ไผ่ เป็นพืชท้องถิ่นที่เราทุกคนคุ้นตากันเป็นอย่างดี สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ด้วยว่าไม้ไผ่นั้นได้ฝังรากอยู่กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเรามาอย่างช้านาน ตั้งแต่คราวบรรพบุรุษของเราที่รู้จักวิธีการนำไม้ไผ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ทำเป็นไม้จิ้มฟันยันสร้างบ้าน
ปัจจุบันไม้ไผ่ยังได้รับการยกย่องให้เป็นวัสดุทางเลือกที่น่าสนใจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นวัสดุที่ยั่งยืน (Sustainable Materials) ทำให้นักออกแบบทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุสร้างสรรค์งานจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีภาพจำเกี่ยวกับไม้ไผ่ว่าเป็นวัสดุที่ถูกใช้เพียงชั่วคราว ไม่คงทนเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้ภาพจำเกี่ยวกับไผ่เช่นนั้นเริ่มไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เมื่อนักวิจัยของประเทศจีนได้ค้นพบวิธีการที่สามารถนำไม้ไผ่มาใช้สร้างรถไฟความเร็วสูงได้สำเร็จ นี่คือความมหัศจรรย์ของไม้ไผ่
อนาคตของไม้ไผ่จึงไม่ได้เป็นแค่อาหารของหมีแพนด้าอีกต่อไป แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดต่อไปได้อีกมาก
ในวันที่เรากำลังเผชิญกับราคาวัสดุที่มีแนวโน้มแต่จะพุ่งสูงขึ้นในแต่ละปี ความเป็นไปได้ที่กำลังเกิดขึ้นกับไม้ไผ่ ทำให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนใจหยิบไม้ไผ่ขึ้นมา และชักชวนให้ผู้คนหันกลับมาสนใจวัสดุท้องถิ่นของเรา และร่วมมือกันพัฒนาไม้ไผ่ในนามของ BAM Fest
กำเนิด BAM Fest
“ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่น่ามหัศจรรย์มาก เป็นวัสดุในอุดมคติ (Ideal Materials) ที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ด้วยความที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติจึงทำให้มันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่หาได้ง่ายในประเทศของเรา ใช้เวลาในการปลูกจนโตใช้งานไม่นานเมื่อเทียบกับวัสดุไม้อื่นๆ ราคาก็ไม่แพงจนเกินไป เข้าถึงง่าย และยังมีความยั่งยืนด้วยการปลูกทดแทนได้ไม่ยาก ไม้ไผ่จึงกลายเป็นวัสดุทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
“การเกิดขึ้นของ BAM Fest เริ่มต้นมาจากที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. มีความสนใจในตัววัสดุไม้ไผ่และอยากจะทำให้คนอื่นๆ หันมาสนใจ เห็นศักยภาพ และมาร่วมมือช่วยกันสร้างนวัตกรรมและพัฒนาวัสดุนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะไม้ไผ่ถือเป็นพืชพื้นถิ่นของเรา สามารถพัฒนาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ วัสดุนี้จึงช่วยส่งเสริมหลายด้านไม่ใช่เพียงแค่ในเชิงสถาปัตยกรรมอย่างเดียว โดยเหตุผลที่เราเลือกใช้เป็นคำว่า Festival เป็นเทศกาลของไม้ไผ่ ก็เพราะว่าเราไม่อยากให้มันเป็นงานที่มีความวิชาการจ๋า ดูน่าเบื่อ งานของเราต้องดูน่าสนุก น่าสนใจด้วย” ศ. ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. เล่าที่มาของ BAM Fest ให้เราฟัง
การทำงานของ BAM Fest เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ่อครูแม่ครูจากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา มูลนิธิสืบสานล้านนา สถาบันการศึกษา บริษัทสถาปนิก นักออกแบบ ผู้จัดเทศกาล ภาครัฐ องค์กร รวมถึงหน่วยงานระดับเทศบาล จังหวัด และประเทศอีกมาก โดยขับเคลื่อนผ่านทีม BAM Fest ที่มาจากอาจารย์และบุคลากรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช.
ภารกิจของ BAM Fest คือ การสร้างความเข้าใจและหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับไม้ไผ่ ด้วยกิจกรรมที่เข้าไปช่วยสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมไม้ไผ่ และทำให้ทั้งหมดเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกัน
“เรามองว่าถ้าจะทำให้ BAM Fest ช่วยส่งเสริมไม้ไผ่ให้กลายเป็นที่สนใจขึ้นมาได้ เราต้องให้การสนับสนุนกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับไม้ไผ่ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ต้นน้ำก็คือฝั่งผู้ผลิตหรือผู้ปลูกไผ่ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการไม้ไผ่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม้ไผ่ของบ้านเรากลับเริ่มขาดในท้องตลาด เราจึงต้องมีการทำงานร่วมกับผู้ผลิตไผ่ ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจยิ่งขึ้น และช่วยกันพัฒนาการผลิตไผ่ให้ดีตรงกับความต้องการของผู้นำไปใช้
“ในส่วนของกลางน้ำ ได้แก่ นักออกแบบ สถาปนิก และผู้ที่จะทำงานกับไม้ไผ่ เราพยายามรวมกันเป็นเครือข่ายร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อที่เราจะสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไม้ไผ่ของแต่ละพื้นที่ และมีการแบ่งปันความรู้ในการทำงานกับไผ่แก่ผู้ที่สนใจศึกษา ส่วนของปลายน้ำ ได้แก่ ผู้ประกอบการ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือกลุ่มลูกค้าที่สนใจในไผ่ เราจะช่วยส่งเสริม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุจากไม้ไผ่ให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ และมองเป็นตัวเลือก
“ท้ายที่สุดเราพยายามทำให้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนกัน ผู้ผลิตไม้ไผ่ได้เห็นตลาด เห็นความต้องการของตลาด นักออกแบบก็จะได้เรียนรู้ ได้รู้จักแหล่งผลิตต่างๆ ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้รู้จักกับนักออกแบบต่างๆ ที่ทำงานกับไม้ไผ่ในลักษณะที่ตรงกับความต้องการ เราต้องการทำให้ทุกๆ ส่วนตอบสนองต่อกันได้ มากไปกว่านั้น งานของ BAM Fest คือการขับเคลื่อน 4 มิติด้วยกัน มิติแรกคือการส่งเสริมการปลูกไผ่เป็นป่าเศรษฐกิจ สองคือการส่งเสริมองค์ความรู้ สามจะเป็นการส่งเสริมการออกแบบ และสุดท้ายคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยงานเทศกาล” ผศ. ดร.แผ่นดิน อุนจะนำ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. หนึ่งในทีมงาน BAM Fest เสริม
เชื่อมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมไม้ไผ่
หนึ่งในกิจกรรมเชื่อมโยงต้นน้ำและกลางน้ำ คือการเชิญ ‘ตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน’ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการใช้ไผ่ในงานสถาปัตยกรรม แห่งสตูดิโอ ธ.ไก่ชน เดินทางไปลงพื้นที่ร่วมพูดคุยกับตัวแทนเครือข่ายแม่แจ่มโมเดลพลัส ‘เดโช ไชยทัพ’ ที่ขับเคลื่อนและผลักดันการปลูกไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจแก้ไขฝุ่นควันไฟป่า รวมถึงการแปรรูปไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในอำเภอแม่แจ่ม การพบเจอเป็นไปเพื่อให้ผู้ผลิตได้เข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงความต้องการของตลาดในขณะนี้ เช่นเดียวกัน ตัวนักออกแบบก็จะได้เข้าใจกระบวนการทำงานของชุมชน และนำไปปรับใช้ในการทำงานของตนเองต่อไป
“ทุกวันนี้สตูดิโอของผมมีงานออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยไม้ไผ่เข้ามาเยอะ แต่ปัญหาสำคัญตอนนี้คือ เรามีไม้ไผ่ไม่พอสำหรับความต้องการของตลาด โดยปกติเวลาสั่งไม้ไผ่เราก็ไม่ได้สนใจหรอกว่าไม้ไผ่นี้มาจากไหน จากไทยรึเปล่า ขอแค่มีไผ่มาก็พอแล้ว แต่การที่ตัวนักออกแบบมีโอกาสได้เข้าไปหาชุมชนที่ทำการปลูกไม้ไผ่ มันช่วยให้เรามองเห็นว่า ไม้ไผ่ของเรานั้นมีที่มาจากไหน และการซื้อไม้ไผ่ของเรากำลังสนับสนุนความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่นอย่างไรบ้าง ในอีกแง่หนึ่ง การที่นักออกแบบอย่างผมมาเจอกับผู้ผลิตหรือต้นน้ำ จะช่วยทำให้ผมได้เข้าใจปัญหาว่า ทำไมตอนนี้ไม้ไผ่ถึงไม่พอ ชุมชนเองก็ได้เข้าใจความต้องการของตลาดขณะนี้ เพื่อที่เขาจะสามารถผลิตไม้ไผ่ได้ตามความต้องการของตลาด และท้ายที่สุดก็จะส่งผลดีต่อลูกค้าที่อยากได้งานไม้ไผ่
“ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเข้ามาเจอกันของผู้คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไม้ไผ่ กิจกรรมการเชื่อมโยงต้น กลาง และปลายน้ำของ BAM Fest มันทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับไผ่ได้มองเห็นปัญหาและความต้องการของแต่ละฝ่าย แน่นอนว่าตอนนี้ปัญหามันยังมีอยู่ แต่การที่ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกัน ได้เข้าใจกัน มันจะทำให้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น รู้ว่าต้องแก้ไขปัญหาและพัฒนากันตรงไหนต่อไป สิ่งนี้เองที่จะทำให้อุตสาหกรรมของงานออกแบบไม้ไผ่ดียิ่งขึ้นต่อไป” ตั๊บเล่าประสบการณ์จากการได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้ผลิตไม้ไผ่ในชุมชน
“BAM Fest เพิ่งเริ่มต้นขึ้นมาไม่นาน หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของเราคือการต้องคลี่ออกมาให้เห็นว่ามีตัวละครใดอยู่ในอุตสาหกรรมไม้ไผ่บ้าง และแต่ละฝ่ายมีความต้องการอะไร BAM Fest มีหน้าที่จับคู่ผู้คนเหล่านี้ให้เกิดผล บางอันอาจจะสำเร็จทันที บางอันต้องใช้เวลา ปัจจุบันเราได้เครือข่ายเข้ามาทำงานร่วมกันเยอะขึ้นมาก ทั้งวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่ ภาครัฐอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และต่อไปยังจะมีความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนมาก ซึ่ง BAM Fest จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ตรงกลางที่ช่วยเชื่อมร้อยเครือข่ายเหล่านี้ให้ได้มาเจอกันและขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน” อาจารย์อรช บุญ-หลง หนึ่งในทีม BAM Fest เล่าถึงบทบาทของทีม
นำพาแสงมาให้ไม้ไผ่ได้เติบโต
อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ BAM Fest คือการสร้างพื้นที่ตรงกลางเป็นเวทีให้ผู้คนได้มีโอกาสมาเห็นงานสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากไม้ไผ่ ทำให้ผู้คนเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ของวัสดุชนิดนี้
“ทุกกิจกรรมของ BAM Fest เราจะขับเคลื่อนโดยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่สุด ไม่ใช่แต่เพียงคำพูด เราพยายามทำให้งานไม้ไผ่มีคนเห็น มีคนได้เจอมากที่สุด ที่สำคัญคืองานเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกับเมืองได้ สร้างประโยชน์ให้กับเมือง ให้กับผู้คน นี่คือหมุดหมายของ BAM Fest” ผศ.กานต์ คำแก้ว หนึ่งในทีม BAM Fest เล่าถึงภารกิจให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ
“เราพยายามทำให้งานไม้ไผ่ผุดขึ้นมาในเมืองตามจุดต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของเมือง และ BAM Fest เรามีความศรัทธาในความยั่งยืน เพราะฉะนั้นแต่ละงานที่เกิดขึ้นนอกจากจะสร้างขึ้นจริง ตัวงานต้องสามารถอยู่ได้หลายปี เป็นแลนด์มาร์กใหม่ๆ ของเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ป็อปอัปในงานเทศกาลหนึ่งแล้วก็หายไปเมื่องานจบ เรามั่นใจว่ามันจะเติบโตไปได้อย่างสวยงาม เพราะเรามีเครือข่ายแน่นทั้งต้นน้ำคือวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่” อาจารย์อรช บุญ-หลง ช่วยเสริม
หนึ่งในผลงานของ BAM Fest ที่เราได้เห็นกันตอนนี้คือ งาน ‘ตรอก – Hidden Alley’ ซึ่งเคยจัดแสดงอยู่ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Chiang Mai Design Week 2022 เมื่อวันที่ 3 – 11 ธันวาคม 2022
ตรอก คืองานสถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่โดยทีม BAM Fest ร่วมกับพ่อครูแม่ครูจากเครือข่ายโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ที่จะยกความเป็นตรอกหรือกองกีด ในภาษาเหนือ มาตั้งไว้บนลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเล่นกับพื้นที่ ทั้งยังบรรจุภูมิปัญญาของการใช้ไม้ไผ่ทั้งการก่อสร้างและการสานเอาไว้
“ผศ. ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ เคยพูดกับทีมพวกเราว่า ลานสามกษัตริย์ เป็นลานเมืองแบบใหม่ ไม่ใช่ลานที่คนเชียงใหม่ใช้เมื่อก่อน มันเป็นลานที่เป็นทางการสำหรับงานสำคัญของเมือง เส้นทางที่เชื่อมคนเชียงใหม่เข้าด้วยกันกลับเป็นตรอกเล็กๆ กองกีดต่างๆ ไว้เดินเชื่อมระหว่างบ้าน วัด ชุมชน ซอกแซกไปมาโดยไม่ต้องออกถนนใหญ่ เป็นตรอกเล็กๆ ที่เป็นมิตร ร่มเย็นด้วยเงาต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านออกมาจากรั้วบ้าน และความพิเศษแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันคนเชียงใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ตรอกเหล่านี้แล้ว เราเลยอยากหยิบยกพื้นที่เล็กๆ ที่เป็นมิตรที่ผู้คนใช้กันจำนวนมากในอดีต มาไว้บนพื้นที่ขึงขังจริงจังใจกลางเมือง อย่างลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์” อาจารย์ปิยชนน์ อุนจะนำ ผู้ร่วมออกแบบอธิบายถึงไอเดียการออกแบบ
“เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีถนนใหญ่ มีรถผ่านถึง คนจึงเริ่มใช้ตรอกกันน้อยลงและถูกซ่อนไว้ใช้แค่ในชุมชน ทำให้ตรอกมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และยังคงมีอัตลักษณ์ของแต่ละตรอกอยู่ เช่นเดียวกันกับลายสานต่างๆ บนผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของภาคเหนือ หากมองผ่านๆ เราจะรู้สึกว่ามันเห็นกันได้ทั่วไป แต่ถ้ามองลึกลงไปมันก็มีลวดลายที่มีอัตลักษณ์อยู่ เราเลยเอาอัตลักษณ์ของทั้งสองสิ่งนี้มาชนกัน สร้างตรอกขึ้นมาจากไม้ไผ่ และในแต่ละตรอกก็จะมีงานสานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพ่อครูแม่ครูซ่อนอยู่ ให้ผู้คนได้ลองเดินเข้าไปค้นพบด้วยตนเอง พร้อมกับเรียนรู้ภูมิปัญญาการใช้ไผ่ทั้งจากงานสานและจากตัวโครงสร้างตรอกเองที่ทำจากภูมิปัญญาของสล่า (ช่าง) ด้วยเช่นกัน” อาจารย์ภูมิ ทรัพย์ไพบูลย์กิจ ผู้ร่วมออกแบบเสริมข้อมูล
“เราออกแบบให้ผู้ชมเข้าตรอกได้หลายทาง การเข้าในแต่ละทางก็จะให้ประสบการณ์ที่ต่างกัน ตัวโครงสร้างเราออกแบบให้มีความสูงต่ำด้านซ้ายและขวาที่แตกต่างกัน เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของแต่ละตรอก ดังนั้นการเลือกเข้าแต่ละทางก็จะให้ประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป นอกจากประสบการณ์การเดินเข้าไป ในแต่ละตรอกจะติดตั้งงานภูมิปัญญาการสานไม้ไผ่อันละเมียดละไมของพ่อครูแม่ครูจากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และยังทำให้ผู้ชมค่อยๆ ได้ซึมซับและเรียนรู้เรื่องราวภูมิปัญญาการใช้ไม้ไผ่ไปทีละนิด เป็นสิ่งที่ต้องลองเดินเข้ามาสัมผัสด้วยตัวเอง”
สำหรับผู้ที่สนใจนิทรรศการ ‘ตรอก’ ภายหลังจากงาน Chiang Mai Design Week 2022 ทาง BAM Fest จะย้ายนิทรรศการไปจัดแสดงต่อที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) คนทั่วไปเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ต่อยอดไม้ไผ่สู่ระดับโลก
“ไม้ไผ่เป็นไม้สารพัดประโยชน์ ทุกส่วนของมันนำไปใช้ได้ เปลือกสามารถฝานไปทำอย่างหนึ่ง ตัวเนื้อไม้ก็ทำได้อีกอย่าง หรือแม้แต่เยื่อของมันก็นำไปทำเป็นกระดาษได้ โดยที่ยังไม่รวมการย่อยและขึ้นรูปใหม่ด้วยวัสดุจากไม้ไผ่ที่ยังทำได้อีกมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีตอนนี้ก็กำลังทำให้ไม้ไผ่ขยายขีดจำกัดไปไกลกว่าเดิม ไม่ใช่ไม้อายุใช้งานน้อยอีกต่อไป
“ที่สำคัญที่สุดคือ ไม้ไผ่เป็นพืชท้องถิ่นของเรา นี่คือวัสดุชั้นยอดที่เรามีมาตั้งแต่โบราณ และจะกลายเป็นวัสดุที่สำคัญในอนาคต ทั่วทั้งโลกรับรู้ได้ถึงคุณค่าของไผ่แล้ว มีการจัดงาน World Bamboo ที่ประเทศต่างๆ แต่บ้านเราหายไปไหน ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้เฉลิมฉลองความชำนาญ ภูมิปัญญาที่เรามีต่อไม้ไผ่ของเราให้โลกได้รับรู้เช่นกัน” ศ. ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. กล่าวถึงเป้าหมายใหญ่ของ BAM Fest
“ณ เวลานี้ BAM Fest เพิ่งเริ่มต้นเป็นก้าวแรกๆ แต่ในปีหน้าพวกเราวางแผนว่าจะเป็นก้าวที่ไปสู่ระดับโลก มีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาไม้ไผ่ ซึ่งตอนนี้เราได้พูดคุยกับหลายๆ องค์กรไว้แล้ว เช่นเดียวกัน เราพยายามช่วยสนับสนุนให้ผลงานไม้ไผ่ของเราได้ไปแสดงในเวทีระดับโลกมากขึ้น โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักๆ ที่เราจะไปร่วมให้ได้อย่างแน่นอนก็คืองานเวนิส เบียนนาเล (Venice Biennale) เทศกาลศิลปะขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก
“ส่วนของภายในประเทศ BAM Fest มีโปรเจกต์จำนวนมากที่จะทำงานร่วมกันกับเทศกาลต่างๆ เพื่อให้งานไม้ไผ่อยู่รอบตัวและใกล้ชิดกับผู้คนให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกัน เรายังให้ความสำคัญกับงานร่วมกับชุมชนหรือเมือง โดยเราจะนำงานไม้ไผ่เข้าไปช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนหรือเมือง ให้ผู้คนได้เห็นประโยชน์ของไม้ไผ่ที่เกิดขึ้นได้จริง ไม้ไผ่คือวัสดุที่จะเป็นอนาคตของเราต่อไป” อาจารย์อรช บุญ-หลง สรุปทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจในงานไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ทีม BAM Fest ยินดีอ้าแขนรับทุกคน ทั้งช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับ ‘ไผ่’ โดยติดต่อได้ที่ facebook.com/BAMFest.Chiangmai