นอกจากพลอยและผลไม้ที่เป็นของขึ้นชื่อจังหวัด ‘จันทบุรี’ แล้ว ‘อาหาร’ ก็เป็นอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งตัววัตถุดิบและการปรุง จนทำให้หลายคนติดใจในรสชาติ อยากแวะกลับมาอีกครั้ง
มีหลายแหล่งไม่น้อยที่เชื่อว่าจุดเริ่มต้นอาหารของชาวจันทบุรีมาจาก ‘ชุมชนริมน้ำจันทบูร’ ย่านเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์พื้นที่และประวัติศาสตร์อาหาร โดยในอดีตเคยเป็นแหล่งซื้อขายและกระจายเครื่องเทศที่สำคัญ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ทำให้สร้างสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลายได้ ซึ่งในปัจจุบันชุมชนก็ได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองจันทบุรี
คอลัมน์ Neighboroot ครั้งนี้ขอพาไปเดินท่องชุมชนริมน้ำจันทบูร โดยมี ‘หมู-ปัทมา ปรางค์พันธ์’ ผู้จัดการบ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี เป็นคนนำทางไปชมวิถีชีวิตในชุมชนริมน้ำจันทบูร พร้อมเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจในพื้นที่นี้ให้ฟัง
‘ชุมชนริมน้ำจันทบูร’ ชุมชนเก่าแก่ แหล่งกระจายเครื่องเทศของจันทบุรี
จันทบุรีอาจเป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวมากเท่าไรนัก แต่เพราะว่าเป็นจังหวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง จึงมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจซ่อนตัวอยู่ รอให้เราเข้าไปค้นหา โดยเรื่องราวเหล่านั้นเริ่มต้นพร้อมกับชุมชนเก่าแก่ที่มีมานานกว่า 300 ปีอย่าง ‘ชุมชนริมน้ำจันทบูร’ ที่ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่ใช่แค่อยู่มานาน แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ อย่างในจันทบุรี
“ถนนที่เรากำลังเดินอยู่นี้เป็นถนนเส้นแรกของจังหวัด เมื่อก่อนชื่อถนนเลียบนที จนมาถึงรัชกาลที่ 5 ก็เปลี่ยนชื่อเป็นสุขาภิบาล”
พี่หมูพาเราเดินชมชุมชนริมน้ำตลอดระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร พร้อมเล่าถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ กับการเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นทำเลที่เหมาะสม สะดวกสบายต่อการเดินทาง เนื่องจากอยู่ติดริมแม่น้ำซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมของคนสมัยก่อน ทำให้มีทั้งคนไทย คนจีน และคนญวน เข้ามาตั้งรกรากที่นี่เป็นจำนวนมาก และใช้พื้นที่ท่าเรือในการซื้อขายสินค้าจำพวกเครื่องเทศ ส่งผลให้บริเวณนี้ดึงดูดเหล่าพ่อค้ามากหน้าหลายตาเข้ามาทำการแลกเปลี่ยนที่ท่าริมน้ำจันทบูร จนกลายเป็นแหล่งที่ผสมผสานไปด้วยวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนาที่หลากหลาย
“นอกจากนี้ อากาศของพื้นที่ตรงนี้ก็ค่อนข้างชื้นเหมือนทางอินเดีย เลยมีการนำพริกไทยจากอินเดียเข้ามาปลูกด้วย และเราส่งออกได้ในปริมาณที่เยอะ กลายเป็นว่าเราก็มีเครื่องเทศบางอย่างที่เป็นผลผลิตของเราเอง เช่น ลูกกระวาน ดีปลี เพื่อส่งออกด้วยเหมือนกัน” พี่หมูเล่า
จากการเป็นทั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า แหล่งกระจายเครื่องเทศ และสถานที่สร้างผลผลิตได้ในแห่งเดียว ทำให้จันทบุรีมีต้นทุนในเรื่องของเครื่องเทศสมุนไพรซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร คนจันทบุรีจึงรู้สึกว่าในจังหวัดของตนนั้นมีอาหารการกินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
“ตั้งแต่มีคนมาเที่ยวบ้านเรา ก็มีหลายคนพูดว่าอาหารเมืองจันท์อร่อยนะ แล้วก็มีความเป็นเอกลักษณ์ของมันเองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นด้วย เรียกว่าเป็นเสน่ห์ของพื้นที่ก็ได้” พี่หมูพูดพลางยิ้ม
แม้จะขึ้นชื่อเรื่องอาหารในหมู่นักท่องเที่ยว แต่พี่หมูก็เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจันทบุรีให้เราฟัง “ปัญหาคือเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยทำอาหารทานกันเองแล้ว ส่วนใหญ่ก็ซื้อทาน จนบางเมนูค่อยๆ หายไป เราก็เลยรู้สึกว่า มันจะดีกว่าไหมถ้าเราหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร
“เพราะถ้าจัดเป็นกิจกรรมขึ้นมาก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่จับต้องได้ง่าย รวมไปถึงเรื่องที่จันทบุรีมีความพยายามจะทำเรื่องของเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารเป็นของ UNESCO เราวางแผนเอาไว้ว่าประมาณปี 2570 นี้ เราจะยื่นเป็นเมืองมรดกโลกทางด้านอาหารด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยอยากเดินทั้งจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” เธอบอกเล่าความตั้งใจ
การผสมผสานวัฒนธรรมทางอาหารคือเอกลักษณ์อันโดดเด่นของพื้นที่
เราเรียนรู้กันมาว่าอาหารคือมรดกวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง อย่างที่พี่หมูได้บอกไว้ว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นหากถามถึงเอกลักษณ์ของชุมชนริมน้ำจันทบูร เธอจึงมองว่า ‘การรวม’ วัฒนธรรมต่างๆ มาผสมผสานกันนั้นนับว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของที่นี่
เมนูหลายๆ อย่างที่เป็นของขึ้นชื่อจังหวัดก็เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดจากชุมชนริมน้ำแห่งนี้ ที่บรรพบุรุษนำเอาวิธีการทำอาหารของชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่รวมกันมาปรับและต่อยอดเป็นเมนูจานโปรดของแต่ละบ้าน ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัด
เพื่อเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้เอาไว้ ทางชุมชนได้จัดงาน ‘ชุมชนชวนชิม’ กิจกรรมเล็กๆ ที่ร่วมมือกับนักศึกษาภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ British Council Thailand ในการเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นผ่านเมนูอาหารประจำครอบครัว เพื่อเก็บเป็นข้อมูลของชุมชน รวมถึงยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน ให้แต่ละครอบครัวลุกขึ้นมาทำอาหารกันอีกครั้ง และออกมาทำกิจกรรมร่วมกันด้วย
‘ชุมชนชวนชิม’ นับเป็นโปรเจกต์ที่สองที่ทาง British Council Thailand ได้ให้การสนับสนุนชุมชนริมน้ำจันทบูร ในโครงการ Cultural Heritage for Inclusive Growth ซึ่งเป็นการสนับสนุนการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีชุมชนในโครงการทั้งสิ้น 4 ชุมชนในจังหวัดจันทบุรี แพร่ เลย และนครราชสีมา
กิจกรรมครั้งแรกของชุมชนริมน้ำจันทบูรนั้นจัดขึ้นในปี 2566 คือ ‘เส้นทางสมุนไพร’ ในจันทบุรี ที่ทางชุมชนมองว่าเครื่องเทศและสมุนไพรนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากชุมชนริมน้ำจันทบูร แต่ในปัจจุบันผู้คนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และไม่ได้ส่งต่อเรื่องราวให้กับคนรุ่นหลังมากเท่าไรนัก เพราะพื้นที่แห่งนี้ในอดีตถือได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสมุนไพร ทาง British Council Thailand จึงให้การสนับสนุนให้ทางชุมชนได้ทำการหาข้อมูลว่าชุมชนมีบทบาทสำคัญในเรื่องของสมุนไพรอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ทำให้ได้รู้ว่า เส้นทางการซื้อขายสมุนไพรในสมัยก่อนนั้นเป็นมาอย่างไร ส่งขายที่ไหน และมีสินค้าอะไรที่มีการแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่เก่าแก่แห่งนี้บ้าง
จากต้นทุนข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการเปิดเวิร์กช็อปและขายถุงหอมแก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถต่อยอดมาเป็นโปรเจกต์ระยะที่สองว่าด้วยเรื่องของอาหารในชุมชน ว่ามีความเชื่อมโยงกับสมุนไพรหรือเครื่องเทศต่างๆ ที่ได้ทำการสืบค้นจากโปรเจกต์แรกมากน้อยแค่ไหน และคนในชุมชนที่มองว่าเครื่องเทศสมุนไพรเหล่านี้เป็นของดีของเมืองจันท์นั้นได้นำมาทำเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เมนูอาหารที่สำคัญของจันทบุรีอย่างไรบ้าง
“เราให้คนที่สนใจร่วมกิจกรรมกับเราเลือกเมนูที่คนในบ้านชอบ แล้วนำมาเป็นเมนูประจำครอบครัว ใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนี่แหละมาทำ แล้วก็ให้คนในชุมชนมาชิมร่วมกัน เมนูไหนที่มีคนชอบมากที่สุดเราจะนำไปต่อยอด เพื่อที่ในอนาคตจะนำไปใช้ทำ Cooking Class สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องอาหารของเรา” พี่หมูอธิบาย
ในงานมีอาหารมากมายทั้งคาวและหวานจากหลากหลายบ้านที่อยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งแต่ละเมนูล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ทั้งสิ้น เช่น ‘น้ำพริกข่า’ ที่วัตถุดิบหลักอย่างข่าก็เป็นสมุนไพรพื้นถิ่นที่มีในพื้นที่อยู่แล้ว หรือ ‘อิ่วก้วย’ แป้งทอดใส่ไส้สไตล์จีนแต้จิ๋ว ที่ไส้ด้านในมีส่วนผสมของกุ้งแห้งจังหวัดจันทบุรีด้วย
พี่หมูเล่าต่อว่า ในขั้นตอนการคัดเลือกเมนูที่จะมานำเสนอภายในงานนั้น ทำให้เธอและชาวบ้านพบว่ามีหลายเมนูที่เคยเห็นและกินอยู่บ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากที่ไหน เพราะบางเมนูที่เชื่อกันว่าเป็นของชาติหนึ่งก็อาจจะเป็นอาหารจานโปรดที่ทำกินกันเป็นประจำของครอบครัวอีกชาติหนึ่งก็ได้ การทำอาหารของคนในชุมชนครั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงเอกลักษณ์การรวมเข้าด้วยกันของวัฒนธรรมต่างๆ ในพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
“วันที่เรามานั่งดูเมนูอาหาร เราเข้าใจว่าข้าวเกรียบน้ำจิ้มเป็นเมนูเวียดนาม เป็นเมนูของคนญวน แต่ป้าที่ทำก็บอกว่าที่บ้านป้าชอบกินเมนูนี้ นี่เป็นเมนูโปรดประจำบ้านป้า แต่ป้าเป็นคนจีนนะ” พี่หมูหัวเราะร่วน
กิจกรรมชุมชนชวนชิมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้คนในชุมชนได้มาใช้เวลาร่วมกันแล้ว ยังทำให้ได้เห็นเมนูอาหารมากมายจากหลากหลายบ้านในชุมชน ที่แม้แต่คนในพื้นที่ก็อาจจะไม่เคยรู้ว่ามีเมนูชนิดนี้อยู่ในจันทบุรีด้วยเหมือนกัน รวมทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเมนูบางอย่างที่เคยมีอยู่แต่ใกล้จะเลือนหายไปได้กลับคืนสู่ครัวอีกครั้งด้วย
ชุมชนโบราณ แหล่งกำเนิดของดีเมืองจันท์
“ร้านกาแฟร้านนี้ขายน้ำมะปี๊ดเจ้าแรกของเมืองจันท์นะ” พี่หมูชี้ให้เราดูร้านน้ำใน ‘ตลาดเฉลิมจันท์’ ที่คนในร้านกำลังชงน้ำอย่างขยันขันแข็งระหว่างที่กำลังพาเราเดินลัดเลาะในชุมชน
เพราะว่าเป็นย่านเก่าแก่ของจันทบุรี ชุมชนริมน้ำจันทบูรจึงเป็นพื้นที่แห่งต้นกำเนิดของดีจันทบุรีหลายอย่าง ไม่เพียงแต่อาหารจากหลากหลายวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ที่ชุมชนริมน้ำจันทบูรยังมีเมนูอื่นๆ ที่หากแวะไปเที่ยวแล้วก็ไม่อยากให้พลาดของดีกันไป
หนึ่งในนั้นคือ ‘น้ำมะปี๊ด’ หรือ ‘น้ำส้มจี๊ด’ ของดีดื่มง่าย รสชาติถูกปากของจันทบุรี ที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘ร้านกาแฟเฉลิมจันท์ (ตั้งหมงเซ้ง)’ ร้านน้ำชงที่เปิดมากว่า 70 ปี ได้ยินแบบนี้จะเดินผ่านไปก็กระไรอยู่
เราแวะเข้าไปพูดคุยกับ ‘พี่เปี่ยมสุข’ และ ‘พี่ปัถมา’ สองพี่น้องเจ้าของร้านน้ำแห่งนี้ ทั้งสองคนบอกกับเราว่า มะปี๊ดเป็นผลไม้พื้นถิ่นที่มีผลผลิตจำนวนมาก นอกจากจะนำมาใช้ประกอบอาหารบางชนิดแล้วก็ไม่ได้นำไปทำอย่างอื่น คนเลยไม่ค่อยให้ความสนใจกับมะปี๊ดเท่าไรนัก
“แล้วเมื่อก่อนมะปี๊ดราคาถูกมาก ปกติคนจันท์เอามาใช้แทนเวลามะนาวแพง พอมันมีเยอะเราก็เสียดาย เลยลองเอามาทำเป็นน้ำขาย ช่วงแรกๆ ก็คั้นขายแก้วต่อแก้ว แต่พอขายออกไปแล้วคนเริ่มชอบ ยิ่งพอชุมชนเปิดรับนักท่องเที่ยว ทาง ‘บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี’ ก็นำน้ำมะปี๊ดไปทำเป็น Welcome Drink ด้วย” พี่ปัถมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำน้ำมะปี๊ดให้ฟัง
เวลาผ่านไป 20 ปี ด้วยรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ให้ความสดชื่นระหว่างวันที่เจออากาศร้อนๆ ทำให้น้ำมะปี๊ดกลายเป็นเครื่องดื่มขายดี ไม่ว่าใครแวะมาจันทบุรีก็ต้องซื้อชิมกันสักแก้ว โดยเฉพาะภายในชุมชนแห่งนี้ที่เราเจอร้านน้ำมะปี๊ดได้ทั่วไป ไม่เฉพาะที่ตลาดเฉลิมจันท์เท่านั้น
“ดีใจนะที่เราตัดสินใจทำ อย่างน้อยเกษตรกรจะได้ค้าขายได้ มันเลยมีราคาขึ้นมา เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจมันเลย” พี่เปี่ยมสุขกล่าวทิ้งท้าย
หลังจากเดินฝ่าความร้อนกันมาครึ่งวัน พี่หมูก็พาเราไปเติมน้ำตาลกันต่อที่ ‘ร้านไอศครีมตราจรวด’ เธอบอกว่าเป็นไอศกรีมเจ้าแรกของจันทบุรีที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วนอกจากในชุมชนริมน้ำแห่งนี้เท่านั้น
ตู้ไอศกรีมหน้าร้านมีไอศกรีมโบราณหลากหลายแบบและรสชาติอัดแน่นอยู่เต็มตู้ เราเลือกเมนูขายดีของร้านอย่าง ‘ไอศกรีมกระเบื้อง’ มาลองชิม ไอศกรีมโบราณรสนมที่เคลือบด้วยชาเย็นจนเกาะเป็นน้ำแข็งนั้นช่วยดับร้อนได้เป็นอย่างดี
‘พี’ เจ้าของร้านบอกกับเราว่า ไอศกรีมแบรนด์นี้อยู่คู่กับชุมชนมานานกว่า 60 ปีแล้ว ตั้งแต่ที่ยังไม่มีแบรนด์ เรื่อยมาถึงยุคที่ส่งออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในรูปแบบของรถขายไอติม หรือรับไปขายตามร้านต่างๆ ทั้งในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง
“สมัยก่อนที่นี่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่พอมีการพัฒนาและปรับให้เป็นไปในเชิงท่องเที่ยว เราก็คิดในแง่ของการสนับสนุนการท่องเที่ยว คือถ้าคนอยากกินก็ให้เขามาทานที่นี่ เดินที่นี่ มาเจอกันที่นี่ มันเหมือนเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวไปในตัว ก็เลยปรับมาทำขายเฉพาะแค่ที่นี่ดีกว่า ไม่มีส่งออกไปที่อื่น ไม่มีแฟรนไชส์” พีเล่า
ไม่ใช่แค่หน้าตาและโลโก้รูปลักษณ์ของไอศกรีมเท่านั้นที่ยังคงคอนเซปต์ความโบราณเอาไว้ แต่พียังเสริมอีกว่า แม้แต่กระบวนการผลิตก็ยังคงรักษาความโบราณเอาไว้ด้วยเช่นกัน กระทั่งตัวเครื่องจักรที่มีอายุกว่า 60 ปีก็ใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่า นอกจากรสชาติใหม่ๆ ที่มีเพิ่มขึ้นให้เลือกสรรกินตามใจชอบแล้ว ร้านไอศครีมตราจรวดแห่งนี้จะพาทุกคนย้อนเวลาไปวัยเด็กด้วยรสชาติหวานๆ ของไอศกรีมที่ยังคงเดิมเหมือนในวันวานได้อย่างแน่นอน
ชีวิตที่ดำเนินต่อไปแม้ในวันที่พื้นที่เปลี่ยนแปลง
ชุมชนริมน้ำจันทบูรยังมีเรื่องราวให้น่าเข้าไปขุดค้น และร้านรวงให้เข้าไปพูดคุยซื้อของติดไม้ติดมืออีกมากมาย แม้จะมีร้านที่ย้ายออกไปบ้าง แต่ก็มีร้านใหม่ๆ ที่เข้ามาเปิดทำการ คล้ายทดแทนกันและกันไปด้วย ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดจันทบุรีอีกแห่งหนึ่ง
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ท่องเที่ยว แต่ในช่วงวันธรรมดาที่ไม่ค่อยมีคนมากเท่าไรนัก ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันกันอย่างเรียบง่าย เช่นเดียวกับ ‘ร้านขายยาจังกวงอัน’ ร้านขายยาร้านแรกในชุมชนที่ขายยาสมุนไพรทั้งไทยและจีนมายาวนานกว่าร้อยปี ตอนนี้ก็เป็นรุ่นที่ 4 แล้วที่เข้ามาดูแล
“สมัยก่อนคนจีนมาทางเรือ ก๋งเขาเห็นว่าเมืองจันท์มีพริกไทย กานพลู กระวาน อะไรพวกนี้อยู่มาก เขาก็เลยซื้อจากเมืองจันท์ไปส่งกรุงเทพฯ ซึ่งพอไปแล้วก็เห็นว่ามีร้านขายยา เขาเองพอจะมีความรู้เรื่องยาจากเมืองจีนอยู่บ้าง ก็เลยมาเปิดเป็นร้านขายยาที่นี่”
ด้วยความที่เป็นร้านขายยาแบบโบราณ ลูกค้าหลักส่วนใหญ่มักจะเป็นคนในชุมชนมากกว่านักท่องเที่ยว ‘ป้าบรรณพร’ เจ้าของร้านยาแห่งนี้บอกกับเราว่า แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงวันหยุด แต่ยาสมุนไพรไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของการท่องเที่ยวเท่าไร นานๆ ครั้งถึงจะมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาซื้อยา เช่น ยาบำรุงร่างกายสำหรับคนที่อยากมีลูก หรือหากมีความสนใจเกี่ยวกับยาสมุนไพรก็มีแวะเวียนเข้ามาปรึกษา ถาม และซื้อยาที่ร้านบ้าง
“นานๆ จะมาสักทีหนึ่ง คนสองคนอะไรอย่างนี้ แต่บางวันก็เยอะนะ ส่วนมากมาซื้อยาต้ม พวกยาบำรุงเลือดของคนวัยทอง และคนที่อยากมีลูก แล้วก็ยาไข้หวัด ยาประจำเดือน ยาโรคไต อะไรพวกนี้เรามีหมด”
ร้านยาแห่งนี้ไม่ได้รอให้คนเข้ามาปรึกษาเรื่องยาอย่างเดียว แต่ยังปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยผ่านการรับออเดอร์บนช่องทางออนไลน์พร้อมส่งให้อีกด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาซื้อยาหรือขอคำปรึกษาเรื่องยา หากต้องการสอบถามหรือสนใจสั่งซื้อยาอีกครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาถึงหน้าร้านก็ได้ เพราะปกติแล้วทางร้านมีบริการส่งยาออกไปตามจังหวัดต่างๆ ด้วย
ขณะเดียวกัน ธุรกิจเครื่องประดับพลอยในย่านนี้ก็ไม่ได้คึกคักเท่าที่เราคิดไว้ ในตอนแรกเราคิดว่าอาจเป็นเพราะวันธรรมดาที่ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่เจ้าของร้าน ‘บ้านร้อยสิบเก้า’ ร้านเครื่องประดับจากอัญมณีที่สืบทอดภูมิปัญญาการทำพลอยมากว่า 50 ปีอย่าง ‘น้ายิ้น’ และ ‘พี่เปิ้ล’ หลานสาว ก็บอกกับเราว่า ตั้งแต่ผ่านช่วง Covid-19 มา ธุรกิจการขายเครื่องประดับก็เงียบลงกว่าเดิมมาก แม้จะยังพอมีลูกค้าเก่าที่เคยติดต่อซื้อขายกันอยู่บ้างก็ตาม
“ของพวกนี้เป็นของฟุ่มเฟือยเนอะ ด้วยเศรษฐกิจด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เราคาดเดาไม่ได้เลย” เปิ้ลเล่าให้ฟังต่อว่า ก่อนหน้าที่เธอจะย้ายเข้ามาช่วยกิจการที่นี่ ร้านแห่งนี้ยังไม่มีหน้าร้าน เพราะส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกิจแบบมีลูกค้ามาติดต่อซื้อขายพลอยก้อน และมีการทำพลอยสำเร็จขายให้กับต่างชาติมาโดยตลอด ส่วนหน้าร้านที่เปิดเป็นโซนขายของนั้นเพิ่งจะมาทำใหม่ในช่วงประมาณ 10 ปีก่อน เมื่อมีการปรับปรุงพื้นที่ในชุมชนให้น่าอยู่และเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเดินเล่น
“พอเขาสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ทำให้บางร้านบางบ้านที่ปิดเงียบๆ ถ้ามีคนอยู่ก็จะเปิดขายของ หรือทำกิจกรรมที่ให้คนที่เข้ามาได้รับความสนใจบ้าง พี่ว่าอะไรแบบนี้มันก็ได้ผล”
การมีหน้าร้านช่วยเรียกความสนใจให้กับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา อาจได้ออเดอร์จากลูกค้ามาบ้าง แม้ว่าจะไม่มากนัก อย่างที่เปิ้ลได้บอกไปว่าการค้าขายของร้านตอนนี้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ แต่เธอก็เน้นย้ำว่าสินค้าของร้านนั้นให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลัก จึงเลี่ยงไม่ได้กับราคาที่ค่อนข้างสูงในความคิดของบางคน
แม้การไปท่องเที่ยวที่ริมน้ำจันทบูรในวันธรรมดาอาจไม่ได้คึกคักเท่ากับช่วงสุดสัปดาห์เท่าไร แต่ร้านรวงต่างๆ และชาวบ้านในย่านก็ยังคงให้การต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเราเป็นอย่างดี
ชุมชนแห่งนี้เป็นสถานที่อีกหนึ่งแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง ท่ามกลางบรรยากาศที่เชิญชวนให้คนที่อยากพักผ่อนในวันว่างได้มาใช้เวลาอย่างไม่เร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกรายล้อมไปด้วยอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ทั้งของหวานและของคาว หรือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่จะทำให้เรารู้จักจันทบุรีผ่านมุมมองวิถีชีวิตของชาวบ้านได้มากกว่าเดิม รับรองว่าใครมาย่อมต้องกลับไปพร้อมความอิ่มท้องและอิ่มใจเหมือนเราแน่นอน