boundary การสร้างขอบเขตพื้นที่ความเป็นส่วนตัว - Urban Creature

ผู้เขียนชอบล้อเล่นกับเพื่อนบ่อยๆ ว่า ‘My favorite B’ หรือ คำโปรดของฉันที่ขึ้นต้นด้วยตัวบี ไม่ใช่ เบสต์เฟรนด์ (Best Friend) หรือ เบบี้ (Baby) ที่รักอะไรหรอก แต่คือคำว่า ‘Boundary’ ต่างหาก

หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว อาจจะบ่อยหน่อยในช่วงหลังๆ ที่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตใจกันมากขึ้น

คำแปลจากพจนานุกรมของเคมบริดจ์ (Cambridge) อธิบายความหมายของคำศัพท์นี้ไว้ได้เห็นภาพ นั่นคือ ‘a real or imagined line that marks the edge or limit of something.’ (การมีเส้นแบ่งเขตที่มีอยู่จริงหรือคิดขึ้นมาก็ได้ ที่กำหนดขอบเขตของบางอย่าง) ก็คล้ายๆ กับการอธิบายที่ผู้เขียนชอบใช้เวลาพูดถึง Boundary ในแง่สุขภาพจิตใจ ว่ามันคือ ‘ขอบเขตความสบายใจและความปลอดภัยของตัวเอง’ ซึ่งเราเป็นคนกำหนด และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครเข้ามารุกราน Boundary ของเราตอนที่ยังไม่พร้อม เราจะรู้สึกอึดอัดและลำบากใจทันที

boundary สุขภาพจิต จิตบำบัด

ดูชัดเจนและเห็นภาพง่ายดีใช่ไหมล่ะ ก็ถ้าไม่ได้อยากยุ่งกับใคร หรือช่วยเหลือใครตอนนี้ เราก็บอกเขาไปว่าไม่พร้อมแค่นั้นเอง มันยากตรงไหน แต่ถ้าบางคนจะมองว่าเป็นเรื่องยาก คงคิดได้คร่าวๆ จาก 2 ปัจจัยนี้

1) หลายคนโตมาผ่านการอบรมสั่งสอนด้วยคุณธรรมการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ ต้องคิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่อยู่ในสถานการณ์ที่เราเลือกตัวเองก่อน เมื่อนั้นเราจะถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ถ้าเป็นเด็กก็เป็นเด็กไม่น่ารัก หลายครั้งเวลาเราไม่สามารถตอบรับการขอความช่วยเหลือจากใครตอนนี้ได้ เราก็จะรีบโทษตัวเองทันทีโดยอัตโนมัติ

2) วัฒนธรรมการทำงานที่ยากต่อการปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในตำแหน่งที่ผลงานของเราหนึ่งคนกระทบกับหลายคนในบริษัท เดิมพันมันสูง เราไม่สามารถพักผ่อนได้ทุกครั้งที่อยากหยุดพัก หรือเราอาจอยู่ในตำแหน่งที่ต้องคอยดูองค์รวม นั่นแปลว่า เมื่อไหร่ที่มีปัญหา ก็ต้องเป็นเราที่ต้องอยู่คุมจนคนสุดท้าย ได้ผ่อนคลายเป็นคนสุดท้ายเช่นกัน

หรือยิ่งไปกว่านั้น เราอาจทำงานในบริบทที่แทบไม่สามารถจะตั้งสติและมีเวลาอยู่กับตัวเองได้ ผู้เขียนนึกถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จากสถานการณ์ที่คนไข้หลั่งไหลมาเยอะกว่าการรองรับจากผู้ให้บริการหลายเท่านัก หากใครสักคนหยุดพัก ก็จะยิ่งเพิ่มงานให้คนที่เหลือ นี่ยังไม่รวมบุคลากรที่ป่วยจนทำให้จำเป็นต้องหยุดอีก มันคือช่วงเวลาที่ยากลำบากทางจิตใจเหลือเกิน

ที่กล่าวไว้ด้านบน ความตั้งใจคืออยากให้ทุกคนเอาตัวเองออกจากก้อนความรู้สึกผิด ว่าทำไมแค่ตัวเราเองคนเดียวยังดูแลให้ดีไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยภายนอกที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือระดับสังคมนั้น มีส่วนยิ่งใหญ่ในการทำให้การหันมาสร้างขอบเขตความสบายใจหรือ Boundary ของตัวเองเป็นเรื่องยากเหลือเกิน

boundary สุขภาพจิต จิตบำบัด

Boundary ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่น แต่มันอยู่ที่เรา

สำหรับใครที่ชีวิตพอจะผ่อนปรนให้หันมาดูแลตัวเองได้บ้าง อย่างแรกที่ต้องรู้คือมันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องทำความเข้าใจและจัดสรรความต้องการส่วนตัวของเราว่าขอบเขตที่จะสบายใจและปลอดภัยจริงๆ อยู่ตรงไหน อย่าคาดหวังว่าคนอื่นต้องรู้ เพราะเรามีหน้าที่แสดงให้เขาเห็นว่า Boundary ของเราเป็นสิ่งที่คนอื่นควรให้เกียรติ

การเคารพ Boundary ของตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่น คือการที่เราต้องตั้งมั่นว่าในช่วงเวลานี้ เราไม่พร้อมให้ใครเข้ามาจริงๆ หากเราไม่ชัดกับตัวเอง คนอื่นจะไม่มีทางรับรู้ได้ว่า Boundary ของเรามีค่าขนาดไหน และเขาก็มีสิทธิ์จะปฏิบัติต่อ Boundary ของเราอย่างหละหลวมเช่นกัน

อาจมีหลายคนไม่พอใจต่อการมี Boundary ของเรา

ที่ผ่านมา คงมีหลายคนที่ได้ประโยชน์จากการที่เราไม่มี Boundary คือหากพวกเขาต้องการอะไร เมื่อไหร่ ก็รู้ว่าเราคอยพร้อมอยู่เพื่อเขา มอบความช่วยเหลือให้ตลอดที่พวกเขาต้องการ

การที่เราเริ่มชัดเจนใน Boundary ของตัวเองขึ้นมา ว่าเราไม่สามารถอยู่เพื่อพวกเขาได้ทุกเมื่อที่เขาต้องการ อาจสร้างความโมโหให้บางคน หรือพวกเขาอาจตีตัวออกห่าง-ไม่สนิทกับเราเหมือนเดิม

สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอเลยคือ ‘ใครก็ตามที่รักเราจริง เขาจะมีความสุขเมื่อเห็นเรามีความสุข ไม่ใช่มีความสุข แค่เพียงช่วงเวลาที่เราทำให้เขามีความสุข’

การสร้าง Boundary ที่ชัดเจนขึ้นมา อาจทำให้เราต้องเสียใครบางคนไป แต่คนพวกนั้น ก็อาจไม่ใช่คนที่หวังดี และให้ค่าสุขภาพจิตของเราตั้งแต่แรก

boundary สุขภาพจิต จิตบำบัด

อย่ารอให้ใจพังเสียก่อน ถึงจะเริ่มจริงจังกับ Boundary

หลายคนไม่ชินกับการเห็นตัวเองมาก่อนคนอื่น คอยดูแลทุกคนจนเหนื่อยไม่ไหว สุดท้ายก็ท้อและสูญเสียแรงใจ หาพลังที่จะนำมากอบกู้ตัวเองได้ยาก

ผู้เขียนนึกถึงตัวเองตอนเรียนจิตวิทยาที่อเมริกา เมื่อก่อนผู้เขียนมักรับบทพี่อ้อย-พี่ฉอดประจำกลุ่ม คอยอยู่เพื่อคนอื่นทุกเมื่อ เพื่อนทะเลาะกับแฟน จะดึกขนาดไหนขอให้โทรหาผู้เขียนได้เสมอ แต่หลังจากเริ่มฝึกงานเป็นนักจิตบำบัด งานหลักของผู้เขียนคือการรับฟังชีวิตของคนอื่น ทำให้แทบไม่เหลือพลังใจที่จะรับฟังเพื่อนแบบไร้ขอบเขตได้เหมือนเมื่อก่อน กว่าจะชุบตัวเองให้สุขภาพจิตฟื้นขึ้นมาได้ เรียกว่าใช้วิธีหักดิบอยู่เหมือนกัน ต้องค่อยๆ ทำให้เพื่อนเข้าใจให้ได้ ค่อยๆ ฝึกทีละนิดให้ตัวเองชินว่าการฟังเสียงความต้องการตัวเองก่อนนั้น คือหนึ่งในการดูแลตัวเองที่ดีที่สุด

เราไม่ได้แค่เซฟตัวเองนะ เราเซฟทุกคนรอบตัวเราเลย

การที่เราเข้าโหมดดูแลใจตัวเองคนเดียว ไม่ข้องเกี่ยวกับใคร เราทำสิ่งนี้เพื่อเติมพลังให้ตัวเองพร้อมออกไปอยู่เพื่อคนอื่นที่เราแคร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนตัวเราเป็นแก้วน้ำ ถ้าเราไม่รินน้ำในแก้วของเราก่อน เราจะเอาน้ำจากไหนเติมให้คนอื่นเขา

การที่เราจำเป็นต้องปฏิเสธที่จะช่วยเหลือใคร มันไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดขาดจากเขาตลอดไป 

แต่แค่ตอนนี้เรายังไม่พร้อม แค่นั้นเอง

boundary สุขภาพจิต จิตบำบัด

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.