ในวันที่โลกเดือดขึ้นเรื่อยๆ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น ถือเป็นหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่เริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้อาจจะ ‘หนักที่เรา’ แต่ก็ ‘เบาที่โลก’
‘ชวนเพื่อนมาลำบาก’ หรือ ‘Friends of Inconvenience’ คือคอนเซปต์ง่ายๆ ของกิจกรรม ‘Bike for Earth’ ปั่นจักรยานรณรงค์หยุดโลกเดือด นำทีมโดย อ.ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
กิจกรรมนี้จะเดินทางแวะทั้งหมด 14 จังหวัด เริ่มจากภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จรดเหนือกันที่จังหวัดน่าน โดยในทุกจุดแวะพักจะมีกิจกรรม เรื่องราวดีๆ และชวนคนในชุมชนมาร่วมถ่ายทอดความรู้ของแต่ละพื้นที่ว่า พวกเขาทำอย่างไรถึงพึ่งพาตนเองได้แบบไม่เบียดเบียนโลก
ล่าสุดวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ขบวนนักปั่นได้หยุดแวะพักกันที่ ‘อาสาชาวนามหานคร’ และร่วมทำกิจกรรมที่ ‘Ecovillage บึงน้ำรักษ์’ ที่ถือเป็นชุมชนในแบบนิเวศวิถี พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ
งานนี้เลยเกิดเป็น ‘EcoFest : Sustainable & Living Cities’ ฐานเรียนรู้ อาสาชาวนามหานคร กิจกรรมที่ชวนนักปั่นและผู้ร่วมงานมาร่วมดำนา ปลูกป่า ปล่อยปลา พายเรือ เล่นน้ำ รวมไปถึงกิจกรรมไฮไลต์อย่างการเดิน ‘ตลาดคุณปู่’ ตลาดอินทรีย์ที่จำหน่ายสินค้าราคาแล้วแต่ใจกันที่บริเวณอาคารเมล็ดข้าว
แม้ตลาดคุณปู่จะเป็นตลาดเล็กๆ แต่ก็มีความเป็น Green & Craft Market พื้นที่ตัวกลางที่นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน ที่อยู่มาอย่างยาวนานจากการร่วมมือกันของชุมชนและผู้ค้าในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศ
อีกความกรีนคือ สินค้าในตลาดล้วนแต่คัดมาแล้วว่าเป็นสินค้าเกษตรสีเขียว ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ดีจากวิถีแห่งเกษตรไร้สารเคมี ประกอบด้วยพืชผักทางการเกษตรปลอดสารพิษ น้ำผึ้งแท้ และเครื่องดื่มสุขภาพจากหลากหลายชุมชน ไปจนถึงผ้าฝ้ายทอมือ อุปกรณ์การเกษตร และอื่นๆ อีกมากมาย
อีกทั้งในการซื้อขายยังมีส่วนช่วยลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันไม่น้อย ด้วยการขอความร่วมมือทุกคนเตรียมถุงผ้าหรือภาชนะส่วนตัวมาสำหรับใส่ของ แต่ถ้าใครไม่ได้นำมา แต่ละร้านก็มีบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ทำขึ้นจากธรรมชาติใส่ของให้
โปรดักต์ช่วยโลกแล้ว วิธีการก็ยังเป็นมิตรกับโลกอีก เพราะภายในตัวตลาดเตรียมจุดแยกขยะ และจุดล้างจานสำหรับใครที่นำภาชนะของตนเองมาซื้ออาหารและรับประทานภายในตลาดคุณปู่ด้วย ถือเป็นกิมมิกน่ารักๆ ที่ทำให้เราเห็นภาพความตั้งใจของตลาดแห่งนี้ชัดขึ้นไปอีก
ขอเพียงทุกคนลำบากหยิบเอาถุงผ้าหรือภาชนะสำหรับใส่ของติดไม้ติดมือมาจากบ้าน แทนที่จะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วยความเคยชิน แค่นี้เราก็มีส่วนเล็กๆ ในการช่วยโลกของเราให้พ้นจากภาวะโลกเดือดแล้ว
ซึ่งหลังจากแวะที่จุดนี้ คณะปั่นจักรยานรณรงค์หยุดโลกเดือดจะเดินทางไปเรียนรู้วิธีพึ่งตนเองที่จังหวัดไหนอีกบ้าง แต่ละพื้นที่จะมีวิธีรับมือสู้โลกเดือดอย่างไร ติดตามต่อได้ที่เพจ BikeForEarth เลย
แล้วอย่าลืมมาเริ่มต้นชีวิตที่ ‘หนักที่เรา เบาที่โลก’ ไปกันด้วยนะ