ลุยกินย่าน บรรทัดทอง อร่อยเด็ดทั้งเก่าและใหม่ - Urban Creature

สำหรับคอลัมน์ Neighboroot ผู้อ่านทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า Urban Creature จะออกเดินทางเข้าไปพูดคุยกับผู้คนในแต่ละย่าน เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ที่คนอาจจะมองข้ามไปบ้าง ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งต่างกับการเดินทางครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะถนนบรรทัดทองก็เป็นเส้นทางที่สุดแสนจะคึกคัก อย่างแรกก็อาจจะเป็นเพราะตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง มีผู้คนแวะเวียนไปมาอยู่ตลอด แถมยังอยู่ใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่แล้ว

เราจึงมานั่งคิดกันครับว่า ถ้าพูดถึงถนนที่เป็นเส้นสำนักงานหรือมหาวิทยาลัยเนี่ยจะมีอะไรให้พูดถึงบ้าง คำตอบที่พุ่งเข้ามาแทบจะเป็นอย่างแรกๆ ก็คือ อาหาร! ลองนึกถึงร้านอาหารหน้ามอ หลังมอ หรือร้านข้าวแถวออฟฟิศ ก็น่าสนุกแล้วใช่ไหมครับ แต่บรรทัดทองกลับพิเศษขึ้นไปอีกเพราะมีทั้งร้านสุดเก๋าที่อยู่มาเนิ่นนาน กินกันตั้งแต่พ่อเรียนมหา’ลัย จนมาส่งลูกรับน้อง แถมโลเคชันที่อนุญาตให้คนเก๋าจริงเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ ก็เลยมีร้านหน้าใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย

แค่ได้เอ่ยถึงท้องก็ร้องหิวแล้วล่ะครับ งั้นก็ไม่ขอรอช้า เราเริ่มต้นด้วยการมา Swap แบตฯ ให้พร้อมที่ PTT Station สามย่าน แล้วออกเดินทางสู่บรรทัดทองกันเลยดีกว่าครับ

สำหรับใครที่อยากขับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของ Swap & Go มาเที่ยวแถวนี้ก็บอกเลยว่าสะดวกมากครับ เพราะถ้าแบตเตอรี่ใกล้หมดเมื่อไหร่ก็มีสถานีชาร์จไว้คอยให้บริการอยู่ที่ PTT Station สามย่าน ซึ่งก็อยู่ในละแวกเดียวกันนี้แหละ เปลี่ยนแบตฯ ทีเดียวก็วิ่งได้อีกตั้ง 50 กิโลเมตร ใช้งานต่อได้ทั้งวันแบบสบายๆ 

ยักษ์ กะ โจน l กินอย่างรู้ที่มา

ถึงจะเป็นร้านอาหารหน้าใหม่ในถนนบรรทัดทองที่เปิดมาได้ประมาณ 4 เดือน แต่ต้องบอกว่าชื่อ ‘ยักษ์ กะ โจน’ นั้นเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมานานมากแล้วครับ ยักษ์ กะ โจน คือร้านอาหารที่มีไว้รองรับวัตถุดิบของสองคู่หูอย่าง อ.ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร และ อ.โจน จันใด ที่อบรมเรื่องการเกษตรผ่านเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ หรือสวนพันพรรณ ที่ส่งเสริมให้คนพึ่งพาตัวเอง และมีความมั่นคงทางอาหารด้วย

“เราเปิดมาได้ไม่นาน ยังไม่มีคนรู้จักเท่าไหร่ เพราะก็ยังไม่ได้ทำการตลาดอะไร ลูกค้ากลุ่มบุกเบิกน่าจะเป็นแฟนคลับของ อ.ยักษ์ กับ อ.โจน กันเสียมากกว่า เรายังไม่นิ่งเพราะไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน แต่เราไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อทำร้านอาหารแบบปกติ แต่ตั้งใจทำร้านอาหารเพื่อสังคม” พี่หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการไปทั่ว (ไม่ได้สะกดผิดนะครับ ชื่อตำแหน่งนี้จริงๆ) บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้จัดการร้านยักษ์ กะ โจน เริ่มเล่าให้ฟัง

พี่หนาวบอกว่า วัตถุดิบของที่นี่มาจากลูกศิษย์ของยักษ์กับโจนทั้งนั้น เปิดร้านอาหารเพื่อรองรับผลผลิตตรงนี้นี่แหละ

“เราไม่ใช่ร้านอาหารที่จะไปปลูกผักเอง แต่ไปสร้างคนปลูกไปอบรม ทำให้เขามีชีวิตที่พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น แล้วค่อยไปรับของเหลือกินจากแต่ละบ้านมาสร้างประโยชน์ต่อ ที่มาของอาหารจึงชัดเจนมาก แล้วของที่เหลือกินจากแต่ละบ้านจะไม่ใช่ผักตลาด เป็นผักพื้นบ้าน ยักษ์ กะ โจน เป็นร้านที่คุณได้กินผักพื้นบ้านที่หลากหลายไม่ซ้ำซากจำเจ”

กินอย่างรู้ที่มา ในราคาที่เป็นธรรม ตามวัตถุดิบที่มี’ คือปรัชญาของยักษ์ กะ โจน

ไม่ใช่แค่ผักซึ่งมีทั้งที่มาและกระบวนการปลูกชัดเจน แต่อาหารทะเลซึ่งเป็นวัตถุดิบขึ้นชื่อของยักษ์ กะ โจน ก็เปิดเผยแหล่งที่มาอย่างชัดเจนเช่นกัน ซึ่งเมนู ‘ทะเลย่างเตาถ่าน’ ที่ใช้ปลาและต้องจองล่วงหน้าถึง 2 ชั่วโมง เพราะไม่อยากทำละลายปลาไว้ก่อน แต่จะทำตามออเดอร์จะได้ไม่ต้องไปแช่ซ้ำ เป็นเมนูที่คุ้มค่าแก่การรอคอย เพราะรสชาติอร่อย สัมผัสได้ถึงความสดใหม่ของปลาอย่างชัดเจน น้ำจิ้มซีฟู้ดรสไม่จัดไป แต่ที่แนะนำคือจิ้มเกลือบีบมะนาว เพราะจะได้รสธรรมชาติแบบแท้จริง

“เราจับมือกับประมงพื้นบ้าน จะรู้เลยว่าปลาตัวนี้มาจากประมงพื้นบ้านกลุ่มไหน มีตั้งแต่ชุมพร คาบาน่า ที่เราเข้าไปช่วยเรื่องธุรกิจ หรือช่วงมรสุมเข้าชุมพรก็มีแหล่งประมงพื้นบ้านที่อื่นเช่น บางปู สมุทรปราการ หรือสนามไชย จันทบุรี การทำประมงพื้นบ้านวันหนึ่งก็จะจับไม่มาก ไม่ใช่เรือใหญ่ที่ไปลากปลาทีละเยอะๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นปลาเบ็ดด้วยซ้ำ ถ้าเป็นอวนก็อวนห่าง จับแต่ปลาตัวใหญ่ที่พร้อมจะเป็นอาหารเท่านั้น ไม่ได้เป็นประมงล้างผลาญ

“ข้าวกะเพราปลาทะเลตามมีก็เป็นอาหารสิ้นคิดอีกอย่างหนึ่งเราก็ขายแค่เจ็ดสิบบาท หรือเมนูสิ้นคิดที่เป็น ข้าวกล้องสันป่าตอง ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ข้น กับผัดผักตามมี อิ่มนี้แค่สามสิบบาท”

แต่ละสาขาของยักษ์ กะ โจน จะมีเมนูที่ไม่เหมือนกันเลย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือวัตถุดิบที่ได้มาจากลูกศิษย์ยักษ์ กะ โจน พี่หนาวเล่าว่า เมื่อวัตถุดิบคือของเหลือกินจึงไม่ได้มาในเวลาและปริมาณที่สม่ำเสมอ ผักบางชนิดเข้ามาทีละ 2 กิโลกรัม ก็เป็นปริมาณที่เหมาะกับใช้ในสาขาเดียวมากกว่า แถมเชฟแต่ละสาขาก็ยังถนัดประเภทอาหารที่ไม่เหมือนกันด้วย

“เชฟบางคนถนัดอิตาเลียน บางคนเก่งอาหารไทย-จีน เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ทุกสาขามีรสชาติเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน ยักษ์กะโจนทำไม่ได้”

น้องใหม่ย่านบรรทัดทอง ที่เป็นมือเก๋าด้านวัตถุดิบและการรับรู้คุณค่าของอาหาร ตอบคำถามถึงเป้าหมายของยักษ์ กะ โจน ไว้ว่าไม่ต่างจากร้านอาหารทั่วไป ก็คืออยากขยายธุรกิจหรือเปิดสาขาเพิ่ม เพียงแต่ว่ากำไรของที่นี่เป็นเรื่องรอง

“เราคิดถึงการขยายสาขาไปทุกอำเภอของประเทศไทย แต่วัตถุประสงค์ของการขยายสาขาไม่ได้มีเพื่อหาเงินหรือกำไร พูดให้เข้าใจชัดๆ คือเราอยากมีร้านอาหารทุกอำเภอเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานของลูกศิษย์ยักษ์ กะ โจน ทั่วประเทศ เราจะไปยึดพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้สารเคมี ให้มาเป็นการเกษตรอินทรีย์แบบยักษ์ กะ โจน”

น้ำเต้าหู้เจ้วรรณ l เสาหลักขนมหวานย่านบรรทัดทอง

แม้จะอยู่ใจกลางเมืองแต่บรรยากาศของย่านบรรทัดทองจะไม่ได้เมื้องเมืองมากถึงขนาดนั้นครับ แต่มีความเป็นชุมชนสูงมาก ร้านรวงที่เปิดอยู่บริเวณนี้ก็ไม่ได้ขายแต่พนักงานออฟฟิศ นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ขายให้คนในพื้นที่ด้วย รวมถึงราคาที่บอกตามตรงว่าไม่โหดร้ายเลย

ในบรรดาร้านรวงที่ตั้งตลอดสองข้างทาง ของหวานยอดนิยมที่เราชวนไปชิมให้ชื่นใจก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลครับ แต่เป็น ‘น้ำเต้าหู้เจ้วรรณ’ ที่ตั้งอยู่ตรงจุฬาฯ ซอย 22 นี่แหละครับ

ลูกสาวของเจ้วรรณได้เล่าไว้ว่า แต่เดิมที่บ้านเป็นคนต่างจังหวัด และได้เดินทางเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ โดยยึดอาชีพขายน้ำเต้าหู้ในตลาดแถวจุฬาฯ นี่แหละครับ ทีแรกก็ไม่ได้ขายดีหรือโด่งดังอะไรมากมาย จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่ซอยจุฬาฯ 22 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว พอเป็นยุคเฟื่องฟูของโซเชียลมีเดียพอดีก็เหมือนกับของดีที่ได้รับการบอกต่อ ทำให้คนรู้จักมากขึ้นและแวะเวียนมาชิมกันมากขึ้นตามไปด้วย

ทีเด็ดอย่างแรกที่เห็นได้ทันทีตั้งแต่ก่อนกินก็ต้องบอกว่าคือเครื่องครับ ให้ปริมาณมาอย่างหนาแน่นถึงใจ คือใครคิดว่าจะมาทานตบท้องให้เข้าที่หลังมื้อหลักอาจจะต้องเผื่อที่ว่างในกระเพาะไว้ล่วงหน้าก็จะดี เพราะไม่งั้นเดือดร้อนแน่ เพราะให้เยอะจริงๆ ดูจากภาพได้เลย

แล้วทีนี้ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรืออร่อยจนไปเข้าหูลิซ่า แบล็กพิงก์ เพราะเธอแวะมากินน้ำเต้าหู้ที่นี่ตอนที่กลับมาเมืองไทย แน่นอนว่าคนดังระดับนี้มากินแฟนคลับก็ต้องมากินตามอยู่แล้ว รวมถึงคนที่ได้ยินข่าวก็ต้องอยากมาลองสักครั้ง จนชื่อน้ำเต้าหู้เจ้วรรณติดลมบนไปเลย

แต่ที่จริงชื่อเสียงอย่างเดียวคงรักษาฐานลูกค้าไว้ไม่ได้แน่นอน แต่คุณภาพของเจ้วรรณนี่แหละที่ดึงให้ทุกคนแวะมาอุดหนุนอยู่ตลอด อย่างน้ำเต้าหู้เขาก็บอกไว้ว่าใช้ถั่วเหลืองซีกทั้งหมด ไม่ผสมอย่างอื่นเลย ทำให้ได้รสชาติถั่วเหลืองแท้ๆ ใครได้กินน้ำเต้าหู้หรือเนื้อเต้าหู้ที่นี่ดูก็จะพบว่ามีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่นจริงๆ

ความไม่หวงวัตถุดิบและใช้ของดีเท่านั้นสัมผัสได้ทุกเมนู อย่างน้ำขิงก็เผ็ดร้อนชัดเจน เฉาก๊วยก็หอมนุ่มเหนียว ใครชอบอะไรก็เลือกลองกันได้หมดเลย

เสน่ห์อย่างหนึ่งของบรรทัดทองคือเป็นถนนที่วุ่นวายเป็นเวลาครับ ถ้าเป็นตอนเช้าตอนเย็นก็อาจจะรถเยอะบ้าง แต่ถ้าเป็นช่วงระหว่างวันหรือค่ำมาหน่อยแล้วก็จะไม่ได้พลุกพล่านขนาดนั้น แถมมีมุมสงบให้นั่งเล่นเยอะ ใครอยากพักผ่อน แน่นอนว่าอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ก็เป็นทางเลือกที่ดี หรือจะขับมอเตอร์ไซค์ลัดเลาะในย่านนี้ลองหาร้านลับก็เข้าท่าไม่น้อย

ข้อดีอย่างหนึ่งของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคือเงียบ จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ได้รบกวนใคร ช่วงแรกอาจจะต้องลองฝึกให้ชินกับจังหวะของรถไฟฟ้าที่จะต่างจากรถใช้น้ำมันก่อน แต่เมื่อชิน ประกอบกับน้ำหนักที่เบากว่าแล้วจะไปไหนก็สบาย

นอกจากเดินทางได้แบบไม่รบกวนใคร แถมยังประหยัดค่าพลังงาน คิดว่าหลายคนอาจกังวลว่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต้องเสียเวลารอชาร์จไฟ แต่วันนี้มีการบริการสลับแบตเตอรี่ Swap&Go แล้วซึ่งมีข้อดี คือกระบวนการไม่ยุ่งยากเพียงมาที่สถานีสลับแบตแล้วไปต่อได้เลยซึ่งไวมากๆ ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 นาที นอกจากนี้ไม่ต้องกลัวว่าถ้าไปถึงสถานีสวอพแบตฯ แล้วจะไม่มีแบตฯ ให้เปลี่ยน เพราะแอปพลิเคชัน Swap&Go มีระบบจองแบตเตอรี่ไว้ล่วงหน้า เมื่อไปถึงจะได้สลับแบตฯ ได้ทันที และยังทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง (เวลาเปิด-ปิดเข้าพื้นที่เป็นไปตามเจ้าของสถานที่) แบตฯ ใกล้หมดเมื่อไหร่ก็มองหาตู้สีเหลืองได้เลย 

มิ้งโภชนา l ตำนานหมูสะเต๊ะซีอิ๊วดำ

เราขับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go มาหาเฮียมิ้ง เจ้าของร้านมิ้งโภชนา แต่ทราบข่าวจากที่ร้านว่าเฮียขับมอเตอร์ไซค์ออกไปซ่อมหม้อหุงข้าว เหมือนสวนกันพอดี ให้นั่งรอกันก่อน เดี๋ยวสักพักก็น่าจะกลับมาแล้ว

ชื่อของมิ้งโภชนานี่ต้องถือว่าโด่งดังมากนะครับ อีกอย่างก็คือเมื่อไหร่ที่เราเข้าไปในร้านเก๋าๆ แล้วเจอรูปถ่ายกับบุคคลมีชื่อเสียงติดตามร้านนี่ก็การันตีได้แล้วระดับหนึ่งว่าอย่างน้อยต้องอร่อยแน่ และผนังฝั่งหนึ่งของมิ้งโภชนาก็เต็มไปด้วยรูปเฮียมิ้งที่ไปเดินสายออกรายการสายอาหารเต็มไปหมด

“เรามันเก่าแก่ เปิดมาได้แปดสิบปีแล้ว แต่ย้ายร้านมาที่นี่ได้ประมาณสี่สิบปี” เฮียมิ้ง วัย 73 ปี ในท่าทางกระฉับกระเฉงเข้าเรื่องทันทีหลังกลับมาจากธุระ และเปิดประตูให้พวกเราเข้าไปดูเตาปิ้งหมูที่หลังร้าน

เฮียเล่าว่าขายหมูสะเต๊ะมาตั้งแต่ 16 ขวบ โดยสมัยก่อนไม่ได้มีหน้าร้าน แต่เฮียและพ่อจะหาบขายไปเรื่อยๆ โดยมีที่ประจำอยู่แถวโรงหนังโอเดียนย่านตลาดน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเซียงกง หรือร้านขายอะไหล่เก่า ซึ่งพนักงานเซียงกงติดอกติดใจหมูสะเต๊ะสูตรเฮียมิ้งมากเป็นพิเศษ เจอทีไรก็ต้องกวักมือเรียกตลอดหรือแวะซื้อตลอด

“สมัยนั้นเรายังเด็กอยู่ก็หาบขายไปเรื่อยๆ ผมอยู่กับพวกเซียงกงมาตั้งแต่เด็ก คนเซียงกงกินหมูสะเต๊ะผมมาตลอด ทีนี้เขาย้ายมาเปิดแถวจุฬาฯ กันเยอะ ก็ชวนเรามาเปิดตรงนี้ด้วย เวลากินจะได้ไม่ต้องเสียเวลาข้ามไปฝั่งนู้น”

จุดเด่นของหมูสะเต๊ะที่นี่คงหนีไม่พ้นน้ำจิ้มซีอิ๊วดำ คือที่นี่ไม่ได้จิ้มกับน้ำกะทิที่เราคุ้นเคยแล้วตบท้ายด้วยอาจาดไว้แก้เลี่ยนอย่างเดียว แต่มีน้ำจิ้มซีอิ๊วดำสูตรเฉพาะซึ่งเป็นทีเด็ดของร้าน เป็นเจ้าแรกและมีเพียงเจ้าเดียวเท่านั้นในประเทศไทย

“ซีอิ๊วดำผมปรุงเองนะ คิดเองมาตั้งแต่เด็กเลย รสชาตินี้ถ้าไปซื้อก็ไม่มีขาย ต้องมาที่นี่ (ยิ้ม) แล้วพวกเซียงกงส่วนมากเขาชอบกินแต่ซีอิ๊วดำ เพราะว่ากินแล้วเพลิน ไม่เลี่ยน มีทุกรสชาติ”

เฮียมิ้งเล่าว่า ย้ายมาอยู่ริมถนนบรรทัดทองตรงระหว่างซอยจุฬาฯ 4 กับ 6 เมื่อไม่นานมานี้เอง สาเหตุที่ต้องย้ายมาก็เพราะว่าร้านเดิมหมดสัญญา ซึ่งที่จริงก็มีทางเลือกว่าจะไปขายที่ย่านอื่นหรือเปล่าแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจอยู่แถวนี้เหมือนเดิม

“สมัยก่อนเฮียอยู่ซอยสามสิบ แต่ก็ไม่อยากย้ายไปที่อื่นแล้วเพราะลูกค้าประจำก็อยู่แถวนี้กันหมด ถึงเซียงกงจะย้ายไปแล้วแต่คนแถวนี้ก็กลายเป็นลูกค้าหมดแล้ว เบอร์โทรศัพท์ผมก็ยังใช้เบอร์เดิมอยู่โทรมาก็โทรมาสั่งกันหมดแล้ว เป็นเบอร์นี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร อีกอย่างตรงนี้มันก็สะดวกด้วยเวลาจะมาซื้อหมูสะเต๊ะก็ง่าย”

น้ำจิ้มซีอิ๊วดำของเฮียมิ้งก็เรียกได้ว่าเป็นหมัดเด็ดที่มัดใจทุกคนจริงๆ เพราะตลอดเวลาที่นั่งคุยกันก็จะมีสายโทรศัพท์ที่ต่อเข้ามาสั่งหมูสะเต๊ะก็จะขอน้ำจิ้มซีอิ๊วดำเยอะเป็นพิเศษ บางคนไม่เอาน้ำจิ้มอื่นเลยขอซีอิ๊วดำอย่างเดียว ก็น่าจะการันตีได้ว่าเป็นทีเด็ดของเขาจริงๆ

ถ้วยถังไอติม l ของหวานยุคใหม่ที่เอาความเก๋ามานำเสนอ

แบตฯ รถยังเหลืออีกเยอะ แต่แบตฯ คนเริ่มอ่อน ขอเติมของหวานตบท้ายกันสักหน่อย ถ้วยถังไอติมเป็นร้านที่เดินผ่านทีไรก็จะคึกคักอยู่เสมอ อย่างแรกที่สัมผัสได้จากที่ตาเห็นก่อนคือร้านน่านั่ง ด้วยการตกแต่งแบบคาเฟ่สไตล์จีนฮ่องกงแต่มีความโมเดิร์นสมัยใหม่แฝงอยู่ เช่นเดียวกับเมนูที่เอาของคุ้นเคยมาประยุกต์ใหม่ให้น่ากินกว่าเดิม

รสชาติของถ้วยถังคือรสชาติที่พวกเราคุ้นเคยที่ถูกนำมาตีความใหม่ อย่างไอศกรีมโฮมเมดก็จะมีให้เลือกทั้งรสเกาลัด ถั่วตัด ชานมไต้หวัน หรือไมโลโรงเรียนที่ทุกคนชื่นชอบ แล้วเสิร์ฟมาแบบหลากหลาย มีทั้งหมั่นโถวทอดและนึ่ง หรือจะลองเป็นพุดดิ้งก็เข้ากัน

ถ้าใครไม่ใช่สายไอศกรีมแต่อยากมานั่งเล่นกับเพื่อนก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเครื่องดื่มก็มีให้เลือกเยอะ จะเป็น Apple Cidra เติมความสดชื่นรับวันแดดร้อน หรือจะเลือกดื่มชาอู่หลงตงกวาฉาก็เข้าทีเหมือนกัน

หลายคนอาจจะคิดว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นเรื่องของอนาคต เพราะกลัวว่าโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อมรองรับการใช้งาน แต่ที่จริงต้องบอกว่าเป็นเรื่องของปัจจุบันไปแล้วครับ เพราะ Swap & Go มีสถานีสวอพแบตฯ มากถึง 21 จุด ครอบคลุมทุกการใช้งาน คือถ้าอยากมาเที่ยวบรรทัดทอง แต่บ้านอยู่แถวจตุจักร ปากเกร็ด พระโขนง พระราม 3 หรือจุดไหนของเมืองก็ขับมาเที่ยวได้เลย

ที่สำคัญคือแวะมากินอย่างเดียว จะไม่ซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านก็ใช่ที่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของ Swap & Go นอกจากจุแบตฯ ขนาด 60 โวลต์ได้สองก้อนแล้ว ก็ยังเหลือที่ใส่ของ จะซื้อหมูสะเต๊ะหรืออะไรไปฝากคนที่บ้านก็สบาย

ใครที่เป็นสายหลงเกรงว่าจะออกนอกเส้นทางไปไกลก็ไม่ต้องกลัว เพราะแอปพลิเคชัน Swap&Go มีฟังก์ชันนำทางไปสถานีสวอพแบตเตอรี่ เติมแบตฯ ให้เต็มก็พร้อมลุยต่อ 

สำหรับใครที่อยากลองใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาเที่ยวเล่นหรือมากินแบบนี้ จะได้แวะหลายๆ ร้าน ไม่ต้องคอยต่อรถ ขอชวนไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย www.swapandgo.co/ หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook Page : Swap and Go หรือสามารถสอบถามข้อมูลและสิทธิพิเศษได้ที่ Line @swapandgo

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.