เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ละครเวทีที่ใช้ใจดูแทนดวงตา - Urban Creature

“ไม่มีหรอกความมืด มีแต่แสงสว่างที่เป็นสีดำ”

ยามมืดสนิท ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนจะมองหาแสงสว่างเพื่อดึงประสาทการมองเห็นกลับคืนมาอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากลองปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาวะมืดมิด แล้วเปิด ‘ประสาทอื่น’ เพื่อสัมผัสสิ่งที่เป็น เราอาจจะรู้ว่าบางครั้งไม่ต้องมองเห็นด้วยตา ก็สามารถรับรู้สิ่งเหล่านั้นได้ด้วยหัวใจ

เหมือนที่ ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ ละครเวที 6 มิติ ตั้งใจพาบทละครและนักแสดงมาเปิดประสบการณ์ให้คนดู ร่วมค้นหาสิ่งล้ำค่าที่ซ่อนอยู่ภายในความมืด ผ่าน รส กลิ่น เสียง สัมผัส เวลา และสถานที่ ซึ่งความตั้งใจทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากใจจริงของทีม ‘Blind Experience’ กลุ่มคนเบื้องหลังละครเวทีเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ที่หวังเป็นแสงสว่างเล็กๆ เหมือนเจ้าหิ่งห้อยในความมืด และเราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำ แสงสว่างสีดำ ครั้งนี้ ให้ทุกคนเปิดใจเรียนรู้ ผ่านการพูดคุยกับ ‘คุณหลุยส์ – กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์’ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้กำกับ พร้อมทีมนักแสดงที่ลงทั้งแรงใจและแรงกาย

น้องผู้พิการทางสายตาคนแรกเมื่อ 7 ปีก่อน | คือคนที่สอนให้รู้จักกับ แสงสว่างสีดำ

เราเปิดบทสทนาครั้งนี้ ด้วยคำถามที่เรานึกสงสัยมาตั้งแต่ต้น ว่าเพราะอะไรคุณหลุยส์ถึงเลือกทำงานเพื่อผู้พิการทางสายตา เขามีความผูกพันหรือความทรงจำอะไรมาก่อนหรือเปล่า ? และคำถามนี้ก็ทำให้เราได้รู้จักกับ ‘น้องท็อฟฟี่’

“ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน ตอนนั้นผมกับเพื่อนๆ เพิ่งเรียนจบกันครับ บังเอิญไปเจอประกาศในอินเทอร์เน็ตที่เปิดรับคนสอนการบ้านผู้ที่มองไม่เห็น ตอนนั้นพวกเราเป็นแค่กลุ่มวัยรุ่นที่เรียนจบแล้วอยากไปสอนการบ้าน ไม่ได้มีวาระอื่นๆ เลย ซึ่งน้องที่ได้ไปสอนคนแรกชื่อ ‘น้องท็อฟฟี่’ เรียนอยู่ปี 1 คณะรัฐศาสตร์ พอได้สอน ได้พูดคุย ผมได้รู้ว่า น้องเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนตาบอดกับคนตาดี หรือแม้แต่ในมุมของคนตาบอดด้วยกันเอง

“น้องเลยคาดหวังว่า ถ้าเรียนคณะนี้ไป จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่น้องเขาบอกต่อว่า ไม่เชื่อหรอกว่ามันจะเป็นจริง นั่นหมายถึงว่า ถ้าน้องเรียนจบไป ก็ไม่สามารถไปอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่ดี

“ผมเลยรู้สึกว่า กลับกันในด้านของคนตาดี ถ้าพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมเมื่อ 7 ปีก่อน เรามีวิธีการเยอะมาก จะทำหนัง สื่อสารมวลชน หรือเขียนหนังสือก็ได้ แต่ในมุมของคนที่มองไม่เห็น เขามีตัวเลือกน้อย แล้วตัวเลือกที่มีอยู่ เขาก็ดันไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ ผมรู้สึกว่านี่คือชีวิตที่มันยากลำบากมากเลย ผมกับเพื่อนๆ เลยตกลงกันว่า จะทำละครเวทีสำหรับผู้พิการทางสายตาซึ่งถือเป็นสื่ออย่างหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าคุณอยากจะสื่อสารอะไร มาสื่อสารผ่านละครเวทีไปด้วยกันนะ”

เริ่มใช้ใจมอง | จึงได้เห็นความเหมือน

เมื่อได้ทำงานกับคนที่มองไม่เห็นจริงๆ ครั้งแรกเมื่อสัก 4 ปีก่อน เขารับรู้ได้ทันทีเลยว่า ผู้พิการทางสายตาไม่ต่างจากเราเลย

“ตอนแรกคิดว่าเขาต้องพูดคนละภาษากับเรา แต่จริงๆ แล้วเขารู้เหมือนที่เรารู้ ผมเห็นเขาเล่นเฟซบุ้ก หรืออินสตาแกรม เลยเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเขาก็มีสังคม เสพสื่อในโลกเดียวกับเรา เลยรู้สึกว่าเราหรือเปล่าที่คิดไปเองว่า เขาต้องอยู่คนละโลกกับเรา ต้องพูดจาไม่รู้เรื่องแน่เลย ถึงไม่ค่อยชอบพูด แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เขามีอะไรที่คล้ายเรามาก อันนี้คือจุดที่เปลี่ยนความคิดผมไปมากเหมือนกันครับ”

ศิลปะเพื่อทุกคน | ในละครเวทีที่ไม่ต้องมองเห็นด้วยตา 

เริ่มทำงานได้ 4-5 ปี หลุยส์ค้นพบคำตอบว่า ถ้าพูดถึงศิลปะในสังคมไทย ที่มักบอกว่าศิลปะเป็นของทุกคน แต่ในความจริง คนที่ได้เรียน ได้ใช้ ได้ชม กลับเป็นคนชั้นกลาง

“ผมคิดว่าต้องสร้างความหมายใหม่ๆ เลยมองกลับไปว่าใครในสังคมบ้างที่มีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะได้น้อยที่สุด เราพบว่าคือ เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือคนที่ไม่ได้ร่ำรวยมาก คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแกลเลอรี หรือโอเปราเฮาส์ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งครับ ที่วันนี้เขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ศิลปะ นั่นคือ คนที่มองไม่เห็น เพราะศิลปะส่วนใหญ่มันเป็นภาพที่ต้องมองถึงจะเข้าใจ

“ผมกำลังตั้งคำถามกับสังคมเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังทำงานกับกลุ่มคนที่ทำงานด้วยยากที่สุด เพราะองค์ความรู้หลายๆ อย่างไม่ได้ทำมาเพื่อคนที่มองไม่เห็น ศิลปะทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ ละครเวที หนัง คนมองไม่เห็นดูแล้วจะไม่เข้าใจมากที่สุดครับ ผมเลยรู้สึกว่า การทำละครเวทีครั้งนี้ มันท้าทายอยู่สองประเด็น คือการเปิดพื้นที่สื่อสารให้ผู้ที่มองไม่เห็น และอยากจะบอกกับสังคมว่า ถ้าเราทำสิ่งนี้สำเร็จ แล้วมีคนมาบอกว่า ฉันไม่เข้าใจศิลปะ ฉันทำงานศิลปะไม่ได้ นั่นไม่จริงเลย เพราะขนาดคนที่มีโอกาสเข้าถึงยากที่สุด เขายังชมและเข้าใจได้ แล้วทำไมคุณจะไม่เข้าใจ”

เรื่องเล่าจากหิ่งห้อยครั้งนี้ | ปรับบทให้ผู้ชมสัมผัสประสบการณ์มากกว่าครั้งก่อน

ละครเวที 6 มิติ ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เมื่อปี 2557 คุณหลุยส์ และทีมงาน พร้อมนักแสดงที่มีทั้งคนที่มองเห็นและคนที่มองไม่เห็น ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างละครเวทีครั้งแรกขึ้นมาแล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและพูดถึงความประทับใจอย่างท่วมท้น กลับมาครั้งนี้ คุณหลุยส์จึงปรับบท และเพิ่มเทคนิคต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้ชมได้พบเจอกับประสบการณ์ที่ประทับใจกว่าเคย

“ละครของเราไม่ได้ใช้การมองเห็น แต่มันใช้อีก 4 เซนส์ในการรับชมนะครับ นั่นคือ รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งตัวบทครั้งนี้มันมีความลึกซึ้ง ละเอียดมากขึ้น มีการตีความใหม่จากครั้งก่อน และรอบนี้ผมรู้สึกว่าเราเพิ่มเทคนิคเข้ามามากขึ้น เราขายประสบการณ์มากขึ้น นั่นหมายถึงการดีไซน์ตั้งแต่ก้าวที่หนึ่งที่คุณเข้ามาไปจนถึงก้าวสุดท้ายที่ออกไป มันถูกดีไซน์มาทั้งหมด ตรงนี้มันปรับเปลี่ยนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเพลงเข้ามา การให้ดีเทลของไลน์ประสานในเรื่อง หรือระบบเสียงต่างๆ” 

เปิดโอกาสให้ทุกคน | เข้าร่วมเป็นนักแสดง

“ทีมเราไม่ได้มีนักแสดงประจำ ทุกครั้งที่เปิดการแสดงใหม่ก็จะออดิชันใหม่ ซึ่งวิธีการรับสมัครครั้งนี้ จะเป็นวิธีการที่เปิดกว้างให้ใครก็ได้เข้ามาร่วมงาน เพราะเราต้องการทำละครที่เป็น inclusive นั่นหมายถึงว่า คนที่มีความแตกต่างกันสามารถรับชมแล้วสนุกร่วมด้วยกันได้ เช่นกันครับ เราก็มาวิพากษ์เรื่องการรับทีมงานเหมือนกัน คือเราพยายามจะเปิดกว้าง เพราะเราเห็นว่า คนทั่วไปในสังคมที่อาจไม่ได้เป็นดาราดัง หรือเรียนมาด้านนี้โดยตรง คุณจะไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในโปรดักชันได้เลย 

“แต่ของเราไม่ใช่  50% ของเราเป็นอาสาสมัคร อีก 30% เป็นนักแสดงที่ไม่ได้เป็นนักแสดงมืออาชีพ 20% เท่านั้นครับที่เป็นนักแสดงมืออาชีพและนักศึกษาที่กำลังเรียนคณะการแสดง รวมถึงมีคนที่มองไม่เห็นร่วมด้วย มันสะท้อนกันนะ คนดูก็มีความหลากหลาย คนทำก็ควรจะต้องเป็นอย่างนั้นเช่นกัน”

คนตาดีและคนตาบอด | การทำงานภายใต้คำว่า ‘เข้าใจ’ 

“เริ่มแรกการทำงานมันซับซ้อนนะ เพราะแน่นอนว่าการทำงานระหว่างคนมองเห็นกับคนมองไม่เห็นต้องมีปัญหาอยู่แล้ว ต้องมองก่อนว่า คนที่มองไม่เห็น เขามองว่าเขาขาดโอกาสในสังคม ฉะนั้นพอเขาเอาตัวเองออกมาอยู่ในโลกของคนมองเห็นแล้วได้รับโอกาส เขาก็ไม่อยากเสียมันไป เท่ากับว่าเขาพยายามทำตัวให้มีปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้นการขอร้อง หรือการขอความช่วยเหลือจะน้อยมาก เพราะเป็นจุดที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขายุ่งยาก

“กลับกันในมุมของคนที่มองเห็น เราก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะบางทีเราเหนื่อยก็พัก ปวดฉี่ก็ไปเข้าห้องน้ำ แต่บางทีเราจะเห็นว่าคนที่มองไม่เห็นนั่งนิ่งมากเลย ถามว่าไปเข้าห้องน้ำไหม ? ’อ๋อ ไม่เป็นไรค่ะ’ หิวไหม ? ‘อ๋อ ไม่หิวค่ะ’ แล้วมันจะเกิดความสับสน เราเลยต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในตัวเขาอยู่ด้วย คีย์มันมีแค่นี้เลยครับ

“ถ้าเราเป็นคนตาดีต้องการอะไรในชีวิต คนที่มองไม่เห็นก็ต้องการเช่นเดียวกัน”

“พอเราเริ่มต้นอยู่ร่วมกันด้วยความคิดแบบนี้ เราจะเข้าใจแล้วว่า บางครั้งเองเราต้องเป็นฝ่ายเข้าหาก่อนนะ เพราะเขาอยู่ในมุมที่ดูถูกตัวเอง ไม่อยากทำตัวมีปัญหา”

ละครเวทีที่ยั่งยืน | สิ่งที่ Blind Experience กำลังก้าวไปให้ถึง

ไม่เพียงทำละครเวทีที่เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารให้ผู้พิการทางสายตา แต่ ‘ความยั่งยืน’ ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจอยากสร้างให้เกิดขึ้นจริง

“ผมกำลังพูดถึงศิลปะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ คอนเซปต์คือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยั่งยืน’ นั่นหมายความว่า มันมีเรื่องของธุรกิจ และการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเราตั้งคำถามว่า ถ้าสิ่งที่ทำมีคนตาดีเข้ามาดูด้วยความสงสาร ครั้งแรกเขามา แต่ครั้งที่ 2 3 4 เขาอาจจะตั้งคำถามว่า พื้นที่ตรงนี้มีอะไร พอสุดท้ายมันไม่มีเขาก็จะถอยไป หมดความสงสาร เพราะได้ช่วยเหลือไปแล้ว ฉะนั้น เราต้องทำให้คนที่มางานทุกคน ออกไปด้วยความรู้สึกที่เขาได้ประโยชน์ เช่น ละครเจ๋ง สนุก ดูแล้วได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เขาตัดความสงสารทิ้งไป

“Blind Experience ปีนี้เลยมองภาพของการทำงานเพื่อสังคม ทำงานกับกลุ่มคนที่แปลกออกไป เรามองหาความยั่งยืน จึงเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ เราประชาสัมพันธ์เรื่องผู้พิการทางสายตาน้อยมาก เพราะไม่ต้องการให้คนเข้ามาเพื่อดูคนตาบอด แต่เราอยากให้ทุกคนเข้ามา เพราะเขารู้สึกว่าโลกในความมืดมันน่าสนใจ คีย์คือไม่ได้โฟกัสที่ตัวบุคคล แต่คีย์คือการโฟกัสที่ตัวกิจกรรม

“ฉะนั้น ปีนี้มันจะเปลี่ยนไปหมด บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนตาบอดเล่น แต่เขารู้สึกแค่เห้ย ดูละครแบบมองไม่เห็นมันเป็นยังไง ผมอยากทำให้คนตาบอดดูก็สนุก คนตาดีดูก็สนุก คนตาบอดเล่นก็ได้ คนตาดีเล่นก็ได้ ผลประโยชน์หรือการช่วยเหลือมันเป็นเรื่องรองลงมา แบบนี้มันจะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้น เราเลยอยากให้สังคมไทยมองใหม่ เวลาคิดทำกิจกรรมเพื่อสังคม อย่าไปโฟกัสที่ตัวบุคคลมากเกินไป

Universal Design | เมสเสจที่ซ่อนอยู่หลังม่าน

“Universal Design คือสิ่งที่สำคัญมากและผมอยากให้ทุกคนรับรู้ได้จากการออกแบบละครเวทีครั้งนี้ มันเป็นหลักคิดที่ว่าทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เช่น ทางเท้าในวันนี้มีเบรลล์บล็อกคู่กับทางเท้าปกติ เห็นไหมครับว่ามันไม่มีใครต้องช่วยเหลือใคร แต่ทุกคนช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะพื้นฐานของคนทุกคนไม่ต้องการความช่วยเหลือ แต่วันนี้เราพยายามที่จะเข้าไปซัพพอร์ท คนที่มองไม่เห็น เข้าไปช่วยเหลือเขา แต่จริงๆ แล้ว คุณต้องสร้างสิ่งที่ทุกคนใช้บริการได้ และปล่อยให้เขามีชีวิตของเขา เหมือนที่วันนี้ผมทำโรงละครที่เป็น Universal Design ผมไม่ได้เชิญชวนแค่คนตาดี หรือคนที่มองไม่เห็นมาดู แต่เชิญชวนว่าใครจะมาดูก็ได้

“ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงการแก้ปัญหา แต่ต้องมองตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสร้าง มันควรถูกคิดถึงพวกเขาตั้งแต่วันแรก พวกเขาจะได้มีความสุขจริงๆ เพราะมันสร้างมาเพื่อเขาแล้ว” 

“ซึ่งผมรู้สึกว่า สังคมไทยยังขาดอีกเยอะ เพราะเราอยู่ในสังคมเวทนานิยม ที่พยายามจะไปช่วยเหลือคนอื่น ทั้งที่เขาสามารถมีชีวิตด้วยตัวเองผ่านการออกแบบเมืองที่คิดถึงพวกเขาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ผม และทีมงานเรื่องเล่าจากหิ่งห้อยทุกคน อยากฝากไว้ให้สังคมได้ฉุกคิดกันสักนิด”

วริยา อินทรียงค์ (ซ้าย) และ พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ (ขวา)

“การทำงานครั้งนี้มีตั้งแต่คนที่มองเห็น และผู้พิการทางสายตา เราได้สิ่งใหม่ๆ กลับไป ได้เรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ แล้วยังได้เปลี่ยนความคิด หรือมายาคติที่สื่อส่วนใหญ่บอกเราว่าเขาเป็นอย่างนี้นะ เขาเป็นอย่างนั้นนะ เขาน่าสงสารแค่ไหน ซึ่งจริงๆ แล้วเขาคือคนธรรมดาที่ต้องการพื้นที่ให้เขาได้มีอิสระมากกว่าการที่จะถูกกรอบด้วยความสงสารของสังคม” – วริยา อินทรียงค์ (รับบท : คุณยาย) (ซ้าย)

“การได้ร่วมเป็นนักแสดงละครเวทีเรื่องเล่าจากหิ่งห้อยทำให้ตาลรู้ว่า ถึงเขาจะมองไม่เห็น แต่เขาใช้ความรู้สึก ใช้ร่างกายของเขา เสียงของเขา ส่งความรู้สึกผ่านสัมผัสอื่นๆ เราเลยอยากทำมันออกมาให้ดี อยากให้ทุกคนมาสัมผัสตรงนี้ บางทีเราพักการมองเห็น แล้วลองมาใช้สัมผัสอย่างอื่นกัน ลองปิดตาสัก 1 ชั่วโมง มันเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากมากเลย” – พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ (รับบท : พิมพลอย) (ขวา)

นิพิฐพนธ์ ผิวทองดี

“ครั้งที่แล้วเราเป็นคนดู แต่ครั้งนี้เรามาเป็นนักแสดง มันทำให้เราเข้าใจผู้พิการทางสายตามากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับผู้พิการทางสายตา ทำให้รู้ว่าสามารถปฏิบัติต่อเขาได้เหมือนคนทั่วไป เพราะถ้ายิ่งเราช่วยเหลือเขามากเท่าไหร่ เขาจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง” – นิพิฐพนธ์ ผิวทองดี (รับบท : ไม้)

มิเชล แอลจิล่า รพีไอ. กินโตะ

“หนูดีใจมากที่มีโอกาสร่วมแสดงเรื่องนี้ เป็นละครเวทีที่หนูรู้สึกว่ามันอิ่ม เป็นความอิ่มที่เราสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างทั้งใจ มันทำให้น้ำตาหนูไหลทุกครั้งที่เล่น มันครบทุกรสชาติ” – มิเชล แอลจิล่า รพีไอ. กินโตะ (รับบท : น้ำ)

ถึงแม้ว่าละครเวที 6 มิติ ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ จะบัตรเต็มทุกรอบแล้ว แต่ทางทีม Blind Experience ได้ประกาศเปิดรอบเพิ่มเร็วๆ นี้ หากท่านใดสนใจ สามารถพิมพ์คำว่า “สนใจ” หรือ แท็กเพื่อน ไว้ใต้คอมเมนต์ของโพสต์ Blind Experience หรือ กรอกข้อมูลเพื่อรับข้อมูลข่าวสารเพื่อทีมงานจะได้แจ้งเตือนท่านก่อนใครได้ที่ https://forms.gle/Q26zjsoaDGa4bCpZ7 

หากได้สถานที่ วัน และเวลา ทางทีมงานจะรีบเเจ้งเตือนทุกท่านโดยเร็วที่สุด

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.