กรุงเทพฯ เมืองที่หลายคนรักแต่อีกใจหนึ่งก็เกลียด ขึ้นชื่อเรื่องไฟแดงนานและไฟเขียว 3 วิ เราขับรถไปทำงานทั้งที่ไม่มีที่จอด
เอาล่ะ วันนี้ไม่ได้จะมาบ่นกรุงเทพฯ แต่เรามีแนวคิดดีๆ ให้ชาวกรุงเทพฯ เปลี่ยนมาใช้การเดินเท้าแทนการขับรถ ซึ่งก่อนที่แต่ละย่านจะสามารถเป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ก็มีสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนมากกว่าแค่ทางเท้า หากมัวแต่รีรอใครซักคน หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สิ่งนี้ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเราช่วยกัน อนาคตกรุงเทพฯ จะได้ชื่อว่าเมืองเดินดีก็มีโอกาสเป็นไปได้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนเมืองให้น่าเดิน “คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้” ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) และผู้จัดการโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี หรือ “GoodWalk” เพื่อฟังคำตอบว่า ทำอย่างไร กรุงเทพฯ จึงจะเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี
ออกไปสำรวจตามฟุตบาทในกรุงเทพฯ แล้วมาวิเคราะห์กันดูสิว่า ย่านที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน มีอะไรที่น่าแก้ไขปรับปรุง หรือพัฒนาให้น่าเดินบ้าง
| GoodWalk คือใคร?
“GoodWalk Thailand” เป็นโครงการที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน เริ่มจากศึกษา “การเดินได้” ของพื้นที่กรุงเทพฯ ในระยะแรก ตั้งแต่กลางปี 2557 เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการศึกษาเชิงลึก ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 คือการพัฒนาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า ต่อไปในระยะที่ 3 จะเสนอแนวทางการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ตัวอย่างไปพร้อมๆ กับการประสานภาคี พัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
| ทำไม “การเดินเท้า” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมือง?
มหานครทั่วโลกต่างมุ่งพัฒนาสู่ “เมืองเดินดี” (Walkable city) หรือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดิน ปั่นจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลัก อย่างในกรุงโตเกียว ลอนดอน หรือเมืองพอร์ตแลนด์ ชาวเมืองเหล่านี้จึงมีสุขภาพดี มีเมืองที่น่าอยู่ และมีเศรษฐกิจในระดับย่านที่ดี อีกทั้งยังให้ความเท่าเทียมแก่คนใช้รถและคนเดินถนน
“การเดินเท้าเป็นตัวเติมเต็มระบบการเดินทางในเมืองให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพราะรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ หรือรถไฟฟ้าเองก็ไปได้ไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ถ้าคนเชื่อว่าการเดินเท้าสามารถส่งต่อเราจากประตูบ้านมายังระบบขนส่งหลัก คนก็จะหันมาใช้รถยนต์น้อยลง”
| เมืองที่ดีเริ่มต้นจากการเดิน
การเดินนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา ย่านที่มีคนเดินกันเยอะๆ ร้านค้าต่างๆ จะทยอยมาเปิด ทางเท้าที่คึกคักจะกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่าย ในระบบเมืองที่มีการเดินเท้าที่ดี และมีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเดิน จะทำให้ผู้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ดึงดูดนักธุรกิจรายย่อย หรือ Startups คนรุ่นใหม่เข้ามาทำธุรกิจ ถือเป็นการเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจในท้องถิ่น ที่จะสร้างความสุขให้กับคนในย่านนั้น
| ฟุตบาทเป็นหลุมบ่อ กับดักน้ำกระเด็น
กรุงเทพฯ เมืองรถติด แต่หลายคนก็เลือกที่จะขับรถ แลกกับการไม่ต้องเหนื่อยกับรถโดยสารสาธารณะหลายต่อ มีเวลาเดินรถไม่แน่นอน แถมราคาก็แสนแพง ในแต่ละเดือน เราเสียเงินกับค่าเดินทางประมาณ 20% ของรายได้ ซึ่งมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึงเท่าตัว ในต่างประเทศเส้นทางของขนส่งหลักจะครอบคลุมแทบทั้งเมือง และใช้การเดินเป็นระบบขนส่งรอง
“ประเทศไทย มีวัฒนธรรมที่ปลูกฝังกันมาว่า รถยนต์เป็นใหญ่เสมอ เรามีสะพานลอย มากกว่าทางม้าลาย ซึ่งชี้วัดได้ว่าเมืองนี้ เอื้อประโยชน์ให้กับคนขับรถยนต์ มากกว่าคนเดินเท้า”
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่เดินนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าไม่ได้คุณภาพ สภาพแวดล้อมไม่น่าเดิน และระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อต่อคนเดิน จากการสำรวจคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,111 คนโดย GoodWalk พบว่าปัญหาหลักที่ส่งผลต่อการเดินเท้าในชีวิตประจำวัน 5 ข้อ ได้แก่ มีสิ่งกีดขวางเดินไม่สะดวก (44.5%) ไม่มีร่มเงาในการบังแดดและฝน (44.2%) ทางเดินมืด แสงสว่างไม่เพียงพอ (44%) ทางเท้าสกปรกมีขยะมูลฝอย (40.1%) และทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ราบเรียบ (39.3%)
| หาบเร่แผงลอย ไม่ใช่ตัวปัญหา
กรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งสตรีทฟู้ด ที่สามารถหาของอร่อยตามร้านค้าแผงลอยได้ทุกที่ แต่อีกแง่ก็ถูกมองเป็นปัญหาเพราะกีดขวางทางเดิน GoodWalk ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่มาตรฐานถนนและทางเท้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดการระเบียบทางเท้า โดยคำนึงถึงการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านสตรีทฟู้ด หรือหาบเร่แผงลอย ซึ่งล้วนเป็นความต้องการของคนเมือง และสร้างความสะดวกสบายให้กับคนในย่าน โจทย์หนึ่งของ GoodWalk ก็คือจะจัดการพื้นที่สาธารณะอย่างไร ให้ทุกกิจกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้บนทางเท้า
อย่างในต่างประเทศก็มีการแก้ปัญหา ด้วยวิธี “สตรีทไดเอ็ท” หรือทำถนนให้เล็กลง จาก 4 เลนเหลือ 2 เลน เพิ่มทางเท้าให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะสามารถจัดการพื้นที่ได้ เช่น ทำหน้าอาคารให้มีทางเดินเท้าที่ชัดเจน มีจุดวางสตรีทเฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ต่างๆ และมีขอบเขตพื้นที่ของหาบเร่แผงลอย
“จริงๆ แล้ว หาบเร่แแผงลอยไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเอง ปัญหาอยู่ที่เราจะจัดการพื้นที่สาธารณะได้อย่างไร”
| ย่านเดินได้ของกรุงเทพฯ
GoodWalk.org เป็นเว็บไซต์เผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจย่านที่เราอยู่มากขึ้น โดยจัดทำแผนที่เมืองเดินได้ ซึ่งคำนวณศักยภาพการเดินออกมาเป็นคะแนน GoodWalk Score ในทุกๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล แสดงผลในระบบ Interactive Map ที่เราสามารถสืบค้นตำแหน่งที่ได้ทุกพื้นท่ี
โดยคะแนน GoodWalk Score หรือศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการต่างๆ โดยการเดิน คำนวณจากความหนาแน่นของ “สถานที่ดึงดูดการเดิน” ในระยะเดินเท้า ประกอบด้วย 1) แหล่งงาน 2) สถานศึกษา 3) แหล่งจับจ่ายใช้สอย 4) พื้นที่นันทนาการ 5) สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม และ 6) สถานที่ขนส่งสาธารณะ
| ก้าวแรกสู่การเปลี่ยนเมือง
ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเดินเท้าในเมือง แต่ต้องปรับวิธีคิดว่าการเดินไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราดูด้อยหรือทำให้เราลำบาก การเดินในกรุงเทพฯ ก็มีสิ่งที่น่าค้นหาหรือสร้างความอภิรมณ์ให้เราได้
“การเดินเป็นสิ่งแรกที่เราได้ใช้สองเท้านับตั้งแต่เกิด หน้าที่ของมันคือเดิน การมีส่วนช่วยให้เมืองน่าอยู่ขึ้นเราต้องออกมาเดิน ให้การเดินเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน”
Photo Credit: GoodWalk Thailand