflix It’s okay to not be okay
| รับมือความเสียใจด้วย ‘อ้อมกอด’ ของตัวเอง

แม้ว่าความเสียใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ก็มีวิธีที่ช่วยเยียวยาให้ทุเลาลงได้ อย่างซีรีส์ It’s okay to not be okay สอนให้เราเผชิญหน้าดีกว่าวิ่งหนีปัญหา โดยเริ่มจากการยอมรับตัวเองในสิ่งที่เป็น อย่างพระเอกที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้ขลาด แต่ในที่สุดก็ได้เรียนรู้ที่จะกล้าแสดงความรู้สึกออกไป และทำให้เขาเข้มเเข็งมากกว่าเดิม รวมถึงสอนนางเอกให้รับมือกับความเสียใจด้วยท่า ‘Butterfly Hug’ หรือเรียกว่า ‘อ้อมกอดผีเสื้อ’ ซึ่งสามารถทำด้วยตัวเองง่ายๆ เพียงไขว้เเขนเป็นตัว X แล้วตบบ่าตัวเองเบาๆ จะช่วยสงบสติอารมณ์ที่พลุ่งพล่านลงได้

โดยท่า Butterfly Hug ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด หรือซีรีย์เรื่องนี้คิดขึ้นเอง แต่นี่คือวิธีการที่ใช้รักษาคนที่มีบาดเเผลทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนเเรง ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1998 โดยนักบำบัดวิทยาที่ชื่อ ‘Lucy Artgas’ ผู้เดินทางไปช่วยเหลือ บรรเทาความทุกข์ และความกลัวให้ผู้ประสบภัยกว่า 200 คน ที่รอดจากพายุเฮอร์ริเคนในประเทศเม็กซิโก โดยสอนให้ยกสองแขนโอบกอดหน้าอกของตัวเอง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับปีกผีเสื้อ ส่งผลให้ให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย และมันค่อยๆ น้อยลงจนกระทั่งสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สาเหตุที่ทำให้ Butterfly Hug ช่วยทำให้อารมณ์สงบนิ่งได้นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าจิตใจมีผลต่อการสั่งการของร่างกายที่เกิดจากความคิดและความรู้สึก หากได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจรุนเเรง ก็จะส่งผลให้ร่างกายรู้สึกหวาดกลัวและเเสดงท่าทางตามออกมา ดังนั้นเมื่อใช้ท่า Butterfly Hug ที่มีลักษณะโอบกอดร่างกาย จะช่วยทำให้รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยจากอันตรายได้ จึงทำให้จิตใจสงบและสั่งการให้ร่างกายลดความตึงเครียดได้ดีขึ้น

นอกจากนี้การกอดหรือการสัมผัส ยังเป็นภาษากายในการปลอบประโลมตัวเองและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มีใครเคียงข้าง หรือไม่สามารถหาคำพูดในการปลอบใจคนอื่นได้ เช่น หากเจอเพื่อนมีปัญหาทุกข์ในใจที่ไม่สามารถบอกใครได้ แล้วเราอยากปลอบใจเขา ก็สามารถเเตะไหล่ให้กำลังใจได้

หรือหากวันไหนที่ตัวเราเองรู้สึกเหมือนหล่นไปในหลุมมืดทึบ ก็ลองยกมือแตะไหล่แล้วลองชมตัวเองบ้าง เช่น วันนี้ทำดีเเล้ว เก่งมากเลย หรือไม่เป็นไร สู้ๆ ถึงจะเป็นคำพูดธรรมดา แต่หากได้ลองทำตอนเหนื่อยจากการทำงาน ก็สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ได้เหมือนกัน

| อยู่ร่วมกับความเสียใจโดย ‘ไม่เกลียดตัวเอง’

Kathryn Schulz ยังบอกอีกว่า ความเสียใจเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่เเล้ว ไม่ว่าจะมีบาดเเผลลึกน้อยมากเเค่ไหน แต่สุดท้ายเเล้วเราก็ไม่สามารถควบคุมกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด

“สิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต
ไม่ใช่การอยู่โดยปราศจากความเสียใจเลย
แต่คือการใช้ชีวิตที่ไม่เกลียดตัวเอง
หากเกิดความเสียใจเข้ามาต่างหาก”

หากรู้สึกเสียใจขึ้นมาเขาเเนะนำ 3 วิธีที่ทำให้ใจสงบได้แม้ยังรู้สึกเจ็บอยู่
1.ทำใจให้สบาย ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแค่คนเดียว อย่างเขาเองที่เสียใจในเรื่องรอยสักของตัวเอง หากลองเสิร์ชในกูเกิ้ลจะรู้ว่ามีคนรู้สึกแบบเดียวกันเป็นล้านคน

2. หัวเราะให้กับตัวเอง แม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องตลกร้าย แต่มันก็ทำให้มองทุกอย่างเป็นเรื่องขำขันสร้างอารมณ์บวกในชีวิตได้บ้าง เช่น เรานี่มันเซ่อจริงๆ ลืมของทิ้งไว้ได้อย่างไร 

3. ปล่อยให้เวลาผ่านไป เป็นเรื่องจริงที่เวลาทำให้ความเจ็บของบาดแผลค่อยๆ หายลงไปได้ ยิ่งช่วงพึ่งเกิดเเผลใหม่ๆ อาจจะรู้สึกเจ็บมาก แล้วยิ่งเห็นรอยแผลเป็นก็ยิ่งเศร้าไปกันใหญ่ แต่พอเวลาผ่านไปมันจะเป็นสิ่งย้ำเตือนใจที่ดีว่า ควรระวังตัวมากกว่านี้ ไม่แน่อาจจะต้องขอบคุณมันด้วยซ้ำที่ทำให้ก้าวผ่านอุปสรรคได้ไกลกว่าเดิม 

Credit : Kathryn Schulz : TEDSalon NY2011

สุดท้ายเเล้วความเสียใจเริ่มต้นจากความคิดของตนเองทั้งสิ้น หากไม่อยากเจ็บปวดกับความเสียใจ ก็ต้องเริ่มจากต้นจากเปลี่ยนความคิดของตัวด้วย เหมือนที่ Kathryn Schulz กล่าวว่า 

“เราต้องเรียนรู้ที่จะรักสิ่งที่บกพร่อง
ไม่สมบูรณ์แบบที่เราทำขึ้นมา 
และยกโทษให้ตัวเองที่ได้ทำลงไปแล้ว 

ดังนั้นความเสียใจไม่ได้เตือนเราว่า
เราทำสิ่งที่ไม่ดี 
แต่มันเตือนเราให้ตระหนักว่า
เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ ”


Sources :

Ted | https://1th.me/DvPTI
Comprehensive therapy approach | https://1th.me/zf7o8
Counseling Connections | https://1th.me/eraDH

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.