แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ มาจากการที่ผู้เขียนเลื่อนเจอสเตตัสของรุ่นพี่คนหนึ่ง เล่าถึงความ ‘กระวนกระวายใจ’ ทุกครั้งที่เห็นคอนเทนต์ปีชง เพราะมันทำให้เขากลัว เนื่องจากไม่อยากให้ชีวิตโชคร้ายกว่าที่ผ่านมาอีกแล้ว เวลาเข้าโซเชียลมีเดีย รุ่นพี่ต้องเลื่อนฟีดผ่านเร็วๆ เพราะไม่อยากอ่านให้มันผ่านเข้ามาในใจ
อีกอย่าง ทุกวันนี้เราเปิดรับข่าวสารที่ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเศร้าและน่ากลัวทุกวัน จนเรื่องร้ายต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่เราเผลอคาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้น ไม่กับเรา ก็กับสังคม
ทีนี้พอมีเรื่องปีชงเข้ามา บวกกับพื้นฐานข่าวสารที่ได้รับ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนจิตตก กังวลมากขึ้น ต่อให้เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม
ไม่ว่าปีนี้จะเป็นปีชงของเราหรือไม่ แต่ในทางสุขภาพจิตแล้ว ผู้เขียนในฐานะคนทำงานด้านจิตบำบัดก็อยากเสนอแนะวิธีช่วยประคับประคองจิตใจให้ผ่านด่านสนามทดสอบเรื่องโชคลางไปได้อย่างไม่วุ่นวายใจมากนัก
1) หมั่นสังเกตว่าตัวเองกำลังคาดหวังสิ่งที่ไม่ชอบให้เป็นจริงอยู่หรือเปล่า
มีทฤษฎีหนึ่งทางจิตวิทยาเรียกว่า Self-fulfilling Prophecy ซึ่งเป็นการอธิบายถึงความเชื่อหรือความคาดหวังบางอย่างที่ทำให้เรายึดมั่นในสิ่งนั้นมากๆ จนส่งผลต่อการกระทำของเรา และทำให้ความเชื่อหรือความคาดหวังของเรานั้นเป็นจริง
ยกตัวอย่าง เราเข้าทำงานที่ใหม่วันแรก เห็นผู้หญิงคนหนึ่งดูหน้าบึ้งตึงเป็นพิเศษ เราคิดไปเองว่าเธอคนนี้จะต้องไม่ชอบเราแน่ๆ เลยไม่อยากเข้าไปชวนคุยเพราะกลัวเธอจะยิ่งรำคาญ แถมเธอเองก็ไม่ได้สนใจเรา พร้อมกับเดินผ่านหน้าไปอีก ทำให้เราเชื่อว่า เธอคนนี้ต้องไม่ชอบหน้าเราแน่ๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วเธออาจจะโมโหหิวเฉยๆ ก็ได้
พอเชื่อแบบนี้ ก็อาจทำให้เราพูดจาหรือแสดงท่าทีที่เฉยเมย ไม่เป็นมิตรออกไป จนทำให้อีกฝั่งรู้สึกได้ถึงบรรยากาศลบๆ และไม่อยากยุ่งกับเรา สุดท้ายก็อาจนำไปสู่การไม่ชอบกันจริงๆ ก็เป็นได้
โปรดระลึกไว้เสมอว่า ยิ่งเราเชื่อในสิ่งไหนมากๆ นั่นไม่ได้ทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นจริงเสมอไป แต่มันมีส่วนสูงมากที่ทำให้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะเชื่อว่ามันเกิดขึ้นเพราะเราเองคิดคาดการณ์ไว้แล้ว
2) โฟกัสในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้
เมื่อไหร่ก็ตามที่จับตัวเองได้ว่า หมกมุ่นอยู่กับความกลัวหรือความคิดในแง่ลบอยู่ เช่น วันนี้จะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ แฟนจะนอกใจหรือเปล่า พ่อแม่จะมีโรคร้ายไหม
นอกจากวนไปทำความเข้าใจในข้อหนึ่งที่ว่าด้วย ‘ความคิดร้ายๆ ของเรา ไม่ได้มีพลังมากพอจะทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงเสมอไป’ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านค่อยๆ ถามตัวเองว่า มีสิ่งไหนบ้างที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งมันมีเยอะมากๆ แน่นอน
แล้วถ้าถามตัวเองว่า มีสิ่งใดบ้างที่อยู่ในการควบคุมของเรา ก็อาจเหลืออยู่ไม่กี่อย่าง เช่น การตั้งใจขับรถโดยไม่เล่นโทรศัพท์ไปด้วย การมั่นใจว่าตัวเองพักผ่อนเพียงพอเพื่อป้องกันการหลับใน เป็นต้น
โดยสรุปคือ อยากให้หันมาโฟกัสกับสิ่งที่เราควบคุมได้ให้ดีที่สุด แล้วมันจะง่ายขึ้นสำหรับการเพิ่มพื้นที่ในใจให้ปล่อยวางสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจของเรา
3) เราอาจเจอเรื่องโชคร้าย แต่นั่นไม่ใช่คำสาป
พลังของความโชคร้ายคือ เราจะรู้สึกว่ามันตัวใหญ่มากจนสามารถกำหนดทิศทางชีวิตของเราต่อจากนี้ แต่ความเป็นจริงคือ ‘พลังอยู่ที่เราเสมอ’ ในการปรับมุมมอง จูนจิตใจ เพื่อก้าวข้ามความโหดร้ายที่เรารู้สึกเหมือนกำลังโดนเล่นงาน และมองว่านั่นคือหนึ่งเหตุการณ์เท่านั้น หรือแม้จะมีหลายเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน มันก็ไม่มีบทสรุปไหนที่จะบอกเลยว่า ความแย่ที่อยู่กับเรานั้นจะเป็นความรู้สึกหลักของเราตลอดไปต่อจากนี้
เหมือนกับใครก็ตามที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น แน่นอนว่ามันมีความเป็นไปได้ที่คุณอาจจะเผลอไปตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้รู้สึกคล้ายๆ ช่วงเวลาวัยเด็ก แต่หากคุณทำงานกับตัวเองจริงๆ รักษาและศึกษาจิตใจ ติดตามรู้ความเป็นไปในความสัมพันธ์ให้ทัน คุณก็จะให้อภัยและให้โอกาสตัวเองได้ พร้อมทั้งเลือกความสัมพันธ์ที่คุณรู้ว่าตัวเองคู่ควร
ปีชงก็เช่นกัน สุดท้ายความโชคร้ายจะผ่านไป ถ้าเราปล่อยให้มันได้ผ่านไปตามทางของมัน
4) นิ่งสักนิด ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร
ข้อดีบางอย่างของการมีปีชงคือ คอยย้ำกับเราว่าสติสำคัญขนาดไหน
เพราะสติเป็นสิ่งที่เราควรมีในทุกวันอยู่แล้ว แต่วันไหนที่ชีวิตราบรื่นมากๆ เราอาจจะลืมนึกถึงการมีสตินั้น
เราอาจเคยชินในพฤติกรรมหรือการตอบสนองบางอย่างที่ทำได้ง่ายมากเหมือนเป็นระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ เช่น ถ้าใครทำให้ไม่พอใจ เราจะขว้างปาข้าวของทันที หรือ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกไม่ได้รับการรับฟัง เราจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวดจากคำพูดของเรามากขึ้น
ลองค่อยๆ ปรับตัวเองให้ชินกับการหยุดพักทุกครั้งที่เราจะทำอะไรที่ตัวเองมักเสียใจภายหลัง
ในช่วงแรกอาจยากหน่อย แต่เมื่อเราเริ่มทำได้แม้เพียงไม่กี่ครั้ง ความรู้สึกหลังจากที่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองในทิศทางที่เรามีความสุขภายหลังได้ จะอิ่มเอมอาบใจเราอย่างมาก และการสะสมความรู้สึกดีกับตัวเองเอาไว้คืออีกหนึ่งความมั่นใจที่เพิ่มให้ตัวเราได้
5) ไม่ต้องคอยฉายภาพแย่ๆ วนในหัวซ้ำๆ ก็ได้
หากมีเรื่องที่ทำให้เราไม่พอใจเกิดขึ้น มันง่ายมากที่สมองและจิตใจจะรีรันเหตุการณ์นั้นใหม่ เหมือนเป็นการลงโทษให้ใจจดจำ ซึ่งทำให้เราต้องอยู่ในประสบการณ์นั้นใหม่อีกครั้ง
ขอให้เข้าใจสภาพจิตใจว่า เรื่องที่เราแฮปปี้มักไม่ใช่เรื่องที่เราใช้เวลาคิดวนบ่อยหรอก เพราะมันสุขในตัวมันอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องหาคำตอบหรือพยายามปรับอะไรเพิ่มเติม แต่เรามักทรมานกับความทุกข์ เพราะคิดอยากกลับไปแก้ไขมัน หรือฝันว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะจริงๆ แล้วทำไม่ได้
ถึงอย่างนั้นอย่าลืมว่า เหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างที่เกิดขึ้นมันจบไปแล้ว ปล่อยวางให้ความทรงจำค่อยๆ จางไปจากใจเหมือนกับความเป็นจริงในอดีตที่จบไปแล้วดีกว่า ค่อยๆ ดึงตัวเองกลับมาดื่มด่ำกับปัจจุบันดีกว่า
ผู้เขียนไม่หวังก้าวล่วงความเชื่อของปีชงแต่อย่างใด หากอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การพยายามต้อนใจเราให้เข้าถึงความสุขหรือความเบาสบายแม้เพียงเล็กน้อยคือสิ่งที่เราสามารถทำได้ ไม่ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จะโผล่เข้ามาหาตอนไหนก็ตาม
เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนแบบไหนถึงจะได้รับการอนุมัติให้คู่ควรกับการมีความสุข เพราะความสุขมันมากับเราตั้งแต่เกิดแล้ว ในความวุ่นวายว้าวุ่นของสังคมตอนนี้ ขออย่าลืมเปิดใจเข้าไปทักทายความสุขบ้างก็พอ