ทำไมกรุงเทพฯ น้ำท่วมไม่เลิก? - Urban Creature

น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาใหม่ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยการเติบโตของเมือง ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และการทรุดตัวของพื้นดิน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เรื่องน้ำท่วมกลายเป็นปัญหามากกว่าจะเป็นเรื่องของฤดูกาลครั้งคราว สภาวะน้ำท่วมจึงเป็นเสมือนข้าศึกที่ต้องปราบให้อยู่หมัดสำหรับคนเมือง หรือแท้จริงแล้วนี่คือเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มนุษย์ทำไว้โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบภายหลังหรือเปล่า?

รู้จักข้าศึก

หากพูดถึง ‘น้ำท่วม’ ก็เหมือนเป็นข้าศึกที่บุกเข้ากรุงเทพฯ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรบกี่ครั้งก็แพ้ทุกทีหรือไม่ก็แค่เสมอตัว ดังนั้นการรู้จักข้าศึกจึงเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราเข้าใจ ‘น้ำท่วม’ ครั้งต่อไปมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าแหล่งที่มาของน้ำก่อนจะกลายเป็นน้ำท่วมนั้นจะมีอยู่ 3 แหล่งด้วยกันคือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนจากทะเล หากทั้งสามได้รวมพลังกันเมื่อไหร่ข้าศึกครั้งนี้จะยิ่งเข้มแข็งมากเท่านั้น และแท้จริงแล้วสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้

1) คนเยอะ เมืองขยายเกินพอดี ต้นไม้ลดน้อยลง

กรุงเทพฯ ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยจากสถิติล่าสุดปี 2563 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 5,666,264 คน (รวมทั้งผู้ถือและไม่ถือสัญชาติไทย) ซึ่งยิ่งประชากรหนาแน่นมากเท่าไหร่ การขยายตัวของที่อยู่อาศัยก็เจริญเติบโตมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ที่ดินทุกที่ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถบังคับควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายผังเมือง เพราะการถมที่ดินสร้างอาคาร หมู่บ้าน และเส้นทางระบายน้ำถูกกลบทับด้วยเส้นทางการจราจร แถมจำนวนของต้นไม้ในเมืองก็ลดน้อยลงเข้าไปทุกที

2) ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ

ปัญหาขยะในประเทศไทยเป็นเรื่องที่แก้ไม่หาย โดยจากรายงานจำนวนขยะมูลฝอยปี 2562 จากสำนักสิ่งแวดล้อมพบว่า ภายในกรุงเทพฯ มีขยะมูลฝอย 10,564 ตัน/วัน ซึ่งนอกจากจำนวนที่มากแล้ว ยังมีส่วนของการคัดแยกขยะก่อนทิ้งที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และการทิ้งขยะไม่ลงถัง ปล่อยให้ลอยเกลื่อนลงแม่น้ำ ลำคลอง ส่งผลให้ขยะเหล่านี้เกิดการสะสมอยู่ตามท่อระบาย ดังนั้นเมื่อฝนตกจนมีปริมาณน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ การระบายน้ำจึงไม่สามารถระบายได้ทัน เพราะขยะที่อุดตันจำนวนมาก

3) ฝนตกหนักและดินทรุดลง

ตามลักษณะภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำ และมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น บางพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะจึงไม่สามารถระบายน้ำเองได้ เลยต้องใช้วิธีสูบน้ำออกทะเลแทน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพื้นดินที่ทรุดลงไปจากการก่อสร้างและการใช้น้ำบาดาลอย่างมาก เพราะในแต่ละปีพื้นดินกรุงเทพฯ ลดลงไปประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรทุกปี แถมพื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีลักษณะลาดเทจากด้านตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเมื่อฝนตกหนักเส้นทางของน้ำจึงถูกบังคับเส้นทางการระบายไปทางนั้นซะส่วนใหญ่

ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้กลับสวนทางกับระบบระบายน้ำท่วมที่สามารถรองรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น จึงกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ส่งผลให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

บุกที่ไหน?

จุดสำคัญที่น้ำท่วมจะโจมตี คือระดับความสูง-ต่ำของพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมไม่เท่ากัน ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว พื้นที่กรุงเทพฯ จะสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1 – 1.5 เมตรเท่านั้น เห็นได้ชัดในช่วง พ.ศ. 2554 ที่น้ำท่วมหนักและกินเวลายาวนานมีอยู่ 12 เขต ได้แก่ ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางพลัด บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ดอนเมือง บางเขน สายไหม หลักสี่ จตุจักร และคลองสามวา

สำหรับปี 2563 มีการคาดเดาว่า จะมีพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังประมาณ 14 จุด ได้แก่ 1. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร 2. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ 3. ถนนพหลโยธินช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร 4. ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน 5. ถนนราชวิถีช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน 6. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ 7. ถนนศรีอยุธยาช่วงหน้า สน.พญาไท 8. ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล-ไปรษณีย์ยานนาวา 9. ถนนสวนพลูจากถนนสาทรใต้-ถนนนางลิ้นจี่ 10. ถนนสาธุประดิษฐ์บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ 11. ถนนสุวินทวงศ์ช่วงจากคลองสามวา-คลองแสนแสบ 12. ถนนเพชรเกษมจากคลองทวีวัฒนา-คลองราชมนตรี 13. ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ และ 14. ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2 – ถนนบางขุนเทียนชายทะเล

ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงกลายเป็นนโยบายและความท้าทายของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นต้องพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2562 ‘นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี’ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำที่เข้ามาบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมชี้แจงว่า

“ในระยะเวลาเกือบสามปีที่ผ่านมานั้น สามารถลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ไปได้มากกว่าครึ่ง และจากการเก็บข้อมูลปี 2560 – 2561 ที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกมากกว่าช่วงปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย แต่น้ำกลับไม่ท่วมเหมือนตอนปี 2554” นั่นแปลว่าการบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพฯ มีการพัฒนาและปรับตัวมากขึ้น

พื้นที่รับน้ำ

เมื่อข้าศึกรุนแรงจนเกินจะต้านไหว เราก็ต้องพร้อมสู้สุดใจ ซึ่งตามผังเมืองกรุงเทพฯ นอกจากจะมีการแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ของที่ดินเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว เช่น เขตสีแดง เป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม, เขตสีน้ำตาล เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ‘พื้นที่รับน้ำ’ ก็ถูกกำหนดไว้เช่นกัน โดยพื้นที่ที่ว่านั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งของกรุงเทพฯ ดังนี้

ด้านตะวันออก : เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี และเขตลาดกระบัง
ด้านตะวันตก : เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ

โดยการแบ่งพื้นที่รับน้ำออกเป็น 2 พื้นที่นั้น เชื่อมโยงไปถึงพื้นฐานทางภูมิศาสตร์และการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่รวมกว่า 1,750 ตารางกิโลเมตร และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นลุ่มน้ำแอ่งกระทะลงไป ดังนั้นน้ำท่วมที่เกิดการสะสมส่วนใหญ่จะไม่สามารถไหลตามแรงโน้มถ่วงได้ จึงต้องใช้วิธีการสูบออกเท่านั้น โดยเส้นทางการสูบจะมีจุดหมายหลักไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนและจะไหลออกไปทางอ่าวไทย นอกจากนี้ รัชกาลที่ 9 ทรงมีแนวคิดการสร้าง ‘โครงการแก้มลิง’ มาช่วยรับน้ำอีกแรง ที่ตั้งกระจายไปทั่วพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีทั้งแก้มลิงเอกชนซึ่งอยู่ในพื้นที่เอกชนหรือหมู่บ้านจัดสรร และแก้มลิงสาธารณะที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพฯ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ

ปัจจุบันพื้นที่รับน้ำปฏิบัติได้จริงแล้ว 25 แห่ง รับน้ำได้ราว 13.04 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายอยู่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็นฝั่งพระนคร 23 แห่ง ฝั่งธนบุรี 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่ง ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้เพิ่มอีก 316,700 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังไม่รวมที่ กทม.กำลังจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมอีกกว่า 12 แห่ง ถือเป็นการตั้งรับข้าศึกน้ำท่วมที่จะเข้าตีกรุงเทพฯ ตามลักษณะของพื้นที่ และข้อจำกัดที่มีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาวุธรับมือ

เมื่อรู้จักข้าศึกแล้ว ก็ต้องรู้ด้วยว่าเรามีอาวุธอะไรบ้างที่จะรับมือได้อย่างทันท่วงที หลายคนคงคุ้นเคยกับโปรเจกต์อุโมงค์ยักษ์และคาดหวังว่า “มีอุโมงค์ยักษ์แล้วน้ำจะไม่ท่วม” แต่จริงๆ แล้วอุโมงค์ยักษ์ทำได้แค่พักน้ำไว้ระยะหนึ่งแล้วระบายออก และยังไม่ได้รองรับทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันมีอุโมงค์ใหญ่อยู่เพียง 7 แห่ง ความยาวอุโมงค์ประมาณ 19 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าเทียบจากสัดส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีถึง 1,750 ตารางกิโลเมตร

ดังนั้นอาวุธที่สำคัญมากกว่าการเพิ่มพื้นที่รับน้ำและการพัฒนาโครงการแก้มลิง คือการพัฒนาคลองที่มีอยู่เดิมกว่า 1,682 คลองทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลักษณะเป็นแก้มลิงอยู่แล้ว และยังมีทางระบายน้ำโดยธรรมชาติอยู่ 3 คลอง คือ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองบึงพระยาสุเรนทร์ โดยคลองทั้งสามสายนี้จะวิ่งจากเหนือลงใต้ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดรวมทั้งวิ่งผ่านเมืองทั้งหมดด้วย ทำให้ทั้งสามคลองสามารถทำหน้าที่รับทั้งน้ำเหนือและน้ำฝนโดยธรรมชาติได้อย่างดี ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ได้ผล ‘คลอง’ คือหัวใจหลักที่ กทม.ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่เสียก่อน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.