การบ้าน
‘โยนไข่ 1 ใบอย่างไรไม่ให้แตก‘
โจทย์วิทยาศาสตร์สมัยเด็กของ คุณติม-ฐิติมา พิมพามา นักเรียนชั้นประถมฯ ที่ลองนำผักตบชวากับไข่ไก่มาใส่ในถุงเท้า เพราะจำได้ว่าผักตบชวามีฟองน้ำเล็กๆ ซ่อนอยู่ด้านใน และน่าจะใช้กันกระแทกสิ่งของได้ดี เด็กหญิงติมไม่รอช้าที่จะนำมาทดสอบโดยการโยนลงจากโต๊ะเรียน และผลปรากฏว่าไข่ไก่ไม่แตกแถมยังอยู่ในสภาพดี
จากความรู้ในวันนั้นก็ไม่มีใครคาดคิดว่า วันหนึ่งจะถูกนำมาต่อยอดใช้เป็นโจทย์ธุรกิจในชีวิตจริงภายใต้แบรนด์ ‘Chva’ ผักตบชวากันกระแทก ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้พิทักษ์สินค้าระหว่างขนส่งให้ถึงมือผู้รับ คอยปกป้องไม่ให้สิ่งของมีรอยผุพัง แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถทดแทนการใช้พลาสติกกันกระแทก และสร้างคุณค่าผักตบชวา จากภาพจำวัชพืชในแม่น้ำที่ไร้ค่าให้กลายเป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
| การทดลองสู่การทำจริง
จุดเริ่มต้นลงมือทำแบรนด์ Chva ของคุณติม มาจากการค้นพบขยะใกล้ตัวที่เพิ่มพูนจนน่าตกใจ อย่างการช้อปปิงออนไลน์และมีสตูดิโอสอนถักเชือกมาคราเม่เล็กๆ ของตัวเองที่ต้องส่งสินค้าอยู่บ่อยครั้งและใช้พลาสติกกันกระแทกเป็นจำนวนมาก ด้วยความขี้สงสัยว่ามันน่าจะมีอะไรนำมาทดแทนกันได้ เธอเลยไปสำรวจจนเจอโฟมตัวหนอนที่มีรูปร่างเป็นแท่งๆ จึงทำให้คิดถึงการทดลองสมัยเด็กที่ใช้ผักตบชวาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ นำมากันกระแทกได้
เมื่อความคิดเดจาวูนี้แวบเข้ามาในหัว เธอจึงนึกสนุกลองนำผักตบชวาแถวบ้านในเพชรบุรีมาทำเป็นที่กันกระแทกอย่างจริงจัง ทั้งลองตากแดดให้แห้งสนิท ชุบกับสารกันเชื้อราตัวนู้นตัวนี้ที จนกลายเป็นตัวต้นแบบนำมาใช้ห่อหุ้มกับแก้วจริง ซึ่งครั้งนี้โยนมาจากชั้น 2 ของบ้าน และผลที่ได้คือไม่แตกตามที่หวังไว้
ตอนแรกกะทำเล่นๆ เอาไปโพสต์ในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก และกลายเป็นว่ากระแสดีจนคนเริ่มติดต่อให้ทำขาย บวกกับมีคนอื่นเริ่มทำบ้างแล้ว จนทางบ้านเสนอให้ทำธุรกิจของตัวเอง จนเกิดเป็นผักตบชวากันกระแทกแบรนด์ ‘Chva’ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
“นอกจากมีโปรดักต์ที่ดี แพ็กเกจจิ้งก็สำคัญนะ”
เธอเล่าว่าความตั้งใจในการทำแบรนด์ Chva คืออยากให้มันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ได้ใช้ และเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดขยะพลาสติกให้น้อยลง “อย่างตอนโควิดเป็นช่วงคนอยู่บ้าน ก็จะชอบสั่งของออนไลน์มากมาย แล้วสิ่งที่น่าตกใจคือเวลาเราสั่งอาหารกิน 1 มื้อขยะเยอะมาก ต้องมีถุงต่ำๆ 3 – 4 ใบ หนังยางเป็นกำๆ กล่อง ช้อนส้อมพลาสติกตามมาอีก คือเก็บได้เป็นลังๆ
“เราก็รู้สึกว่า แนวคิดผักตบชวากันกระแทกมันช่วยลดพลาสติกได้นะ และเราก็อยากให้มันเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับส่งออก อยากให้คนมองว่า
นอกจากตัวโปรดักต์แล้ว แพ็กเกจจิ้งก็สำคัญนะ มันช่วยลดขยะไปได้เยอะ แถมเรื่องราคาไม่ได้แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับโฟมตัวหนอน แต่คุณค่าที่ได้มันต่างกันนะ”
| ผักตบชวา นักกักเก็บความชุ่มชื้น
จุดเด่นของผักตบชวา คือฟองน้ำที่ช่วยกันกระแทกสิ่งของได้ แต่จริงๆ แล้วมีพืชชนิดอื่นที่มีลักษณะแบบนี้มากมาย อย่างต้นโสนและกาบกล้วย แต่ที่ Chva เลือกสิ่งนี้เพราะมันหาง่าย แพร่พันธุ์เร็ว และใช้งานยืดหยุ่นได้ดีกว่าในบรรดาพืชทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นพอได้ลองสัมผัส ก็ค้นพบว่ามันกักเก็บความชุ่มชื้นได้มากกว่าที่คิด
“ตอนนั้นมันเป็นเรื่องบังเอิญ คุณแม่คัดผักตบชวาที่ไม่สวยเตรียมจะไปทิ้ง แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไว้ไหนก็เลยโยนใส่กระถางต้นไม้ สรุปว่ามันกักเก็บน้ำได้ ด้วยความที่เป็นฟองน้ำอยู่แล้วและมันก็คลุมหน้าดินตลอด จากที่เรารดน้ำทุกวันก็เหลือแค่อาทิตย์ละ 2 – 3 วัน และก็มีลูกค้าเคยเอาไปหยดน้ำหอมและตั้งไว้ในห้องน้ำก็ช่วยลดกลิ่นอับได้ มากไปกว่านั้นเราซอยมันให้ละเอียดกว่านี้ได้อีกนะ เอาไปรองกรงสัตว์ไว้ดูดซับฉี่หรืออึของสัตว์เลี้ยง เช่น หนูแฮมสเตอร์ กระต่าย และชูก้าไรเดอร์
“ติมคิดว่าผักตบชวาใช้งานง่ายและหลากหลายมาก อย่างลูกค้าบางคนก็นำมาจัดกระเช้าของขวัญ ง่ายกว่าห่อพลาสติกอีก ก็แค่เทมันลงไป เร็วกว่านั่งห่อบับเบิลและติดสกอตช์เทปทีละอันเสียอีก ซึ่งมันแทนการใช้เศษกระดาษเส้นเล็กๆ ได้เยอะเลย”
| ธุรกิจระดับงานคราฟต์
แน่นอนว่าในวงการธุรกิจย่อมมีเจ้าอื่นๆ ทำแบบนี้มากมาย แล้วแบรนด์ Chva แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร เธอคิดสักพักก่อนจะตอบว่า วิธีการทำและความรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับผักตบชวาที่ต้องใส่ใจและพิถีพิถันไม่เป็นสองรองใคร เสมือนงานคราฟต์ชิ้นหนึ่งที่อาศัยการลงมือลงแรงและออกแบบเป็นสไตล์ของตัวเองไม่เหมือนใคร
‘ติมช่วยติดต่อลูกค้า
คุณแม่และชาวบ้านทำผักตบชวา
น้องส่งของ รายได้ทั้งหมดให้ครอบครัว
ค่าจ้างให้คุณค่าต่อชุมชน’
“ธุรกิจเราเป็นแบบครัวเรือน มีคุณแม่ คุณยาย น้องๆ และคนในชุมชนจังหวัดเพชรบุรีทุกคนสนิทกันเหมือนครอบครัว คุณแม่จะเป็นคนจัดการเรื่องหลังบ้าน คอยตรวจงานเวลาชาวบ้านตัดผักตบชวามาให้
“ซึ่งตอนเก็บและหั่นผักก็ต้องรีบทำให้เสร็จภายใน 1 – 2 วันในขณะที่มันยังสดๆ ด้วยนะ ไม่งั้นมันจะมีความชื้นและขึ้นราได้ แต่ถ้าใช้ผักตบชวาตอนแห้งแล้วมาหั่นไม่ได้นะ มันจะไม่พองและแฟบใช้กันกระแทกไม่ดี ตอนตัดก็ใช่ว่าจะได้ทุกต้นอีกนะ ก็ต้องคัดเลือกขนาดที่ไม่เล็กเกินไป บางคนตัดเฉียงก็ไม่ผ่าน ต้องตัดตรงเท่ากันเพราะมันมีผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ลูกค้าคนอื่นด้วย เสร็จแล้วก็ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อรา และนำเอาไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งแม่คราฟต์มาก
“อีกเรื่องคือเรารู้จักผักตบชวาเป็นอย่างดี เพราะเราเคยทดลองมาก่อน อย่างขนาดผักตบชวาใช้งานแตกต่างกัน ถ้าเป็นลำต้นเล็กที่แยกออกมาจากลำต้นใหญ่ ก็เหมาะสำหรับกันกระแทกสินค้าที่ไม่ได้เปราะบางมากนัก เช่น ผลไม้และขวดผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าลำต้นขนาดอ้วนๆ หน่อยก็กันกระแทกแก้วหรือเซรามิกได้
“คือเราอยู่กับมันมานานจนมองออกว่าแบบไหนแห้งหรือไม่แห้ง คือดูเหมือนจะแห้งนะแต่มันยังไม่แห้งจริงๆ หรอก ด้วยสีและลักษณะของมัน เพราะว่าขั้นตอนการทำให้แห้งต้องใช้เวลานานมาก
“บางคนใช้ผักตบชวาที่ยังไม่แห้ง มันก็มีผลเสียตามมานั่นคือเชื้อราก็จะติดไปกับสินค้าของคุณและเก็บไว้ได้ไม่ได้นาน รวมถึงเรื่องความสะอาด บางคนตากพื้นก็จะมีสิ่งสกปรกปะปน บางทีลูกค้าเอาไปห่ออาหาร ผลไม้ก็จะดูไม่ดี ซึ่งของเราตากแดดแบบยกสูงและจัดพื้นที่ไว้ในที่สะอาด ไม่มีน้องหมาวิ่งป้วนเปี้ยนหรือดินเปรอะเปื้อน ต้องระวังเป็นอย่างดี”
| ผักตบชวาสร้างคุณค่าของคน
ด้วยวิธีทำสุดพิถีพิถันกว่าจะเป็นผักตบชวากันกระแทกพร้อมห่อหุ้มสินค้า ทั้งหมดนี้เกิดมาจากฝีมือเพียง 5 – 6 คนในครอบครัวและชาวบ้านในชุมชนจังหวัดเพชรบุรี เหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้เล็กๆ และยังสร้างคุณค่าให้กับชีวิตของพวกเขามากกว่าเคย
“ชุมชนเราสนิทกัน ตอนทำผักตบชวาแม่ตัดเองไม่ไหว ก็จะวานผู้ใหญ่บ้านฝากคนช่วยหน่อยได้ไหม ใครว่างอยู่บ้านเลี้ยงหลานหรือทำไร่ทำนา ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ทำตลอดทั้งวัน เขาก็รู้สึกว่าใช้เวลาว่างแค่ช่วงเช้าไปตัดมาให้ ก็ได้รายได้เล็กๆ น้อยๆ แล้ว ทุกคนตื่นเต้นมาก เพราะมันได้เงินจากสิ่งที่เขาเห็นอยู่ตลอด โดยไม่ได้ปลูกเองด้วยนะตอนนี้ เพราะผักตบชวาโตมาจุดหนึ่งก็ต้องเอาไปทิ้ง มันเป็นวัชพืช”
“เขารู้สึกมีคุณค่า
เหมือนฉันมีงานทำ ไม่ได้อยู่ไปวันๆ
“อย่างคนที่ตัดประจำก็คือส่งหลานไปโรงเรียนตอนเช้า แล้วมาตัดผักตบชวา 3 ชั่วโมงต่อวันก็ได้ประมาณ 500 บาททุกวัน ในขณะที่เขาไม่ต้องออกไปทำงานโรงงานไกลๆ แต่มาทำงานที่ใกล้ตัวขึ้น และก็มีคุณยายอายุ 80 ปีมาช่วยเหมือนกัน เขาหาเงินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องขอเงินลูกหลาน เขาก็รู้สึกมีคุณค่าเหมือนฉันมีงานทำนะ มากกว่าอยู่บ้านเฉยๆ เราเห็น เราก็รู้สึกดีนะ”
| ก้าวต่อไปของ Chva
เราถามคุณติมว่าโปรดักต์ของ Chva จะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้มากขนาดไหน เธอตอบกลับมาว่า “คนมองว่ามันเป็นเอเลี่ยนแตกต่างจากพวก เพราะมันแพร่ขยายเร็วเป็นกอยาวคลุมทั้งแม่น้ำ ตักทุกวี่วันก็ไม่หมด เดิมจะมีคนเก็บผักตบชวาจากคลองมาทิ้งไว้บนพื้น แล้วปล่อยให้แห้งตายไป แต่พอมันแปรรูปเป็นโปรดักต์ได้ อย่างแรกคือมันย่อยสลายได้เร็ว และช่วยกำจัดผักตบชวาที่มันแพร่ขยายไปไม่มีที่สิ้นสุดให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มากกว่าถูกทิ้งเป็นขยะกองสูง
“เรามองว่าต่อไปการส่งของออนไลน์จากการส่งพัสดุจะสร้างขยะมากขึ้น ผักตบชวากันกระแทกก็ใช้แทนบับเบิลม้วนใหญ่ๆ ได้นะ และต่อไปเราก็มีแผนอยากจับมือกับธุรกิจขนส่งไปรษณีย์หรือเอกชนให้ใช้แพร่หลายได้มากขึ้น รวมทั้งอยากต่อยอดผักตบชวาให้มันเป็นแผ่นๆ สามารถห่อหุ้มได้เหมือนบับเบิลพลาสติก ซึ่งอาจจะลองกับวัชพืชอื่นๆ น่าจะดีเหมือนกัน”
ตลอดเวลาที่ติมเล่าถึงลูกค้า หน้าตาของเธอดูมีความสุขทุกครั้ง ที่ได้เห็นแต่ละคนนำผักตบชวากันกระแทกมาใช้กับสินค้าของพวกเขา หรือการประยุกต์ในรูปแบบต่างๆ คิดว่าวันหนึ่งผักตบชวาจะมาแทนที่พลาสติกเลยได้ไหม
เธอตอบอย่างมั่นใจว่า ไม่ เพราะทุกอย่างมีหน้าที่และความสำคัญของตัวเอง พลาสติกก็อาจจะเหมาะในการใช้งานแบบหนึ่ง ในทางเดียวกันผักตบชวากันกระแทกก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมกับโปรดักต์นั้นๆ ไม่มีอันไหนทดแทนกันได้ 100% แต่ถ้าการที่สิ่งสิ่งนั้นมันสามารถทดแทนและได้ประโยชน์มากกว่า เขาก็อยากนำเสนอให้คนได้สัมผัสและใช้งานได้สะดวก จนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่ใครๆ ก็ใช้กัน
สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : CHVA