‘บางขุนนนท์’ สืบเรื่องก๋วยเตี๋ยวที่ย่านกินเส้น - Urban Creature

“บางขุนนนท์”

ไม่ได้อยู่จังหวัดนนทบุรีแต่อย่างใด แต่เป็นแขวงหนึ่งในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และเป็นย่านที่ผูกพันกับผู้คนมาอย่างยาวนาน มีทั้งชุมชนเก่าแก่ วัดวาอารามชื่อดัง ไปจนถึงคูคลองหลายสายที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนกับย่านบางขุนนนท์ คงหนีไม่พ้นก๋วยเตี๋ยว

เราผ่านมาย่านนี้ไม่บ่อยนัก แต่ทุกครั้งที่แวะเวียนมาก็จะต้องกินก๋วยเตี๋ยวเกือบทุกมื้อ ร้านอาหารมากมายเรียงรายกันเป็นตับ ซึ่งเมนูเส้นแทบจะเป็นตัวเลือกหลักของที่นี่ นั่นก็เพราะร้านก๋วยเตี๋ยวมีเยอะมากจนเกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งของร้านอาหารทั้งหมด เรียกได้ว่าในทุกๆ ร้อยเมตร คุณจะได้เห็นคนลวกเส้นจนมือเป็นระวิง แถมสัมผัสไอร้อนจากหม้อก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ข้างถนนทั้งสองฝั่งแบบไม่ขาดระยะอย่างแน่นอน

พูดถึงก๋วยเตี๋ยว ความหิวก็พาเรามาที่บางขุนนนท์ทันที แต่จะมาคนเดียวก็กระไรอยู่ เราเลยชวนเพื่อนสมัยมัธยมฯ ของเราอย่าง ไปป์-ศุภธัช คุ้มครอง ซึ่งเป็นชาวบางขุนนนท์แท้ๆ และเป็นเจ้าของหนังสือเล่าขานตำนานบางขุนนนท์ สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามรอยกินเมนูเส้นจากร้านอร่อยระดับตำนาน พร้อมเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของย่านบางขุนนนท์แห่งนี้

ร้านก๋วยเตี๋ยวมากมาย เคยพายขายในคลอง

การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากของของชาวจีน ได้นำคัลเจอร์การกินเส้นอย่างก๋วยเตี๋ยวเข้ามาให้คนไทยได้ลิ้มลอง ซึ่งบางขุนนนท์เป็นย่านที่มีคลองตัดผ่านหลายสาย ทั้งคลองบางกอกน้อย คลองบางขุนนนท์ คลองภาวนา คลองแกลบ คลองวัดเจ้าอาม และโดยเฉพาะคลองชักพระที่มีชาวจีนพายเรือขายก๋วยเตี๋ยวกันให้ควั่ก จนทำให้คนไทยติดใจรสก๋วยเตี๋ยวถึงขนาดมานั่งรอเจ้าประจำในทุกวัน

ยิ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเราต้องเผชิญกับปัญหาข้าวยากหมากแพง ทำให้เกิดนโยบายสร้างชาติสไตล์จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนกินและขายก๋วยเตี๋ยว ถึงขั้นทำหนังสือแจกไปทุกจังหวัดให้ข้าราชการกินก๋วยเตี๋ยวเป็นตัวอย่างให้ประชาชนดู แถมยังแต่งเพลงออกมาปลุกความครื้นเครง โดยมีเนื้อร้องสุดครื้นเครงว่า

“ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า ก๋วยเตี๋ยวจ้า ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย ของไทยใช้พืชผลเกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป ช่วยซื้อขายกันให้มั่งมี เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป”

ไปป์เล่าให้ฟังถึงยุคบูมของก๋วยเตี๋ยว โดยเป็นตอนหนึ่งจากหนังสือถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว ของอาจารย์ยุวดี ศิริ นักประวัติศาสตร์และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนโยบายรัฐนิยมฉบับท่านผู้นำก็ยิ่งทำให้คนไทยหันมาอุดหนุนรสมือก๋วยเตี๋ยวจากชาวจีน จนกลายเป็นเมนูสุดฮิตของคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

จากคลองขึ้นบก สู่เจ้าแรกแห่งบางขุนนนท์

เรากับไปป์มาประเดิมร้านแรก ก๋วยเตี๋ยวเครื่องในหมูใบตำลึง ผู้เคลมว่าเป็นเจ้าแรกของย่านนี้ ตัวร้านตั้งอยู่เชิงสะพานชักพระ ตรงข้ามกรมบังคับคดี เราเห็นเจ๊ปราณีกำลังหั่นเครื่องในหมูพร้อมเสิร์ฟลูกค้าที่แวะเวียนกันมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งไปป์บอกว่า “คำว่าเจ้าแรกไม่ได้หมายถึงเปิดขายก๋วยเตี๋ยวเป็นคนแรก แต่หมายถึงขึ้นมาบนบกมาเป็นเจ้าแรกต่างหาก”

นับไปนับมา ตั้งแต่ร้านนี้ขึ้นมาบนบกเมื่อ พ.ศ. 2510 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 50 ปี เจ๊ปราณีได้สืบทอดกิจการงานเส้นจากรุ่นเตี่ยอย่างเจ๊กจั๊วมาแบบไม่เคยได้พัก โดยเหตุผลหลักที่ทำให้หลายๆ ร้านเลือกมาพายเรือขายก๋วยเตี๋ยวกันที่นี่ นอกจากการสัญจรทางน้ำจะสะดวกสบายที่สุดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือสมัยก่อนย่านนี้มีโรงก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเส้นและวัตถุดิบสำหรับก๋วยเตี๋ยวโดยเฉพาะด้วยกันถึง 2 แห่ง เรียกได้ว่า เลือกมาทำมาค้าขายที่นี่ไม่มีอดตายแน่นอน!

เมนูที่ต้องลองสำหรับร้านนี้คือ ก๋วยเตี๋ยวเครื่องในหมูใบตำลึง เป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสชาติกลมกล่อม มีเส้นให้เลือกมากมาย โดยงานนี้เราเลือกสั่งบะหมี่ที่เสิร์ฟร้อนๆ พร้อมกับหมูสับ เครื่องในหมู อย่างไส้อ่อน ตับ กระเพาะ เซี่ยงจี๊ และทีเด็ดคือใบตำลึงลวกที่เข้ากันได้ดีกับน้ำซุปหอมๆ ซึ่งใครที่อยากลิ้มลองรสอร่อยของร้านระดับตำนาน ก็ตบเท้าเข้าไปเลยได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 ถึง 15.00 น.

ส่งต่อความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น

ไปป์พาเรามาต่อกันที่ ก๋วยเตี๋ยวตำลึงนายอ้วนบางขุนนนท์ ร้านระดับตำนานที่ส่งต่อความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่นเช่นกัน โดยสูตรของเจ๊กเปาก็มัดใจนักชิมมาตั้งแต่สมัยพายเรือขายในคลองชักพระ จนเมื่อ พ.ศ. 2519 ได้เริ่มมาเปิดตึกขายเป็นหลักเป็นแหล่ง และได้สืบทอดกิจการต่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งถ้านับระยะเวลาที่ก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้เปิดขายทั้งในคลองและบนบก ก็เป็นเวลากว่า 80 ปีเลยทีเดียว

ของมันต้องสั่งของร้านนี้ คงหนีไม่พ้นก๋วยเตี๋ยวตำลึงที่ทางร้านคัดสรรวัตถุดิบที่ทั้งสะอาด คุณภาพดี และเสิร์ฟแบบเครื่องแน่นเต็มอิ่ม อร่อยถูกใจคนรักเครื่องในแบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นไส้อ่อน ตับหมู เนื้อสะโพกไร้มัน เซี่ยงจี้ กระเพาะหมู หัวใจ ยิ่งปรุงรสกับน้ำต้มยำที่คั่วพริกและถั่วเอง พร้อมมะนาวคั้นสดๆ ก็ยิ่งอยากสั่งเพิ่มอีกสักสิบชาม ซึ่งทุกคนสามารถมาสัมผัสความอร่อยได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 7.00 ถึง 16.00 น.

ตำลึง…ตำลึง เต็มไปหมด

ทำไมร้านเก่าแก่ถึงใส่แต่ใบตำลึง ? เรากินก๋วยเตี๋ยวร้านดังมา 2 ร้าน แถมทุกร้านต้องมีผักริมรั้วแสนอร่อยอย่างตำลึงลวกใส่มาด้วย ซึ่งจากงานเขียนของอาจารย์ยุวดี ศิริ ได้เล่าว่า ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยปลูกถั่วงอก และเมื่อมีกินมีใช้ในครัวเรือนแล้ว ก็นำมาขายเป็นวัตถุดิบเพื่อใส่ในก๋วยเตี๋ยว

ช่วงหนึ่งถั่วงอกดันเกิดไม่ได้คุณภาพ ต้องใช้เวลาเพาะนานเกินปกติ ร้านรวงต่างๆ จึงเริ่มมองหาผักชนิดอื่นที่มีราคาถูกและหาง่าย ตำลึงเลยได้ขึ้นแท่นเป็นผักที่นำมาใช้ประกอบอาหาร และทำให้หลายคนติดอกติดใจในรสชาติ จนเป็นที่มาของก๋วยเตี๋ยวใบตำลึงที่เรากินกันทุกวันนี้

เนื้อปูสดๆ จากสะพานพุทธสู่บางขุนนนท์

ร้านสุดท้ายที่เรากับไปป์มาปิดทริปคือ ตั้งเลียกเส็ง บะหมี่ปูเจ้าเก่าที่เปิดร้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ซึ่งแต่ก่อนตัวร้านตั้งอยู่ที่บริเวณสะพานพุทธ จนวันหนึ่งตึกแถวย่านนั้นถูกเวนที่คืน เจ้าของร้านจึงมาสานต่อความอร่อยที่บางขุนนนท์แทน และความเก๋าคือเป็นบะหมี่ปูเจ้าแรกของบางขุนนนท์ โดยตลอดการขายที่ย่านนี้ก็ยังมัดใจลูกค้าเก่าจากสะพานพุทธ และดึงดูดลูกค้าใหม่ได้อยู่เสมอมา

สำหรับคนที่ชื่นชอบบะหมี่เป็นชีวิตจิตใจแบบเรานั้น ต้องสั่งเมนูต้นตำรับอย่างบะหมี่ก้ามปูมากินสักชาม ก้ามปูรสหวานอร่อยท็อปมาบนบะหมี่ไข่เส้นนุ่มหนึบที่ทางร้านทำเอง เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ตั้งเลียกเส็งจะเคยได้รับตราการันตีความอร่อยจากเชลล์ชวนชิมมาแล้วถึง 2 สมัย ซึ่งใครที่อยากรู้ว่าทีเด็ดของร้านนี้เป็นอย่างไร ก็ลองมาชิมได้เลยทุกวันตั้งแต่ 8.00 – 16.00 น.

วิถีชาวสวน ครั้งหนึ่งที่บางขุนนนท์

วิถีชีวิตริมคลองย่านบางขุนนนท์ไม่ได้มีดีแค่ก๋วยเตี๋ยว อีกสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นเก๋าใช้หาเลี้ยงปากท้องกันคือการทำสวน ซึ่งลำน้ำเล็กๆ ที่ขุดเพื่อชักน้ำเข้าสวนเป็นตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของบางขุนนนท์ จนย่านนี้กลายเป็นสวนผลไม้ที่ยืนหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผลไม้พระเอกอย่างทุเรียน ถึงขนาดเคยส่งเข้าไปให้คนในรั้วในวังได้ทานกัน โดยไปป์ได้เล่ามุมมองในฐานะลูกหลานชาวสวนว่า

“พอการสัญจรทางน้ำถูกลดความสำคัญลง ประกอบกับสวนทุเรียนและผลไม้อื่นๆ ที่ล่มเพราะโดนน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่านบางขุนนนท์ถูกปรับเปลี่ยนให้เจริญมากขึ้น มีการตัดถนนเข้ามา ซึ่งแค่ 20 กว่าปีที่เราเติบโตมา หลายอย่างก็เปลี่ยนไปเยอะมาก อย่างสวนผลไม้ตามบ้านต่างๆ ตอนนี้ก็เหลือเป็นร่องสวนเล็กๆ ไม่กี่ร่อง หรืออย่างร้านก๋วยเตี๋ยวที่พายเรือขายกันตามคลองก็ขึ้นมาบนบกตั้งแต่ยุคพ่อแม่เราแล้ว”

ก๋วยเตี๋ยวขึ้นบก ทุเรียนหายไป ความยิ่งใหญ่เข้ามา

การที่เราได้มาเดินเล่นชิมของอร่อยในย่านเก่า นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว ยังได้รู้เรื่องราวที่หล่อหลอมให้ย่านเป็นย่านแบบทุกวันนี้ แม้คูคลองต่างๆ จะถูกแทนที่ด้วยสะพานคอนกรีตและอาคารพาณิชย์ แต่วิถีชีวิตคนขายเส้นก็ยังมีให้เราได้ลิ้มชิมรสตลอดถนนบางขุนนนท์ จากจุดเริ่มต้นเรื่องเส้นๆ อย่างจริงจังในวันนั้น ก็ทำให้บ้านเรามีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยๆ มากมายแบบทุกวันนี้ จนเรียกได้ว่า ก๋วยเตี๋ยว คืออีกหนึ่งเมนูจานหลักของพวกเรา ไม่แพ้ข้าวกะเพราหรือต้มยำกุ้งเลยก็ว่าได้

ทันทีที่รถไฟฟ้า MRT สถานีบางขุนนนท์ เปิดตัว ร้านรวงและคาเฟ่ฮิปๆ ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายก็แห่กันเข้ามาเปิดต้อนรับทุกคนให้แวะมาเยือนย่านนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไปป์ก็ได้ทิ้งท้ายว่า ไม่เถียงถ้าคนจะบอกว่าบางขุนนนท์ไกลหูไกลตาผู้คน แต่ถ้าพูดว่าอยู่ไม่ไกลจากศิริราชหรือวังหลังมันน่าจะดูใกล้ชิดมากขึ้น ยิ่งตอนนี้มีรถไฟฟ้าแล้ว ใครอยากตามเรามากินก๋วยเตี๋ยวเจ้าเด็ด บางขุนนนท์แห่งนี้พร้อมต้อนรับทุกคนให้เข้ามาสร้างความคึกคักเสมอ


อ้างอิง
หนังสือถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว โดย อาจารย์ยุวดี ศิริ
หนังสือเล่าขานตำนานบางขุนนนท์ โดย ศุภธัช คุ้มครอง

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.