แม้ว่าการทำงานจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน แต่พอตกเย็นวันอาทิตย์ทีไร หลายคนก็เริ่มเกิดความรู้สึกเครียดและหดหู่ เพราะปรับตัวให้ชินกับการต้องตื่นไปทำงานในวันจันทร์หลังจากได้พักผ่อนสบายๆ ช่วงสุดสัปดาห์ไม่ได้สักที
แต่จะให้ลาออกมาพักผ่อนอย่างเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุนี้จึงเกิดแนวคิด ‘Bare Minimum Monday’ เทรนด์การทำงานของคนยุคใหม่ที่จะช่วยแก้อาการเกลียดวันจันทร์ กอบกู้อาการหมดไฟ และกระตุ้นให้คนทำงานพร้อมลุยงานตรงหน้าได้อย่างมีความสุขด้วย
เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการทำงานให้น้อยเข้าไว้
ทฤษฎี Bare Minimum Monday เกิดขึ้นจากคลิปไวรัลบน TikTok ที่โพสต์โดย ‘Marisa Jo Mayes’ อดีตพนักงานบริษัทขายอุปกรณ์การแพทย์ที่เกิดอาการหมดไฟกับงานของเธอ และหันมาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ก่อนจะพบว่าอาการหมดไฟที่เกิดขึ้นในตอนนั้นยังคงมีอยู่แม้ว่าเธอจะเปลี่ยนงานไปแล้วก็ตาม
Marisa ยังคงมีอาการที่เรียกว่า ‘Sunday Scaries’ และเธอจะนอนจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่จะต้องลืมตาตื่นมาในวันจันทร์ โดยเธอยังอธิบายว่า ความกดดันในตัวเองคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดและความรู้สึกหวาดกลัวในวันอาทิตย์เหล่านี้ตามมา
เนื้อหาบนวิดีโอได้เล่าถึงวิธีลดวงจรความเครียดในการทำงานของเธอด้วยการทำงานในวันจันทร์ให้น้อยที่สุด และพยายามกดดันตัวเองให้น้อยลง เพื่อหันกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเอง และยังเป็นการอุ่นเครื่องให้วันแรกของสัปดาห์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
โดยวิธีการจัดการกับวันจันทร์ของเธอคือ การลิสต์งานหลักและสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในวันนั้น และเริ่มต้นวันด้วยการอ่านหนังสือ จดบันทึก หรือทำกิจกรรมที่ไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ประชุม ไม่เช็กอีเมลเป็นเวลาสองชั่วโมง หลังจากนั้นก็ใช้เวลาไปกับการทำคอนเทนต์ คิดงานสร้างสรรค์สำหรับแบรนด์ของเธอเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกสนุกขึ้น
เธอใช้เวลาไปกับการพักหนึ่งชั่วโมง แล้วกลับมาให้เวลากับงานหลักเป็นเวลาสองชั่วโมง หากทำไม่เสร็จก็จะทำต่ออีกแค่หนึ่งชั่วโมงเท่านั้น โดยระหว่างทำงานเธอจะโฟกัสกับงานตรงหน้าอย่างเต็มที่ ทำให้ผลลัพธ์ของงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำงานแปดชั่วโมง ในขณะที่ใช้เวลาในการทำงานจริงน้อยกว่าเดิม
แม้ว่าวิธีคิดของ Marisa จะทำให้ Bare Minimum Monday กลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการทำงานของหลายๆ คนในตอนนี้ แต่เธอเองก็เข้าใจดีว่าการที่เธอสามารถทำงานด้วยหลักการแบบนี้ได้เป็นเพราะว่าเธอมีธุรกิจของตัวเองและทำงานที่บ้าน แต่หากใครที่สนใจอยากจะทำแบบเธอบ้าง ก็ลองไปปรับให้เข้ากับวิธีการทำงานของตัวเองได้
ไม่ได้มีแค่ทฤษฎีสำหรับวันจันทร์อย่างเดียวเท่านั้น
แต่ในบางสัปดาห์ วันแรกของการทำงานอาจจะไม่ใช่วันจันทร์ หรืออาจจะมีวันหยุดแทรกระหว่างสัปดาห์ จึงมีเทรนด์อื่นๆ ที่ช่วยให้เหล่าคนทำงานได้ปรับตัวจากวันหยุดที่ผ่านมา
แนวคิดหลักๆ ของเทรนด์การทำงานเหล่านี้คือ การลดเวลาทำงานให้น้อยลงแต่ยังสามารถทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น Try-Less Tuesday (วันอังคารพยายามให้น้อย), Work-Not Wednesday (ทำงานแบบไม่ทำงานในวันพุธ), Thumb-Your-Nose Thursday (ช่างหัววันพฤหัสฯ) และ Feckless Friday (วันศุกร์ที่ไร้ประสิทธิภาพ)
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการทำงานแบบนี้จะอนุญาตให้ทำได้เพียงแค่วันใดวันหนึ่งเท่านั้น เมื่อเข้าสู่วันใหม่เราก็จะกลับมาโฟกัสและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่จนครบชั่วโมงเหมือนเดิม
หากใครที่กำลังประสบปัญหาในการตื่นเช้าเพื่อลุกมาทำงานอย่างสดใสในวันถัดไป ก็อาจจะทดลองนำทฤษฎีเหล่านี้ไปใช้ เผื่อจะช่วยลดความน่าเบื่อของวันทำงานวันแรกในสัปดาห์ลงได้บ้าง
Sources :
Australian Institute of Management WA | tinyurl.com/yfjcc6he
Forbes | tinyurl.com/4ehxjah9
Insider | tinyurl.com/3hn5vabs, tinyurl.com/2rpdspp6
TikTok : itsmarisajo | tiktok.com/@itsmarisajo