การตัดสินใจเสริมความงามของหลายๆ คนมักเริ่มต้นจากความต้องการที่จะลดริ้วรอยแห่งวัย ซึ่งมาพร้อมอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหัตถการอันดับต้นๆ ที่หลายคนรู้จักคือการฉีด ‘โบท็อกซ์’ หรือ ‘Botulinum toxin (BTX)’ สารช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และทำให้ริ้วรอยบนใบหน้าหายไป
แต่โบท็อกซ์ไม่ได้มีประโยชน์ด้านความงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกใช้เพื่อรักษาอาการไมเกรนเรื้อรัง ภาวะเหงื่อออกมาก ลดอาการเจ็บปวดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ภาวะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และอาการอื่นๆ ทางการแพทย์
มากไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การฉีดโบท็อกซ์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ผู้คนสุขภาพจิตดีขึ้นได้อีกด้วย
ฉีดโบท็อกซ์เพิ่มสวย ลดเครียด
นักวิจัยจาก ‘Skaggs School of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences’ แห่ง ‘University of California San Diego’ พบข้อมูลจาก ‘สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)’ ว่าคนที่ฉีดโบท็อกซ์ในตำแหน่งต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่หน้าผากมีภาวะซึมเศร้าลดน้อยลงมากกว่า 22 – 72 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยอาการเดียวกันที่ใช้การรักษาคนละรูปแบบ
โดยมีข้อสันนิษฐานว่า เมื่อคนเราเกิดความเครียด ร่างกายจะแสดงอาการผ่านสีหน้าอย่างเช่นการขมวดคิ้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า แน่นอนว่าเมื่อเกิดรอยตำหนิขึ้นมาก็จะยิ่งทำให้เกิดความกังวล ไม่มั่นใจ จนกลายเป็นความเครียดที่วนกลับมาอีกครั้ง
แต่การทำงานของโบท็อกซ์ช่วยให้เราไม่สามารถทำหน้านิ่วคิ้วขมวดจนเกิดรอยย่นบนใบหน้าได้ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นและหดหู่น้อยลงเมื่อส่องกระจกและเห็นหน้าที่ไร้ริ้วรอยของตัวเอง
ใบหน้าดูอารมณ์ดี คนรอบข้างก็แฮปปี้ไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่อธิบายไว้ใน ‘Journal of Cosmetic Dermatology’ ว่า รอย ‘เลข 11’ บริเวณระหว่างคิ้วที่ลดลงจากการฉีดโบท็อกซ์มีส่วนทำให้อารมณ์ของคนรอบข้างดีขึ้นได้ด้วย
โดย ‘Mark Nestor’ แพทย์ผิวหนังและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเครื่องสำอางทางคลินิกในเมือง Aventura รัฐ Florida ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อคนเราอยู่ใกล้กับคนที่ใบหน้าดูเคร่งเครียดจากรอยเลข 11 ที่เหมือนขมวดคิ้วอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะเกิดความรู้สึกขุ่นหมองขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม หากอยู่กับคนที่อารมณ์ผ่อนคลายและดูมีความสุข ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกเดียวกันไปด้วย
แม้ว่าอารมณ์ดีจากใบหน้าที่ดูอ่อนวัยลงจะดูเป็นผลข้างเคียงทางอ้อมจากการทำงานของโบท็อกซ์ แต่ทางนักวิจัยเองยังเชื่อว่า ตัวโบท็อกซ์มีฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ หมายความว่าการทำงานของสารเคมีในโบท็อกซ์จะช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้โดยตรงนั่นเอง จึงยังมีการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหากลไกการทำงานและผลกระทบข้างเคียงว่าสามารถนำไปต่อยอดทางการแพทย์เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าได้หรือไม่
แม้ว่าปัจจุบันการฉีดโบท็อกซ์เสริมความงามจะอยู่ได้เพียงชั่วคราว หมายความว่าสารชนิดนี้อาจช่วยกระตุ้นให้คนมีสุขภาพจิตดีได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และยังไม่มีการรับรองว่าจะช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าได้จริง ดังนั้นใครที่จะทำหัตถการต่างๆ จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และต้องระวังไม่ให้เกิดอาการเสพติดการเสริมความงาม หรือหากรู้สึกว่ามีสภาวะสุ่มเสี่ยงเป็นซึมเศร้า ก็ควรเข้าปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางรักษาอาการเบื้องต้นทันที
Sources :
Euronews | tinyurl.com/mrxxk23h
National Geographic | tinyurl.com/2xefkppp
NBC4 Washington | tinyurl.com/4xt7zeuu
Psychology Today | tinyurl.com/y2baytad
UC San Diego Health | tinyurl.com/3dt5ca5b