เบนจา อะปัญ : ทิ้งชีวิตวัยรุ่นสู่นักเคลื่อนไหว - Urban Creature

ถ้าประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างที่เขาไม่หลอกลวง เบนจา อะปัญ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วัย 22 คงได้ใช้ชีวิตโง่ๆ แบบที่วัยรุ่นหลายคนชอบพูดกันจนเกร่อ

ทว่านี่คือโลกขั้วตรงข้ามอันแสนโหดร้าย ชีวิตจริงเบนจาไม่มีวันไหนได้หยุดพัก งานนักเคลื่อนไหวทำให้โลกของวัยรุ่นคนหนึ่งพังทลาย จำต้องสลัดฝันสามัญธรรมดาทิ้งหมดสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังถูกดำเนินคดีโดยรัฐ อาทิ คดีมาตรา 112 มาตรา 116 คดี พ.ร.บ.ชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีละเมิดอำนาจศาล บวกกับคดียิบย่อยอื่นๆ รวมจำนวนสิบห้าคดีเป็นรางวัลตอบแทน

Suspect

เราเจอเบนจาครั้งแรกเมื่อหนึ่งปีก่อน ตอนนั้นเธอยืนกดดันให้รัฐปล่อยตัว รุ้ง ปนัสยา และเพนกวิน พริษฐ์ สหายจากแนวร่วมฯ ที่ถูกจองจำ บริเวณหน้าประตูเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดวงตาอันโกรธแค้นปนเศร้าของเด็กสาวมองทะลุลอดแว่น 

หลังเหตุการณ์นั้นเบนจาถูกสถานการณ์ทางการเมืองโบยตี ดังสารเร่งโตอย่างมุทะลุ เพียงผ่านมาไม่กี่เดือนเธอออกไปยืนถือป้ายประท้วงที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขับไล่ไสส่งและตบฉาดเข้าที่ใบหน้า คลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์นั้นไวรัลในโลกทวิตเตอร์เพียงชั่วพริบตาเดียว จากนั้นพลังของความอัดอั้นตันใจยิ่งผลักดันให้เธอออกมาเดินบนถนน กระโจนขึ้นเวทีปราศรัย ลุกขึ้นมาหยัดยืนท้าทายอำนาจคร่ำครึของรัฐคลั่งประเพณี และโปรยเอกสารบทกวี ‘มหาตุลาการ’ ประท้วงอยุติธรรมดำมืดด้วยการเปล่งตะโกนหน้าศาลอาญาดังก้องซ้ำๆ ว่า

“ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย! ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย! ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย!”

Source: ประชาไท เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564

ภายใต้ฟ้าอันดำมืด คืนที่คุยกับเบนจา ฝนเพิ่งหยุดตกไม่นานนัก ก่อนเริ่มบทสนทนา เรามองลอดหน้าต่างออกไปด้านนอก ใจพลางคิดว่าหากฝนมีวันหยุดตก เช่นนั้นไม่ช้าก็เร็ว สังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลง จากคำบอกเล่าของเบนจา เราคิดว่าเธอก็หวังจะเห็นสังคมโสมมนี้มีวันได้สดใสไม่ต่างไปจากใครหลายๆ คน ที่รัฐมองว่าเป็นประชาชนคนดื้อด้าน และเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงแห่งโครงสร้างแสนดีจอมปลอม

19 มกราคม 2564 เบนจาถูกเจ้าหน้าที่ห้างฯ แห่งหนึ่งทำร้ายร่างกาย นอกจากเป็นข่าวไวรัลบนโลกออนไลน์ เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไรในสังคมไทยบ้าง

วินาทีที่เขาตบหน้า เราโกรธมากเลยนะ โกรธจนลืมความเจ็บปวดนั้นไปเลย คุณเป็นใครวะ ฟังกันสิวะ ทำไมไม่คุยกันดีๆ ล่ะ มาหาเหตุและผลร่วมกัน ในวินาทีนั้นก็บอกเขานะว่าพาเราออกไปดีๆ ก็ได้ เอามือถือคืนมา เดี๋ยวจะเดินออกไปเอง แต่เขากลับตบหน้าเรา เราคิดเลยว่าประเทศนี้แม่งมันปกครองคนด้วยการกดขี่ข่มเหง 

หนึ่ง เราถูกกระทำ สอง คุณเป็นใคร มีสิทธิ์อะไรมาใช้ความรุนแรงกับคนอื่นแบบนี้ล่ะ 

ตอนนี้สังคมภาพรวมอาจมีแนวโน้มทางวัฒนธรรมที่ดีขึ้น แต่ว่าก่อนหน้านี้คนไทยปลูกฝังกันด้วยการลงโทษ ใช้กำลังและความกลัวปกครองคน อาจารย์ต้องกำราบนักเรียน พ่อแม่ต้องตีลูก สอนและห้ามเพื่อให้เชื่อฟัง ห้ามดื้อด้าน สำหรับเราจริงๆ แล้วมันไม่ใช่กระบวนการสอนที่ดีเท่าไหร่ 

https://twitter.com/okaycoward/status/1351431544376684544?s=20

จากชีวิตวัยรุ่นกลายเป็นนักเคลื่อนไหวเต็มตัว หนึ่งปีที่ผ่านมาชีวิตหนักหนายังไงบ้าง

เจอมาหลายๆ เรื่องก็กินไม่ได้นอนไม่หลับเหมือนกัน จริงๆ ตุลาคม 63 ก็ระลอกหนึ่ง ช่วงกุมภาฯ – เมษาฯ 64 ก็อีกระลอกหนึ่ง เราก็ผ่านมันมาได้ ซึ่งหนักมาก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่มันช่วยพยุงเราก็คือแรงซัปพอร์ตและกำลังใจ ทั้งจากเพื่อน จากคนในขบวนการและจากครอบครัว

เบนจาเป็นทั้งนักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง 2 บทบาทที่เป็น ได้รับผลกระทบอะไรจากการจัดการวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลบ้าง

ในฐานะนักศึกษาส่งผลต่อการเรียนแน่นอน นักศึกษาต้องเรียนหนังสือ ซึ่งการเรียนออนไลน์เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้มาก ตอนนี้เราเรียนออนไลน์มาแบบ Full Terms โควิดรอบนี้ เราขึ้นปีที่สองแล้ว ก็ยังต้องเรียนออนไลน์ รู้สึกได้เลยว่าบรรยากาศการเรียนมันหดหู่ ไม่เอื้อต่อการรับรู้สิ่งใหม่ ต่างคนต่างเช็กอินในคอมพิวเตอร์ ต่อให้เปิดกล้องคุยกันก็ทดแทนบรรยากาศเรียนรู้จริงๆ ไม่ได้ 

อันดับที่สองเป็นเรื่องภาระที่ผลักมาให้นักศึกษารับผิดชอบ ตอนนี้เขามีมาตรการคืนค่าเทอมที่ค่อนข้างเป็นขั้นบันได ซึ่งเราคิดว่าค่อนข้างยอมรับได้ แต่ก่อนหน้านี้การลดค่าเทอมไม่ค่อยสมเหตุสมผล เพราะลดในเลเวลที่ไม่ช่วยเหลือนักศึกษาจริงจัง เป็นการผลักภาระให้ผู้เรียนด้วยซ้ำ 

อย่างค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟและอื่นๆ ที่ใช้ในการเรียน นักศึกษาต้องแบกรับหมด ถ้าบางคนมีมือถือ แล็ปท็อป หรือ iPad ก็ถือว่ามีความพร้อมสูงมาก สำหรับคนที่ไม่มี มันก็อาจจะสู้คนมีครบไม่ได้ บางทีต้องจดไปด้วยต้องเปิดกล้องไปด้วย เวลาสอบก็ต้องให้เห็นตอนเขียน ค่อนข้างวุ่นวายมาก

ก่อนหน้า เราต้องจ่ายค่าเทอมไปเกือบแสนบาทต่อเทอม แต่สิ่งที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่าเท่าไร อีกเรื่องหนึ่งที่รู้สึกว่าค่อนข้าง Interrupt มากๆ คือพวกวิชาแล็บต่างๆ 

อย่างเราเรียนวิศวะฯ ตอนนี้ตัดสินใจถอนวิชาปฏิบัติการ Engineering Drawing ไปตัวหนึ่ง จริงๆ มันต้องเรียนที่คณะ ต้องมีโต๊ะ Drawing มีขั้นตอนที่ต้องเรียนกันในคลาส แต่พอปรับเป็นออนไลน์ คณะที่เราเรียนก็ค่อนข้างผลักภาระให้นักศึกษาอย่างมาก อุปกรณ์ต่างๆ ก็ให้หาซื้อเอาเอง ใครจัดหาอุปกรณ์ได้พร้อมกว่าคุณก็พร้อมเรียนได้ดีกว่า เราโอเคจริงๆ เหรอที่จะให้นักศึกษาจบไปด้วยการเรียนออนไลน์แบบนี้ 

ถ้าพูดกันเรื่องชนชั้น เมื่อมีเงินไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงโอกาส นั่นหมายความว่าเด็กคนนั้นก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังไปเลยน่ะสิ

ใช่ ถ้าพูดว่านักศึกษาคือพลเมือง เรารู้สึกว่ารัฐไม่รับผิดชอบประชาชนเลย พอรัฐไม่ได้ Subsidize ตรงนี้ให้มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเลยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับนักศึกษาด้วย เป็นการส่งต่อปัญหาเป็นทอดๆ นักศึกษาต้องมาจัดการดูแลตัวเองกันทั้งหมด โอเค มหาวิทยาลัยอาจจะให้ทุนเด็กบ้างแหละ แต่สุดท้ายค่าไฟ ค่านู่นนี่นั่น เด็กก็ต้องรับผิดชอบตัวเองอยู่ดี 

แล้วใครที่สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนมันก็เรียนได้ไง แต่ถ้าคนที่เขาไม่ได้มีสถานที่ที่เอื้อเฟื้อต่อการเรียน หรือไม่ได้มีอุปกรณ์ดีๆ นั่นแปลว่าเขาผิดใช่ไหม เขาก็เป็นนักศึกษาคนหนึ่ง เป็นประชาชนคนหนึ่ง ก็ต้องสมควรได้รับการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกับคนอื่นสิ

ถ้าอย่างนั้นรัฐและมหาวิทยาลัยควรช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเราและเพื่อนๆ ยังไง

ถ้าจะบอกว่าให้รัฐบาลจัดสรรอุปกรณ์ให้นักศึกษา ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากๆ เราต้องการให้ภาครัฐรีบจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ อย่างวัคซีน mRNA เข้ามาฉีดให้ประชาชนทันที แล้วมหาวิทยาลัยก็ต้องทำหน้าที่ประสานเรื่องการนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้กับบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกคน เพื่อที่เด็กจะได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ คือถ้ายื้ออย่างนี้ต่อไป การลดค่าเทอมลงก็โอเค มันคือการแก้ปัญหาในเฟสหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายแล้วการจัดการปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดคือทำประเทศให้กลับมาปกติโดยเร็วที่สุด 

เรื่องการเยียวยาและการดูแลนักศึกษา มันควรเกิดขึ้นตั้งแต่การล็อกดาวน์ให้เรียนออนไลน์แรกๆ แล้ว ถึงตอนนี้มันกลายเป็นสถานการณ์เรื้อรัง อาจจะมีความพยายามช่วยเหลือด้วยการคืนค่าเทอมให้มากขึ้น แต่วัคซีนก็ต้องมาเร็วขึ้นด้วย มหาวิทยาลัยเองก็ไม่ควรผลักภาระให้นักศึกษา ควรสอบถามความคิดเห็นจากคนส่วนรวมก่อน ว่าจะจัดการในรูปแบบไหนให้เวิร์กที่สุด ไม่ใช่ไปคิดกันเอาเองแล้วเอามายัดใส่มือนักศึกษา บังคับให้พวกเราทำ แบบนี้มันไม่ได้ Compromise ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนเลย 

เราเคยเห็นคอมเมนต์บนโลกออนไลน์ทำนองว่านักศึกษาไม่ต้องมาเรียกร้องมาก มีหน้าที่เรียนก็เรียนไปสิ 

เราเป็นผู้เรียน พูดจากใจผู้เรียนเลยนะ เราเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจเรียนหนังสือ ไม่ใช่เพื่อแค่รับปริญญา คือกูอุตส่าห์สอบเข้ามาเรียน เสียเงินมาเรียน เพื่อที่ว่าจะได้เรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ ฉันจะได้จบไปเป็นวิศวกรคุณภาพ ไม่ใช่วิศวกรหน้าจอคอมฯ หรือวิศวกรออนไลน์ 

นี่มองแค่ตัวเราคนเดียวนะ มันค่อนข้างหดหู่ ฉันเป็นนักศึกษา กำลังเป็นวัยแห่งการเปิดโลกการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้ชีวิตวัยรุ่นก็ถูกตัดโอกาสไปเยอะเหมือนกัน

นักศึกษาก็คือทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าไม่ใช่เหรอ เราอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น อยากให้ประเทศเปิดไวๆ และอยากให้ปัญหาทุกอย่างได้รับการแก้ไข มันก็คือหน้าที่ที่เราต้องออกมาเรียกร้องหรือเปล่า เพราะสุดท้ายเราก็แบ่งทรัพย์สินส่วนกลางเพื่อใช้ร่วมกัน ก็ต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีร่วมกัน 

ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เบนจาคิดว่าการจัดการปัญหาโควิด-19 ของรัฐส่งผลอะไรต่อกิจกรรมทางการเมืองบ้าง

เยอะเลยค่ะ เรื่องของการชุมนุมรวมตัวกัน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิด นักกิจกรรมก็ต้องประเมินสถานการณ์กันมากขึ้น เพราะว่ายอดผู้ติดเชื้อทุกวันคือสองหมื่น ถ้าเรานัดคนมารวมกันเยอะๆ แม้เสี่ยงที่จะเผชิญโควิด แต่คนก็ยังมาอยู่นะ เพราะสภาพการณ์ตอนนี้คือคนไม่มีจะกินแล้ว แต่เมื่อโควิดมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา แถมวัคซีนก็ยังได้กันไม่ครบ มันก็ค่อนข้างทำให้เราประเมินการจัดชุมนุมบนท้องถนนยาก ก็ต้องปรับรูปแบบกันไป รวมตัวกันมากก็ไม่ได้ จะนัดประชุมก็ต้องระวัง ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการออนไลน์ โลกออนไลน์ทุกวันนี้มันก็ช่วยซัปพอร์ตการสื่อสาร แต่ยิ่งเป็นการคุยกันหลายๆ คน ก็ยิ่งไม่ค่อยเวิร์ก

จัดม็อบแบบไหนให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19

ปรับรูปแบบค่ะ ถ้ามองว่าการเคลื่อนไหวต้องเกิดการรวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือออฟไลน์มันสำคัญหมด การเคลื่อนไหวบางอย่างก็ปรับรูปแบบเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง Clubhouse เป็นพื้นที่เสวนามีการนั่งวิพากษ์วิจารณ์ข่าวออนไลน์กันทุกวัน ทุกอย่างเป็น Element ของการเคลื่อนไหว แม้กระทั่งการทำคาร์ม็อบก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในช่วงโควิด เพื่อเว้นระยะห่างและลดการติดเชื้อ มันก็เคลื่อนไหวได้เหมือนกัน 

สถานการณ์ตอนนี้ส่งผลต่อจิตใจยังไง

ถ้าเป็นเรื่องอุปสรรคทางจิตใจ เราว่ามันไม่ใช่แค่การเป็นนักเคลื่อนไหว แต่คือการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราเชื่อว่าหลายๆ คนจิตใจหดหู่ห่อเหี่ยว บรรยากาศไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอย่างแฮปปี้ 

แล้วที่รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ในเรือนจำ พูดตรงๆ ว่าการเป็นนักเคลื่อนไหวมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะโดนจับ การอยู่ในเรือนจำไม่ว่าคุณจะเป็นนักโทษทางการเมืองหรือว่านักโทษทั่วไป ก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบมากๆ ถ้าเราพูดแค่เรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เหมือนมองแค่ตัวเอง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีกขั้น ตอนนี้เพื่อนๆ เรากำลังเผชิญกับโควิดในเรือนจำ ซึ่งทุกคนในเรือนจำเขาก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ทำให้เรามองเห็นปัญหาเป็นภาพใหญ่มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ก็มีคิดนะว่ารัฐใช้โควิดเป็นข้ออ้าง คือต้องมองเป็นสองส่วนว่าตอนนี้โควิดฉิบหายจริง แต่ถามว่าข้อกฎหมายต่างๆ ที่รัฐเอามาอ้างเรื่องโควิดมันช่วยการจัดการเรื่องโควิดได้จริงไหม กระบวนการที่รัฐจัดการทุกอย่าง ปากก็บอกว่าเอามาจัดการโรคติดต่อ ซึ่งสิ่งที่ทำมันไม่ได้จัดการโควิดได้ไง แต่กำลังจดจ่ออยู่กับการจัดการผู้ชุมนุม เชื่อเถอะ ถึงไม่มีโควิด เขาก็ปราบเราอยู่ดี

ขอถามคำถามที่คลีเชหน่อยว่ารัฐควรจัดการเรื่องนี้ยังไง

จริงๆ ถ้าเห็นประชาชนออกมาเรียกร้องก็ควรเกิดการพูดคุยกันได้แล้วว่า ผู้เรียกร้องต้องการอะไร มันไม่เคยเกิดสิ่งนี้ขึ้นกับรัฐบาลนี้และพรรคพวกเลย นี่คือการอยู่ร่วมกันของคนทุกคน ยิ่งคุณเป็นรัฐบาล ยิ่งต้องฟังเสียงประชาชน ต้องเกิดการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ใช้วิธีการกำจัด 

ขอย้ำว่านี่เป็นพฤติกรรมของพวกรัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของทหารที่จะเข้ามาบริหารรัฐกิจ จริงๆ ต้องเรียกว่ามันคือเผด็จการทหารจะดีกว่า 

สิ่งที่อัดอั้นที่สุดเพราะรัฐบาลคืออะไร

ตอนนี้สิ่งที่รัฐทำ คุณไม่แคร์ประชาชนเลย ไม่ว่าเขาจะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ไหนคุณก็ไม่แคร์ บริหารประเทศยังไงปล่อยให้คนตายบนถนนเกลื่อนขนาดนี้ 

หนึ่งชั่วโมงที่เขายังดำรงตำแหน่งอยู่มีคนตายไปเท่าไร คนติดเชื้อไปเท่าไร ถึงวันนี้ที่ประชาชนไม่แยแสคุณแล้ว คุณยังจะปล่อยให้ประเทศนี้มัน Leads ไปสู่ปลายทางแบบไหนก็ไม่รู้ แก้เหี้ยอะไรไม่ได้สักอย่างเลย เป็นรัฐที่ทุกอย่างล้มเหลว เศรษฐกิจล้มเหลว สาธารณสุขล้มเหลว การศึกษาก็ล้มเหลว เมื่อคนติดโควิด กระบวนการของการไปต่อในประเทศมันพัง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศขนาดนี้ด้วยซ้ำ

หนึ่งปีของการออกมาทำงานการเมือง เบนจาเห็นความหวังอะไรในปัญหาที่เรากำลังพยายามจัดการและขับเคลื่อนมันให้ดีขึ้น

คนตระหนักรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น ก็ไม่เชิงว่าใช้เวลาแค่ปีเดียวหรอก จริงๆ หลังการรัฐประหารปี 2557 เราว่าคนเริ่มตาสว่างมากขึ้น แต่ว่าปีที่แล้วคือดอกผลของการสั่งสมปัญหาที่พรั่งพรู พอพรั่งพรูปุ๊บ ก็กระจายสู่คนในวงกว้าง 

กลายเป็นว่าตอนนี้เด็กประถมฯ ก็ไม่เอานายกฯ แล้ว พอเทคโนโลยีเข้าถึงเด็ก เขาได้เห็นข่าวสาร และเห็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่รุนแรง ตอนนี้คนรับรู้กันทั้งประเทศแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ทุกคนกำลังตั้งหน้าตั้งตารอการเปลี่ยนแปลงที่มันจะเกิดขึ้นอยู่ 

ถ้าย้อนกลับไปบอกตัวเองเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มก้าวเท้ามาทำงานการเมืองอย่างจริงจังได้ อยากกลับไปบอกอะไรตัวเอง

อยากบอกตัวเองเมื่อปีที่แล้วว่าตัดสินใจถูกแล้วนะที่ได้เป็นส่วนร่วมของสิ่งนี้ ทุกอย่างมันมีพลวัต ต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากทุกอย่างจริงๆ เพราะทุกเรื่องไม่มีสูตรสำเร็จให้เราเลือกเดิน ทุกย่างก้าวในชีวิตของเราต้องมีสติ คิดให้ถี่ถ้วน ในเรื่องของการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ถ้าย้อนเวลากลับไปเราก็คงจะบอกตัวเองประมาณนี้แหละ รู้ว่าชีวิตจะลำบาก แต่ถามว่าจะเคลื่อนไหวต่อไปไหม เราก็คงเลือกออกมาเคลื่อนไหวอยู่ดี 

ถูกคุกคามนับครั้งไม่ถ้วน มีคดีติดตัวแล้วจำนวน 15 คดี นี่ยังไม่นับคดีที่อาจจะตามมาในอนาคตอีกนะ แบบนี้มันไม่หนักเกินไปหน่อยเหรอ

จริงๆ มันหนักนะ หนักเพราะเราต้องสูญเสียชีวิตส่วนตัวไปหลายด้าน ต้องแลกกับหลายๆ อย่าง ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้ด้วยกันเขาก็ยอมแลกเหมือนกัน แต่สุดท้ายมันมีความหวัง ถ้าเราไม่สู้ ก็จะไม่เห็นชัยชนะเลย 

แต่ด้วยความหวังนี่แหละ เรารู้สึกว่าการต่อสู้ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานแบบนี้ ก็เรียนรู้และอยู่กับมันไป เพราะเรามองถึงผลลัพธ์ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนจะได้ผลลัพธ์ที่ดี เราคาดหวังตรงนั้นมากกว่า เลยไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียใจที่ออกมาต่อสู้ ไม่มีวินาทีที่คิดว่าไม่น่าเลือกเส้นทางนี้เลย เพราะสถานการณ์ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เออ คิดถูกแล้วเว้ย 

ครอบครัวมีส่วนซัปพอร์ตหรือทำให้เราสนใจเรื่องการเมืองบ้างไหม

ที่บ้านทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ เขาไม่ปิดกั้นความคิดเห็นของเรา เรากับครอบครัวไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนกันตั้งแต่แรก ตั้งแต่เด็กจนโตจะพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผลตลอด บ้านเรามีกฎร่วมกันอยู่ข้อหนึ่ง คือเราจะเป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น จะไม่เสแสร้งเป็นคนอื่นให้แม่เห็น 

เพราะฉะนั้นไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีในสายตาแม่ เราก็ยังยืนยันว่าตัวเองจะเป็นแบบนี้แหละ แล้วก็ถกเถียงกันต่อว่าทำไมแม่ถึงมองว่ามันไม่ดีล่ะ ในขณะที่เราก็จะอธิบายว่าทำไมตัวเองถึงมองว่าสิ่งนี้ถูกต้อง พอมันเกิดกระบวนการถกเถียงกันภายในครอบครัว ก็จะเกิดการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันต่อไป 

แต่แม่ต้องเห็นข่าวผ่านสื่อทั้งเรื่องที่เบนจาถูกกระทำจากรัฐและคนฝั่งตรงข้าม รวมถึง Hate Speech จากคนบนโลกออนไลน์ด้วยนะ

เราบอกแม่ตลอดว่า อย่าไปสนใจคนพวกนี้เลย เขารู้หมดเพราะตามข่าวเวลาเราไปเจอคนพวกนี้ เราเป็นลูกคนเดียว แม่เลยเป็นห่วงมาก เขาจะบอกว่าไม่เอา ไม่อยากให้ทำแล้ว ไม่ใช่เพราะไม่เห็นด้วย หรือไม่อยากซัปพอร์ตนะ แต่เขาไม่อยากให้ลูกตกอยู่ในอันตราย 

แต่ต้องพูดกับเขาเสมอว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เพื่อความสนุก เขาอาจจะมองว่าทำอย่างนี้เหมือนไม่รักแม่เลยนะ เราพยายามบอกแม่ว่า เราทำเพื่อคนทั้งหมดนี่แหละ มันก็ต้องแลกกับความสงบสุขอยู่แล้ว ซึ่งต้องยอมรับให้ได้ อยากให้เขาเข้มแข็งไว้ด้วยเหมือนกัน

ทุกวันนี้แม่เริ่มเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองมาทางฝั่งเราบ้างไหม

เขาเข้าใจเรามากขึ้น เริ่มมองเห็นโครงสร้างที่มีอำนาจ เริ่มเปลี่ยนความคิดว่าการเมืองจะดีหรือแย่ฉันก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ดี สถานการณ์มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว แม่เริ่มตระหนักว่าการเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตทุกคนจริงๆ และมันเป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่ว่าใครมาเป็นนายกฯ ก็ได้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรา ตอนนี้เขาได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกด้วยเหมือนกัน

ในระหว่างทางของขบวนการที่เราเรียกร้องมาตลอด วันที่หนักที่สุดที่เบนจาเคยได้เผชิญคือช่วงเวลาไหน 

วันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2563 เพราะเพื่อนๆ ถูกจับครั้งแรก เราตั้งตัวไม่ถูกเลย สองวันแรกเราไม่ได้นอนหลับหรือพักผ่อน เพราะมีม็อบทั้งวัน อดนอนลากยาวข้ามมาอีกวัน พอล้มตัวลงนอนยังไม่ทันได้หลับ ก็อยู่จนกระทั่งเพื่อนถูกจับ จากนั้นพวกเราก็ต้องหาที่อยู่กันใหม่ ย้ายที่อยู่กันไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เป็นช่วงเวลาของความไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องเอายังไงกับชีวิต เพราะไม่ใช่แค่การเอาชีวิตให้รอด แต่การเคลื่อนไหวต้องไปต่อให้ได้ เพราะมันจบลงตรงนี้ไม่ได้ อยู่ในสภาวะที่กดดันมากๆ สำหรับช่วงชีวิต ณ ตอนนั้น 

ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นมาได้ยังไง

ต้องสู้ต่อไปให้ถึงที่สุด ทุกครั้งเราจะมีแค่คำตอบและทางเลือกหนทางเดียวในหัวเท่านั้น

แล้วความฝันอันสูงสุดของการต่อสู้ครั้งนี้คืออะไร

ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพต้องออกไป รื้อระบอบประยุทธ์ที่สร้างกันมาเนิ่นนานถึงเจ็ดปีเกือบแปดปี มันต้องหายไป เพื่อเชื่อมไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในระหว่างนี้ก็ต้องมีการเอื้อให้เกิดการปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย 

เรายังตอบไม่ได้หรอกว่าเมื่อสามสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว พลวัตทางสังคมจะเป็นยังไงต่อ เพราะสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทุกคนต้องหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด เพื่อให้ผลประโยชน์ทั้งหมดตกเป็นของประชาชนเท่ากัน 

เราไม่อยากคาดเดาว่าท้ายที่สุดการเคลื่อนไหวจะหยุดลงเมื่อไร เพราะเราเป็นคนชอบแก้ไขปัญหา (หัวเราะ) คงมองว่าต้องเคลื่อนไหวต่อไปอย่างนี้แหละ บางทีในอนาคตมันอาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองแบบตอนนี้ แต่อาจได้ขับเคลื่อนเรื่องยิบย่อยลงมาเพื่อให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

Thammasat

Source :
ภาพถ่ายโดยสหายแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.