‘กรุงเทพฯ’ ควร ‘ย้ายเมืองหลวง’ จริงหรือ ? - Urban Creature

ถึงเวลาที่ ‘กรุงเทพฯ’ ต้องย้ายเมืองหลวง ?

กระแสช่วงหนึ่งนายกฯ บ้านเราเคยมีความคิด มองหาทำเลเพื่อย้ายเมืองหลวง หนีสภาพเมืองที่แออัด และปัญหาน้ำท่วม ที่มีสาเหตุจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ตามอย่างกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียที่วางแผนจะย้ายเมืองหลวง เพราะพื้นดินทรุดต่ำลง 2.5 เมตร คาดว่าจะจมภายในปี 2050 ขึ้นอันดับ 1 จาก 10 เมืองที่เสี่ยงจมน้ำเร็วที่สุดในโลก จากการจัดอันดับการสำรวจและเก็บข้อมูลปี 2018 ของ John Englander ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการระดับน้ำทะเล ที่สำคัญกรุงเทพฯ เราเองก็ติดอันดับ 5 กับเขาด้วยเหมือนกัน

วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับรองศาสตราจารย์ ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาให้คำตอบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเก็บกระเป๋ามองหาที่อยู่ใหม่ไหม ? รวมถึงปัญหาที่ควรให้ความสำคัญ และแนวทางแก้ไขที่มีภูมิปัญญาดีอยู่ใกล้ตัว สิ่งนั้นคืออะไรตามไปหาคำตอบกัน

กรุงเทพฯ จะจมน้ำจริงไหม   ?

กรุงจาการ์ตาติดอันดับ 1 เมืองที่เสี่ยงเรื่องน้ำท่วมมากที่สุดในโลก ในขณะที่บ้านเราอยู่อันดับ 5 มีโอกาสไหมที่กรุงเทพฯ จะจมน้ำเช่นกัน อาจารย์นพนันท์ให้คำตอบว่า ถึงแม้ว่าน้ำแข็งจะละลายจริง ทำให้ระดับน้ำทะเลในไทยสูงขึ้นเฉลี่ย 4 มิลลิเมตร/ปี แต่ก็คงไม่ได้อยู่ในสถานะของเหลวอยู่ตลอด เพราะถ้าเทียบกับน้ำบนผิวดิน ซึ่งระเหยวันละ 3 เซนติเมตร/วัน ตัวเลขทั้งสองค่านี้มันแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนไทยกลัวกันว่า สักวันหนึ่งกรุงเทพฯ จะจมน้ำเพราะน้ำแข็งละลายอาจจะไม่ได้มีผลกระทบขนาดนั้น

“กรุงเทพฯ จะไม่จมเพราะน้ำท่วมโลก
แต่จะจมเพราะฝนตกหนักแล้วระบายไม่ทัน”

อาจารย์นพนันท์ยังบอกถึงสาเหตุสำคัญอีกว่า สิ่งที่ไทยควรกังวลมากกว่าน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น คือเรื่อง ‘ภัยพิบัติ’ จากปรากฎการณ์ของภาวะโลกร้อน อย่างพื้นที่ใกล้ทะเล น้ำจะระเหยกลายเป็นไอน้ำก่อตัวเป็นเมฆที่หนาขึ้น ทำให้ฝนตก เฉพาะบริเวณนั้นและเกิดน้ำท่วมหนัก ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลออกไปก็จะเกิดภัยแล้งตามมา มันไม่มีความสมดุลทางธรรมชาติที่พอดีกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรเฝ้าระวังเพราะมีผลกระทบต่อทุกคน

สังเกตจากข่าวน้ำท่วม ภัยแล้งในต่างจังหวัด ฝนตกหนักในกรุงเทพฯ รวมไปถึงการแพร่ของเชื้อโรคที่นับวันเริ่มเห็นผ่านตามากขึ้นกว่าเดิม หากไปดูการจัดอันดับความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง Global Climate Risk Index 2018 ขององค์กร Germ Watch จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งหากดูจากสถิติย้อนหลังปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพฯ จากสำนักระบายน้ำ เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 1991-2017 พบว่าปี 2017 ปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุดในรอบ 26 ปี

ย้ายเมืองหลวงจะไปที่ไหน ?

หากกรุงเทพฯ มีความคิดจะย้ายเมืองหลวงใหม่ เพื่อหนีจากปัญหาดังกล่าว มันควรจะต้องเป็นพื้นที่แบบไหน ? อาจารย์นพนันท์ถอนหายใจก่อนจะพูดว่า ถ้าย้ายเพราะหนีความแออัด การที่ในเมืองอุตส่าห์สร้างระบบขนส่งสาธารณะ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อยู่แล้ว เช่น ถนน และรถไฟฟ้า สุดท้ายย้ายไปอยู่ที่อื่น อาจจะมีแต่เสียมากกว่าได้เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสร้างใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงก่อให้เกิดมลพิษมากขึ้น เมื่อต้องเดินทางไปๆ มาๆ

ลองคิดภาพตามว่า การเอาศูนย์ราชการไปตั้งนอกเมือง คนที่มาติดต่อก็ต้องขับรถออกไปอยู่ดี หากศึกษาประเทศที่พัฒนาแล้ว จะสังเกตเห็นว่าพวกเขารณรงค์ให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ฟื้นฟูพัฒนาเมืองเดิมให้ดีขึ้น และออกแบบรองรับการอยู่อาศัยที่หนาแน่นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในอดีตคนไทยเคยเป็นมนุษย์ที่ปรับตัวเก่ง”

พอถามถึงเรื่องสภาวะโลกร้อน หากเราจะหนีปัญหาน้ำท่วม ก็ทำให้อาจารย์นพนันท์ต้องถอนหายใจอีกครั้ง “แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน เพราะโลกมันร้อนทั้งใบนะ คือย้ายไปอยู่อุบลฯ น้ำก็ท่วม เชียงใหม่ก็ท่วมแล้ว งั้นต้องไปอยู่ดาวดวงอื่น หรือโลกที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเลย” ซึ่งมันก็เหมือนกับการที่วิ่งหนีปัญหาอยู่เรื่อยๆ และจะทำลายกำแพงนี้ได้อย่างไร ถึงย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ต้องเจอปัญหาพวกนี้วนเวียนมาอยู่ดี

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการปรับตัว (Adaptation) ในอดีตคนไทยเคยเป็นมนุษย์ที่ปรับตัวเก่ง เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างราบรื่น อย่างน้ำท่วมก็อยู่บ้านที่มีใต้ถุนสูง เมื่อน้ำขึ้นก็พายเรือสัญจรสนุกสนาน อย่างที่ปรากฎเห็นในเพลงเรือ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านร้องเล่นกันในช่วงฤดูน้ำหลาก

เมื่อก่อนเราใช้วิธี ‘Cut and Fill’ อธิบายง่ายๆ มันก็เหมือนกับ ‘โคก หนอง นา’ โมเดล มาจากแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ หลักการคือการขุดดินเป็นหนองน้ำ ยามแล้งก็มีน้ำใช้ เวลาน้ำท่วมก็อยู่รอด ส่วนดินที่ขุดขึ้นมาก็นำมาถมเป็นโคก ไว้ตั้งที่อยู่อาศัย ปลูกไร่นา ก็สามารถใช้น้ำที่เก็บไว้หล่อเลี้ยงในพื้นที่ได้สบาย รวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วม เพราะต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำเอาไว้ และรักษาหน้าดินให้แข็งแรง

กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองน้ำ’ ต้องทำอย่างไร ?

ในเมื่อสู้ไม่ได้ หนีไปก็ไม่รอด ถ้าปรับเมืองคู่กับน้ำ ‘กรุงเทพฯ’ ควรมองเมืองไหนเป็นต้นแบบการจัดการเรื่องน้ำได้ดี เหมือนอัมสเตอร์ดัม ลอนดอน หรือปารีส ? “ทำไมเราไม่มองอยุธยาล่ะ ใกล้ตัวกว่าเยอะ เขาสามารถสั่งน้ำได้นะ ผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าแม่น้ำลพบุรีได้เลย เพื่อบังคับทิศทางน้ำให้ไหลออกตามที่ต้องการ มันคือภูมิปัญญาที่สะสมมาพันกว่าปี แต่คนไทยกลับทิ้งหมดเลย”

อยุธยาสมัยก่อนออกแบบให้เป็นเมืองน้ำ เพราะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำขนาดใหญ่ 3 สาย นั่นคือ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และ ลพบุรี เมื่อถึงฤดูน้ำหลากกระแสน้ำไหลแรงปะทะเข้าในเมืองโดยตรง อยุธยาจึงแก้เกมโดยการขุดคูคลองในเมืองเพิ่ม เน้นแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อระบายน้ำออกสู่นอกเมืองได้รวดเร็ว จนเกิดเป็นโครงข่ายเส้นน้ำเชื่อมต่อกันทั้งใน-นอกเมือง

“ในอดีตหน้าน้ำเคยเป็นช่วงที่คนไทยมีความสุข
แต่ตอนนี้ช่วงน้ำหลากกลับมีแต่ความทุกข์”

ส่วนพื้นที่นอกกำแพงเมือง เป็นที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง เมื่อเข้าช่วงฤดูน้ำหลากจะท่วมยาวถึง 4-5 เดือน ชาวอยุธยาปรับตัวโดยการทำพื้นที่เกษตรกรรมหลังฤดูน้ำหลาก โดยมีคลองธรรมชาติ และคลองขุดเพื่อผันน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงในยามจำเป็น แต่น้ำมาเมื่อไหร่ ก็จะใช้พื้นที่ทุ่งนาเป็นพื้นที่รองรับก่อนน้ำเข้าสู่ในเมือง และมีความสุขที่ได้พายเรือเล่นน้ำ ร้องรำทำเพลง ทำการละเล่นเกี่ยวกับน้ำ อย่างประเพณีแข่งเรือ

นอกจากนี้อาจารย์นพนันท์ฝากไว้ว่า กรุงเทพฯ ควรจะให้ความสำคัญกับคลอง เพราะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน เหมือนอยุธยาอยู่ตรงที่ลุ่มน้ำ แถมมีแม่น้ำมาชนกัน มีโอกาสบ่อยมากที่น้ำจะท่วมแต่แตกต่างที่เวลาเจอปัญหาน้ำท่วม พวกเขาไม่ได้ตกที่นั่งลำบากต้องให้ใครมาช่วยเหลือ แค่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

เหตุผลอะไรที่ควรย้ายเมืองหลวง ?

เหตุผลสำคัญที่จะย้ายเมืองหลวงมีอยู่ 2 อย่าง คือต้องการสร้างความสมดุลของประเทศ เช่น รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งเมืองใหม่เพื่อสื่อว่าเป็นศูนย์กลางการปกครอง ไม่มีใครเป็นเจ้าของจริง หรือเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ตั้งเมืองหลวงไว้ระหว่างเมืองซิดนีย์ กับ เมลเบิร์น ไว้บาลานซ์อำนาจของรัฐทั้งสองเมือง ซึ่งมันก็มีปัจจัยหลายอย่างในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การปกครอง หรือการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างที่สอง คือต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์การเป็นอาณานิคมเก่า เป็นประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า หรือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ในประเทศไทยเองก็มีความคิดมองหาเมืองหลวงใหม่ เมื่อนานมาแล้วตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยเหตุผลเรื่องป้องกันสงคราม แต่ปัจจุบันหากกรุงเทพฯ ต้องการหนีความแออัด บ้านเราก็ยังมีพื้นที่เมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อยู่มากมาย ที่สำคัญการจะตั้งเมืองหลวงใหม่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

ประเด็นย้ายเมืองเพราะน้ำท่วม ด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อากาศแปรปรวน การย้ายไปจังหวัดอื่นก็ไม่ใช่การแก้ไขที่ตรงจุดนัก เพราะทุกที่ก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้นการปรับตัวอยู่กับน้ำจึงเป็นทางออกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เมื่อก่อนกรุงเทพฯ มีคลองเยอะบรรยากาศดี แต่ทุกวันนี้โดนถมเป็นถนนเสียหมด หากวันหนึ่งมีระบบโครงสร้างสัญจรคลอบคลุมแล้ว ควรจะคืนคลองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งบ้างคงจะดี

SOURCE:
https:// is.gd/YuUNYq
https:// is.gd/RsmE2q
https:// is.gd/gRYl3r
https:// is.gd/4ioc6A
https:// is.gd/v8qWqF

Content Writer: Jarujan L.
Photographer: Napat P., Janenarong S.
Graphic Designer: Sasicha H.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.