โรงพิมพ์นิตยสาร ‘บางกอก’ สู่โรงแรมมิวเซียม ‘Bangkok Publishing Residence’ - Urban Creature

จากตัวอักษรในนิยายที่ทำให้วางมือไม่ลง เรื่องราวข่าวสารที่น่าติดตาม รวมทั้งผิวสัมผัสของกระดาษเวลาเปิดแต่ละหน้า และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์ที่คนรักสิ่งพิมพ์ต่างหลงใหล น่าเสียดายที่ปัจจุบันธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ได้เลือนหายจางลงไปทุกที

หากพูดถึงนิตยสารสมัยก่อนที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องหยิบมาอ่าน หนึ่งในนั้นต้องมี ‘นิตยสารบางกอก’ หนังสืออ่านเล่นที่เนื้อหาไม่ใช่เล่นๆ มีครบทั้งนิยายชวนติดตามจากหลากหลายนักเขียน ข่าวสารอัปเดตแฟชัน หรือคอลัมน์ถาม – ตอบคลายข้อสงสัย ที่ผูกพันกับเหล่านักอ่านได้ติดตามกันทุกสัปดาห์

ถึงแม้ทุกวันนี้ โรงพิมพ์นิตยสารบางกอกจะปิดตัวไปแล้ว แต่ความทรงจำครั้งเก่ายังคงบรรจุไว้อย่างอัดแน่นในโรงแรมมิวเซียม ‘Bangkok Publishing Residence’ โดยทายาทรุ่นหลาน ‘คุณอุ้ม ปณิดา ทศไนยธาดา’ ที่เป็นผู้ตัดสินใจรีโนเวทโรงพิมพ์เก่าของครอบครัวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

พ.ศ. 2503 | ‘นิตยสารบางกอก’ เกิดขึ้นบนถนน ‘หลานหลวง’

นั่งเครื่องไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2503 จุดเริ่มต้นของ ‘นิตยสารบางกอก’ มาจากคุณตาของคุณอุ้มเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วได้ขายหนังสือมาเรื่อยๆ จนได้รู้จักนักเขียนหลายคน ทำให้คุณตาตัดสินใจทำโรงพิมพ์ขึ้นมา ซึ่งจัดทำเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น โปสเตอร์ แผนที่ รวมทั้งนิตยสารชื่อดังอย่าง ‘บางกอก’

เดิมนิตยสารบางกอกเป็นนวนิยายขายกลุ่มวัยรุ่นชาย สไตล์บู๊แอคชัน ต่อสู้ผจญภัย ภายหลังเปลี่ยนมาเอาใจสาวๆ เกี่ยวกับความรักโรแมนติก ความงาม เน้นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เรียกได้ว่ามีครบทุกรส ไม่ว่าจะเป็นหมวดนวนิยาย เรื่องสยองขวัญ แฟชัน หรืออัปเดตข่าวสารต่างๆ เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ทั้งพนักงานออฟฟิศ กลุ่มแรงงาน หรือกลุ่มวัยรุ่นต้องมีพกติดตัวไว้สักเล่มไว้อ่านเล่นยามว่าง เนื่องจากสมัยนั้น สื่อบันเทิงที่เข้ามายังไม่หลากหลายเท่าในปัจจุบัน แถมยังราคาไม่แพง ใครๆ ก็สามารถซื้อหามาอ่านได้ไม่ยาก

คุณอุ้ม ทายาทรุ่นหลานของโรงพิมพ์แห่งนี้ เล่าถึงชีวิตการทำงานในสมัยนั้นให้ฟังว่า โตมากับสิ่งพิมพ์ตั้งแต่เด็กๆ ปิดเทอมก็จะติดตามคุณแม่ไปทำงานที่โรงพิมพ์ด้วยเป็นประจำ คุณอุ้มก็จะเห็นแท่นพิมพ์ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา และกลิ่นหมึกที่เป็นเอกลักษณ์ ขั้นตอนการผลิตนิตยสารที่ต้องแข่งกับเวลา ภาพทุกอย่างถูกซึมซับเข้ามาในความทรงจำของคุณอุ้มเสมอมา

ขณะนั้นถือได้ว่าเป็นยุคทองของสิ่งพิมพ์ โรงพิมพ์ตีพิมพ์นิตยสารอยู่หลายเล่ม อย่างนิตยสารบางกอกเองตีพิมพ์ทีหนึ่งก็ล็อตละ 300,000 เล่ม ซึ่งสมัยนั้นนับว่ายอดพิมพ์สูงมาก ส่วนคุณแม่ของคุณอุ้มทำนิตยสาร ‘จันทร์’ ที่เน้นเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิง ต้องจ้างโรงพิมพ์ข้างนอกเพิ่มด้วยอีกแรง ทำให้คุณอุ้มเห็นบรรยากาศของการทำงานทุกขั้นตอน เช่น การตรวจต้นฉบับ การจัดวางหน้าในนิตยสาร รวมไปเช็กสีหมึกบนกระดาษไม่ให้มีผิดเพี้ยน ที่ทุกขั้นตอนทำด้วยระบบแมนนวล กว่าจะปิดเล่มแต่ละทีก็ลากยาวไปจนถึงตีสองตีสามเลยทีเดียว

ความละเอียดของคนสมัยก่อน ทุกหน้าของนิตยสารเป็นงานของคนทำมือ ไม่ว่าจะเป็นรูปโปสเตอร์ที่ตัดแปะขึ้นมาเอง การดีไซน์ตัวอักษร การจัดองค์ประกอบ รวมไปถึงเส้นตรงแต่ละเส้นที่คมกริบเรียงเป็นระแนง ล้วนขีดขึ้นมาด้วยมือทั้งสิ้น อีกทั้งทุกกระบวนการยังต้องทำงานแข่งกับเวลา ยิ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่ต้องเสร็จภายใน 2-3 วันด้วยแล้ว คุณอุ้มยังบอกอีกว่าคนสมัยก่อนทำงานโหดกว่ารุ่นเรามาก เคยปิดเล่มภายในวันเดียวก็มีมาแล้ว

นิตยสารบางกอกเกิดขึ้นในโรงพิมพ์ตึกแถว 1 คูหาบนถนนหลานหลวง พอหลังจากธุรกิจนิตยสารประสบความสำเร็จก็เริ่มขยับขยายพื้นที่เป็น 6 คูหา ซึ่งคุณอุ้มเล่าถึงบรรยากาศในช่วงเวลานั้นว่า สมัยก่อนรุ่นคุณยายเป็นยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ ในย่านหลานหลวงเต็มไปด้วยโรงพิมพ์ และโรงละครตั้งอยู่เรียงราย มีนักเขียนนั่งคุยกันตามร้านกาแฟต่างๆ

หลานหลวงจึงเป็นย่านครีเอทีฟของคนสมัยก่อน รวมถึงถนนหนทางที่สะดวกสบาย ทำให้ย่านนี้มีความเจริญเปรียบเหมือนสยามในสมัยนี้เลยทีเดียว แต่น่าเศร้าที่ทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์เก่าๆ เลือนหายไปหมดแล้ว โรงพิมพ์หลายแห่งทยอยปิดตัวลง หลานหลวงไม่คึกคักเท่าสมัยก่อน ช่วงแรกที่คุณอุ้มเข้ามารีโนเวทโรงพิมพ์นี้ คุณอุ้มได้อธิบายถึงบรรยากาศของย่านนี้ว่า เส้นหลานหลวงเงียบสนิทเหมือนเมืองผีดิบ ผู้คนละทิ้งตึกแถวไปจนเกือบหมด โรงพิมพ์เก่าแก่ก็แทบจะตายจากไปกันหมดแล้ว

พ.ศ. 2560 | ปลุก ‘โรงพิมพ์’ สู่ ‘โรงแรม’

ในยุคที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พื้นที่ตึกแถว 6 คูหาไม่เพียงพออีกต่อไป จึงต้องย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่บ้านใหม่แถวถนนศรีอยุธยา ทำให้ตึกแถวนี้กลายเป็นสำนักงานของครอบครัวและถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมา ผ่านมาหลายปียุคของสิ่งพิมพ์ก็เริ่มจางหายไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณยายของคุณอุ้มมอบกุญแจโรงพิมพ์แห่งนี้ให้คุณอุ้มไปทำอะไรสักอย่าง

โจทย์ที่คุณยายมอบพื้นที่นี้ให้คุณอุ้มดูแล คือจุดเริ่มต้นของโรงแรมมิวเซียม ‘Bangkok Publishing Residence’ ซึ่งมาจากความตั้งใจของคุณอุ้มที่อยากรักษาโรงพิมพ์เก่าแห่งนี้ ให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์สื่อสิ่งพิมพ์’ ซึ่งรวบรวมเทคโนโลยีการพิมพ์ในสมัยก่อน หรือสิ่งของที่มีคุณค่าให้คนที่สนใจเรื่องสิ่งพิมพ์ได้มาศึกษา

สาเหตุที่ต้องปรับเป็นโรงแรม เนื่องจากในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจดำรงอยู่ได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ด้วยลำพังตัวคุณอุ้มเองไม่ได้มีทุนสนับสนุน จึงเป็นโจทย์ต่อมาว่า หากทำเป็นเชิงธุรกิจก็น่าจะสามารถรักษาสิ่งนี้ให้อยู่รอดต่อไปได้ จึงกลายเป็นที่มาของโรงแรม ‘Bangkok Publishing Residence’

‘Mysterious’ ความลึกลับ
‘Private’ ความส่วนตัว
‘Elegant’ ความสง่างาม

3 คำนี้คือคอนเซปต์ในการออกแบบโรงแรม ‘Bangkok Publishing Residence’ หากใครผ่านไปผ่านมาแถวหลานหลวง อาจเดินผ่านโรงแรมที่ภายในตกแต่งอย่างสง่างามนี้โดยไม่รู้ตัว ด้วยอาคารสีเทาเข้มดูลึกลับที่หลายคนมองข้ามไป ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของคุณอุ้มที่ต้องการให้คนรักสิ่งพิมพ์ หรือคนที่สนใจประวัติศาสตร์ของสิ่งพิมพ์เท่านั้นได้เข้ามาสัมผัส

หากอยากเข้าใจโลกของสิ่งพิมพ์อย่างลึกซึ้ง คุณอุ้มแนะนำให้ลองมาพักโรงแรมสักหนึ่งคืน เพื่อใช้เวลาซึมซับบรรยากาศโรงพิมพ์ ด้วยการออกแบบโครงสร้างและการตกแต่งที่ให้กลิ่นอายเก่าๆ และศึกษาประวัติศาสตร์การพิมพ์ผ่านอุปกรณ์และเครื่องจักรซึ่งเคยถูกใช้งานในโรงพิมพ์จริงๆ ซุกซ่อนอยู่ในทุกซอกทุกมุมของโรงแรม ขนาดตัวเราที่ไปสัมภาษณ์คุณอุ้ม นั่งคุยเกี่ยวกับนิตยสาร และฟังเรื่องราวของการพิมพ์ในสมัยก่อน ก็เพลิดเพลินกันจนลืมเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง

เมื่อได้เข้ามาเช็กอินโรงแรม ‘Bangkok Publishing Residence’ จะมาพร้อมกับแผนที่จิ๋วเป็นไกด์พาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งแต่ละชั้นจะพาไปสำรวจสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็น เครื่องพิมพ์ดีดอายุเกือบร้อยปีที่คุณตาของคุณอุ้มได้เก็บสะสมไว้ เครื่องพิมพ์นิตยสารตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ รวมไปถึงผลงานของโรงพิมพ์อย่าง โปสเตอร์ แผนที่ และนิตยสาร

ชั้น 1 ของโรงแรมจะพาทุกคนย้อนวันวาน ในช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7 ย่านหลานหลวงถือว่าเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของไทย อย่างการเล่นดนตรีร่วมสมัย ที่ทุกคนต้องมาร้องรำทำเพลงในย่านนี้ เช่น การแสดงโขน หรือการเต้นบอลรูม

มองเลยไปอีกนิดจะเห็นเครื่องพิมพ์ดีดตั้งอยู่เรียงราย ซึ่งมีอายุหลักร้อยและหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์ของสมัยนั้น อย่างเครื่องพิมพ์ดีด ‘Remington’ รุ่น Smith Premier ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 เป็นเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกที่มีแป้นพิมพ์ตัวอักษรไทย ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา

และ ‘The Mignon Model 4’ เป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่ผลิตในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นรุ่นที่ขายดีในช่วง ค.ศ. 1924-1934 จุดเด่นของมันคือสามารถพิมพ์ได้ถึง 300 ตัว/นาที

เขยิบไปอีกฝั่งหนึ่ง จะได้ทำความรู้จักกับเครื่องพิมพ์นิตยสารสุดเก๋า ค.ศ.1900 ‘Gestetner’s Rotary Cyclostyle’ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็เหมือนกับเครื่องถ่ายเอกสารของคนสมัยนั้น

ขึ้นไปชั้นบนของโรงแรมจะต้องตื่นเต้นไปกับดีเทลต่างๆ อย่างแม่พิมพ์แกะสลักตัวอักษร ที่ใช้ผลิตนิตยสารมาแล้วนับไม่ถ้วน เวลาจะผลิตนิตยสารออกมาจำนวนมาก ต้องใช้แม่พิมพ์พวกนี้เรียงกันเป็นคำใส่ในเครื่องพิมพ์ ซึ่งจะทำให้งานเรียบร้อยเหมือนกันทุกเล่ม เดินต่อมาอีกสักนิดก็จะเจอกับกองม้วนกระดาษโรเนียวไว้ใช้พิมพ์นิตยสารในสมัยนั้น

เสน่ห์ของ ‘Bangkok Publishing Residence’ ที่ชวนหลงใหลให้เข้ามาพักโรงแรมนี้ คือการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานทั้งบรรยากาศของโรงพิมพ์และบ้านยุคเก่าเข้าไว้ด้วยกัน อย่างพื้นที่ส่วนกลางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างลิฟท์เหล็ก บานกระจก และมุมห้องทำงานของคุณตา

ขึ้นลิฟท์เข้ามาในส่วนของห้องพักของโรงแรม ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 ห้องเท่านั้น คุณอุ้มบอกถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเหมือน ‘บ้าน’ จึงมีความอบอุ่นแฝงอยู่ในนั้น แต่ละห้องก็จะมีคอนเซปต์แตกต่างกันออกไป รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ของทุกห้องจะมีโต๊ะเขียนหนังสือสำหรับคนชอบขีดเขียน บ้างเป็นโต๊ะทำงานของคุณพ่อที่มีความคลาสสิกอยู่ในตัวและมีคุณค่าทางใจ

ปัจจุบัน | คุณค่าทาง ‘ใจ’ เป็น ‘แรงผลักดัน’

ปัจจุบันโรงแรม ‘Bangkok Publishing Residence’ เปิดมาได้ 2 ปีแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาพักล้วนมาจากการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณอุ้มที่อยากสร้างโรงแรมสำหรับคนที่ตั้งใจมาซึมซับเรื่องราวของสิ่งพิมพ์

กว่าจะมีทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณอุ้มเล่าถึงความยากลำบากของการก่อตั้งโรงแรม ‘Bangkok Publishing Residence’ ตอนตัดสินใจจะรีโนเวทอาคารหลังนี้ ครั้งแรกมีสภาพทรุดโทรมมาก เก็บไว้ได้แค่เปลือกนอกของอาคาร เพราะด้านในไม่สามารถรับน้ำหนักได้อย่างแข็งแรงคงทนจึงต้องทุบทำใหม่ทั้งหมด รวมทั้งบรรยากาศถนนหลานหลวงที่เงียบเชียบ ไม่มีสิ่งที่น่าสนใจนัก กว่าจะปลุกให้โรงพิมพ์แห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ต้องใช้แรงใจเยอะมาก ถึงจะมีท้อบ้างแต่ก็ต้องเดินหน้าทำต่อให้สำเร็จ

“อุ้มไม่ยอมแพ้กับทุกสิ่ง ถ้าเราตั้งใจทำอะไร เชื่อว่ามันไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้
ทุกอย่างคืออุปสรรค ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ถอย
มันอาจจะเป็นอุปสรรคใหม่ แต่เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี ที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ถ้ามองทุกอย่างคือบทเรียน มันก็ไม่มีอะไรต้องท้อ
เรามีทุกวันนี้เพราะสิ่งพิมพ์ เราต้องขอบคุณและรักมัน ต้องเก็บรักษาไว้เพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจ”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.